xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มนอนแบงก์ป่วน ออมสินลุยสินเชื่อรายย่อย-ดอกเบี้ยต่ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งส่วนใหญ่ ยอมรับมาตรการแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย และออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กระทบการดำเนินธุรกิจ "SAWAD-MTC" รับผลจำกัด เนื่องจากส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกหนี้ต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยใหม่อยู่แล้ว ขณะที่ JMART ไม่ได้กระทบมากนักเพราะฐานลูกค้าหลักเป็นผู้ที่มีรายได้สูง และคิดดอกเบี้ยต่ำ มีเพียง KTC ที่กระอัก คาดฉุดรายได้ลดลงไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมายืนยันถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 ส่วนที่เป็นการปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เหลือ 16% ลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด จาก 28% เหลือ 25% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด ที่ลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 25% รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ลดดอกเบี้ยเหลือ 24% ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นมาตรการ “ถาวร” ไม่ใช่ “ชั่วคราว”

ส่วนมาตรการขั้นต่ำ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ที่ให้ลูกค้าสมัครเข้ามา เปลี่ยนเป็น term loan รวมถึงการลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จะเป็นมาตรการชั่วคราว โดยให้ลูกค้าสมัครเข้าร่วมระหว่างวันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2563 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น มาตรการดังกล่าวหลายฝ่ายมองว่าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเช่าซื้อสินเชื่อแทบทุกราย เพราะนั่นหมายถึงรายได้จะลดลง

นอกจากนี้ การที่ธนาคารออมสินออกมาประกาศเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์ เพราะมองว่าสินเชื่อที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป 24-28% ต่อปี จนกลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับผู้บริโภค

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยพร้อมเปิดโอกาสให้ลูกค้าจากทุกที่เข้ามารีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยลดภาระประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม เพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

ดังนั้น การที่แบงก์ออมสินนำร่องลดดอกเบี้ย 8-10% จะกดดันให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องหั่นดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อรักษาฐานลูกค้า ซึ่งจะดึงให้อัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดปรับตัวลดลงอัตโนมัติ ปัจจุบันไทยมีลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ทั้งระบบ 25.38 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 481,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคลและบัตรกดเงินสด 48% บัตรเครดิต 31% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 21% กอปรกับออมสินเป็นแบงก์รัฐ จึงค่อนข้างมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ประกอบการภาคเอกชน ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เนื่องจากมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน ดังนั้น การที่จะดึงดอกเบี้ยลงมาถึง 10% ไม่ใช่เรื่องยาก

จากเหตุการณ์ข้างต้นบริษัทเอกชนต่างๆ เพราะนั่นหมายถึงกระทบผลการดำเนินงานไม่มากก็น้อย และเอกชนคงต้องปรับแผนตั้งรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น การแย่งลูกค้าย่อมมีมากเพราะลูกค้าย่อมต้องการเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าแน่นอน

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯ ถึงมาตรการที่แบงก์ชาติปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต และสินเชื่อจำนำทะเบียน ตั้งแต่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไป มองว่าจะส่งผลกระทบต่อ KTC เป็นหลัก เพราะเดิมคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลสูงกว่าเพดานใหม่ ขณะ MTC และ SAWAD จะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกหนี้ต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยใหม่อยู่แล้ว มีเพียง SAWAD ที่คิดอัตราดอกเบี้ยของรถยนต์บางประเภท ที่ระดับ 26% อยู่บ้าง แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของสินเชื่อสุทธิ และจากการสอบถามไปที่ SAWAD อาจเลือกที่จะปล่อยสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวลดลง เพราะได้ดอกเบี้ยไม่คุ้มความเสี่ยง

นอกจากนี้ เพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลเฉพาะสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยหลังจากวันที่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไป ไม่กระทบต่อสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้ว จึงคาดกระทบ SAWAD ไม่มาก โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยยังให้น้ำหนักความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนมาตรการแบงก์ชาติ ประเมินว่าเป็นเชิงลบต่อกลุ่มเช่าซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเช่าซื้อรถบรรทุก

KTC กระอัก คาดรายได้ทรุดไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เผยว่า มาตรการแบงก์ชาติที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานบริษัท คาดรายได้จะลดลงไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี ทำให้บริษัทต้องปรับตัวขนานใหญ่ และตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป KTC จะปรับลดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินคือ บัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภท อัตราดอกเบี้ยรวมอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน 16% ต่อปี บัตรกดเงินสด KTC PROUD และ KTC CASH อัตราดอกเบี้ยรวมอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงสุด 25% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563-ปี 2564 อัตรา 8% ในปี 2565 และ 10% ในปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนลูกหนี้ KTC PROUD ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมทั้งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563 และกลุ่มลูกหนี้ได้เข้าร่วมเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวภายใต้มาตรการช่วยเหลือของบริษัทกว่า 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 90 ราย

MTC-SAWAD คิดดอกเบี้ยต่ำ ไม่กระทบ

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เผยว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ย รวมถึง "ค่าติดตามทวงถาม" ใหม่ ตามมาตรการแบงก์ชาตินั้น ซึ่ง MTC คิดค่าติดตามทวงถาม 99 บาท ต่ำกว่าแบงก์ชาติกำหนด เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำกว่า จึงไม่ได้รับผลกระทบ และการที่ MTC ได้รับวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากธนาคารออมสิน 4,958 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ทำให้ต้นทุนจ่ายของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงพร้อมส่งต่อความช่วยเหลือไปยังลูกค้าอย่างเต็มที่ และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทช่วยเหลือลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้กว่า 140,000 ราย และลูกค้าที่ขอลดการชำระค่างวดอีกกว่า 80,000 ราย และลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มลูกค้าที่ดีของ MTC เสมอมา เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อว่าลูกค้ากลุ่มดังกล่าวกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้ไม่เกิด NPL ในภายหลัง

"ปัจจุบัน บริษัทได้ตั้งสำรองอย่างเพียงพอและเหมาะสมตามมาตรฐาน TFRS 9 ทำให้มีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพสูงเกินกว่า 200% ประเมินความต้องการสินเชื่อน่าจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ช่วงครึ่งหลังปีนี้ และมั่นใจว่าผลการดำเนินงานปี 2563 จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้"

ส่วนกรณีที่ธนาคารออมสินมาทำธุรกิจ NON BANK และดึงดอกเบี้ยให้เหลือ 8-10% นั้นว่า จะไม่กระทบต่อธุรกิจของ MTC มากนัก เนื่องจากลูกค้าเดิมที่มีอยู่เป็นลูกค้าที่มีหลักประกัน หากจะไปรีไฟแนนซ์กับออมสินก็คงเป็นเรื่องยาก และต้องมองการบริการของธนาคารว่ามีความรวดเร็วเหมือนภาคเอกชนหรือไม่

น.ส.ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นสินเชื่อหลักของบริษัทคิดเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อของบริษัท โดยคิดดอกเบี้ยจากลูกค้า 20-22% ดังนั้น ดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติลดลงมาเหลือ 24% จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท เพราะคิดต่ำกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว และในส่วนของ NPL นั้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทเข้าร่วมประกาศของแบงก์ชาติที่ออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ การตั้งสำรองจึงไม่สูงมาก  และเชื่อว่าเมื่อโควิด-19 เบาบางลง สถานการณ์กลับมาปกติ

ขณะที่มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 นั้น SAWAD เริ่มใช้มาตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 63 และไม่ได้กระทบกับบริษัทนัก ซึ่งปัจจุบันนี้กลุ่ม SAWAD มี NPL 3-4% เมื่อใช้ TFRS 9 ส่งผลให้ตัวเลขปรับขึ้นเล็กน้อย แต่บริษัทจะเน้นประคองลูกค้าไปก่อน และ NPL ระดับนี้ บริษัทบริหารจัดการได้

JMART เผยรับผลกระทบน้อย

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่ามาตรการที่แบงก์ชาติประกาศไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัท เพราะ บริษัทในกลุ่มเจมาร์ท ในส่วนของ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ได้กระทบมากนัก เพราะฐานลูกค้าหลักเป็นผู้ที่มีรายได้สูง และคิดดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 25% มีมากกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดของบริษัท ปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้แบรนด์ "J Money" ส่วนบริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ดำเนินธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อน และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ "รถทำเงิน" ไม่กระทบ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ให้บริการกับลูกค้าไม่ถึงเกณฑ์ 24% ที่แบงก์ชาติประกาศอยู่แล้ว โดยธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินปีนี้บริษัทวางเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินเชื่อใหม่เข้ามาอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท และที่ผ่านมา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินมีอัตราที่ต่ำกว่า 1% หากปล่อยสินเชื่อตามแผนจะทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้อยู่ที่ 5,300-5,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น