กลุ่มเจมาร์ทย้ำมาตรการลดดอกเบี้ยที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สินเชื่อบัตรเครดิต ปรับดอกเบี้ยลดลงเหลือ 16% จาก 18% สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน และที่ผ่อนชำระเป็นงวด เหลือ 25% จาก 28% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เหลือ 24% ยืนยันไม่กระทบธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัท ทั้ง J Fintech และ SINGER ส่วน JMT มองโอกาสซื้อหนี้เพิ่มเติมช่วงครึ่งปีหลังนี้เสริมสร้างการเติบโตของกลุ่มบริษัทในอนาคต
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัทภายใต้การบริหารของ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด และ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2-4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มองมาตรการครั้งนี้เป็นประโยชน์ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภค และเพื่อช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19
สำหรับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท ในส่วนของ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทยไม่ได้กระทบมากนัก เพราะฐานลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้กับลูกค้ากลุ่มนี้ในระดับต่ำอยู่แล้ว โดยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 25% มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดของบริษัท ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้แบรนด์ “J Money” พร้อมทั้งมุ่งที่จะสร้างประสบการณ์สินเชื่อใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้าน Fintech
ด้านบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ดำเนินธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อน และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ "รถทำเงิน" ไม่กระทบ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ให้บริการแก่ลูกค้าไม่ถึงเกณฑ์ที่ 24% ที่แบงก์ชาติประกาศอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินปีนี้บริษัทวางเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินเชื่อใหม่เข้ามาอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา NPL ของธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินมีอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยหากปล่อยสินเชื่อตามแผนจะทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5,300-5,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท
ในด้าน บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT มองว่าตลาดหนี้ด้อยคุณภาพในช่วงครึ่งปีหลังจะยิ่งเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงินได้มากขึ้น เนื่องจาก JMT เป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินในการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ เพื่อที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจของบริษัทในอนาคต ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาใช้เงินไปกว่า 2 พันล้านบาทในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
“งบไตรมาส 2/2563 ของบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะธุรกิจการเงินและธุรกิจบริหารหนี้ที่โดดเด่น และบริษัทย่อยร่วมในกลุ่มยังคงมีผลประกอบการเติบโต เป็นที่น่าพอใจ แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง” นายอดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย