xs
xsm
sm
md
lg

"เดย์ ฟรีแมน-ผู้ชายข้ามเพศ" เปิดมุมมอง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ชี้ได้คืบอย่าเอาศอก!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.20 - 15.00 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (9 ก.ค.) "ดร. เสรี วงษ์มณฑา" เปิดใจสัมภาษณ์ "เดย์ ฟรีแมน" นักแสดงอิสระ มาพร้อมกับ "คุณกุ๊ก" ผู้ชายข้ามเพศ กรณีครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่งงานได้ไม่จำกัดเพศ

กุ๊กเป็นผู้หญิงมาก่อน?
กุ๊ก : "ใช่ครับ กุ๊กเข้ากระบวนการกับคุณหมอ รับฮอร์โมนเพศชาย หนวดเคราขึ้นโดยธรรมชาติ ตอนนี้ยังไม่เป็นผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ ขาดข้างล่างครับ (หัวเราะ) รออีกปีสองปี เตรียมความพร้อมเรื่องร่างกาย เวลา และการเงินครับ"

มีแฟนแล้ว?
กุ๊ก : "มีครับ ความพึงพอใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับอวัยวะเพศตรงนั้นครับ (หัวเราะ)"

รู้ตัวเมื่อไหร่อยากเป็นผู้ชาย?
กุ๊ก : "ตอนเด็กเราไม่ได้รู้ตัวเลยว่าเราเป็นเพศอะไร แค่รู้สึกว่าไม่ได้เป็นผู้หญิง รู้สึกว่าเราใส่กระโปรงแล้วอึดอัด อยากถอดเสื้อเล่นกับเพื่อนผู้ชาย เราไม่อินกับการเป็นผู้หญิง แต่เราจะมีคำถามว่าเราแปลกหรือเปล่า ทำไมเรานั่งฉี่ ทำไมเพื่อนเรายืนฉี่ ทำไมเราไม่เหมือนเขา เพื่อนเราทำไมมีอะไรยื่นออกมา เราไม่มี เราก็สงสัยแต่ไม่ได้คำตอบ จนเราโตขึ้นเราถึงรู้ตัวเองว่าสิ่งที่ตามหาเราอยากเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง"

โดนบูลลี่มั้ย?
กุ๊ก : ตอนเด็กเรายังแยกแยะไม่ออกว่าเราเป็นเพศอะไรเลยไม่โดนบูลลี่ในเรื่องเพศ"

ทางบ้านรู้ความต้องการของกุ๊กตอนไหน?
กุ๊ก : "รู้ตั้งแต่เราโตขึ้น เราแต่งตัวเป็นผู้ชาย เขามองเราเป็นทอมก่อน แต่ทางบ้านเขาก็ยังไม่ได้พูดอะไรมาก แต่พ่อเรียกมาพูดส่วนตัวว่าอย่าเป็นแบบนี้เลย ไม่ดีนะ อย่าเป็นเพศที่สามเลย สังคมไม่ยอมรับ เราอยู่ในสังคมยากนะ เราก็สงสัยว่าทำไมต้องมาวางกรอบว่าผู้หญิงผู้ชายต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ตอนนั้นเราก็ต่อต้านเขา ทะเลาะกัน"

ทำยังไงครอบครัวยอมรับ?
กุ๊ก : "ทำให้เขาเห็นว่าเราอยู่ในสังคมได้ เราดูแลตัวเองได้ เรามีหน้าที่การงานที่ดี คนรอบข้างยอมรับเราร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องมาระบุว่าเป็นผู้ชายแท้เท่านั้นเขาถึงจะยอมรับกุ๊กเป็นเพื่อน หรือยอมรับกุ๊กในที่ทำงาน"

มีแฟนแล้ว ครอบครัวแฟนว่าไง?
กุ๊ก : "ช่วงแรกเราไปเจอแม่แฟน แม่เขาพูดเลยว่าห้ามจีบลูกแม่ ไม่เอานะแบบนี้ แม่พูดเลยว่าไม่เอา เราก็เฟล เสียใจ แต่ไม่เป็นไร เราไปต่อ เราเข้าใจเขาด้วย แม่ค่อนข้างหวงลูกสาว"

แล้วเขารับเราได้ยังไง?
กุ๊ก : "ก็อยู่ที่ตัวกุ๊ก วันรุ่งขึ้นก็โทรไปหาแม่ โทรหาทุกวันเข้าทางผู้ใหญ่ ใช้ความสม่ำเสมอไปหาพ่อแม่แฟน ญาติแฟน ให้เขาเรียนรู้พฤติกรรมเรา เรียนรู้สิ่งที่เราเป็น เรียนรู้ว่าเรามีหน้าที่การงานยังไง เราดูแลลูกเขายังไง"

ตอนนี้อยู่เป็นผัวเมียกันแล้ว?
กุ๊ก : "ใช่ครับ"

อยากมีลูกมั้ย?
กุ๊ก : "อยากมีลูกครับ"

แฟนกุ๊กเคยมีแฟนผู้ชายมั้ย?
กุ๊ก : "มีครับ ด้วยความแฟนเขาเจอเรื่องมือที่สามก็เลยเลิกกับแฟนผู้ชาย แฟนเขาไม่เคยตั้งกฎว่าคุณต้องเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เขารู้สึกว่าเขาอยู่กับเรา เราดูแลเขาได้ ทำให้เขามีความสุขได้ อยู่ดูแลซึ่งกันและกัน ตรงนี้คือสิ่งที่เขามองนอกเหนือจากเพศ"

อยากมีลูก แล้วจะมีได้ยังไง?
กุ๊ก : "จากที่คุยกับคุณหมอ กุ๊กต้องเก็บรังไข่ของกุ๊กไว้เวลาตกไข่ ฝากในคลังคุณหมอไว้ ทางตัวแฟนเขาก็มีมดลูกปกติ กุ๊กต้องเอารังไข่ของกุ๊กมาฝังในมดลูกของเขาเพื่อให้มีส่วนที่เป็นเชื้อของกุ๊กด้วย น้ำเชื้อมีสองแบบ แบบแรกคือสามารถเอาจากญาติที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข ยีนส์ กรรมพันธุ์ที่ตรงกับกุ๊ก สองเป็นเชื้อในคลังที่เขาบริจาค"

อยากได้แบบไหนมากกว่ากัน?
กุ๊ก : "อยากได้แบบแรก เป็นญาติมีเชื้อกรรมพันธุ์ของเราดีกว่า"

ทำไมไม่ใช้ไข่ของฝ่ายหญิงเลย?
กุ๊ก : "กุ๊กจะได้มีส่วนในการเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขด้วย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับรังไข่ของเรา สามารถไปเกาะมดลูกเขาได้หรือเปล่า ต้องมาลุ้นตรงนี้"

เดย์ การเป็นกะเทยเมืองไทย เป็นยังไง?
เดย์ : "สำหรับเดย์ ถ้าเป็นแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เรียนรู้ว่าจะวางตัวยังไง เราก็อยู่ได้สบาย ทุกรุ่นๆ อาจเป็นรุ่นเก่ากว่าเดย์อาจลำบากกว่า"

พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่านแล้ว อยากแต่งงานมั้ย?
กุ๊ก : "กุ๊กแต่งแล้ว ให้เกียรติฝั่งเจ้าสาว แต่ไม่ได้จดทะเบียนอะไรทั้งสิ้น ก็คิดไว้ว่าถ้าเราพร้อม ก็คิดว่าจะไปจดทะเบียนกับแฟน"

ได้สิทธิอะไรบ้าง?
กุ๊ก : "สิ่งที่หวังไว้คือรับมรดกร่วมกันได้ สิ่งที่กุ๊กคิดว่าอาจจะโดยตรงเลยคือเวลาฝ่ายใดฝ่ายหญิงป่วย หรือเป็นโรค เราสามารถเซ็นรับรองให้เขาผ่าตัดได้ โดยไม่ต้องรอบิดามารดาอีกฝ่ายหรือรอญาติอีกฝ่าย หรือสิทธิ์ในการรับรองบุตรร่วมกัน"

ก่อนหน้านี้ที่เขาต่อสู้กับพ.ร.บ.ฉบับนี้ กุ๊กมีความหวังอะไรมั้ย?
กุ๊ก : "เราก็ร่วมลงชื่อ อ่านหาข้อมูลแชร์กัน ว่าถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมา จะมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง แล้วบุคคลเพศที่สามแบบเราจะได้รับรองสิทธิ์เท่าเพศหญิงเพศชายมั้ย อันนี้คือสิ่งที่คาดหวังไว้"

ถ้าเกิดได้จดทะเบียน ความรู้สึกหลังได้จดทะเบียนคืออะไร?
กุ๊ก : "อาจโล่งใจว่าโอเคสิ่งที่เราสร้างมากับแฟน สามารถรองรับมรดกซึ่งกันและกันได้ หรือเวลาเขาป่วย เราก็สบายใจว่าเซ็นรับรองได้ กุ๊กมองเรื่องการดูแลกันและกันมากกว่า"

เดย์มีบทบาทอะไรบ้าง?
เดย์ : "เหมือนได้มานั่งอภิปราย นั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเอาชีวิตจริงของคนที่เรารู้จักมานำเสนอ เพราะเรื่องมรดก การดูแลซึ่งกันและกันอย่างเมื่อกี้ เป็นเพื่อนของเดย์เลย ฝ่ายกะเทยถูกพ่อแม่รังเกียจ อาย ไล่ออกจากบ้านไม่ดูดำดูดี พอมาอยู่กับผู้ชายก็สร้างฐานะด้วยกัน ผู้ชายก็ให้เกียรติ บ้านที่หามาด้วยกันก็ให้เป็นชื่อกะเทย รถก็เป็นชื่อกะเทย กลัวว่าคนจะหาว่ามาเกาะ ทุกคนรู้ เพื่อนรู้หมด"

"ปรากฎว่าวันนึงกะเทยคนนี้ไม่สบาย ผู้ชายก็กู้หนี้ยืมสินมารักษา มีวันนึงต้องผ่าตัด แล้วตัวเองอนุมัติเซ็นไม่ได้ ไปตามพ่อแม่ พ่อแม่ไม่สนใจนะ พ่อแม่บอกว่าตัดลูกตัดพ่อแม่ไปแล้ว ไม่เกี่ยวกัน จนกะเทยตาย รักษาไม่ทันท่วงที ไม่ได้ผ่าตัด ตายปุ๊บ เอาศพออกมาไม่ได้อีก ทำงานศพไม่ได้ ไปบอกพ่อแม่ แทนที่พ่อแม่บอกว่าเอาศพไปวัดไหน ถามก่อนเลยว่ากะเทยมีสมบัติอะไรบ้าง อันนี้คือปัญหา ทั้งคู่ชีวิตที่เขาอยู่ด้วยกันทำมาด้วยกัน และเป็นหนี้ในการรักษา บ้าน-รถโดนโอนถ่ายไปตามกฎหมาย ตกเป็นของพ่อแม่ ซึ่งเราก็อยากให้เห็นตรงจุดนี้บ้างว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ อยากให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคน ข้อดีเรื่องการมีพ.ร.บ. นี้ ชัดเจนเลยอย่างน้อยเป็นอีกก้าวนึงในการยอมรับที่มีกฎหมายรับรอง"

ข้อเสีย?
กุ๊ก : "ตอนนี้ยังมองไม่เห็น ภาพลักษณ์ในสังคมจะยอมรับมั้ย เราบังคับคนทั่วไปไม่ได้ ว่าเฮ้ย ตอนนี้บ้านเมืองเป็นอะไรอยู่ ทำไมมาทำเรื่องอะไรบ้าๆ บอๆ เมื่อวานเราก็อ่านข่าว เราก็รู้สึกว่านี่แหละเป็นสิ่งที่เราต่อสู้ เราอยากให้คุณยอมรับว่าเราเป็นมนุษย์ อย่ามาตัดสินว่าดีไม่ดีแค่เรื่องเพศ ไม่อยากพูดว่ากฎหมายออกมาแล้วแย่"

มีอะไรอยากเพิ่ม?
กุ๊ก : "ไม่อยากได้ชื่อว่าได้คืบจะเอาศอก ตอนนี้ได้มาก็ดีใจแล้ว เพราะเหมือนพี่เดย์บอก ถ้าย้อนกลับไปสมัยรุ่นพี่เดย์ พี่เดย์ต้องผ่านอะไรมามากกว่ากุ๊กอยู่แล้ว สิ่งที่ออกมาตอนนี้เหมือนเป็นกำลังใจให้พวกเราได้ไปต่อ สิ่งที่ทุกคนสู้มา สังคมก็เปิดกว้างขึ้น"

เดย์ : "สิ่งที่หลายคนอยากได้ในตอนนี้ ที่อยากให้เหมือนกันสิ แต่เรามานั่งย้อนกลับไปว่าถ้าเราเรียกร้องขนาดนั้น มันอาจเกิดแรงเสียดทาน คนที่ไม่เห็นด้วยแทนที่เขานั่งนิ่งๆ เขาอาจจะออกมาบอกว่ามันเยอะเกินไปหรือเปล่า คู่ชีวิตอาจไม่ได้มีลูกหรือมีอะไร ไปขอสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรบางแง่บางมุมก็ไม่ได้ เราก็เข้าใจเขาตรงจุดนี้ เราก็อยู่โดยเราไม่เรียกร้องอะไร เราก็อยู่ได้นี่หว่า แต่เขาให้ขนาดนี้เขาก็อาจมีเหตุผลของเขาเหมือนกัน ว่าทำไมเขาถึงให้แค่นี้ก่อน มันเป็นของใหม่ มันอาจมีปัญหาอะไรที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แล้วเขาไม่ได้บอกนี่ว่าให้แค่นี้นะ ถ้าเราทำสิ่งที่เราได้มาครบถ้วนได้ดีอะไรต่างๆ สิ่งที่เราจะขอต่อไปเป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ที่จะทำตัวให้เขาเห็นว่าเขาพร้อมที่จะมอบให้ต่อไปหรือเปล่า"




กำลังโหลดความคิดเห็น