xs
xsm
sm
md
lg

“รัน” ความยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของ “จักรพรรดิ” แห่งวงการหนังญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี



โมริ โมโทนาริ เป็นลูกหลานตระกูลไดเมียแห่งแคว้นเล็ก ๆ ทางใต้ เขาต้องระเห็ดออกจากปราสาทไปเพราะความวุ่นวายแก่งแย่งอำนาจในตระกูลตั้งแต่เด็ก ๆ และต้องไปอาศัยอยู่กับแม่บุญธรรมเหมือนประชาชนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง จนถูกตั้งฉายาว่าเป็น “องค์ชายขอทาน”

จนในวันที่ตระกูลโมริ มีภัย โมโทนาริ ถูกเรียกตัวให้กลับตระกูล และได้รับมอบหมายให้นำกำลังทหารออกไปต้านข้าศึกที่บุกเขามาถึงเขตแดน โดยไม่มีใครหวังว่าเด็กหนุ่มวัยยังไม่ถึง 20 ปี จะทำอะไรได้มากนัก สุดท้าย โมริ โมโทนาริ ที่อายุแค่ 18 ปี สามารถนำกำลังพลไม่ถึงพันคน ผ่าทัพศัตรูครึ่งหมื่นเขาไปเด็ดหัวขุนพลของข้าศึกได้อย่างปาฏิหาริย์

โมริ โมโทนาริ คือต้นแบบของตัวละคร “อิจิมอนจิ ฮิเดโทระ” ในหนัง “รัน” ของ อากิระ คุโรซาว่า ที่เพิ่งจะมาเข้าฉายเป็นกรณีพิเศษในโรงภาพยนตร์ที่เมืองไทยนั่นเอง

อากิระ คุโรซาว่า รู้สึกสนใจในเรื่องาวของ โมริ โมโทนาริ ในประเด็นที่เขามีลูกชายผู้เก่งกาจอยู่ถึง 3 คน แต่ คุโรซาว่า กลับมองไปอีกมุมว่าถ้าหาก โมโทนาริ ที่ไม่ได้เรื่องจะเกิดอะไรขึ้น?

รัน เล่าถึงเรื่องราวของไดเมียวผู้ชรา ที่ตัดสินใจยกทุกอย่างให้ลูกชายคนโต แต่ทันทีที่ได้อำนาจไป ลูกชายที่เคยเคารพพ่ออย่างไร้ข้อโต้แย้งก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ชายชราจึงตัดสินใจเดินทางไปขออาศัยในปราสาทของลูกชายคนรองแต่ก็กลับถูกขับไล่ใสส่ง จนสุดท้ายเหลือเพียงลูกชายคนเล็ก แต่ ฮิเดโทระ ก็หยิ่งยโสเกินไป จนไม่กล้าไปขอความช่วยเหลือจาก ลูกชายที่เขาตัดพ่อตัดลูกไปแล้ว เพราะพูดจาไม่เขาหู

รัน เล่าเรื่องการเดินทางครั้งสุดท้ายอันน่าอดสูของชายชรา จากขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ ในระยะเวลาสั้น ๆ เขาแทบไม่เหลือคราบเดิม สูญเสียทั้งผู้ติดตามที่มีอยู่แค่หยิบมือ, ไม่มีแม้แต่ปราสาทจะอยู่, ไม่เพียงร่างกายจะทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว แต่สติสัมปชัญญะยังเลื่อนลางลงไปเรื่อย ๆ มีเพียงตัวตลก กับคนสนิทผู้จงรักภักดีเท่านั้นที่คอยติดตามไปด้วย

อากิระ คุโรซาว่า นำเรื่องราวของ โมริ โมโทนาริ มาผสมกับวรรณกรรม “King Lear” ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ มาดัดแปลงให้เป็นหนังซามูไรที่ยิ่งใหญ่ทั้งเนื้อหา, งานสร้าง และการนำเสนอ จนพูดได้ว่า “รัน” คือหนึ่งในหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมาไม่เฉพาะสำหรับวงการหนังญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นับรวมถึงวงการภาพยนตร์ทั่วโลกด้วย


รัน ถ่ายทำขึ้นในช่วงที่ คุโรซาว่า อายุประมาณ 70 ปีเศษ และเข้าฉายในปีที่เขาอายุ 75 ปีเต็มพอดี หนังใช้เวลาเตรียมงานนับปี คุโรซาว่า วิ่งหาทุนนานหลายปีกว่าจะได้ทำจริง ๆ เพราะแทบไม่มีบริษัทผลิตภาพยนตร์ในญี่ปุ่นที่กล้าลงทุนในหนังเรื่องนี้เลย

สุดท้าย คุโรซาว่า ไปได้ทุนฝรั่งเศสจากผู้อำนวยการสร้างชื่อดัง เซอร์จ ซิลเลอร์แมน สรุปรวมแล้ว รัน ได้ทุนสร้างสูงถึง 2,000 ล้านเยน หรือ 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น 11 ล้านเหรียญฯ ไม่ใช่น้อย ๆ หนังระดับ Star Wars ภาคแรกของ จอร์จ ลูคัส ก็ใช้เงินประมาณเท่า ๆ นี้เหมือนกัน

โดยก่อนหน้าเรื่อง รัน คุโรซาว่า เพิ่งจะทำหนังสงครามย้อนยุคอิงประวัติศศาสตร์เรื่อง “คาเกมูฉะ” และใช้ทุนไปไม่น้อยเหมือนกันคือ 7 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเคยเปรยเล่น ๆ ว่าจริง ๆ แล้ว คาเกมูฉะ ก็เหมือนกับเป็นงานที่เอาไว้ “ลองเสื้อผ้า” สำหรับถ่ายทำ “รัน” นั่นแหละ

รัน ใช้ตัวประกอบที่เป็นกำลังพลของกองกำลังป้องกันตัวเองแห่งประเทศญี่ปุ่นจำนวนหลายพันคน หนังต้องเตรียมเสื้อผ้าสำหรับให้เหล่านักแสดงตัวประกอบเหล่านี้ที่จะต้องแสดงเป็นทหารถึง 1,400 ชุด ยังมีการใช้ม้าถึง 400 ตัว คุโรซาว่า ยังบุกป่าฝ่าดงเข้าไปถ่ายทำถึง

ฉากส่วนใหญ่ของเรื่องในภูเขาไฟอะโซที่ถือว่าเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นก็ยังได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำที่ปราสาทคุมาโมโตะ กับปราสาทมิเมจิ นอกจากนั้นก็ยังได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้เข้าไปปักหลักถ่ายทำที่ซากของปราสาทอาซึสะด้วย

คุโรซาว่า ใช้เงินไปกับการถ่ายทำฉากใหญ่ ๆ มากมาย เขาทุ่มทุนสร้างปราสาทญี่ปุ่นโบราณขึ้นมาเพื่อ “เผา” ในฉากใหญ่กลางเรื่องของหนัง

ที่น่าชื่นชมก็คือผู้กำกับเฒ่าแห่งแดนอาทิตย์อุทัยไม่ได้ผลาญเงินมหาศาลไปเพื่อการสร้างความบันเทิงอันตื่นเขิน แต่เขาต้องการจะบอกถึงสื่อที่ตัวเองรู้สึกถึงอย่างแรงกล้า ในการเล่าถึงชะตากรรมอันโหดร้ายในช่วงเวลาที่ศีลธรรมเสื่อมโทรม คุโรซาว่า พยายามแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ที่น่าอดสู้ เขาเน้นตัดสลับภาพความงดงามของทิวทัศน์ กับความบิดเบี้ยวของสังคมมนุษย์ให้เห็นอย่างชัดเจนตลอดทั้งเรื่อง


รัน เต็มไปด้วยฉากสงครามที่ยิ่งใหญ่ ด้วยตัวประกอบหลักพันคน แต่ คุโรซาว่า ไม่เน้นถ่ายทำฉากรบด้วยการเน้นสร้างความตื่นเต้น และเขากลับทำฉากสงครามให้เต็มไปด้วย เลือด, ฝุ่นควัน, ความอลหม่าน, ดูสับสนวุ่นวาย ตรงตามชื่อเรื่อง “รัน” ที่แปลว่า “กลียุค”

หนังอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทางรายได้มากนัก รัน ทำเงินไปประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หนังได้รับรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ที่น่าแปลกคือหนังไม่ได้รับการ “ชื่นชม” จากสถาบันต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นนัก

รัน ถูกเลือกให้ฉายเพื่อเปิดเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวในปี 1985 แต่ คุโรซาว่า ไม่ได้ไปร่วมงาน ว่ากันว่าตอนนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับคนใหญ่โตในวงการหนังญี่ปุ่นมาก พูดตามตรงตอนนั้น คุโรซาว่า เองก็ไม่ได้เป็นที่รักของคนในวงการหนังที่บ้านเกิดของเขาอยู่แล้ว ช่วง 20 ปี สุดท้ายของการทำหนัง คุโรซาว่า ประสบความยากลำบากในการหาทุนที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก จนต้องออกมาหาเงินต่างประเทศเพื่อทำหนังแทน

ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใดในงานมอบรางวัลของสถาบันภาพยนตร์ญี่ปุ่น รัน ไม่ได้แม้แต่จะเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น สำหรับการชิงรางวัลหนังภาษาต่างประเทศในปีนั้นด้วย เพราะสถาบันภาพยนตร์ญี่ปุ่นเลือกที่จะส่งหนัง Gray Sunset ของ ชุนยะ อิโตะ ที่ไม่ได้โด่งดังในระดับต่างประเทศเลยไปชิงรางวัลแทน

สุดท้ายผู้กำกับฮอลลีวูดหลายคน โดยเฉพาะ ซิดนีย์ ลูเม็ต ได้พยายามวิ่งเต้นเพื่อผลักดันให้ รัน ได้ชิงออสการ์ในสาขาหลัก จนในที่สุด รัน ก็ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลของสถาบันภาพยนตร์แห่งอเมริกาในปีนั้นถึง 3 สาขา และได้รับรางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมกลับมาด้วย ส่วน อากิร่า คุโรซาว่า ก็มีชื่อชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของออสการ์เป็นครั้งแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น