xs
xsm
sm
md
lg

"ม้าทองคำ" ออสการ์แห่งหนังภาษาจีน

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี



ในปี 1962 สำนักงานข้อมูลข่าวสารแห่ง "สาธารณรัฐจีน" หรือที่ทั่วโลกคุ้นชื่อกันว่า "ไต้หวัน" ได้เปลี่ยนชื่อการมอบรางวัลภาพยนตร์ประจำปีที่เคยเรียกกันง่าย ๆ ว่า "รางวัลภาพยนตร์ภาษาจีนกลางแห่งปี" มาเป็น "รางวัลม้าทองคำ" ประวัติศาสตร์ของรางวัลภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศที่ใช้ภาษาจีน ได้เริ่มต้น ณ จุดนั้นเอง

รางวัลม้าทองคำไม่ได้จำกัดว่าจะให้เฉพาะหนังไต้หวันเท่านั้น แต่ยังมอบรางวัลให้กับหนังเรื่องใด ๆ ก็ได้ที่ใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสาร แต่ตอนนั้นเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ก็เพิ่มตกอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์มาแค่ 10 กว่าปีเท่านั้น รางวัลม้าทองคำในยุคแรก ๆ จึงยังไม่มีหนังของจีนมาร่วมชิงรางวัล

โดยหนังเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลม้าทองคำก็คือหนังฮ่องกงที่ชื่อว่า Sun, Moon and Star ที่ได้รับรางวัลในงานปีแรกเมื่อปี 1962 ไป

หลังจากนั้นก็มีหนังดัง ๆ อีกหลายเรื่อง ที่มาคว้ารางวัลม้าทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็น "ม่านประเพณี" ของ ชอว์บราเดอร์ในปี 1963


Terrorizers หนังไต้หวันของ เอ็ดเวิร์ด หยาง ผู้กำกับชื่อดังของที่นั่นที่คว้ารางวัลได้ในปี 1982

ส่วนในปี 1988 เฉินหลง สร้างหนังเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กของตัวเองตอนเป็นนักเรียนงิ้วที่ชื่อว่า Painted Faces จนได้รับเสียงชมจากทุกคน และสุดท้ายก็ยังคว้ารางวัลม้าทองคำได้ด้วย

จนมาถึงในปี 1993 ผู้กำกับชาวไต้หวันที่ไปดังในสหรัฐฯ อย่าง อังลี ก็กลับมาคว้ารางวัลม้าทองคำได้ที่บ้านเกิดด้วยผลงานเรื่อง The Wedding Banquet ที่เล่าถึงเรื่องราวของหนุ่มเกย์ที่ต้องหาผู้หญิงมาแต่งงานเพื่อให้พ่อกับแม่สบายใจ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1996 เมื่อรางวัลม้าทองคำได้เปลี่ยนกฏอนุญาตให้หนังชาติใดก็ได้ที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร สามารถเข้าร่วมประกวดชิงรางวัลได้ทั้งหมด ซึ่งในปีนั้น In the Heat of the Sun หนังจีนแผ่นดินใหญ่ของนักแสดงมากฝีมือ เจียงเหวิน ที่เล่าเรื่องจากประสบการณ์ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของตัวเขาเอง กลายเป็นหนังจีนแผ่นดินใหญ่เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลม้าทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม


หลังจากนั้นเป็นต้นมา ม้าทองคำก็กลายเป็นเหมือนรางวัลออสการ์สำหรับหนังภาษาจีนไปโดยปริยาย หนังจากทั้งไต้หวัน, ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ต่างมาประกวดชิงรางวัลกันที่นี่ หนังดัง ๆ อย่าง เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว ก็เคยคว้ารางวัลม้าทองคำมาแล้วในปี 1997

แม้แต่หนังกำลังภายในเรื่องดังอย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon ก็คว้ารางวัลม้าทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้เช่นเดียวกันเมื่อปี 2000

ม้าทองคำยังเปิดโอกาสให้กับหนังตลาด ๆ ที่มีทำออกมาได้ถึงจริง ๆ อย่าง Infernal Affairs เมื่อปี 2003 ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว

ส่วนหนัง Kung Fu Hustle ก็ได้รับการยกย่องด้วยรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกันในปี 2006

แม้แต่หนังสิงคโปร์อย่าง Ilo Ilo ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคุณแม่, ลูกชาย และพี่เลี้ยงชาวฟิลิปปินส์ ก็ยังสามารถคว้ารางวัลม้าทองคำสาขาหนังยอดเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน


จนมาถึงเมื่อปี 2018 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นกับรางวัลม้าทองคำ โดยที่ผู้จัดงานเองไม่ได้วางแผนเอาไว้เลย เมื่อมีผู้กำกับ 2 คนที่ได้รับรางวัลหนังสารคดียอดเยี่ยมได้ไปประกาศสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันบนเวทีม้าทองคำ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับรัฐบาลปักกิ่ง

โดยในปีนี้จีนแผ่นดินใหญ่ได้ประกาศแบนห้ามผลงานในประเทศมาร่วมชิงรางวัลม้าทองคำโดยเด็ดขาด ส่วนหนังฮ่องกงที่ทุกวันนี้แทบจะอาศัยรายได้จากจีนแผ่นดินใหญ่ร้อยเปอร์เซนต์ก็ถอนตัวไปด้วยเพราะไม่อยากมีปัญหา แถมวงการหนังจีนก็ยังวางแผนปั้นรางวัล "ไก่ทองคำ" หรือ Golden Rooster ขึ้นมาแข่ง โดยรางวัลนี้จัดมอบกันมาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้ผู้จัดเลือกจัดงานวันเดียวกับม้าทองคำกันเลยทีเดียว ซึ่งดาราจีน และฮ่องกงส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไปงานของทางจีนแผ่นดินใหญ่

สุดท้ายไก่ทองคำเลือกหนังไซไฟที่ทำรายได้มหาศาลอย่าง The Wandering Earth เป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี

ส่วนม้าทองคำที่ปีนี้เน้นแต่หนังไต้หวันก็ของฉีกไปอีกแนวด้วยการเลือก A Sun หนังเล็ก ๆ ที่เล่าเรื่องโศกนาฏกรรมในครอบครัวให้เป็นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ในบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบเหงาลงอย่างชัดเจน และความขัดแย้งทางการเมือง ก็อาจจะทำให้ออสการ์แห่งหนังภาษาจีนเงียบเหงาแบบนี้ไปอีกหลายปี




กำลังโหลดความคิดเห็น