“ทุกคนต้องตายหมด แต่จะตายแบบมีคุณค่า หรือตายไปแบบไม่มีประโยชน์ ถ้าตายแบบมีคุณค่าผมไม่กลัวครับ ผมว่าผมตายหนึ่งชีวิต จะมีอีกหลายชีวิตขึ้นมาแทนผม เพราะหนึ่งชีวิตที่จากไป จะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนลุกขึ้นมาสู้ต่อ”
… คำพูดจากน้ำเสียงเรียบๆ ง่ายๆ แต่แฝงไปด้วยอุดมการณ์ และสัมผัสได้ถึงความรักบริสุทธิ์ที่มีต่อป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงใจ ของ “อุทัย ดวงเดือน” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม้อุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ผู้ที่อุทิศชีวิตปกป้องผืนป่าแทนพวกเรามาสิบกว่าปี
“สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” คำนี้ฟังทีไรก็ขนลุกทุกที เหตุการณ์ล่า “เสือดำ” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมี “นายเปรมชัย กรรณสูตร” ซีอีโอบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่อิตาเลียนไทย พร้อมพวกเป็นผู้ต้องหา ผ่านมาหลายเดือนคดีก็ยังเงียบเหมือนเป่าสาก แต่วีรกรรมหาญกล้าของ “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์” เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าที่บุกเข้าจับกุมอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ แม้ชื่อเสียงของนายพรานคนนั้นจะใหญ่คับฟ้ามาจากไหน จนถูกยกให้เป็นฮีโร่ของผืนป่า ทำให้คนไทยยิ้มกว้างที่ได้รู้ว่าประเทศไทยยังมีข้าราชการดีๆ ที่พึ่งได้อีกเพียบ
ตอนนี้แม้คนที่ทำผิดจะยังลอยนวลหน้าตาเฉย แต่ทุกคนก็ยังเชื่อในกฎหมายไทยอยู่ ว่า “เสือดำจะไม่ตายฟรี” เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมมากมาย โดยเฉพาะผู้คนที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้เคียงข้างกับเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เห็นได้จากการออกมาแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเหล่าดาราที่ช่วยกันระดมเงินซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มีโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ในการลาดตระเวน ครอบคลุมไปถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุตรของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังหากต้องเป็นอะไรไป อีกทั้งยังใช้พลังสังคมในการปกป้องเจ้าหน้าที่ไปในตัวด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้หลายๆ คนได้รู้จักบทบาทหน้าที่ และความสำคัญของเหล่า “ผู้พิทักษ์ป่า” มากขึ้น ทั้งที่ เป็นงานที่ต้องเสียสละ เงินเดือนน้อยหลักพันก็มี แต่ต้องเสี่ยงอันตรายรอบด้าน นอกจากจะต้องสู้กับกระสุนปืนยามปะทะกับพวกตัดไม้ทำลายป่าหรือล่าสัตว์แล้ว ยังเสี่ยงโดนสัตว์ป่าทำร้าย บางคนหนาวตาย บางรายเป็นไข้ป่า นับเป็นอาชีพที่ต้องมีอุดมการณ์และใช้หัวใจทำงานล้วนๆ จากอดีตที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านี้เคยรู้สึกว่าตนเองต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว เป็นอาชีพปิดทองหลังพระ ไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่มาวันนี้พวกเขากลายเป็นฮีโร่ของทุกคนไปแล้ว หนึ่งในนั้น ที่อยากให้ทุกคนรู้จัก ก็คือ “อุทัย ดวงเดือน” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม้อุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว วัย 43 ปี
ภาพแรกที่ได้เจอกับเจ้าหน้าที่อุทัย นอกจากรอยยิ้มจริงใจแบบบ้านๆ ที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังต้องสะดุดกับบาดแผลบนใบหน้าของเจ้าตัวที่ทิ้งร่องรอยการเย็บเป็นทางยาว ถัดไปบริเวณแก้มบุบเข้าไปจนหน้าผิดรูป ตาทั้งสองข้างผิดปกติ ตาข้างขวาแดงก่ำ ส่วนตาข้างซ้ายปิดสนิทเป็นช่วงๆ ไม่สามารถลืมตาได้ตลอดเวลา ซึ่งจากการสอบถามจึงได้ทราบว่า ร่องรอยความเจ็บปวดทั้งหมด เกิดจากการโดนหมีควายทำร้าย ในขณะที่เจ้าตัวร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้พยายามไล่ต้อนเจ้าหมีควายกลับคืนสู่ป่า จนตนเองอาการสาหัส ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
เหตุการณ์ในวันนั้นเจ้าหน้าที่อุทัยเกือบเอาชีวิตไม่รอด เกือบต้องตายในหน้าที่ ถ้าเป็นคนอื่นบางคนคงถอดใจบ๊ายบาย หนีไปทำอาชีพอื่นเรียบร้อยโรงเรียนหมีควายไปแล้ว แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 7 ปี เจ้าตัวก็ยังอุทิศชีวิตทำหน้าที่รักษาผืนป่าอยู่เหมือนเดิมไม่ไปไหน ก้มหน้าก้มตาทำๆๆๆ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเข้าป่าไปอาจไม่ได้กลับออกมาเจอหน้าลูกเมีย เจ้าตัวยก ถึงความรักที่มีให้ป่าและสัตว์ป่า จะไม่เหมือนกับความรักที่ตนมีต่อพ่อและแม่ แต่ก็เป็นความรักที่ตนสามารถเสียสละให้ได้เหมือนกัน ว้าว… ขอคารวะหัวใจฮีโร่ผืนป่าไทย
ย้อนเส้นทางชีวิต สิบปีที่แล้ว เจ้าตัวหอบวุฒิ ป.6 มาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จากคนที่ไม่รู้เรื่องป่าเรื่องสัตว์ป่า ตอนนี้รักถอนตัวไม่ขึ้น สลดใจที่เห็นคนทำผิดเยอะกว่าคนรักษา
“ก่อนหน้านี้รับจ้างทั่วไปอยู่ที่บ้าน จนวันนึงผมอยากหางานทำก็เลยมาสมัครเป็นเจ้าที่กรมอุทยานฯ จริงๆ ตอนแรกไม่ได้รู้สึกอะไรกับอาชีพนี้มากนัก มาทำเพราะมองเป็นอาชีพๆ หนึ่งเท่านั้น เมื่อก่อนบ้านผมอยู่ใกล้ป่า ผมจะเห็นการกระทำผิดเรื่องการล่าสัตว์ ทำลายป่า เยอะมาก ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้มาทำตรงนี้ได้เห็นการทำงาน ก็ได้รู้และได้เห็นว่าป่ามีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีป่าไม้ ถ้าคนลักลอบตัดไม้ไปหมด ระบบนิเวศน์ก็เปลี่ยน ถ้าระบบนิเวศน์เสียคนเราก็อยู่ไม่ได้หรอกครับ ยิ่งพอทำไปนานๆ ได้ไปอบรม ได้มีความรู้ ถึงได้รู้ว่าทรัพยากรธรรมชาติสำคัญกับเรามาก และได้เห็นว่าคนกระทำผิดเยอะกว่าคนรักษาครับ ก็คิดว่าถ้ามีแต่คนทำลายแต่ไม่มีคนดูแลมันไม่ดีแน่ พอทำงานมาเรื่อยๆ ก็เกิดใจรักและผูกพัน ไปไหนไม่ได้แล้วตอนนี้ (ยิ้ม)”
“ผมไม่ได้จบด้านนี้มาโดยตรง ตอนมาสมัครผมเอาวุฒิ ป.6 มาสมัคร เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯมีหลายแผนกครับ พอรับเราเข้าทำงานเขาจะส่งเราไปอบรมตามหลักสูตรให้เกิดความชำนาญในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ขณะปฏิบัติหน้าที่ ก็มีทั้งเกี่ยวกับการใช้อาวุธเพื่อให้เราต่อสู้ได้ ฝึกคล้ายการฝึกของทหารแต่ไม่หนักเท่าทหาร ต้องเข้าอบรมการลาดตระเวน การสื่อความหมาย อย่างภาษามือเพื่อไว้ใช้สื่อสารกันเวลาลาดตระเวนไม่ต้องใช้เสียง การปฐมพยาบาล อย่างเวลาเข้าป่าไปอาจจะมีผู้บาดเจ็บ เราก็ต้องปฐมพยาบาลได้ มันเป็นความจำเป็นของเจ้าหน้าที่อย่างเราที่ต้องฝึกให้มีความรู้ทุกอย่างครับ”
ทรหดอดทนเอาการ ต้องลาดตระเวนเดือนละ 15 วัน เดินข้ามเขาเป็นลูกๆ
“หนึ่งเดือนเราจะต้องเข้าไปลาดตระเวนในป่า 15 วัน แต่เกินตลอดครับ (หัวเราะ) เข้าไปครั้งละ 3 วัน แต่ละชุดก็จะมีประมาณ 5-6 คน ทุกครั้งที่ไปลาดตระเวนก็มีทั้งไปสำรวจและไปหาผู้กระทำผิด ทั้งลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ กินนอนในป่า เอาเปลไปผูกนอนตามต้นไม้ สัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่มี เวลาเข้าป่าก็ตัดขาดกับโลกภายนอกเลยครับ เดินวันนึงไม่ต่ำกว่า 10 กิโลฯ บางครั้งข้ามเขาเป็นลูกๆ ก็มีครับ”
“พวกเราได้หยุดเดือนละ 5-6 วัน แต่จริงๆ ก็ไม่ค่อยหยุดกันหรอกครับ จะหยุดเฉพาะเวลามีธุระจำเป็นจริงๆ อย่างมีธุระต้องกลับไปทำที่บ้านหรือเจ็บป่วยถึงจะหยุดกัน เราทำงานในป่าบางครั้งเรามีกำลังแค่ 5-6 คน ถ้าเราหยุดทีมที่เหลือก็ทำงานต่อไม่ได้ ต้องจำเป็นจริงๆ ถึงจะหยุดกันครับ”
เกือบตาย เคยถูกหมีควายตะปบหนังหน้าฉีกออกมาทั้งหน้า อาการสาหัส ส่งผลให้ตาข้างขวาหลับไม่สนิท ต้องใช้เหล็กดามใบหน้าไว้
“อันตรายที่ผมเจอ หนักสุดก็คือโดนหมีป่าตะปบตอนปี 2555 วันนั้นหมีควายหลุดออกมาจากป่าเข้าไปในป่าอ้อยซึ่งใกล้กับหมู่บ้านและโรงเรียน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปสกัดกั้นและต้อนให้กลับเข้าป่า แต่วันนั้นมันผิดพลาดครับ มันจวนตัว หมีกระโจนเข้ามาคร่อมตัวผมและเอาเล็บข่วนหน้าผม ผมหนีไม่ทัน ใบหน้าข้างขวาเนื้อหลุดห้อยออกมาเลยครับ กระดูกข้างในเห็นหมด เลือดไหลเยอะมาก หมีตัวใหญ่กว่าผม หนักร้อยกว่ากิโลฯ ตอนที่มันตะปบผมยังมีสติอยู่ ก็เลยเอามือปิดเนื้อที่หลุดแล้ววิ่งหนี ตอนนั้นก็คิดเหมือนกันว่าเราจะตายมั้ย ถ้าเกิดผมล้มตรงนั้นคงโดนขย้ำซ้ำ”
“ผมถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด หมอเย็บเนื้อข้างนี้ไว้ที่เดิม (หัวเราะ) หมอบอกว่าหน้าเราจะไม่เหมือนเดิม และจะมีผลกระทบกับสายตาเพราะเส้นประสาทบริเวณนี้มันขาดออกมาแล้ว ถึงเย็บกลับคืนมามันก็ไม่เหมือนเดิม สายตาอาจจะแพ้แสง ให้ซื้อแว่นมาใส่เพื่อกันแสงแดดเวลาเราออกที่แจ้ง แสงแดดแรงๆ ตอนนั้นนอนโรงพยาบาลหนึ่งเดือน หลังจากนั้นต้องเทียวไปเทียวมาให้หมอเช็กอยู่สองปี ทำงานมาสิบกว่าปีครั้งนั้นบาดเจ็บหนักสุด แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ทำให้ผมกลัวแล้วอยากเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น แต่ทำให้ผมบอกตัวเองว่าต้องระมัดระวังมากกว่านี้ ทำงานต้องมีความรอบคอบกว่านี้ เป็นประสบการณ์ให้กับผม แต่เรื่องจะเปลี่ยนใจเพราะกลัวเจ็บกลัวตายไม่ได้คิดเลยครับ”
“ผลข้างเคียงจากการบาดเจ็บครั้งนี้คือทำให้ตาข้างขวาหลับไม่สนิท และโดนแสงแรงๆ ไม่ได้ มันจะแสบตาและน้ำตาไหล เหมือนคนเป็นตาแดงจะเจ็บดวงตา เนื้อแก้มฝั่งขาวก็บุ๋มเข้าไปเลย ตรงใบหน้าบริเวณใต้ตาหมอใส่เหล็กยึดไว้ให้เนื้อมันยึดติดกระดูกไว้เพราะถ้าไม่ใส่เหล็กเนื้อเราจะไม่ติด เนื้อเราจะหลุดออกมา ถ้าอาการดีขึ้นหมอจะเอาเหล็กออกให้ แต่ถ้าไม่เอาออกก็ไม่มีผลอะไรครับ สามารถใส่ไว้ได้ตลอด แล้วก็ดั้งจมูกที่หักไปตอนโดนหมีตะปบ หมอเอากระดูกหัวมาเสริมให้เพราะไม่อย่างนั้นจะหายใจไม่คล่อง”
“จริงๆ มันก็คงไม่ได้อยากทำร้ายผมหรอก สัญชาตญาณสัตว์มันจะหนีเราอยู่แล้ว แต่มันคงเหนื่อยและเครียดเพราะโดนไล่ต้อนมาตั้งแต่เช้า มันเลยหันมาวิ่งใส่คน วันนั้นไล่มันเข้าป่าไม่ได้ จนอีกวันนึงต้องใช้ยาสลบยิงแล้วหามมันออกมา”
เลือดไหลท่วม อาการสาหัสจนเพื่อนคิดว่าจะไม่รอด แต่เจ้าตัวเชื่อลึกๆ ที่รอดมาได้เพราะปาฏิหาริย์จากการทำความดี
“ผมคิดว่าเราทำดี บุญกุศลคงช่วย และยังไม่ถึงคราวต้องตายมั้งครับ (หัวเราะ) วันนั้นเพื่อนๆ คิดว่าผมจะไม่รอด เพราะอาการหนักเหมือนกัน เพื่อนไม่ได้กลัวผมตายเพราะเจ็บแผลหรอก แต่กลัวผมตายเพราะเลือดหมดตัว ภรรยาก็เป็นห่วงครับ แต่ไม่ได้บอกให้ลาออก เขาแค่อยากให้ผมงดออกไปลาดตระเวน เขาอยากให้เปลี่ยนฝ่ายมาทำในสำนักงานดีกว่าจะได้ไม่ต้องเสี่ยง แต่ผมทำไม่ได้เพราะจิตใจผมไปทางนั้นมากกว่าครับ (ยิ้ม)”
เป็นอาชีพที่เสี่ยงตายและมีอันตรายรอบด้าน ทั้งต้องสู้กับกระสุนปืนยามปะทะกับพวกตัดไม้ทำลายป่าหรือล่าสัตว์ เสี่ยงโดนสัตว์ป่าทำร้าย บางคนหนาวตาย นับเป็นอาชีพที่ต้องมีอุดมการณ์และใช้หัวใจทำงานล้วนๆ
“ถ้าเรื่องอันตรายมันมีหลายอย่างมากครับ ถ้าเข้าป่าโรคภัยไข้เจ็บก็อันตราย อย่างไข้ป่า มาลาเรีย โดนสัตว์ป่าทำร้าย บางทีเจ้าหน้าที่โดนงูกัด กว่าจะออกมาจากป่าได้ก็เสี่ยงเหมือนกันครับ เคยมีเจ้าหน้าที่หนาวตายในป่าก็มีครับ และเดินลาดตระเวนมาเหนื่อยๆ แล้วช็อก เหมือนลูกน้องผมที่เพิ่งเสียชีวิตไปเพราะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน อันตรายอีกอย่างก็คือ ถ้าไปเจอพวกลักลอบตัดไม้หรือล่าสัตว์ ต้องมีการปะทะกัน แต่ที่ผมเจอมันเป็นลักษณะการเอาตัวรอดของเขา ไม่ได้ตั้งใจจะมายิงสู้กับเรา เขาแค่ยิงขู่เราแล้วก็วิ่งหนีการจับ ผมยังไม่เคยเจอที่หันหน้ายิงสู้กัน เป็นอาชีพที่เสี่ยง อันตรายที่เกิดขึ้นบางอย่างเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงครับ”
เงินเดือนน้อย แต่อุดมการณ์พวกเขาใหญ่มาก
“เชื่อมั้ยครับว่าเมื่อหลายปีก่อน เงินเดือนเจ้าหน้าที่ 4,500 บาท เพิ่งมาขึ้นเงินเดือนให้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ครับ ปัจจุบันถ้าเป็นลูกจ้างชั่วคราว ยังไม่บรรจุ เงินเดือนก็มีตั้งแต่ 7,500-9,000 บาท สำหรับตัวผมได้บรรจุแล้วก็ได้ 13,000 บาท (พอใช้มั้ย?) ก็ไม่พอใช้เท่าไหร่หรอกครับ (ยิ้ม) แต่ก็ประหยัดเอาครับ”
เจ้าหน้าที่อุทัยบอกว่า สิบกว่าปีที่ทำมา อาชีพนี้ให้ความภาคภูมิใจ ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่เอาชีวิตรักษามา และจะทำต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว …หัวใจแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้จริงๆ
“ประสบการณ์สิบกว่าปีที่ผ่านมาให้หลายอย่างมากครับ ทำให้ได้รู้ทำให้ได้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติของเรามีความสำคัญมาก ได้เห็นคนที่ทำลาย ได้เห็นคนที่รักษา ได้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรารักษามา มันเป็นความภาคภูมิใจมากครับที่ได้รักษาตรงนี้ เราเป็นหนึ่งในคนที่ทำหน้าที่ตรงนี้ เราเป็นหนึ่งในคนไม่กี่คนที่ได้มารักษาตรงนี้ ผมไม่เลิกทำแน่นอน จะทำจนกว่าไม่มีแรง (จะมีอะไรที่ทำให้เปลี่ยนใจจากอุดมการณ์นี้มั้ย?) จะทำจนตัวเองทำไม่ไหวผมถึงจะหยุดครับ”
ยิ่งพูดคุยก็ยิ่งทึ่งในหัวจิตหัวใจ เจ้าตัวเผยความรักที่มีให้กับป่าไม้และสัตว์ป่า ต่างกับความรักที่มีให้กับพ่อ-แม่ ภรรยาและลูก แต่เป็นความรักที่ยินดีเสียสละให้ได้เหมือนกัน
“มันเป็นความรักที่ต่างกันครับ แต่เป็นความรักที่เราสามารถเสียสละให้ได้ (รู้ใช่มั้ยว่าครอบครัวห่วงเรามากแค่ไหน?) อันนี้ผมเข้าใจดีครับ เขาเป็นห่วงเราอยู่แล้ว ผมมีลูกสองคน คนโตเรียน ม.3 คนเล็กอายุ 3 ขวบ บางทีภรรยาโทร.หา บอกให้เรากลับบ้านหน่อยมีธุระจะคุยด้วย แต่ผมต้องเข้าป่าก็จะบอกเขาว่าเอาไว้วันหลังนะ ต้องเข้าป่าก่อน ไว้ออกจากป่าแล้วจะกลับ เขาอาจจะน้อยใจบ้าง (หัวเราะ) แต่เรื่องนี้ไม่เคยทำให้มีปัญหาครอบครัวครับ”
สลดใจทุกครั้งที่เห็นเพื่อนร่วมอาชีพต้องตายและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ทุกครั้งที่ท้อแท้จะคิดเสมอว่ากำลังทำเพื่อประเทศอยู่
“ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์แบบนี้ผมสลดใจนะ ทำไมต้องเจอแบบนี้ เหมือนตอนที่ลูกน้องผมเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวหลังจากเดินลาดตระเวน ผมก็เสียใจ มันรู้สึกหดหู่ทำไมต้องเป็นแบบนี้ แต่เราก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ ผมก็คิดว่าคนเราทุกคนต้องมีวันนี้ ถ้าเราท้อแล้วใครจะมาดูแลตรงนี้ล่ะ กำลังใจผมเวลาท้อก็จะคิดถึงลูก และคิดถึงว่าเราทำเพื่อประเทศอยู่นะ เพราฉะนั้นเราจะท้อไม่ได้”
ที่พึ่งทุกครั้งเวลาเข้าป่า จะกำพื้นดินขึ้นมาไหว้ ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาปกปักรักษาตนและเจ้าหน้าที่ให้ปลอดภัย
“ก่อนเข้าป่า ผมจะกำดินขึ้นมาแล้วพนมมือ ระลึกในใจถึงเจ้าป่าเจ้าเขาว่าผมไปรักษาผืนป่าและสัตว์ป่า ขอให้ท่านปกปักรักษาพวกเราด้วย ผมทำแบบนี้ทุกครั้งครับ”
แน่วแน่กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเข้าป่าไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับออกมาเจอหน้าลูกเมีย แต่ความตายก็ไม่สามารถทำลายอุดมการณ์ที่จะรักษาป่าได้
“ผมคิดตลอดเวลาครับว่าเราอาจจะตายในป่า เพราะทุกครั้งที่เข้าไป เราไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง วันที่รอดออกมา เราอาจจะโชคดี แต่ถ้าวันไหนเราโชคไม่ดีล่ะ แต่ก็ไม่ถึงกับสั่งเสียที่บ้านไว้ครับ (หัวเราะ) (เคยมีความคิดไม่ไปดีกว่า กลัวตายบ้างมั้ย?) ไม่เคยคิดครับ มีแต่ถ้าไม่ได้เข้าป่าหลายๆ วันจะรู้สึกอยู่ไม่สุขแล้ว ใจมันไปอยู่ข้างในป่าแล้ว งานลาดตระเวนป่าของพวกผม มันจะมีแผนออกมาว่าแต่ละเดือนต้องลาดตระเวนกี่วันๆ”
“ถ้ารักที่จะทำตรงนี้ความตายมันไม่ได้ทำให้เรากลัวหรอกครับ เพราะว่าอาชีพตรงนี้มันเสี่ยงตลอดเวลา ทุกคนต้องตายหมด แต่จะตายแบบมีคุณค่าหรือเปล่า จะตายไปแบบไม่มีประโยชน์หรือตายแบบมีคุณค่า ถ้าตายแบบมีคุณค่าผมไม่กลัวครับ ผมว่าผมตายหนึ่งชีวิต จะมีอีกหลายชีวิตขึ้นมาแทนผม เพราะหนึ่งชีวิตที่จากไปจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนลุกขึ้นมาสู้ต่อครับ”
ชีวิตแขวนบนเส้นด้าย นอกจากจะต้องเอาชีวิตรอดให้ได้จากภยันตรายจากการลาดตระเวนแล้ว การทำงานตรงนี้ยังมีโอกาสไปขัดผลประโยชน์ผู้มีอิทธิพลที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากป่าไม้และสัตว์ป่าด้วย
“ใช่ครับ ผมเห็นมาเยอะครับ แต่ที่ผมเจอกับตัวไม่ถึงขนาดรายใหญ่ เป็นแค่รายเล็กๆ ในหมู่บ้าน (เคยโดนผู้มีอิทธิพลรังแกบ้างมั้ย?) ไม่ค่อยโดนครับ เพราะผมจะเจอรายเล็กรายน้อย อย่างเช่น พวกที่ลักลอบตัดไม้พยุงก็จะเป็นพวกผู้ใหญ่บ้าน อบต. และมีตำรวจบ้าง ที่มาข่มขู่เราให้กลัว ขู่ให้ระวังตัวไว้นะ แต่เขาไม่ได้ทำอะไรเราเพราะมันไม่คุ้ม ถ้าเขาทำร้ายเจ้าหน้าที่ เขาก็ต้องโดนจับเข้าคุก แต่ถามว่าพวกเขายังลักลอบทำผิดอยู่มั้ย ยังทำครับ แค่ไม่กล้ามาทำร้ายพวกผม”
แต่ละพื้นที่มีอันตรายต่างกัน แม้พื้นที่ที่เจ้าตัวดูแลอยู่จะเจอแค่ตัวเล็กตัวน้อย แต่เจ้าหน้าที่คนอื่นต้องเจอผู้มีอิทธิพลระดับบิ๊กๆ ความเสี่ยงและอุปสรรคก็น่ากลัวมากยิ่งขึ้น ออกปากยอมรับว่าน้อยใจที่กฎหมายเล่นงานคนทำผิดไม่ได้
“เรื่องนี้ผมทราบดีครับ ก็เป็นห่วงเจ้าหน้าที่เหมือนกันครับ บางคนเจอรายใหญ่ๆ ก็พูดอะไรไม่ได้ น่าสงสาร ผมก็เคยเห็นและตามข่าวคราวก็รับรู้ตลอดครับ อย่างพวกผมเจอรายเล็กๆ อย่างตำรวจ เราสาวถึงตัวเขาไม่ได้ แต่เรารู้ว่าเขาทำแน่นอน (รู้สึกยังไงที่กฎหมายทำอะไรคนพวกนี้ไม่ได้?) บางครั้งมันก็น้อยใจครับ แต่ก็ไม่ท้อ เวลาต้องเจอพวกแบบนี้ผมก็ไม่ได้ยอมแพ้หรอกครับ และไม่ได้กลัวด้วย อย่างเจอพวกลักลอบขนไม้ผมก็ไปดักสกัด แต่ส่วนมากตัวการใหญ่จะรู้ตัวก่อนแล้วหนีไปได้เพราะจะมีเส้นสายไปรายงาน ส่วนใหญ่ก็เลยจะเจอแต่ลูกกระจ๊อก”
เมื่อถามว่าพวกมีอิทธิพลเป็นอุปสรรคกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างไรบ้าง คำตอบที่ได้ ฟังแล้วอยากร้องไห้สักร้อยรอบ
“ที่เห็นมามันเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ ครับ ถ้าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใจไม่แน่วแน่พอก็ทำให้ท้อได้ครับ (ทำอะไรคนที่ทำผิดไม่ได้ ฟังแล้วเจ็บปวด?) เรื่องนี้มันทำให้คนท้อง่ายจริงๆ ครับ แต่ที่ผ่านมาพวกเราก็สู้กันต่อ ในส่วนที่ทำอะไรไม่ได้เราก็ช่างมัน แต่ส่วนที่เราทำได้เราก็ทำไป ทางออกมันก็อยู่ที่ผู้บริหารของพวกเราล่ะครับ มันอยู่ที่ระดับสูงขึ้นไป เราเป็นลูกกระจ๊อกตัวเล็กๆ ก็ได้แต่ทำหน้าที่ของตัวเองไป ต่อสู้ต่อไป”
ส่วนที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เป็นอาชีพที่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เป็นอาชีพที่ปิดทองหลังพระนั้น เจ้าตัวยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ได้ดรามาหรือพูดเวอร์เกินไปเลยจริงๆ
“เมื่อก่อนมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ เมื่อก่อนคนไม่ค่อยพูดถึงอาชีพนี้ครับ ต้องทำด้วยใจรักล้วนๆ (ยิ้ม)”
เหตุการณ์ฆ่าเสือดำที่ทุ่งใหญ่นเรศวร แม้จะไม่มีอะไรมาชดเชยชีวิตที่สูญเสียไปได้ แต่ก็ได้เกิดแรงกระเพื่อมมากมาย ผู้คนตื่นตัวลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้ไปกับเจ้าหน้าที่ สังคมจับตามองการทำงานของตำรวจซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมายบ้านเมือง ให้ลากคนผิดมาลงโทษ และพร้อมใจกันปกป้อง “หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์” และทีมงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ด้วยพลังทางสังคม
“จริงๆ ความสูญเสียมันเทียบกันไม่ได้หรอกครับ แต่มันก็มีส่วนดีที่ว่าทำให้สังคมได้มองเห็น ทำให้คนที่ไม่รู้หันมามอง (เป็นอีกอาชีพนึงที่ต้องเสียสละมาก?) ใช่ครับ ต้องเจออันตรายอย่างไรบ้างคนภายนอกไม่ค่อยรู้ครับ แต่ตอนนี้จากเหตุการณ์หลายๆ อย่าง สังคมภายนอกเริ่มจะมองเห็น เริ่มจะมองมาบ้างแล้ว เรื่องความภูมิใจ ตัวผมเองภาคภูมิใจในอาชีพนี้มานานแล้วล่ะ แต่พอคนภายนอกรู้สึกแบบนี้กับเรา มันทำให้พวกเรามีกำลังใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าเสียสละขนาดไหนคนก็เฉย แถมชาวบ้านที่เราไปขัดผลประโยชน์เขายังเกลียดเราอีก (หัวเราะ) พอเป็นแบบนี้ก็สร้างกำลังใจให้พวกเราเยอะเลยครับ”
กระแสสังคมที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นแค่กำลังใจ แต่เชื่อว่าจะเป็นเกราะกำบังเล็กๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ไม่มากก็น้อย เพราะคนในสังคมพร้อมจะปกป้องเจ้าหน้าที่ทุกคน หากเจ้าหน้าที่โดนรังแก ประชาชนไม่ยอมอยู่เฉยอย่างแน่นอน
“ผมก็เชื่อว่าความปลอดภัยมีมากขึ้นด้วยครับ แล้วคนที่มีอิทธิพลก็จะไม่ค่อยกล้าทำอะไรมากแล้ว อันนี้เป็นผลดีที่เกิดขึ้น ผมทำงานมาสิบกว่าปี ครั้งนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น (หัวเราะ) ก็อยากขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงพวกเรา และยื่นมือเข้ามาสนับสนุนพวกเราหลายๆ ด้าน สิ่งเหล่านี้คือกำลังใจของพวกผมครับ พวกผมก็จะอยู่ตรงนี้ คอยดูแลป่าและสัตว์ป่าอย่างเต็มที่จนกว่าจะทำไม่ไหวครับ”
...สิ่งที่เจ้าหน้าที่อุทัยพูดนั้นจริงที่สุด คนเราเกิดมาต้องตายทุกคน ขึ้นอยู่กับว่า จะเลือก “ตายแบบมีคุณค่า” หรือ “ตายไปแบบไม่มีประโยชน์” ตลอดการสัมภาษณ์ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ถึงเป็นแค่คนธรรมดา จบ ป.6 เงินเดือนหลักพัน ก็ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ ทำประโยชน์ให้แผ่นดินเกิดได้ เพราะการทำความดี มันใช้ “ใจล้วนๆ” ใจสั่งให้ทำ
...
(ติดตามทุกข่าวสารในแวดวงบันเทิงทั้งหมดได้ที่ https://mgronline.com/entertainment)