xs
xsm
sm
md
lg

แด่ผู้ปิดทองหลังพงไพร “ไบโอฟาร์ม” จัดตรวจสุขภาพครั้งแรกให้พิทักษ์ป่าที่สลักพระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การจัดตรวจสุขภาพประจำปีครั้งแรกให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
ไบโอฟาร์ม จัดตรวจสุขภาพประจำปีให้กับผู้พิทักษ์ป่าเป็นครั้งแรก พร้อมเติมยา ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ต่อยอดโครงการ “ตู้ยา BIOPHARM เพื่อชุมชน” ที่จัดต่อเนื่องมา 3 ปี มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนโดยรอบทั้งผืนป่าตะวันตกและตะวันออก
การเดินทางตามเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพื่อชมสถานที่ปฏิบัติงานภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 จัดโครงการ “45 ปีไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน...เติมยา เติมความห่วงใย” ต่อยอดโครงการ “ตู้ยา BIOPHARM เพื่อชุมชน” ที่จัดต่อเนื่องมา 3 ปี มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนโดยรอบทั้งผืนป่าตะวันตกและตะวันออก โดยลงพื้นที่เติมยาที่แรก ณ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี” พร้อมจัดตรวจสุขภาพประจำปีเป็นครั้งแรกให้กับผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าผู้พิทักษ์ป่าหรือผู้ดูแลผืนป่าให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพใจที่แข็งแกร่ง พร้อมสำหรับการดูแลทั้งผืนป่าและสัตว์ป่าของไทยให้ปลอดภัยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การทำงานที่ต้องเผชิญความยากลำบากของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า "แม้ปัจจุบันจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลผืนป่า เช่น ดาวเทียมสำรวจ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น แต่การเดินเท้าลาดตระเวนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ยังคงความสำคัญอยู่ เนื่องจากการเดินเท้าลาดตระเวนสำรวจจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ด้วยสายตา พบเห็นความผิดปกติและร่องรอยการกระทำผิดต่างๆในผืนป่าได้ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ต้นไม้ถูกตัดไปเพียงต้นเดียว ดาวเทียมอาจไม่สามารถค้นพบความผิดปกตินี้ได้ หรือพรานลักลอบเข้าพื้นที่ล่าสัตว์ป่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ถึงร่องรอยต่างๆ ได้เช่นกัน แต่การเดินเท้าลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สามารถตรวจสอบร่องรอยการกระทำผิด และวางแผนดำเนินการสกัดกั้นความเสียหายได้ รวมไปถึงการเดินเท้า ลาดตระเวนนั้น ยังทำให้สามารถพบเห็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ร่องรอยของสัตว์ป่าหายากจากรอยตีนบนพื้นดิน
เจ้าหน้าพิทักษ์ป่าชี้ให้เห็นถึงรอยเท้าสัตว์บริเวณรอบโป่งน้ำ
อีกทั้งการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า ที่ทำให้เราได้ข้อมูล ของสัตว์ป่าหายาก เช่น แมวลายหินอ่อน ซึ่งเป็น 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนที่หายากมากก็ต้องอาศัยการเดินเท้าลาดตระเวน เช่นกัน ในส่วนการเดินเท้าลาดตระเวนในป่าแต่ละครั้ง มีระยะเวลา 3 - 5 วัน ผู้พิทักษ์ป่าจะต้องพบเจอสภาพอากาศต่างๆไป ตามฤดูกาล ไม่ว่าจะฝน หรือหนาวภายในป่า และอันตรายจากผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในผืนป่า รวมถึงสัตว์ป่าและแมลงที่มีพิษอันตราย จึงมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้สูง ซึ่งผู้พิทักษ์ป่ามักจะหลงลืมดูแลสุขภาพของตัวเอง ต้องรอให้เจ็บหนักจริงๆ จึงจะไปรักษาตัว รวมถึงหลายคนยังขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในส่วนการตรวจสุขภาพประจำปีนั้นเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เองก็ละเลยเช่นกัน”
โป่งน้ำภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
สำหรับปัญหาด้านสุขภาพที่ผู้พิทักษ์ป่า มักจะพบเจอ ก็เช่น ไข้หวัดจากการที่ต้องนอนตากน้ำค้าง ตากฝนภายในป่า โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด เนื่องจากการลาดตะเวนในป่าจะต้องแบกสิ่งของมากมาย บางครั้งจึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการบริโภคและอุปโภค ซึ่งมักจะเป็นน้ำในบ่อคูคลองที่ไม่สะอาด แม้ว่าจะมีการแกว่งสารส้มแล้วนำมาต้มก็ตาม แต่การแกว่งสารส้มก็ไม่ได้ช่วยให้น้ำสะอาดเพียงพอ อีกทั้งยังอาจเป็นเพิ่มสารเคมีแปลกปลอมปะปนลงในน้ำด้วย ซึ่งน้ำที่ไม่สะอาดเพียงพอเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการหุงหาอาหารมาดื่มกิน ตลอดจนเป็นน้ำสำหรับรับประทานยา นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกสุขอนามัยที่ดี นำพามาซึ่งโรคท้องเสียหรืออาจรุนแรงกว่านั้น เช่นเคยเกิดกรณีที่มีนำน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่มีการไหลเวียนมาใช้บริโภค ปรากฏว่า ผู้พิทักษ์ป่าทั้ง 3 คนป่วยเป็นโรคฉี่หนู และเสียชีวิตไปหนึ่งราย นอกจากนั้นก็ยังมีโรคไข้มาลาเรียที่เกิดจากยุงป่าที่เคยหายสาบสูญไปแล้วแต่ได้กลับมาระบาดอีกครั้งจากประชากรในประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางไปมาหรือติดต่อกันผ่านผืนป่าตะวันตก
ฝูงละมั่งภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
รวมไปถึงแมลงตัวเล็กตัวน้อยที่มีพิษร้ายแรง เช่น เห็บป่า หรือเรียกว่า ตัวไรอ่อน ตัวการของโรคไข้รากสาดใหญ่ ที่สำนักงานสาธารณสุขเองก็มีการออกประกาศเตือนให้ระวัง ทั้งในส่วนของผู้พิทักษ์ป่าและนักท่องเที่ยว อาการคือมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ หลังถูกกัด 10 - 12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่นและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดงและปวดกระบอกตา ป้องกันด้วยการพักหรือตั้งแคมป์ในบริเวณที่โล่งเตียน แต่งกายมิดชิด ไม่นั่งหรือนอนบนหญ้า ทายากันแมลงกัด ซึ่งการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ล้วนหลีกเลี่ยงข้อห้ามเหล่านี้ได้ยาก อีกทั้งก็มีเรื่องของงูพิษอีกด้วย
นายปริญญา เปาทอง มอบถุงยาให้กับนายไพฑูรย์ อินทรบุตร
ด้าน นายปริญญา เปาทอง ผู้อำนวยการประสานงานองค์กร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ผู้นำนวัตกรรมเวชภัณฑ์ยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ กล่าวถึงโครงการ 45 ปีไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน...เติมยา เติมความห่วงใย ว่า “บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด คือบริษัทยาของคนไทยเพื่อคนไทย โดยในปี 2562 ก็จะครบ 45 ปีแล้ว สิ่งที่ทางไบโอฟาร์มตั้งใจมาโดยตลอด ก็คือ การโอบอุ้มดูแลทุกคุณค่าชีวิต สำหรับโครงการนี้ มุ่งเน้นไปที่การดูแลคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้พิทักษ์ป่าผู้ทำหน้าที่เสียสละเฝ้าป่าอันเป็นลมหายใจของพวกเราทุกคน หวังว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไบโอฟาร์ม ได้เข้ามาช่วยเติมยา เติมความห่วงใย ประสานความร่วมมือกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ในการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ได้แก่ ตรวจความดัน เบาหวาน ไปจนถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของผู้พิทักษ์ รวมไปถึงบอกเล่าถึงการปฐมพยาบาลในกรณีที่พบเจอสัตว์มีพิษร้ายแรง เช่น งูพิษ ตะขาบ แมงป่อง หรือ เห็บป่า ตลอดจนการร่วมสำรวจผืนป่า เรียนรู้การทำงานอันเสียสละของผู้พิทักษ์ป่า สิ่งเหล่านี้จะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าผู้พิทักษ์ป่าได้บ้าง”
ทั้งนี้ หลังจากเปิดโครงการ 45 ปีไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน...เติมยา เติมความห่วงใย ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เรียบร้อยแล้ว ทางไบโอฟาร์มก็จะลงพื้นที่มอบตู้ยาและยาให้กับอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในเขตอื่นๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น รวมไปถึงเขตผืนป่าตะวันออก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 3.8 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี, นครนายก, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว และ บุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" จากองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น - เขาใหญ่” โดยตั้งเป้าตลอดโครงการฯ ในระยะ 1 ปี โครงการ 45 ปีไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน...เติมยา เติมความห่วงใย จะมอบตู้ยา จำนวน 450 ตู้ และถุงยารวมทั้งสิ้น 900 ถุง
เติมยาให้เจ้าหน้าพิทักษ์ป่าโดยบริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด
ภายในตู้ยาไบโอฟาร์มเพื่อชุมชน หรือถุงยาที่นำไปเติมให้ตู้ยาในปีก่อนๆ นั้น ทางไบโอฟาร์มได้จัดเตรียมยาสามัญที่จำเป็นไว้ดังนี้ ยาแก้แพ้อากาศ (Clarid) ครีมฆ่าเชื้อรา (Cotren) ครีมแก้คัน ผื่น (Clobet) ยาถ่ายพยาธิ (Alben) อาปราคัวร์ (APracur) ยาบรรเทาหวัดลดน้ำมูก ยาล้างตา ยาล้างแผล ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ พลาสเตอร์แบบผ้า, สำลีแผ่น, ครีมแก้ปวดเมื่อย (Flanil cream), แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ, ยาแก้โรคกระเพาะ (Belcid) และ ยาแก้ปวด Paracetamol เป็นต้น
เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความสำเร็จของการทำหน้าที่พิทักษ์ป่า ก็คือ สามารถดูแลให้ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสามารถวัดจากการพบเจอเสือโคร่งได้ เพราะเสือโคร่งคือผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซอาหาร ดังนั้น ถ้าพบเสือโคร่ง แสดงว่ามีสัตว์ป่าอีกมากมายในผืนปาแห่งนั้น เสือโคร่งจึงกลายเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า ความสำเร็จในเนื้องานของผู้พิทักษ์ป่าอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ต้องสามารถบล็อกหรือปกป้องผืนป่าไม่ให้ถูกรุกราน จึงต้องมีการจับกุมชาวบ้านที่บุกรุกผืนป่าบ้าง โดยมักจะเป็นการเข้าไปถากถางป่าหรือล่าสัตว์ป่า ตัดไม้ทำลายป่า โดยมักอ้างว่าเข้าไปหาของป่าเล็กๆน้อยๆ แต่ความจริงแล้วมีนายทุนสนับสนุนซะเป็นส่วนใหญ่ หากผู้พิทักษ์ป่ารักษาจำนวนต้นไม้ ปกป้องไม่ให้ไม่มีการรุกรานป่าอันนี้ก็คือว่าเป็นความสำเร็จของอาชีพคนเฝ้าป่าเช่นกัน”
ความงดงามของผืนป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ตั้งอยู่ที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ป่าสลักพระ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ถือเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย มีเนื้อที่ 536,594 ไร่ ที่นี่เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางพันธุกรรม พืชพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าสงวนนานาพันธุ์ แหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์อย่างเพียงพอ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว - อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น