“เราไม่ใช่คนที่อ่อนแอ หรือไม่มีสายป่าน ขาดทุนแล้วจึงเลิก เราเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสามารถ เพียงแต่สิ่งที่ กสทช.ทำไม่ได้เอื้อ และเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดความเสียหาย ทำธุรกิจเกือบ 40 ปีไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว ทำไมเราจึงจะมาโง่วันนี้ กลายเป็นคนมองธุรกิจไม่เป็น อ่อนแอ เป็นเรื่องที่กระทบภาพลักษณ์มาก ตอนนี้ช่องอื่นๆ ก็ลำบากหมด บางคนครอบครัวแตกแยก ถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตาย ล้วนเกิดจากการกระทำของ กสทช.ทั้งสิ้น แม้ว่า กสทช.ชุดที่อนุมัติเรื่องทีวีดิจิตัลจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับผลกรรมนั้น”
ข้อความข้างต้น คือคำสัมภาษณ์ของหญิงเหล็กแห่งวงการสื่อ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งยวดในวงการบันเทิง ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ “พันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย” หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “ติ๋ม ทีวี พูล” กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตัลของบริษัท ไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมด
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาว่า กสทช. กระทำผิดจากข้อตกลงที่ระบุไว้เมื่อครั้งเปิดให้ประมูลสัมปทานคลื่นทีวี ดิจิตัล โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งที่เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง เป็นเหตุให้ประชาชนไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบ บริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
และที่ต้องกาดอกจันหมายเหตุกันชัดๆ ก็คือศาลมีคำสั่งให้ กสทช. คืนแบงก์การันตีให้บริษัท ไทยทีวี ในงวดที่ 3, 4, 5 และ 6 มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท ทว่าในส่วนของค่าประมูล 2 งวดแรก ราว 700 ล้านบาทตามที่ขอไป ซึ่งศาลยังไม่มีคำสั่งให้ชดใช้นั้น ก็คงจะต้องมีการยื่นอุทธรณ์กันในลำดับถัดไป
เท้าความกลับไปก่อนหน้าที่จะเกิดคดีมหากาพย์ที่กินระยะเวลามานานเนื่องนั้น ติ๋ม ทีวีพูล ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่กระโจนลงมาร่วมประมูลสัมปทานช่องทีวีดิจิตัล เพราะหวังใจว่า จะเป็นธุรกิจที่จะนำพาซึ่งความสำเร็จ และผลกำไรมหาศาลสามารถต่อยอดธุรกิจเดิมให้เติบโต กร้าวแกร่ง และเข็งแรงมากยิ่งขึ้น จึงทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดลงไปกับธุรกิจนี้ ด้วยการลงทุนประมูลทีวีดิจิตัลมาไว้ในมือถึง 2 ช่อง
นั่นคือ ช่องข่าว THV ที่ประมูลด้วยตัวเลขถึง 1,328 ล้านบาท และ ช่องเด็ก LOCA ด้วยเงินประมูล 648 ล้านบาท รวมแล้ว 1,976 ล้านบาท หรือพูดง่ายๆ กว่าเกือบ 2 พันล้านบาท
แต่ความเป็นจริงโหดร้ายกว่าที่คิด !!!
เส้นทางที่จะดำเนินต่อของธุรกิจที่ถือว่าเป็นของใหม่ในบ้านเรานั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และไม่ได้สวยงาม เอาเสียเลย
ติ๋ม ทีวีพูลเอง เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ต้องเรียกว่าประสบกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจนี้มาตั้งแต่ต้น จากที่เคยให้สัมภาษณ์อย่างอหังการว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำช่องทีวีดิจิตัล ภายใน 5 ปี
“ถ้าไม่มั่นใจว่าจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 จะไม่ทำ”
ทั้งนี้ โดยปักธงชัยไว้ว่า ช่องทีวีดิจิตัลในมือทั้ง 2 ช่องนี้ จะสามารถคืนทุนได้ในปีแรกที่เริ่มออกอากาศ และจะคุ้มทุนภายในปีที่ 2 ส่วนปีที่ 3 จะเป็นปีที่มีกำไรเข้ามา ก่อนจะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นใน 5 ปีจากนี้ โดยตั้งเป้าตัวเลขไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท
แต่กลับกลายเป็นว่าต้องแบกรับกับภาระการขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตัล
รวมๆ แล้วน่าจะไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท !!!
เม็ดเงินที่สั่งสมมาจากการประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารยอดนิยมอย่าง “ทีวีพูล” หายวับไปกับตา
อย่างไรก็ตามสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนการทำธุรกิจของบริษัทไทยทีวี จำกัด พบว่านับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2552 ซึ่งมีทุนเริ่มต้น จำนวน 1 ล้านบาท บริษัทฯ มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนจำนวน 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.56 เพิ่มเป็นวงเงิน 200 ล้านบาท
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ม.ค.57 เพิ่มเป็นวงเงิน 400 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.57 เพิ่มเป็นวงเงิน 600 ล้านบาท
และล่าสุดครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.57 เพิ่มเป็นวงเงิน 800 ล้านบาท
โดยแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 200 ล้านบาท ครั้งที่ 1 เป็นเงินส่วนตัวของเจ๊ติ๋ม และลูกชายทั้ง 3 คน ได้แก่ นายกันต์พงษ์ ศกุณต์ไชย , นายโชกุล ศกุณต์ไชย และนายนันท์ธกุณฑ์ ศกุณต์ไชย
ขณะที่แหล่งเงินของการเพิ่มทุนครั้งที่ 3 นั้น ถูกระบุว่ามาจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด จำนวน 10 ล้านบาท ของเจ๊ติ๋มเอง อีก 110 ล้านบาท รวมกับจากบุคคลอื่นอีก ได้แก่ นายณัฐกิตติ์ โสภาคดิษฐพงษ์ , นายธรรมจักร พานิชชีวะ , นายประธาน ไชยประสิทธิ์ , นายรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และนายธนา ไชยประสิทธิ์
มีเพียงการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 4 อีก จำนวนครั้งละ 200 ล้านบาท ที่เป็นเงินของเจ๊ติ๋มล้วนๆ
และจากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในปี 2557 และ 2558 มีรายได้ 43 และ 89 ล้านบาท ขาดทุน 350 และ 495 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ไม่มีรายได้ แต่บันทึกขาดทุน 287 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมลดลงเรื่อยๆ จนปี 2559 อยู่ที่ 1,675 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,990 ล้านบาท
ถึงกับมีข่าวลือสะพัดไปทั่ววงการว่าติ๋ม ทีวีพูล ล้มละลาย !!!
ครานั้นเอง ที่เจ้าแม่สื่อผู้ทรงอิทธิพล ออกปากยอมรับว่าตัวเองนั้น “คาดการณ์ผิด” และล้มเหลวที่สุดในชีวิต
ทางออก ณ เวลานั้น ก็คือการยอมรับความเป็นจริง
เพราะรู้ดีว่า ถ้าขืนยังดันทุรังต่อไปเรื่อยๆ จนครบอายุสัมปาน น่าจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าอีกไม่ต่ำกว่า1,500 ล้านบาท ยังไม่นับรวมถึงค่าผลิตคอนเทนต์อีกปีละหลายร้อยล้าน
เท่ากับว่าเงินที่เคยไหลเข้ามาตลอดก่อนจะหันมาจับธุรกิจทีวีดิจิตัลนั้น จะมีแต่ไหลออกๆ รวมถึงภาวะขาดทุนที่นับวันก็จะยิ่งพอกพูนไปเรื่อยๆ
จึงเป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึง กสทช. ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เพื่อแจ้งยกเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิตัลทั้ง 2 ช่อง พร้อมสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้องค่าเสียหาย ในกรณีที่ กสทช.ไม่ดำเนินการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตัลให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้
รวมไปถึงจะไม่จ่ายเงินงวดที่ 2 ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 288 ล้านบาทให้กับ กสทช. หลังจากปีแรกจ่ายไปแล้วกว่า 365 ล้านบาท
นำมาซึ่งวลีทองที่เป็นที่โจษจันกันอย่างอื้ออึงในช่วงเวลานั้น
ไม่มี....ไม่หนี....ไม่จ่าย
“ใครจะจ่ายก็จ่ายไป แต่เราและอีกหลายช่องไม่ยอมจ่ายแน่ๆ ยอมรับว่าเราคาดการณ์ผิดพลาด ที่ไปประมูลมา 2 ช่อง เหมือนล่องเรืออยู่แล้วเห็นสิ่งใหม่ดีกว่า ก็ไปร่วมและก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้”
จากที่เคยยิ่งใหญ่ และทรงอิทธิพล ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร จนแทบจะไม่หลงเหลือความรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งอดีต ช่วงนั้นเอง ที่ทีวีพูลมีการปรับ ลด ปลดคนขนานใหญ่ เพื่อต่อลมหายใจของบริษัท เพราะเจ๊ติ๋มยืนยันว่าจะไม่ปิดธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เป็นเสมือนอู่ข่าวอู่น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่ต้น
ในขณะเดียวกัน ก็พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่พึงได้ โดยการยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก กสทช. กว่า 1 พันล้านบาท พร้อมขู่ว่าจะยุติการออกอากาศ หรือปล่อยให้เกิดจอดำ ในวันที่ 25 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็นการต่อสู้ที่ไม่เพียงแต่จะเพื่อปากท้องของตัวเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแผ่อานิสงส์ไปยังผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ประสบปัญหาไม่ต่างกัน
โดยปัจจุบัน จากช่องทีวีดิจิตัลที่ได้รับใบอนุญาตมา 24 ช่อง มีเพียง 22 ช่องที่ดำเนินการอยู่ หลังจากที่ 2 ช่องของเจ๊ติ๋มโบกมือลาไปก่อน แต่ก็มีเพียงไม่กี่ช่องเท่านั้น ที่ดูมีอนาคต ขณะที่ส่วนใหญ่อยู่กันแบบรอวันตาย
หรือเอาเข้าจริงๆ เป็นที่ กสทช. เอง ที่กลัดกระดุมผิดตั้งแต่ต้น !!!
การเปิดประมูลช่องทีวีดิจิตัลในคราเดียวกันถึง 24 ช่องนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในขณะที่ความพร้อมของการจะเปลี่ยนผ่านจากทีวีอะนาล็อกมาสู่ยุคดิจิตัลนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาในการค่อยเป็นค่อยไป
ไหนจะเรื่องของสัญญาณการรับชมที่ยังไม่ครอบคลุม
ไหนจะวัฒนธรรมของผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการดูทีวีช่องประจำอยู่เพียงไม่กี่ช่อง ไหนจะเรื่องของเม็ดเงินค่าโฆษณาที่มีอยู่เท่าเดิม แต่ตัวหารมีมากขึ้นถึง 6 เท่าตัวขนาดช่องที่มีทุนสูง สายป่านยาว ยังแทบเอาตัวไม่รอด ประสาอะไรกับช่องเล็กๆ
ใครต่อใครก็ล้วนอยากจะมาเก็บเกี่ยว และกอบโกยความสำเร็จจากสนามแข่งขันนี้ เพราะคิดว่าอะไรต่อมิอะไรคงได้มาง่ายๆ
แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องที่มโนกันไปเองทั้งสิ้น
เพราะนอกจากจะต้องแข่งขันกับคู่ต่อสู้ในสนามเดียวกัน แล้วยังจะต้องสู้กับคู่แข่งต่างสนาม อย่างสื่อโซเชียล ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีของผู้บริโภคอย่างสุดขั้ว
ไม่แปลกเลยที่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราๆ ท่านๆ จะได้ยินข่าวคราวความระส่ำระสายของช่องทีวีดิจิตัลหลายๆ ช่อง โดยเฉพาะช่องประเภทข่าว ไม่ว่าจะเป็น เนชั่น ทีวี , วอยซ์ ทีวี , นิว ทีวี , ไบรท์ ทีวี , TNN 24ที่ดิ้นรนหนีตายด้วยการปรับโครงสร้างตัวเองให้เล็กลง
ว่ากันว่า...ที่ผ่านมา คนในวงการทีวีดิจิทัล ต้องถูกปลดหรือออกจากงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เพราะผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว
กระทั่งช่องที่คิดว่ามั่นคง อย่างช่องวัน , ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ในเครือแกรมมี่ รวมถึงช่องอมรินทร์ ทีวี ยังต้องหาพันธมิตรมาร่วมทุนเพิ่มเพื่อประคองตัวเอง
เวิร์คพอยท์ ก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะของรายการ ช่วงไหนรายการเรตติ้งกระฉูด ค่าโฆษณาก็พุ่งตาม แต่ช่วงไหนที่ซบเซา ยอดโฆษณาก็หล่นวูบตามไป
แม้แต่ช่อง 3 ที่ว่าแข็งแกร่ง ก็ยังวิกฤต ถึงขนาดต้องดึงมืออาชีพจากข้างนอกเข้ามาช่วยพยุงตัวเองดูเหมือนจะมีเพียงช่อง 7 ที่ยังไม่เคยมีข่าวคราวในทำนองนี้ออกมาให้ได้ยิน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตามองว่าการเด็ดดอกไม้ของเจ๊ติ๋มครั้งนี้ มีผลสะเทือนถึงดวงดาวแน่นอน อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าอาจจะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในแวดวงทีวีดิจิตัลอีกครั้งคราหนึ่ง
นั่นคืออาจจะมีอีกหลายช่องที่ไปต่อไม่ไหว และขอคืนใบอนุญาต ตามรอยทางของช่องไทยทีวี เพราะรายได้จากค่าโฆษณาไม่พอกับค่าใช้จ่าย ไม่ต้องนับถึงค่าใบอนุญาตที่ต้องแบ่งจ่ายตามงวด เรียกว่าแบกภาระกันจนหลังแอ่น
แน่นอนว่าปลาซิว ปลาสร้อยก็จะหายไปจากแหล่งน้ำ เหลือพื้นที่ทำกินไว้สำหรับเฉพาะบรรดาปลาใหญ่
ยิ่งมีช่องคืนใบอนุญาตมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลบวกต่อบรรดาช่องที่อยู่รอดมากขึ้นเท่านั้น เพราะมีแนวโน้มว่าตัวหารอาจจะลดลงไปเกือบครึ่ง
มองจากเกมแล้ว ช่องที่สบประโยชน์จากกรณีที่เจ๊ติ๋มชนะคดี เท่าที่มองเห็นก็คือช่อง 7 , ช่อง 3 , ช่อง 8 , เวิร์คพอยท์ , โมโน และ 2ช่องของแกรมมี่
โดยพลันที่ข่าวของเจ๊ติ๋มถูกเผยแพร่ออกมา ก็ส่งผลทันทีถึงหุ้นที่ถีบตัวสูงขึ้น
อาทิ...บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK อยู่ที่ระดับ 73.75 บาท บวก 3.75 บาท หรือ 5.36% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 154.4 ล้านบาท ส่วนบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC อยู่ที่ระดับ 13.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ 2.27% สูงสุดที่ระดับ 13.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 13.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 348.15 ล้านบาท
ฟากของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS อยู่ที่ระดับ 31.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 4.20% สูงสุดที่ระดับ 31.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 29.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 75.09 ล้านบาท ขณะที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY อยู่ที่ระดับ 9.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 1.59% สูงสุดที่ระดับ 9.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 9.40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 0.22 ล้านบาท
ก็ไม่แน่ว่าสุดท้ายแล้ว เราก็จะกลับมาสู่ยุคที่มีช่องทีวีผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่ช่องเหมือนเดิม
แต่สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งด่วนนับศพทหาร
เพราะเรื่องราวอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ ณ ตอนนี้ ต้องผลอุทธรณ์ที่ทางกสทช. ยื่นเรื่องต่อศาล ว่าจะออกมาในทิศทางใด ขณะที่เจ๊ติ๋มก็ยังต้องขาตั้งสู้ต่อไป เพื่อเรียกร้องอีกค่าประมูล 2 งาดแรก อีก 700 ล้านแรกคืนกลับมา
แหละ....ถ้าผลออกมาว่าฝ่ายหลังชนะขาด เมื่อนั้นคงได้สังคายนากันยกแผงแน่นอน !!!
แต่ที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง ก็คือตอนนี้รัฐบาลเตรียมใช้ ม. 44 เพื่อพักหนี้ให้ทีวีดิจิตัลเป็นเวลา 3 ปี โดยมี"วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีเป็นโต้โผใหญ่ เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล และกสทช. หารือเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยหลังการประชุม นายฐากูร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ออกมาเปิดเผยถึงมติดังกล่าว และจะนำเข้าที่ประชุมร่วม ครม. -คสช. ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาออกคำสั่งตามมาตรา 44 ต่อไป
งานนี้คงได้ต่อลมหายใจกันได้พักใหญ่ แต่ต่อแล้วจะ "อยู่" หรือ "ไป" ดีกไม่นานคงรู้กัน
นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 434 17-23 มีนาคม 2561