เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า พระอัจฉริยภาพอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ คือพระราชนิพนธ์ หรือถ้าพูดอย่างเข้าใจโดยง่ายก็คือ การเขียนหนังสือ นอกเหนือไปจากพระราชนิพนธ์ที่ทำให้คนไทยได้สัมผัสกับพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ทั้งเรื่อง “พระมหาชนก” เรื่อง “เรื่องทองแดง” ตลอดจน “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์” ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงแปลและเรียบเรียงบทความอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังคุณค่าทางความคิดให้เกิดแก่ผู้ที่ได้อ่าน
และหากจะกล่าวถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านนี้แล้วไซร้ “งานแปล” หรือ “พระราชนิพนธ์แปล” ก็แสดงให้เห็นถึงความล้ำเลิศในด้านภาษาของพระองค์อย่างยิ่งยวด โดยหนังสือพระราชนิพนธ์แปล ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งจักนำมากล่าวถึงในที่นี้ มีอยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน ประกอบไปด้วย “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” และ “ติโต”
๑. นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ
เรื่องราวของสายลับระดับโลก
เกือบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ... ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อดูแลสุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาส่วนหนึ่งเพื่อถ่ายทอดวรรณกรรมภาษาต่างประเทศซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” โดยพระองค์ทรงเริ่มแปลงานเขียนชิ้นนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๐ และวันเวลาก็ล่วงผ่านไปยาวนานอีกประมาณ ๓ ปี นั่นคือเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะ จึงสำเร็จเป็นหนังสือแปลหนึ่งเล่มให้คนไทยได้อ่านกันในฉบับภาษาไทย ในชื่อ ... “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ...
“นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแปลมาจากหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษที่มีชื่อว่า “A Man Called Intrepid” ซึ่งเป็นผลงานที่มีความสลับซับซ้อนในด้านเนื้อหาอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่อิงอยู่กับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ โดยผู้เขียนนั้นเขียนขึ้นมาจากเรื่องราวจริงในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ความยากในการแปลจึงทบเท่าทวีคูณ และวันเวลากว่าสามปีที่พระองค์ทรงใช้ในการแปล จึงมิอาจกล่าวเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกเสียจากว่า นี่คือพระวิริยะแห่งมหาราชา
โดยหลักใหญ่เนื้อหาใจความ “A Man Called Intrepid” บอกเล่าเรื่องราวของสายลับหน่วยจารกรรมข่าวกรองที่เสี่ยงชีวิตเพื่อปฏิบัติการใต้ดิน ต่อต้านฮิตเลอร์และนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนขึ้นโดยนายวิลเลียม สตีเวนสัน (William Henry Stevenson) นักข่าวและนักเขียนสายเลือดอังกฤษซึ่งเกิดในประเทศแคนาดา เขาเขียน “A Man Called Intrepid” เพื่อถ่ายทอดประวัติชีวิตของนายวิลเลียม สตีเฟนสัน (Sir William Samuel Stephenson) ผู้เป็นทั้งทหาร, นักบิน, นักธุรกิจนักลงทุน, ตัวแทนอาวุโสแห่งหน่วยข่าวกรองสหราชอาณาจักร ในแถบประเทศในภาคพื้นตะวันตกทั้งหมด ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และบทบาทที่ส่งให้เขาโดดเด่นเป็นที่กล่าวขานมาจนทุกวันนี้ก็คือการเป็นสายลับผู้ได้ฉายาเพื่อเป็นรหัสลับในการปฏิบัติงานว่า “Interpid” อันเป็นหนึ่งวลีที่มาของชื่อหนังสือ
คำศัพท์ “Interpid” นั้นแปลตรงตัวว่า “ผู้กล้าหาญ” ...
ถ้อยคำต่อไปนี้ นำมาจากบทความชิ้นสำคัญซึ่งเขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่อรรถาธิบายไว้ได้น่าสนใจมาก เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านภาษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงทำให้สิ่งที่ยากต่อการเข้าใจ กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้โดยง่าย
... “คำว่า “Intrepid” พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงแปลว่า “นายอินทร์”
“เพียงแค่เริ่มแปลชื่อ Intrepid เป็น “นายอินทร์” ก็สะท้อนพระอัจฉริยภาพสองประการแล้ว เพราะหากเป็นนักแปลอาชีพทั่วไป ก็จะต้องแปลตรงตัวว่า “บุรุษผู้ชื่อว่า นายกล้าหาญ” หรือไม่ก็ “ชายคนนั้นชื่อ Intrepid”
“พระอัจฉริยภาพประการที่หนึ่ง คือความมั่นใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่แปลตามตัวอักษร แต่จะทรงแปลตามที่ควรจะเข้าในความหมายของคำและความหมายที่แฝงอยู่ในคำ เพราะ Intrepid เป็นชื่อโค้ดปลอมตัวของสายลับหัวหน้าเครือข่ายจารกรรมของอังกฤษ ในบทที่ 16 ของ A Man Called Intrepid อันเป็นตอนที่อธิบายที่มาของชื่อ Intrepid ต้นฉบับเขียนว่า
“The manoeuvre which brings an ally into the field is as serviceable as that which wins a great battle,” Churchill had written in his autobiographical account of World War I. As prime minister in the second, he added that the man to bring in the Americans must be fearless. He paused, “Dauntless?” He searched for the right word while Stephenson waited. “you must be—intrepid!”
พระเจ้าอยู่หัวทรงแปลดังนี้
“อุบายวิธีที่ช่วยชักนำให้สัมพันธมิตรลงสนามร่วมรบมีความสำคัญพอๆ กับยุทธวิธีที่นำชัยชนะในยุทธการครั้งใหญ่.” นี่เป็นข้อเขียนของเชอร์ชิลล์ในอัตชีวประวัติตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. ในฐานะนายกรัฐมนตรีตอนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเพิ่มเติมข้อความว่า บุรุษที่จะชักนำพวกอเมริกันจะต้องเป็นคนไม่รู้จักกลัว. เขาหยุดตรองครู่หนึ่ง. “จะเป็นเหี้ยมหาญดีไหม.” เขาควานหาคำที่จะเหมาะ สตีเฟนสันได้แต่คอย. “คุณต้องเป็น – นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ!”
แล้วพระองค์ก็ทรงอธิบายความหมายเพิ่มเติมใส่ไว้ในวงเล็บ สำหรับผู้อ่านชาวไทย เพื่อความเข้าใจในตัวของนาย “Intrepid” หรือชื่อจริง “วิลเลียม สตีเฟนสัน” (William Stephenson) หัวหน้าเครือข่ายจารกรรมข่าวกรองของเชอร์ชิล (วินสตัน เชอร์ชิล). “(Intrepid – ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักหวาด กล้าหาญแต่ไม่เหี้ยม สู้ศัตรูทั้งภายนอกภายในอย่างไม่ท้อถอย ไม่น้อยใจ ไม่หยุดยั้ง รุกรันฟันฝ่า...)”
การแปลชื่อ Intrepid เป็น “นายอินทร์” ก็เป็นการอิงคำภาษาอังกฤษเดิมที่สะกด “INTRE – PID” พยางค์แรก อ่านได้คล้ายชื่อ “พระอินทร์” หรือ “นายอินทร์” ที่มี “ท-ร์” (ท-ร-การันต์) ขณะที่คำว่า “ผู้ปิดทองหลังพระ” พยางค์หลัง PID ออกเสียงว่า “ปิด” ได้ในภาษาไทย และสามารถให้อรรถาธิบายได้ว่า “เป็นผู้ปิดทองหลังพระ” อิงคำว่า “PID” ในภาษาอังกฤษโดยดึงเอาความหมายในภาษาไทยออกมาได้
นี่เป็นพระอัจฉริยภาพอีกอย่างหนึ่งในด้านพระราชอารมณ์ขันเชิงวรรณศิลป์ ที่ทำให้การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ได้ทั้งเนื้อหาความหมายที่ถูกต้องลึกซึ้ง และได้อารมณ์ขันที่อ่านได้อย่างสนุกสนาน เพราะสำนวนไทยที่ว่า “ปิดทองหลังพระ” นั้นคือชีวิตจริงของสายลับที่มีสมญานามว่า “INTREPID” หรือ “นายอินทร์” สายลับทุกคนที่ร่วมงานจารกรรมในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทำแล้วต้องปกปิดเป็นความลับ ไม่บอกใครให้ทราบถึงวีรกรรมทั้งหมด ไม่ต้องการคำสรรเสริญเยินยอใดๆ ทั้งสิ้น
“Intrepid ทุกคน ล้วนเป็นนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เช่นเดียวกับ William Stephenson Intrepid ผู้เป็นหัวหน้า ถ้าไม่มีหนังสือที่เปิดเผยข้อมูลลับเรื่อง A Man Called Intrepid ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปล และให้ชื่อว่า “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ก็คงไม่มีใครทราบความจริงอันเป็นความลับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง” ...
ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ยังได้กล่าวไว้ในข้อเขียนชิ้นดังกล่าวว่า หัวใจสำคัญของเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” นั้นคือเรื่องของคนดีที่เสียสละเพื่อชาติ
“นอกจากจะได้ความรู้ ข้อมูลลับสุดยอดยามสงคราม และความตื่นเต้นที่ได้จากเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายแล้ว ผู้อ่านชาวไทยจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ นั้นสำคัญสำหรับพระเจ้าอยู่หัว และความสำคัญนั้นย่อมเป็นสิ่งที่พสกนิกรของพระองค์พึงต้องทราบ หากพระองค์จะอ่านและทรงรับประโยชน์จากเรื่องของนายอินทร์แต่เพียงอย่างเดียว เวลาอ่านวันเดียวก็คงพอเพียง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเป็นภาษาไทยนั้น ก็เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้ร่วมอ่านหาความรู้ รับความประทับใจไปด้วย”
A Man Called Intrepid หรือ “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ในฉบับพระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเคยได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบทีวีซีรี่ส์ในชื่อเดียวกับชื่อหนังสือ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ (คริสตศักราช ๑๙๗๙) และมีดาราหญิงชื่อดังขวัญใจคนทั่วโลกรวมทั้งชาวไทยในยุคนั้นอย่าง “บาร์บารา เฮอร์ชี่” ร่วมแสดงด้วย อีกทั้งดาราฝ่ายชายอย่างไมเคิล ยอร์ค ในยุคนั้นก็ถือว่าฮอตใช่ย่อย
และอาจเป็นเพราะความนิยมในตัวดารานักแสดงเช่นนั้น เมืองไทยเราจึงมีการนำซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นฉบับตัดต่อให้เหมาะสมกับเวลาฉายในโรง (จากต้นฉบับที่มีความยาวถึง ๖ ชั่วโมง ตัดเหลือ ๒ ชั่วโมง ๑๐ นาที แต่ก็เป็นฉบับตัดต่อที่ได้รับกระแสวิจารณ์ไม่ดีนัก โดยเฉพาะในต่างประเทศ) แต่ที่น่าตื่นเต้นเหนือยิ่งกว่าสิ่งใดก็คือ ชื่อในภาษาไทยของซีรี่ส์ตัดฉายโรงหนังเรื่องดังกล่าว ตั้งชื่อได้ฉุยฉายฉูดฉาดมาก ว่า “สัตว์สาว เดนสงคราม” พร้อมกับคำโปรยบนใบปิด “ใช้ผู้หญิงสวยไปล้วงความลับนาซี เผอิญมันไม่ต้องการความสวยของเธอ!” ก็เป็นที่ตื่นเต้นฮือฮากันไปตามสมควร
นอกเหนือไปจากนั้น เรื่องราวของวิลเลียม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือและซีรี่ส์ดังเรื่องนี้ ว่ากันว่า ยังเป็นรากฐานที่มาสำคัญประการหนึ่งของการออกแบบคาแร็กเตอร์ให้กับตัวละครสายลับยอดนิยมตลอดกาลอย่าง “เจมส์ บอนด์” โดยที่ “เอียน เฟลมมิ่ง” นักเขียนผู้ให้กำเนิดตัวละครตัวนี้ขึ้นมา ก็เคยได้กล่าวเอาไว้ว่า เรื่องราวและตัวละครของเจมส์ บอนด์ นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสายลับตัวจริง และหนึ่งในนั้นก็คือ “วิลเลียม สตีเฟนสัน” ผู้นี้ อย่างที่เอียน เฟลมมิ่ง พูดไว้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ว่า
“เจมส์ บอนด์ นั้นก็เพียงแค่เรื่องราวของสายลับที่เพิ่มเติมความโรแมนติกเข้าไปอย่างนั้นเองแหละ ส่วนสายลับจริงๆ นั้น คงต้องยกให้วิลเลียม สตีเฟนสัน”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” คือวรรณกรรมในพระราชนิพนธ์แปลที่ตราตรึงความรู้สึกของผู้อ่านชาวไทย ไม่เพียงแต่ในแง่ของเนื้อหาเรื่องราว เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เพราะพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นซึ่งเกิดจากพระวิริยะอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวดีๆ ที่ประทับใจ ที่อยู่อีกซีกโลกของภาษา อันแสนไกล ...
สำหรับเรื่องราวอันลือลั่นเป็นประวัติการณ์ระดับโลก ของบุคคลผู้มีนามว่า “ติโต” นั้นเป็นเช่นใด ติดตามได้ในบทความฉบับถัดไป ...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม