xs
xsm
sm
md
lg

สายลับจอมแฉ, บาดแผลเหวอะหวะของสหรัฐฯ และชัยชนะของ “สติสัมปชัญญะ” แห่งฮอลลีวูด : SNOWDEN

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“ความหน้าไหว้หลังหลอกของนโยบายต่างประเทศอเมริกัน
มันทำให้ความโกรธขึ้นหน้าผม”


คำกล่าวข้างต้นนั้น คือคำพูดของ “โอลิเวอร์ สโตน” ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นลายครามคนหนึ่งแห่งฮอลลีวูด เขาพูดถ้อยคำดังกล่าวไว้ในปี พ.ศ.2529 ตอนที่เขากำกับภาพยนตร์เรื่อง Salvador ผลงานที่สะท้อนเรื่องราวขมขื่นสะเทือนใจอันว่าด้วยสงครามกลางเมืองในประเทศเอล ซัลวาดอร์ และการสังเวยชีวิตของพลเรือนอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง หนังเรื่องนั้นของโอลิเวอร์ สโตน ได้รับการเรียกขานในฐานะ “ภาพยนตร์ที่ต่อต้านอเมริกันมากเกินไปสำหรับคนอเมริกัน”

แม้จะเคยเป็นถึงอดีตทหารนายหนึ่งซึ่งไปรบในศึกสงครามเวียดนาม แต่ทว่าภาพลักษณ์ในการต่อต้านอเมริกันบ้านเกิด ก็คุโชนขึ้นทุกที ภายหลังกลับจากสนามรบ และหนังอีกเรื่องที่ออกฉายในปีเดียวกัน อย่าง Platoon ก็เป็นผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่เปรียบเสมือน “ส่วนขยายความในใจ” แห่งความไม่พอใจในความเป็นอเมริกันของโอลิเวอร์ สโตน

ตอนที่หนังเข้าฉายและได้รับกระแสอย่างท่วมท้นนั้น โอลิเวอร์ สโตน ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่า “หน้าที่ของทหารอเมริกันที่ผ่านศึกสงครามเวียดนามมา คือการให้การศึกษาแก่ผู้อื่นว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง” และสำหรับเขาแล้ว Platoon ก็คงไม่ต่างไปจาก “บทเรียน” ที่สำคัญอีกบทหนึ่งซึ่ง “อดีตทหาร” อย่างเขา มอบให้กับผู้อื่น และนั่นก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนในแวดวงฮอลลีวูดมีคำพูดยกย่องเขาในทำนองว่า เขาคือ “สติสัมปชัญญะแห่งฮอลลีวูด”

ด้วยมวลสารความคิดอย่างที่เคยปรากฏมาแล้วในหนังทั้งสองเรื่องที่เอ่ยถึง หรือแม้แต่งานอื่นๆ อีกบางเรื่อง จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่โอลิเวอร์ สโตน จะกระโจนเข้าจับ มากำกับหนังเรื่องล่าสุดที่กำลังเข้าฉายในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ อย่าง “สโนว์เดน” (SNOWDEN) เพราะถ้าจะมีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงออกถึงการ “ต่อต้านอเมริกัน” ได้ดีที่สุด ณ ยุคปัจจุบัน เรื่องราวของ “เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน” ก็เด่นหรามาแบบไม่มีใครเกิน

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารความเป็นไป คงจะพอได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” กันมาบ้างนะครับ กิตติศัพท์ของเขาขจรขจายไปทั่วโลกจากการกระทำที่ต้องใช้คำว่า “สั่นคลอนความมั่นคง” ของทางการสหรัฐฯ ถึงขนาดขนานนามเขาว่าเป็นบุคคลอันตราย ก่อการร้ายแก่รัฐ และจนถึงตอนนี้ ก็ยังมีความพยายามไม่ลดละที่จะจับกุมสโนว์เดนมาดำเนินคดี ขณะที่สโนว์เดนก็เร้นกายลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศต่างๆ กระทั่งปัจจุบัน เข้าใจกันว่า นิวาสถานสำหรับการหลบหนีของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน คือประเทศรัสเซียที่ถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาอีกเจ้าหนึ่งของอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางคำตราหน้าว่า “ผู้ทรยศ” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งพลเมืองอีกจำนวนหนึ่งหยิบยื่นให้แก่สโนว์เดน ก็ยังมีพลเมืองอีกจำนวนไม่น้อยที่แปะถ้อย “ฮีโร่” ห้อยท้ายนามของชายหนุ่มคนนี้ เขาคือฮีโร่ผู้ยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อ “เปิดสิ่งที่ถูกปิด” ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นการกระทำให้คนได้ตระหนักถึง “สิทธิส่วนตัว” ของตน หรือ “สิทธิส่วนบุคคล” ที่กำลังถูกปล้นชิงไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว วีรกรรมสุดหาญกล้าของสโนว์เดน หลักๆ คือการเปิดเผยข้อมูลลับเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก และฝ่ายที่ตกตะลึงมากที่สุดก็คงเป็นทางการสหรัฐฯ ที่ยัดข้อหา “อาชญากรของชาติ” ให้แก่สโนว์เดนในทันทีทันใด

ชีวิตของ “สโนว์เดน” เป็นชีวิตที่กล่าวได้ว่า ยืนอยู่ในระหว่างสองข้างความคิดเห็น ไม่ขาวหรือไม่ดำไปทางเดียว ถ้าเปรียบกับสีก็คงเป็น “สีเทาๆ” ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเขาอย่างไร จะเป็น “เทวา” หรือ “ซาตาน” ก็ขึ้นกับพื้นฐานของผู้มอง และในมุมของความเป็นหนัง บทลักษณะนี้มีดีกรีเสมอในสายตาของออสการ์ อย่างน้อยที่สุด ผู้รับบทสโนว์เด็น อย่าง “โจเซฟ กอร์ดอน เลวิทท์” ก็มีโอกาสสูงมากที่จะได้เป็นหนึ่งในแคนดิเดตของเวทีออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ “เจสซี่ ไอเซนเบิร์ก” ที่รับบทมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ในหนังเรื่อง “เดอะ โซเชียล เน็ตเวิร์ก” จนผ่านเข้ารอบไฟนอลของเวทีออสการ์มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

เรื่องราวของสโนว์เดน เคยได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2557 ในรูปแบบหนังสารคดีเรื่อง Citizenfour (แฉกระฉ่อนโลก) ด้วยฝีมือของผู้กำกับหญิง “ลอว์ร่า พอยทราส” และหนังเรื่องนั้นก็ดีงามถึงขั้นได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ผ่านมาอีก 2 ปี ... เราก็ได้ดูเรื่องราวชีวิตของบุรุษจอมแฉกระฉ่อนโลกอีกครั้ง ที่มาในรูปแบบหนังเล่าเรื่อง เป็นเรื่องเป็นราว ในชื่อเดียวกับชื่อสกุลของเขา “สโนว์เดน” (SNOWDEN)

ด้วยฝีไม้ลายมือการกำกับที่เข้าขั้น “เก๋า” ของคนทำหนังมือฉมังอย่าง “โอลิเวอร์ สโตน” ก็ไม่พลาดที่จะทำให้มันออกมาเป็นหนังที่ดูสนุก น่าติดตาม ตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องราวในแบบจารกรรมที่แต่งขึ้นมาและจะโม้แหลกแอ็กชั่นอย่างไรก็ได้ หากแต่เป็นเรื่องราวที่เล่าบนพื้นฐานชีวิตจริง แต่ทว่าด้วยทักษะความเชี่ยวชาญด้านองค์ประกอบและเทคนิคภาพยนตร์ ทั้งจังหวะการดำเนินเรื่อง มิวสิกสกอร์ อะไรต่างๆ ทั้งหมดผสมรวมกัน สำเร็จออกมาเป็นหนังทริลเลอร์เขย่าขวัญที่ดีเรื่องหนึ่ง และที่มากกว่านั้นก็คือรสชาติของหนังที่กลมกล่อมหลากรสหลายอารมณ์ บทพูดมีความคมคายและแฝงนัยอันแยบยล อีกทั้งมีอารมณ์ขัน และพอถึงจังหวะที่ต้องเล่นกับอารมณ์บีบคั้นดราม่า หนังก็ทำออกมาได้ถึง ตัวแสดงทุกตัวแสดงให้เราเชื่อได้อย่างไร้จุดตำหนิ

ตัวเรื่องราวนั้นเล่าย้อนไปตั้งแต่สโนว์เดนเริ่มมีความฝันบนเส้นทางแห่งการเป็นทหาร ก่อนที่อุบัติเหตุบางประการจะทำให้ฝันนั้นไม่สำเร็จ แต่เขาก็ยังเลือกที่จะ “ทำอะไรสักอย่างเพื่อรับใช้ชาติ” เขาสอบเข้าทำงานที่ “เอ็นเอสเอ” (NSA สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ) ซึ่งเปรียบเสมือนตักสิลาที่เพิ่มการเรียนรู้ด้านไอทีให้แก่เขาอย่างเข้มข้น นอกจากนั้น สโนว์เดนยังได้ทำงานให้กับหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือที่เราท่านรู้จักกันในชื่อ “ซีไอเอ”

โดยพื้นฐานชีวิตและความคิดความอ่านตั้งแต่เดิมของสโนว์เดน ซึ่งหนังแจกแจงให้เราเห็นตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง เขาเป็นคนที่อาจกล่าวได้ว่า “รักชาติ” ยิ่งกว่าใครต่อใครเสียด้วยซ้ำ นั่นยังไม่นับรวมภาพพจน์ของพ่อที่ก็เคยทำงานรับใช้ชาติมาก่อน มันถักทอก่อเกิดเป็นอุดมการณ์ที่เมื่อถึงวันของเขา เขาก็อยากจะทำเช่นนั้น อยากเป็นทหาร แม้ไม่ได้เป็น ก็ยังเข้าเอ็นเอสเอเพราะคิดว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำเพื่อประเทศชาติ ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวสโนว์เดนมาก่อน ก็คงจะอดคิดไม่ได้ว่า เจ้าหนุ่มคนนี้ เติบโตไปคงเป็นกำลังสำคัญของชาติเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม การได้คลุกคลีตีโมงอยู่กับแวดวงข่าวกรองและข้อมูลลับระดับชาติ ได้มอบประสบการณ์สำคัญซึ่งกลายเป็นที่มาแห่งแรงจูงใจในปฏิบัติการอันลือลั่นสะท้านโลกาและสั่นสะเทือนอเมริกาอย่างถึงรากถึงโคน

โดยภาพลักษณ์ของหนังที่เกี่ยวข้องกับการล้วงความลับข้อมูลออนไลน์ ในระดับพื้นฐานที่สุด หนังทำให้เรารู้สึกตระหนกอย่างบอกไม่ถูก สิ่งที่เราทำเป็นกิจวัตรประจำวันทุกๆ วันและคิดว่ามันธรรมดาเหลือเกิน แต่มันจะกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาไปทันที ถ้าเรารู้ว่า มีสายตาบางสายตาแอบสอดส่องจับจ้องมองความเคลื่อนไหวของเราอยู่ตลอดเวลา

อันที่จริง เรื่องความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางด้านข้อมูลข่าวสารในโลกยุคออนไลน์นี้ แม้กระทั่งซีอีโอผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ยังเคยมีข่าวออกมาว่า คอมพิวเตอร์แม็กบุ๊กบนโต๊ะทำงานของเขา มีการติดสติ๊กเกอร์บังกล้อง รวมถึงปิดไมโครโฟน สิ่งนี้จะบอกเรื่องราวอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ความกังวลเกี่ยวกับการรั่วไหลหรือล้วงความลับจากบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งมันก็ไม่ต่างไปจากสิ่งที่ “สโนว์เดน” ตระหนักรู้ หลังจากทำงานกับเอ็นเอสเอได้พักใหญ่จนรับรู้ตื้นลึกหนาบาง “สโนว์เดน” ก็ทำแบบเดียวกับที่มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ทำ (สโนว์เดนอาจทำก่อนมานานแล้ว)

ถ้อยคำประโยคหนึ่งซึ่งเราจะได้เห็นหลายครั้งมากในหนังเรื่องนี้คือถ้อยคำบนสติ๊กเกอร์ซึ่งแปะไว้บนฝาแล็บท็อปคู่ใจของสโนว์เดน ซึ่งเหมือนจะเป็นสโลแกนประจำตัวของสโนว์เดนไปด้วย คำนั้นอ่านออกเสียงได้ว่า I Support Online Rights. ความหมายก็ชัดเจนนะครับว่า สิทธิของผู้คนนั้นควรได้รับการปกป้อมคุ้มครอง

การได้ร่วมงานกับเอ็นเอสเอหรือแม้กระทั่งซีไอเอ ทำให้สโนว์เดนได้มองเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ควรจะเป็น คำถามหนักหน่วงพุ่งเข้าจู่โจมจิตใจของเขา และนำพาเขาก้าวเข้าสู่สนามรบแห่งคำถาม ... สนามรบยุคใหม่ ไม่ได้อยู่ในอิรัก อิหร่าน ซีเรีย หรือที่ไหนๆ ก็แล้วแต่ แต่สนามรบแห่งใหม่มันแขวนอยู่บนเครือข่ายออนไลน์ ตามที่หัวหน้าหน่วยงานเอ็นเอสเอบอก ... ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในใจของสโนว์เดนก็เกิดเป็นสนามรบที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คำถามต่างๆ รุมเร้าเขาในวันที่เขากำลังไปได้สวยบนเส้นทางการทำงาน

ขณะที่เราๆ ท่านๆ คนดูผู้ชมก็คงไม่ต่างกับสโนว์เดนครับ ที่สุดท้ายแล้วจะถูกหนังเหวี่ยงเข้าสู่การตั้งคำถาม ทั้งในแง่ศีลธรรมจริยธรรม ทั้งในแง่ความเหมาะสม ความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมของรัฐอเมริกาในปฏิบัติการบางอย่างที่มักอ้างคำว่า “ความมั่นคง” เป็นธงในการปฏิบัติ แต่ในขณะที่ธงแห่งอุดมการณ์อันเกี่ยวกับความมั่นคงโบกสะบัด สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนสมควรถูกละเมิดหรือเปล่า?

ที่จริง นับตั้งแต่เหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด หรือที่เรียกกันว่า “9/11” รัฐบาลอเมริกันก็ระแวดระวังมากในเรื่องข่าวกรองและความปลอดภัย แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะคาใจสโนว์เดนเมื่อได้รับรู้ก็คือ ขอบข่ายการกลั่นกรองสิ่งที่คิดว่าจะเป็นภัย ควรจะมีขอบเขตแค่ไหนอย่างไร รัฐบาลควรจะสอดส่องใครบ้างตามความเป็นจริง และจากสิ่งที่เราได้เห็นจากเรื่องราวของสโนว์เดน ไม่เพียงแค่สิทธิของพลเมืองในประเทศเท่านั้นที่ได้รับการก้าวล่วง แต่ “รัฐอเมริกา” ยังแผ่สายตาออนไลน์ส่องไปทั่วโลก และที่มันน่าเจ็บปวดขมขื่นสำหรับสโนว์เดนก็คือ สุดท้ายแล้ว เขารู้สึกเหมือนกับว่า เหตุผลต่างๆ นานาที่เคยเอ่ยอ้าง อย่างเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” เอย หรือแม้กระทั่ง “ความปลอดภัยของโลก” เอย สุดท้ายแล้ว กลับดูเหมือนจะลงเอยที่เรื่อง “เศรษฐกิจ”!

มีภาพภาพหนึ่งซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นภาพติดตาสำหรับคนดูหนังไปอีกนาน และมันน่าจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “เชิงอรรถ” หากใครสักคนจะเอ่ยถึงหนังอย่าง “สโนว์เดน” นั่นคือภาพของหัวหน้าหน่วยที่สโนว์เดนสังกัด ตอนคุยกันผ่านออนไลน์ ภาพของหัวหน้าที่ปรากฏในจอนั้นดูใหญ่มาก และยิ่งหนังขับเน้นให้เห็นเพียงใบหน้า มันจึงดู “มหึมา” และแผ่รังสีคุกคาม เมื่อนึกย้อนไปถึงพลานุภาพที่โครงการลับต่างๆ นานาที่หนังเล่ามา บวกกับภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า มันนำพาให้เกิดจินตภาพที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงมากขึ้นไปอีก มันคือพละกำลังอันมโหฬารของทางการที่มีต่อชีวิตอันเล็กจิ๋วของผู้คน ...

... “เราจะเอาชนะพละกำลังอันมโหฬารของรัฐบาลในอนาคต จักรวรรดิแบบดาร์ธเวเดี้ยนนี้กันได้อย่างไร?” ...
เป็นหนึ่งในประโยคคำปราศรัยที่โอลิเวอร์ สโตน กล่าวไว้ในคราวที่ขึ้นเวทีรับรางวัล “โคมแห่งอิสรภาพ” จากมูลนิธิสหพันธ์เพื่ออิสรภาพของพลเรือนอเมริกัน ซึ่งรางวัลดังกล่าวก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากหนังเรื่อง Platoon เมื่อปี พ.ศ.2529

“จักรวรรดิแบบดาร์ธเวเดี้ยน” คำนี้น่าจะฝังแน่นอยู่ในใจของโอลิเวอร์ สโตน มาโดยตลอด และเขาถึงกับหยิบจับเอาคำว่า “ดาร์ธ เวเดอร์” นั้นมาใส่ในบทพูดของตัวละครบางตัวในเรื่อง “สโนว์เดน” ด้วย

“ดาร์ธ เวเดอร์” คือชื่อของตัวละครตัวหนึ่งจากมหากาพย์ภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง สตาร์ วอร์ส “ดาร์ธ เวเดอร์” ถือเป็นตัวละครที่เก่งกาจชนิดหาตัวจับยาก แต่ก็เป็นวายร้ายตัวฉกาจที่ยากจะมีผู้ใดทัดเทียม และจากมุมมองของหนัง “สโนว์เดน” ที่สื่อผ่านสายตาของโอลิเวอร์ สโตน “ดาร์ธ เวเดอร์” หรือ “ดาร์ธวาเดี้ยน” สำหรับสโตน ตีความไปก็คงไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่คุณก็รู้อยู่แล้วว่าใคร

การมาถึงของเอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจจัยที่ส่งให้โอลิเวอร์ สโตน ได้ให้กำเนิดผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่ง หากแต่ในอีกทาง มันเหมือนกับการเข้ามาคลี่คลายความขุ่นเคืองบางอย่างที่เจ้าของฉายา “สติสัมปชัญญะแห่งฮอลลีวูด” มีต่ออเมริกัน และถึงแม้เขาจะใส่คำพูดให้ตัวละครบางตัวเรียกขานสโนว์เดนว่า “สโนไวท์” แต่นั่นก็เพียงแค่ขำๆ เพราะลึกลงไป ผู้ชายที่ชื่อ “เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน” สำหรับโอลิเวอร์ สโตน แท้จริงแล้วอาจจะเป็นเช่นกับ “ลุค สกายวอล์คเกอร์” แห่งหนังสตาร์ วอร์ส

... เป็น “ลุค สกายวอล์คเกอร์” ที่หาญกล้าลุกขึ้นมาท้าทาย หันปลายดาบเข้าหาบิดาของตนเอง!!

*** ข้อมูลอ้างอิงประกอบ บางส่วนจากบทความ “โอลิเวอร์ สโตน : ปีกซ้าย ปีกขวา หรือปีกไหน?” ในหนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ด” โดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ***


“โอลิเวอร์ สโตน” ผู้กำกับภาพยนตร์





ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น