xs
xsm
sm
md
lg

คนกล้าฝัน..."อ๊อฟ อัครพล" ผู้ประกาศข่าว สำคัญที่ "ประสบการณ์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฝ่ามรสุมชีวิตมาทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวจนแทบจะไม่รอด สำหรับผู้ประกาศข่าวหนุ่มหล่อมาดเนี้ยบ "อ๊อฟ อัครพล ทองธราดล" แต่แล้วการก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าวช่อง 8 ก็ทำเอาผู้ประกาศหนุ่มถึงกับเปรยชีวิตตายแล้วเหมือนเกิดใหม่เพราะชีวิตดีขึ้น มีความสุข และที่สำคัญแฟนรายการตอบรับดี

แต่ทว่า "อ๊อฟ อัครพล" บอกว่าเขาเป็นหนุ่มขี้อาย การเป็นทั้งผู้ประกาศข่าวและนักแสดงจึงต้องใส่ความกล้า แต่เมื่อผู้ชมชื่นชอบในงานที่เขาทำถือเป็นกำลังใจที่ผลักดันให้เขาสร้างสรรค์งานเบื้องหน้าไม่หยุดนิ่ง จากอาชีพนักแสดงแต่ผันตัวมาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ต้องใช้ทั้งไหวพริบและลีลาการอ่านให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

"กลับมานั่งจ้อข่าวครั้งนี้ มันเหมือนเป็นการเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งตอนนี้มันมีทีวีดิจิตอลเข้ามา เหมือนเป็นการพัฒนาต่อยอด และมีการพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น อย่างที่ทำงานเก่าต้องทำตามสคลิป ต้องโปรยอย่างไร อาจจะมีปรับแต่งนิดหน่อย ส่วนเนื้อก็ต้องเป็นทางการเพราะเป็นช่องทางสาธารณะ แล้วก็มีเรื่องของจรรยาบรรเข้ามาเกี่ยวข้อง"

"อย่างทีวีสาธารณะเขาจะมีกรอบของจริยธรรมะ จรรยาบรรณ การนำเสนอข่าวที่อาจมีการแสดงความคิดเห็นเข้าไปมากก็ไม่ได้ ความคิดเห็นที่บิดเบือนก็ไม่ได้ เขาต้องการความถูกต้องและเป็นกลาง แต่พอมาอยู่ช่อง 8 ซึ่งเป็นทีวีดิจิตอล เขาจะมีทักษะของการเพิ่มลูกเล่นมากกว่าแล้วก็จะนำเสนอข่าวที่ให้มิติที่หลากหลาย เข้าถึงทุกกลุ่มได้มากขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาทำ อยู่ที่นี้ก็ประมาณเกือบ 3 ปีแล้ว ก็ถือว่าสนุกแปลกใหม่แล้วก็ตื่นเต้น"

"ฟีดแบคก็ถือว่าค่อนข้างดี ช่วงแรกทุกคนก็สงสัยว่าผมหายไปไหน แต่พอมีทีวีดิจิตอลออกมาก็อ่อเห็นเราทำงานอยู่ที่ช่อง 8 และเราเลือกที่นี้ถือว่าเขามีความมุ่งมั่นเรื่องของธุรกิจทีวีอย่างเต็มรูปแบบ และผมก็ได้รับโอกาสจาก "เฮียฮ้อ" ที่ให้ผมมาทำงานตรงนี้ ก็ถือได้พัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมมากๆ"

ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าว อ๊อฟค้นพบเสน่ห์ของอาชีพนี้คือ ความท้าทาย และเป็นตัวของตัวเองที่สุด

"เสน่ห์ของวงการข่าว ผมว่ามันคือความสดแล้วก็ใหม่ และมีอะไรให้เราตื่นเต้นตลอดการทำงาน และทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมันคือชีวิตจริงของคนๆนั้น ดูเอาไว้เพื่อเป็นบทเรียน ดูเพื่อให้เท่าทัน ดูเพื่อพัฒนาตัวเอง ดูเพื่อระวัง มันก็จะสนุกกับข่าวได้"

"ถามว่าเป็นอาชีพที่รักมั้ย ใช่ครับ จริงๆ เมื่อก่อนผมเล่นละครมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนนี้ก็อายุขึ้นเลย 3 แล้ว อย่างมาทำงานตรงนี้ก็สนุก และยังได้เป็นตัวเอง แถมได้ความรู้อีกหลากหลาย แต่ในส่วนงานด้านละครก็จะเป็นในเรื่องของบท อารมณ์ เรื่องของการถ่ายทอดบทนั้นให้ซึ้งกินใจอย่างไร ซึ่งมันไม่ได้เป็นตัวเองทั้งหมด มันต้องทำตามที่เขามอบหมายมาให้ แต่งานข่าวเขาต้องการให้เราแสดงความเป็นตัวตนของเราเองออกมาเพื่อให้คนดูได้ชื่นชอบ ติดตามวิธีการนำเสนอแบบนี้ครับ"

สำคัญมากๆ กับการเป็นผู้ประกาศข่าวหรือทุกอาชีพก็ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อให้คนจดจำได้ง่าย

"ตัวผมจะไม่ใช่กลุ่มคนบ้านๆ มากเกินไป ผมจะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สนใจข่าวสาร และการนำเสนอเน้นเรื่องของความเป็นกลาง เน้นสนุก ดูแล้วเพลินๆ แต่ก็ไม่ได้เฮฮาปาร์ตี้ตลกจนเกินไป ก็ไม่ได้คาแรคเตอร์แบบนั้น ก็เป็นสไตล์สบายๆ ดูเพลินๆ แต่เน้นความเข้มข้นในรอบด้าน เพื่อให้คนดูได้มีความรู้ในทุกมิติและรอบด้านด้วย"

"แสดงว่าพี่อ๊อฟเกิดมาเพื่อสิ่ง (หัวเราะ) ไม่ใช่ครับ การเป็นผู้ประกาศข่าวต้องฝึกเรื่องของการพูด ซึ่งแต่ก่อนพูดก็ไม่ได้ชัด พูดอยู่ในคอ ไม่อ้าปาก เรื่องของเสียงก็ไม่ได้ ทุกอย่างมันต้องปรับเริ่มจากศูนย์ดีกว่า และผมก็เรียนอยู่ 6 เดือน ไปให้พี่เขาสอนแทบทุกอาทิตย์ พอเราสอบได้แล้วก็ไม่ได้เลยนะ มันมีอุปสรรคอยู่เรื่อยๆ ต้องมีเทคนิคลีลาภูมิความรู้ที่มันต้องประกอบกัน ไม่ใช่แค่คุณอ่านแล้วจะได้มานั่งเป็นผู้ประกาศมันไม่ใช่"

"แสดงว่าทุกอย่างตอนนี้ลงตัวมากกว่าอดีตที่ผ่านมา ผมว่ามันโตตามวัย เราก็วางแผนชีวิตกันไว้ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง ณ เวลานี้ ผมถือว่าลงตัวตามวัยมากกว่าครับ อาจจะมองไปข้างหน้าสักเล็กน้อยว่าวางแผนอย่างไรบ้างกับเรื่องของงานทางด้านหน้าจอ รวมถึงงานเบื้องหลัง"

การมานั่งเป็นผู้ประกาศข่าวต้องปรับตัว มีวินัยสูง เพราะข่าวมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตนจึงต้องใส่ใจข่าวและอัพเดทให้เข้าสมองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันเหตุการณ์ผ่านทางโซเชียล และนำไปคิดต่อเมื่อถึงเวลาที่เสนอ

"ต้องใส่ใจงานเป็นอย่างมาก อย่างบางคนตามบ้างไม่ตามบ้าง แต่เราทำงานพรีเซ้นเราก็ต้องให้เวลากับมันเยอะมากๆ เราต้องเข้าใจในเนื้อหาบริบทนั้นๆ ทั้งทิศทางเหตุการณ์ก่อนว่าเราจะนำเสนอให้ใครฟัง แล้วเราต้องมาคุยกับบรรณาธิการบริหารข่าวว่าเขาวิเคาระห์เหตุการณ์นั้นอย่างไร เราต้องรู้และวิเคาระห์ข่าวให้เป็น"

"คือเราไม่ใช่แค่มานั่งท่องบทตามที่เขาเขียนแค่นั้น แต่เราต้องทำความเข้าใจในข่าวนั้นๆด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะเตรียมตัวทำงานข่าวก่อนเข้ารายการชั่วโมง สองชั่วโมง แต่ของผมเตรียมอยู่เรื่อยๆ เตรียมตลอดเวลา ซึ่งผมก็มีโซเชียลให้ติดตามข่าว อย่างเมื่อก่อนข่าวโซเชียลหลายคนแอนตี้ บอกว่าเอาข่าวกระแสลองในออนไลน์มานำเสนอได้อย่างไร แต่ปัจจุบันข่าวในโลกโซเชียลมันเร็วกว่าข่าวกระแสหลักมากๆ แถมยังเป็นเรื่องภัยใกล้ตัวอีก"

"ต้องเช็คตลอด ดูตลอด เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งตรงนี้มันเป็นเรื่องราวที่ทำให้เราเข้าใจในข่าวนั้นๆ ได้รอบด้าน ซึ่งแต่ละช่องนำเสนอก็มีแหล่งข่าวที่ไม่เท่ากัน บางช่องเจาะลึก บางช่องมีอีกมิติหนึ่ง ก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด"

ทุกวันนี้จรรยาบรรณของสื่อมวลชนถดถอยลงเรื่อยๆ เหตุเพราะผู้บริหารช่องดิจิตอลต่างแข่งขันกันเรื่องของผลประโยชน์มากกว่าสามัญสำนึก

"ผมเข้าใจในบริบทที่ต้องการดึงดึดคนดู หากย้อนกลับไปดูช่วงม็อบการเมือง ช่วงนั้นมีแค่ 6 ช่อง เราจะเห็นช่องพวกนั้นล้มผังรายการ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของม็อบ มันเลยทำให้เรตติ้งสูงขึ้นเป็นสองเท่าตัว ซึ่งตรงทำให้ผู้บริหารมองว่าเรตติ้งมันขึ้น คราวนี้พอกระจายบุคลากรที่มีโมเดลตรงนี้ออกไป ก็เลยแย่งเรตติ้งกันเพราะแข่งแบบทุนนิยม และมันส่งผลในเรื่องของการมีโฆษณา พอเราเห็นว่ามันไม่ได้มีบทลงโทษออกมา ทุกคนก็จะบอกว่าทำไมเราไม่ล้มผังรายการเหมือนช่องอื่นๆ เพราะเขาคิดว่าตรงนี้เรตติ้งจะได้มากกว่า อย่างเหตุการณ์ของอาจารณ์ราชภัฏที่ถ่ายทอดสดการยิ่งตัวเองเสียชีวิต มันทำให้เราคิดอะไรได้เยอะมาก คือถ้าปืนลั่นขึ้นมา ระหว่างที่เด็กเลิกเรียนมา มันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมันก็โชคดีที่ไม่ค่อยเห็นเพราะหลังคามันบังนิดนึง"

"จริงๆ ทุกข่าวรายงานได้ แต่ต้องดูความพอดีของข่าวด้วย ต้องลองคิดทบทวน อย่างเรื่องของลิงที่เขาใหญ่นายกเขาก็ว่าแล้วเรื่องที่ถูกรถชนตาย ซึ่งไม่มีการเบลอภาพกันเลย นายกเขาก็ตำหนิสื่อว่าให้ดูกันหน่อย รู้ว่าทุกคนต้องการความสด เรตติ้ง เพราะเฟซบุ๊คมันไม่ได้เบลอด้วย ก็โพสต์รูปกันอย่างเต็มที่เลย แบบนี้สื่อก็ต้องช่วยกันสร้างจริยธรรม รวมถึงแต่ละทีแต่ละช่องต้องคำนึงถึงคนดูที่ติดตามข่าวจริงๆ จังๆ ไม่ใช่จะเอาแต่เรตติ้งอย่างเดียว"

"ผมว่ามันปฏิรูปสื่อได้นะ ถ้าไม่คิดอยากจะเอาเรตติ้งอย่างเดียว เพราะตอนนี้ทุกคนคิดที่อยากจะเอาเรตติ้ง เพื่อที่จะขายโฆษณา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับนะว่าคนสนใจเรตติ้งมากกว่าการทำงาน เพราะทุกคนก็ห่วงปากท้องก่อน แต่มันก็ต้องชั่งน้ำหนัก จะเอามันส์ จะเอาเรตติ้งอย่างเดียวไม่ได้ และถ้ามีคนฟ้องร้องเข้าไปที่ กสทช. ทางนั้นเขาก็จะเรียกเข้าไปพบ ถ้าร้ายแรงก็ต้องถูกปรับ ซึ่งตรงนี้มันก็ส่งผลเสียมาที่ช่องได้เหมือนกัน ช่องก็ต้องดูว่าจะเอาเรื่องของเรตติ้ง หรือเอาเรื่องของการร้องเรียน และถ้าถูกปรับซ้ำๆ ก็จะมีผลเรื่องของใบอนุญาติด้วย ก็ต้องดูเรื่องของระเบียบ ก็ต้องช่วยกันแบบสุดๆ"

บอกผู้ประกาศข่าวรุ่นใหม่เกิดเยอะ รับไม่กดดันแย่งงาน ลั่นถือเป็นโอกาสดีที่มีคนข่าวเก่งๆ เพิ่มมากขึ้น

"จริงๆ มันก็ดีนะครับ ผมว่ามันเป็นโอกาสมากกว่า ที่ทำให้คนมาทำข่าวเยอะขึ้น แล้วก็ช่วยกันนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ดีๆ ออกไปมากขึ้น เพราะแต่ละคนเขามีฐานคนดูของแต่ละช่องมากกว่า ก็ถือว่ามันเป็นโอกาสที่ดี ที่เด็กรุ่นใหม่ได้มีเวทีในการทำงาน อย่างเมื่อก่อนกว่าจะมาเป็นผู้ประกาศได้ต้องไขว่คว้าอยู่หลายปี เพราะมีแค่ 6 ช่อง รอนานมาก ขนาดตัวผมเองยังรอนานมากเรียนเสร็จปฏิวัติ และพอปฏิวัติเสร็จจะได้แล้ว ก็ยังไม่ได้เพราะดันเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ พอมาสมัครอีกที่ก็ยังไม่ได้ บางทีวิกฤตของเขาก็กลายเป็นโอกาสของเรา อันนี้ผมมองว่าทำให้มีคนข่าวเก่งๆ เพิ่มมากขึ้นครับ"

รับนักข่าวเดี๋ยวนี้ทำงานง่ายๆ หาข่าวจากโลกโซเชียลจนกลายเป็นความขี้เกียจ

"มันก็เป็นส่วนหนึ่งนะ แต่อย่าลืมว่าตอนนี้ช่องดิจิตอลมันแตกไปเยอะแล้ว คนมันก็ไม่พอ หมายถึงจำนวนช่องที่ลงทุนเขาก็สูงในการประมูล พอคนที่มาทำแต่ละช่อง อย่างเมื่อก่อนเขาแข่งกันแค่ 6 ช่อง และตอนนี้ช่องที่กำลังเกิดใหม่ ต้องการเดินหน้าไปอย่างมั่นคงกับ กสทช. ที่ประมูลมา เขาก็ต้องใช้สื่อตรงนี้เข้ามาช่วย แต่อย่างที่บอกว่าสื่อต้องเช็คข้อมูลข่าว และต้องมีนักข่าวที่คอยลงพื้นที่จริงๆ ด้วย มันขึ้นอยู่ที่วิธีการวางเกมส์ของบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวมากกว่า"

"ผมเป็นคนที่โชคดีที่ได้มีโอกาสทำฟรีทีวีมาก่อน คือถ้าทำงานฟรีทีวีมาก่อนช่องเขาจะเข้มงวด พี่ที่เป็นอาวุธโสเขาก็จะมีกฏระเบียบจริยธรรม เรื่องของการชั่งน้ำหนักข่าวค่อนข้างมาก ซึ่งตอนที่ผมทำงานตอนนั้นจะอยู่กับคุณเทพชัย หย่อง ช่วง 4 ปีแรกจะเข้มงวดมาก การพูดแสดงความเห็นในข่าว เป็นกำลังใจให้นะ แค่นี้ก็มีเมลล์ด่วนมาเตือนมาแสดงความโน้มเอียงไปฝากฝั่งหนึ่งมากเกินไปหรือเปล่า ต้องให้ผู้ประกาศข่าวควรระมัดระวังในเรื่องของพื้นฐาน การชั่งน้ำหนัก อยากให้สื่อรุ่นใหม่ที่เข้ามาในช่วงยุคดิจิตอล ที่เห็นโซเชียลมันแรง มันสนุก ต้องเอามันส์ๆ ซึ่งถ้าเอาแบบนั้นเพื่อสนุกปากแค่นั้นคงทำไม่ได้ เพราะเราต้องดูเรื่องของผลกระทบของสังคมด้วย"

สำหรับความฝันหรือจุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพนี้ของหนุ่มมาดเนี๊ยบคือ การทำงานที่ได้รับมอบหมายมาให้ดีที่สุด ในทุกๆ ช่วงจังหวะของชีวิต

"ก็ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จหรอกครับ มันก็แค่ระดับหนึ่ง มันเป็นการก้าวที่เราว่างเอาไว้ เราต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นี้คือสิ่งสำคัญที่เราลืมไม่ได้ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตมากกว่า แต่ถ้าเรายังมีลมหายใจ ยังอยู่ในอาชีพนี้ก็ต้องเดินต่อ"

"และการที่ผมมาอยู่ในวงการนี้ ถือว่าวงการนี้ให้อะไรกับผมเยอะมาก พอผมเรียนจบก็มาทำงานละคร ได้รู้จักวิธีการทำงานที่มันเหนื่อยยาก ที่เราเห็นฉากสวยงามหรูหรา เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง มันก็ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย มันมาด้วยจากการพยายาม จากการที่เราเอาตัวเข้าไปใส่ใจ อยากจะเป็นอะไรก็เอาตัวเข้าไป ถือว่าได้เรียนรู้ระบบทำงาน ได้อยู่กับผู้ใหญ่หลายคนได้เรียนรู้ว่าเวลาทำงานเป็นอย่างไร เรียนรู้เรื่องของการเข้าฉาก ความตั้งใจ สมาธิ การทำการบ้าน นี้คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของทุกอาชีพ ต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาและการทำงานข้างนอกมันได้อะไรหลายๆอย่าง มากกว่าการนั่งทำงานในออฟฟิศอย่างเดียวครับ (ยิ้ม)"

"ความท้อผมก็มีนะ แต่ผมจะมองที่เหตุปัจจัยที่ทำไมถึงทำให้เราท้อ ก็ต้องค่อยๆ หาเหตุให้เจอตามพระพุทธศาสนา ก็ต้องค่อยๆแก้กันไป มันก็เหมือนกับธุรกิจว่าเราจะทำอะไรก็ต้องมีการวางแผน วันนี้อาจจะเบื่อ เซ็ง ท้อ เพราะอะไร ซึ่งเราก็ต้องวางแผนว่าอนาคตเราจะทำอะไรต่อไปในสายอาชีพของเรา ในตัวเราเอง ก็ต้องให้ตัวเองได้สู้กับมัน และพัฒนาตัวเองต่อไป สิ่งสำคัญเราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ตราบที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ผมบอกตัวเองมาตลอดว่าทุกสิ่งที่ทุกอย่างมันไม่ได้ดีพร้อม ตั้งแต่งานแสดง งานข่าว ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอด เดินช้าหน่อย แต่ก็เดินถึงเหมือนกัน"

ก่อนจากกันผู้ประกาศหนุ่มมาดเนี้ยบ "อ๊อฟ อัครพล" ยังฝากถึงวัยรุ่นยุคใหม่ที่อยากจะมานั่งแท่นผู้ประกาศข่าว บอกงานเบื้องหน้าไม่ได้สบายอย่างที่คิด ทุกคนต้องมีทักษะเรื่องของการตั้งคำถาม และสัมภาษณ์ให้เป็น

"ต้องใช้หลักโมเดลเดิม ที่ผู้ใหญ่เขาสั่งสอนมา อาจจะเติบโตจากการไปทำข่าวก่อน ปัจจุบันคนสนใจอยากนั่งหน้าจอ อยากจะเป็นผู้ประกาศ อยากจะทำงานสบาย ซึ่งการทำงานผู้ประกาศข่าวมันไม่ได้สบายเลย งานหนักจะตาย ถ้าเอาดีๆ อยากให้มาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวก่อน เรียนทักษะของการตั้งคำถาม การสัมภาษณ์ การเจอแหล่งข่าวเชิงลึก และฝึกศิลปะการเล่าเรื่อง ด้วยการเขียนเรียบเรียงภาพเหมือนละครสั้น พอเรามาทำงานหน้าจอในหัวเราสามารถเรียบเรียงภาพได้ เวลาพรีเซ้น เช่นเราต้องเอาภาพแบบไหนขึ้นก่อน มันทำให้ผู้ประกาศข่าวที่เป็นระดับท๊อปๆ เขาจะเป็นทั้ง บก. ด้วย เป็นที่ปรึกษาของทางด้านนี้ทำให้การพรีเซ้นมันสนุก ราบรื่น"


กำลังโหลดความคิดเห็น