เปิดใจ “โอม โปเตโต้” กับการเป็นอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูมา 10 ปี เผยเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก แจงตนเก็บเฉพาะศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากคนตายไม่ทรมานแล้ว ทุกครั้งจะทำอย่างตั้งใจเพราะอยากส่งเขาให้ถึงบ้าน ลั่นอยู่กับความตายจนปลง ทุกวันนี้ไม่กลัวตาย
ภายนอกเป็นหนุ่มหน้าโหด ไว้ผมยาว มาดเซอร์ดิบๆ ในแบบร็อกเกอร์ แต่อีกมุมหนึ่งของ “โอม ปิยวัฒน์ อนุกูร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “โอม” มือเบสของวงร็อกชื่อดังโปเตโต้ (POTATO) เจ้าตัวเป็นคนมีน้ำใจน่ายกย่อง สละเวลาส่วนตัวจากการเล่นคอนเสิร์ตไปเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญู ทำเงียบๆ แทบไม่มีใครรู้มาเป็นเวลา 10 กว่าปีด้วยความสมัครใจ
ตอนเด็กๆ หลายคนอาจมีความฝันอยากเป็นนักบิน อยากเป็นหมอ อยากเป็นตำรวจ ตามแต่ใจจะใฝ่ฝัน แต่สำหรับโอมแล้ว เจ้าตัวบอกว่า นอกจากการเล่นดนตรีที่เขารักแล้ว การเป็นอาสาสมัครร่วมกตัญญูคือความฝันของเขาที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ทำมา โอมเลือกที่จะเก็บเฉพาะศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากคนตายไม่เจ็บไม่ทรมานแล้ว ทุกครั้งที่ทำจะทำอย่างตั้งใจเพราะอยากส่งเขาให้ถึงที่ ส่งเขากลับบ้าน ยิ่งอยู่กับความตายก็ยิ่งปลง ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคนเกิดมาก็เท่านี้ อยากทำอะไรให้รีบทำ อย่าประมาท ตั้งมั่นจะเป็นอาสาสมัครตลอดไปไม่คิดจะเลิกทำ
หดหู่ที่เห็นคนตาย อยากให้เขาได้อยู่เป็นที่เป็นทาง อยากพาเขากลับบ้าน
“ผมทำตั้งแต่เข้ามาอยู่โปเตโต้แรกๆ เลยครับ ก็ 10 กว่าปีแล้ว จริงๆ แล้วผมมีความฝันตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากจะทำ ที่ผมอยากมาเก็บศพเพราะผมมองว่า ถ้าคนมัวแต่กลัวการทำแบบนี้แล้วใครจะช่วยให้เขาได้อยู่เป็นที่เป็นทาง ตอนเด็กๆ เวลาเห็นรถชนคนตาย ใจก็อยากจะช่วย แต่ด้วยความที่เรายังเด็กมากๆ อยากช่วยก็ช่วยไม่ได้ พอโตมาเราทำได้แล้วก็เลยมาทำครับก่อนที่จะตายเหมือนเขา”
“จนมีวันนึงผมไปเล่นคอนเสิร์ตงานวันพ่อที่สนามหลวง แล้วหลังเวทีมีทีมงานมูลนิธิร่วมกตัญญูมาแจกข้าว ก็เลยเข้าไปคุยกับพี่ๆ ว่าอยากทำ พี่ๆ เขาก็เลยบอกว่าถ้าเป็นดาราศิลปินก็ใช้รหัสประชาสัมพันธ์ได้นะ พอเข้าไปทำตอนแรกก็ต้องไปเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนเพื่อความถูกต้องในการช่วยเหลือ ซึ่งผมใช้วิธีลัดกว่าชาวบ้านครับ”
“ส่วนใหญ่ผมจะเก็บแต่ผู้เสียชีวิตมากกว่า เพราะเขาไม่เจ็บและไม่พูดแล้ว แต่ถ้าเป็นคนเจ็บผมสงสารครับ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ผมเลือกที่จะเก็บเฉพาะคนที่เสียชีวิตแล้วครับ อีกอย่างผมเรียนเรื่องการปฐมพยาบาลมาน้อยด้วยครับ ฉะนั้นให้คนที่เขาเก่งและชำนาญไปทำดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของคนเจ็บด้วยครับ ตั้งแต่เก็บมาเคยเจอสภาพศพมาเกือบทุกรูปแบบ ปลงแล้วครับ ผมจะรู้สึกกับญาติผู้เสียชีวิตมากกว่า มันคือการสูญเสีย พวกเขาน่าสงสาร ทุกครั้งที่ทำก็อยากส่งเขาให้ถึงที่ ส่งเขากลับบ้าน ตอนเก็บผมก็จะพูดกับเขาว่าเดี๋ยวพาไปส่ง”
“ผมไม่ชอบไปที่ที่เกิดเหตุใหญ่ๆ ผมจะไปที่เล็กๆ ที่ออกไปไกลๆ มากกว่า ตามชานเมืองอะไรแบบนี้ เรื่องแบ่งเวลา ผมทำเฉพาะเวลาว่างครับ แบบอาสาจริงๆ อยากไปก็ไปเลย ปีนี้ไปมา 4-5 ครั้งแล้วครับ แต่ช่วงทำอัลบั้มผมไม่ได้ไปเลย ตอนนั้นเคยหายไปเกือบ 2 ปีก็มี เคสล่าสุดที่ไปไม่ใช่เคสใหญ่ แต่ในวันเดียวมีผู้เสียชีวิตประมาณ 6-7 ศพ ซึ่งอยู่คนละที่กัน เคสที่ประทับใจคือตอนไปช่วยน้ำท่วมที่จังหวัดนครสวรรค์ ในปีที่มีน้ำท่วมใหญ่ ผมไปช่วยเขาย้ายโรงพยาบาล ผมรู้สึกว่าคนต่างจังหวัดมีน้ำใจ เขาสามัคคีกันดี ผมชอบ(ยิ้ม) ผมเป็นคนไม่กลัวผี แต่ตั้งแต่ทำมาผมไม่เคยเจอวิญญาณที่ตัวเองเคยไปเก็บ ไม่เคยมีใครมาหา ผมจะเจอแต่ตามโรงแรมเวลาไปทัวร์คอนเสิร์ตมากกว่า(หัวเราะ)”
อยู่กับความตายทำให้ได้แง่คิดในการใช้ชีวิตมากมาย ทุกวันนี้ไม่กลัวตาย
“การมาเก็บศพทำให้ผมเรียนรู้ว่าอยากจะทำอะไรก็รีบทำ เพราะบางคนอยู่เฉยๆ ก็ตาย ได้มองเห็นว่าจริงๆ แล้วคนมันก็แค่นี้ ได้ปลง ทำให้ผมไม่กลัวความตาย แต่ผมกลัวทำให้คนอื่นลำบากมากกว่า และให้แง่คิดเรื่องความประมาทด้วยครับ หลังๆ มาผมขับรถช้าลง ผมได้แง่คิดจากการไปทำตรงนี้เยอะมาก ทุกอย่างมันจะสอน ถ้าได้นั่งมองจริงๆ มันจะได้อะไรที่สะท้อนกลับมาให้ตัวเองได้คิด อย่างรู้ว่าไม่ดีก็อย่าไปทำ”
ทำดีมา 10 กว่าปีแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ ลั่นไม่คิดจะเลิกทำ
“ที่ไม่ค่อยมีใครรู้เพราะผมไปเก็บแต่ไม่เคยบอก ผมไม่รู้ว่าจะต้องบอกทำไม มีคนจำได้บ้าง บางทีญาติผู้เสียชีวิตเขาจำได้ก็จะเข้ามาขอบคุณ ผมตั้งใจจะทำไปตลอด ยังไม่คิดว่าจะเลิกทำ”