ถึงช่วงวาระแห่งการเกณฑ์ทหารทีไร ดูเหมือนบันเทิงไทยก็มักจะมีเรื่องตลก เศร้าเคล้าน้ำตามาฝากกันเป็นประจำทุกๆ ปี
อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ทำเอาบรรดาสาวใหญ่ สาวน้อย สาวแท้ สาวเทียม แลไปถึงเก้ง กวาง บ่าง ชะนี น้ำลายหยดไปกับ “นมชมพูสู้ใบแดง” ของ “มาริโอ้ เมาเร่อ”
มาถึงปีนี้ ดูเหมือนจะคึกคักตั้งแต่มีการเปิดโผรายชื่อศิลปิน นักร้อง นักแสดง ที่ถึงคิวต้องเข้ามาเกณฑ์ทหารประจำปีหลายคน มีทั้งที่ขอผ่อนผันตามสิทธิ์ มีทั้งที่สมัครใจเข้าไปเป็นโดยไม่ต้องจับใบดำใบแดง ซึ่งก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม
ส่วนที่โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนยับเยิน ก็คือ “ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล” ที่ถูกระบุเป็นบุคคลจำพวกที่ 4 มีโรคประจำตัวป่วยเป็นโรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคที่ขัดต่อการรับราชการ ทำให้หมดสิทธิ์ในการเกณฑ์ทหาร
แต่กระแสดรามาของไมค์ก็โดนกลบทันที เมื่อเจอกรณีของ “ชิน-ชินวุฒ อินทรคูลิน” ที่ถึงกับปล่อยโฮร่ำไห้เมื่อถูกคำสั่งให้ต้องเป็นทหารทันที เพราะมีประวัติไม่มารายงานตัวทำให้หมดสิทธิ์ผ่อนผัน และไม่สามารถเลือกจับใบดำใบแดงได้ ภายหลังจากที่ยื่นปัญหาสุขภาพแล้วแต่ไม่ผ่าน
ในกรณีของไมค์ ก็ถูกชาวโซเชียลฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่แสดงใบรับรองแพทย์ว่าเป็นหอบหืดตั้งแต่เมื่อตอนอายุครบเกณฑ์ในปีแรก จะมายื่นเรื่องขอผ่อนผันจนหมดโควตาทำไม !!?? ซึ่งไมค์ก็ให้เหตุผลว่าที่ขอใช้สิทธิ์ผ่อนผัน เนื่องจากตอนแรกอยากจับใบดำใบแดง แต่ปีที่แล้วอาการหอบหืดกำเริบเลยทำให้ต้องใช้สิทธิ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีการยืนยันว่าไมค์เป็นหอบหืดจริง โดยมีการยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์ที่เขามีอาการกำเริบต่อหน้าฝูงชน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในงานฟุตบอลครบรอบ 45 ปีของช่อง 3 เมื่อปีที่แล้ว ที่เขาถึงกับเดินเซออกมาจากสนาม เพราะไม่สามารถเล่นฟุตบอลกลางแดดต่อได้ไหว โดยเหตุการณ์ในวันนั้น ได้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย “หมอก้อง-สรวิชญ์” ก่อนจะนำตัวส่งโรงพยาบาลให้ดูแลต่อจนอาการปลอดภัยในที่สุด
กับอีกหนึ่งเหตุการณ์ เกิดขึ้นขณะที่ไมค์กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเรื่องเซ็นรับรอง “น้องแม็กซ์เวลล์” จู่ ๆ ก็มีท่าทางอ่อนล้า แล้วก็ปล่อยโฮออกมากลางวงสัมภาษณ์ ก่อนจะเดินออกไปทรุดตัวลงตรงบันได จนเจ้าหน้าที่ต้องรีบมานำตัวออกไปยังลิฟต์เพื่อเดินทางกลับ
ไมค์ไม่ใช่ดาราชายคนแรกที่โดนกระแสจับผิดเรื่องการเป็นโรคหอบหืด เพราะเมื่อปี 2557 พระเอก “ณเดชน์ คูกิมิยะ” ก็รอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ เพราะยื่นใบรับรองแพทย์ว่าเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งในเวลาต่อมา ก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ว่าคนเป็นโรคหอบหืดทำไมถึงเตะบอลไม่ยั้งในงานฟุตบอลช่อง 3 ได้ แถมยังวิ่งอยู่กลางแดดเปรี้ยงจนหมดเวลาได้โดยที่อาการไม่กำเริบ งานนี้บรรดา “ติ่ง” ก็เลยงัดหลักฐานอ้างอิงเพื่อยืนยันว่าพระเอกในดวงใจเป็นหอบหืดจริง ทั้งภาพถ่ายการใช้ยาพ่น รวมไปถึงข้อความจาก หนังสือ "ณเดชน์ในดวงใจ" ที่แม่แก้วเขียนรวมเล่มและวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2555 ซึ่งในนั้นมีข้อความเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจของณเดชน์ที่เป็นมาตั้งแต่เรียนประถม
เป็นไปได้มั้ยว่าบรรดานักแสดง ที่มีอายุครบเกณฑ์ หรือหมดสิทธิ์ในการผ่อนผัน จะมีการเตรียมการ และวางแผนไว้อย่างดี โดยศึกษาช่องโหว่ของพระราชบัญญัติ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 (พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหาร) ซึ่งจะสามารถหลุดพ้นจากการเกณฑ์ทหาร ก็เลยหาเหตุอ้างว่าตัวเองป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน แต่ในกรณีของโรคหอบหืดที่นำมาอ้างนั้น จะต้องศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี เพราะโรคดังกล่าว ไม่ใช่โรคที่จะสามารถไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นโรงพยาบาลที่กำหนดไว้เท่านั้น ฉะนั้นแล้วต่อให้เป็นดารา หรือลูกหลานไฮโซ หากไม่มีพื้นความรู้เรื่องข้อมูลดังกล่าว ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารได้ และแน่นอนว่าดารา หรือผู้จัดการดาราระดับนี้ ย่อมต้องมีการศึกษาข้อมูลมาไว้ล่วงหน้าแล้ว
ต่อเมื่อไปสืบค้นข้อมูลทางแพทย์ ก็พบว่าโรคหอบหืดนั้น สามารถรักษาเพื่อลดการอักเสบของหลอดลม โดยการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้ยาสเตอรอยด์พ่น ซึ่งจะทำให้หลอดลมไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น และไม่ตีบเล็กลงจนหายได้ไม่ออก เรียกว่า ”โรคสงบ” แต่ก็ไม่ถือว่าหายขาด และหากมีการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ การอักเสบก็จะลดลง จนสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับคนปกติ อีกทั้งยังสามารถหยุดยาได้นาน 4-5 ปี หรือเป็น 10 ปี
กรณีของณเดชน์ หรือแม้กระทั่งไมค์ ก็อาจจะอยู่ในข่ายดังกล่าว คือดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ จนไม่แสดงอาการอะไรออกมา และสามารถออกกำลังกายได้เหมือนคนปกติ
จบจากเรื่องหอบหืดของไมค์ ที่ทำให้ต้องโยงไปถึงเรื่องของณเดชน์ ก็มาถึงซีนเจ้าน้ำตาของชิน-ชินวุฒ ที่ก็โดนถล่มจนยับไม่แพ้กัน โดยส่วนใหญ่จะมองว่าเหตุผลที่ชินอ้างว่าร้องไห้เพราะเป็นห่วงแม่ ห่วงน้อง ในฐานะที่ตนเองเป็นเสาหลัก เป็นกำลังสำคัญในการหาเงินเลี้ยงครอบครัว ถ้าต้องไปฝึกทหาร 2 ปี ครอบครัวก็จะขาดรายได้นั้น ลูกชายตาสีตาสา ที่ต้องไปเป็นทหาร ก็ต้องดูแลครอบครัว มีพ่อ มีแม่ มีน้องให้เลี้ยงเหมือนกัน
เรื่องนั้นไม่เถียง และก็ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกันที่ชินจะต้องมาดรามาบีบน้ำตา เสมือนจะขอความเห็นใจ ที่รายได้ของครอบครัวจะต้องขาดหายไป เพราะตามข่าวว่ารับหนัง รับละครไว้หลายเรื่องแล้ว
แต่อย่าลืมว่าต่อให้ชิน กับลูกชายตาลีตาสา มีหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัวเหมือนกัน แต่ฐานของรายได้มันต่างกันคนละขั้ว
ที่สำคัญก็ต้องยอมรับว่า การกินอยู่ของทหารนั้น ต้องถือว่าแร้นแค้นจริงๆ การเป็นทหารอาจจะมีประโยชน์ดีในแง่ของการเข้าไปชุบตัวของพวกติดยา เกะมะเหรกเกเร ไม่มีอาชีพการงานที่แน่นอน การได้รับเบี้ยเลี้ยงที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ก็อาจจะดีกว่ารายได้ของการหาเช้ากินค่ำก็ได้
นี่คือต้นทุนที่ต่างกันระหว่างชินกับลูกชายของตาสีตาสา
จะดีกว่านี้ไหม ? หากจะมีการปรับฐานของเบี้ยเลี้ยงให้สูงกว่านี้ เพราะจะทำให้เด็กหนุ่มวัยถึงเกณฑ์ ที่ไม่มีหนทางทำมาหากินแห่เข้ามาสมัครจนเต็มโควต้า ไม่ต้องมานั่งจับใบดำใบแดงให้เสียเวลา พวกที่มีโอกาสทางสังคมสูงก็ไม่ต้องหาทางหลีกเลี่ยง ตุกติก เพราะไม่อยากสูญเสียรายได้ สูญเสียโอกาสดีๆ ในชีวิต
คนไม่ได้กลัวการฝึกของทหาร แต่กลัวการถูกทารุณ กดขี่ เหยียดหยาม ซึ่งคนที่มีต้นทุนในสังคมสูงอยู่แล้ว ย่อมไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ในวังวนแบบนี้
คนที่รักชาติ กตัญญูแผ่นดิน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารทุกคน แต่ทุกอาชีพก็สามารถตอบแทบคุณได้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ วิศวกร พ่อค้า ชาวนา หรือกระทั่งคนกวาดขยะ
เราอาจจะชื่นชมในความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เสียสละของผู้ที่เต็มใจยืดอกสมัครไปเป็นทหารโดยไม่ต้องจับใบดำใบแดง แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องไปแอนตี้คนที่ไม่อยากเป็นทหาร เพราะทุกคนย่อมมีเหตุผล และวิถีทางของตนเอง เขาอาจจะผิดในแง่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ถึงวัยก็ต้องเข้าไปเกณฑ์ อาจจะผิดที่พยายามดิ้นรนหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปเป็นทหาร แต่ถ้าเขาเอาเวลานั้น มาพัฒนาประเทศด้วยหน้าที่ ด้วยอาชีพอื่นๆ ที่เขาทำ ก็ไม่ดีกว่าที่พวกเขาอาจจะต้องไปตายอยู่กลางสนามรบหรอกหรือ !!??
ไม่ต้องดูอื่นไกล 2 ปีที่ณเดชน์ , ไมค์-พิรัชต์ หรือแม้แต่ชิน-ชินวุฒ เล่นหนัง เล่นละคร เขาก็จะมีรายได้มากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของรายได้นั้น ก็จะผันมาเป็นภาษีที่จะนำมาปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หรือแม้แต่ระบบการศึกษาในจังหวัดทุรกันดาร เท่ากับเขาเหล่านั้นก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศโดยไม่ต้องเป็นทหาร
ถ้าเปลี่ยนจากทหารเป็นอาชีพอื่นล่ะ สมมติว่าใครสักคนไม่อยากเป็นครู เพราะไม่ขอบ ไม่ถนัด แต่อยากเป็นสถาปนิก เพราะชอบออกแบบ เลยไปเรียนสถาปัตย์ล่ะ เขาผิดไหม? เขาจะโดนสังคมประณามว่าไม่รักชาติไหม ? ขณะเดียวกัน ถ้าเขาจำใจต้องเป็นครู เพราะครอบครัวบังคับให้เรียน เขาจะมีความสุขกับหน้าที่การงานไหม ? จะทุ่มเทกับการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เด็กๆ ในฐานะครูที่ดีได้หรือเปล่า ? ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องบังคับให้เขาเป็นครู
ทำไมสังคมต้องตีค่าว่าคนที่ไม่อยากเป็นทหารขี้ขลาด อ่อนแอ ไม่รักชาติ หรือต่อให้พวกเหล่านี้ขี้ขลาดจริงๆ เราจะฝากความมั่นคงของชาติไว้ในความดูแลของคนขี้ขลาดเหล่านี้ได้หรือ ในเมื่อมีคนที่กล้าหาญ และสมัครใจอยากจะเป็นอยู่อีกตั้งมากมาย ทำไมเราไม่เลือกใช้คนให้เหมาะกับงาน
Put A Right Man In A Right เคยได้ยินกันบ้างรึเปล่า ?
ลองคิดตามแล้วก็อาจจะเข้าใจถึงเหตุผลที่จู่ๆ อาการหอบหืดของไมค์เกิดกำเริบขึ้นมา พร้อมๆ กับหยดน้ำตาของชิน-ชินวุฒ
ที่มานิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 334 9-15 เมษายน 2559