xs
xsm
sm
md
lg

ทหาร: จากการเกณฑ์สู่การอาสา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเราจะเห็นบรรยากาศของการเกณฑ์ทหารตามอำเภอต่างๆทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ใครจับได้ใบดำก็มีสีหน้ายิ้มแย้มยินดี ส่วนใครจับได้ใบแดงก็มีความรู้สึกตรงกันข้าม ทำให้คิดว่าผู้ที่จับได้ใบแดงคงมีความรู้สึกถึงความจำเป็นและจำใจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเป็นทหาร

การเกณฑ์ทหารดูเหมือนเป็นยาขมของคนไทยจำนวนมาก หากมีช่องทางหลีกเลี่ยงได้ผู้คนจำนวนมากก็พยายามหาหนทางอยู่เสมอ วิธีการหลักที่ทำให้ไม่ต้องเข้าสู่การเกณฑ์ทหารอย่างถูกต้องตามกฎหมายคือการเข้าเรียนหลักสูตรวิชาทหาร หรือที่เรียกย่อๆว่า เรียน รด. หลักสูตรนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่ละปีมีนักเรียนประสงค์เข้าเรียนจำนวนมากจนต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกขึ้นมา

การเรียนวิชาทหารเป็นทางออกสำหรับบรรดาลูกหลานของชนชั้นกลางในการที่ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นแนวทางที่ก่อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างสมเหตุสมผล นั่นคือสังคมก็จะได้ประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจในวิชการทหารและได้รับการฝึกวินัยมากขึ้น กองทัพก็มีกองกำลังสำรองที่พร้อมจะเรียกเข้าฝึกและร่วมปฏิบัติการณ์เมื่อยามเกิดสงคราม และครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังในสังคมก็ไม่เกิดความเครียดมากจนเกินไป

สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการเรียนวิชาการทหารไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หากให้ประเมินสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน ผู้ที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารส่วนใหญ่น่าจะมีการศึกษาไม่เกินมัธยมการศึกษาปีที่ 3 สำหรับผู้มีการศึกษาสูงกว่านั้นมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เรียนวิชาทหารระหว่างศึกษาระดับมัธยมปลาย

ทัศนคติของผู้มีการศึกษาสูงและเป็นลูกหลานของชนชั้นกลางที่มีต่อการเป็นทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นทางลบและไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ ดังนั้นด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีความมั่งคั่งพอสมควร บวกกับความไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ และด้วยความร่วมมือของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารบางกลุ่ม จึงกลายเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในการคัดเลือกทหารขึ้นได้

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีใบเสร็จ แต่เป็นแบบแผนพฤติกรรมทางสังคมที่ผู้เกี่ยวข้องทราบกันโดยทั่วไป มากบ้างน้อยบ้างตามลักษณะของพื้นที่แต่ละแห่ง เท่าที่ข้อมูลจากการพูดคุยกับชาวบ้านและอนุมานเชิงตรรกะ ผมประมาณว่าคงอยู่ราวๆ ร้อยละ 5-10 ของผู้ที่เข้ารับการเกณฑ์ในแต่ละปี

สำหรับปีนี้ได้ยินมาว่าแพงกว่าปีก่อนๆเพราะว่าทางกองทัพมีความเข้มงวดในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเข้มงวดอย่างไรก็คงหาทางป้องกันได้ยาก เพราะเป็นการสมยอมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และยิ่งพื้นที่ใดที่บังเอิญว่ามีผู้สมัครเป็นทหารครบตามจำนวน ก่อนที่จะจับใบดำ ใบแดง การตรวจสอบก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย

ในระยะหลังมีข่าวทุกปีว่าบางพื้นที่มีผู้สมัครเป็นทหารครบตามจำนวนที่ต้องการ บางพื้นที่ก็มีผู้สมัครเกือบครบ เหลือที่ต้องจับสลากเพียงไม่กี่คนเท่านั้น จากข้อมูลของกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนในรอบ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถึง 2558 มีแนวโน้มที่สำคัญสองประการ ประการแรกจำนวนการรับทหารเกณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และประการที่สองจำนวนผู้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

จำนวนทหารเกณฑ์ที่กองทัพรับเข้าประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี พิจารณาจากปี 2550 เป็นปีฐาน จะเห็นได้ว่าในปี 2551 มีการรับทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.97 ถัดมาอัตราการรับทหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2554 คือเพิ่มถึงร้อยละ 19.07 จากปีฐาน ต่อมาในปี2555 อัตราการเพิ่มไต่ระดับไปถึงร้อยละ 26.75 แต่เริ่มลดลงในปี 2556 และกลับเพิ่มขึ้นอีกในปี 2557

ตารางที่ 1 จำนวนและร้อยละการเพิ่มของทหารเกณฑ์ พ.ศ. 2550-2558
ที่มา คำนวณจากข้อมูลกองสัสดี หน่วยบัญชาการทหารรักษาดินแดน
ผมคิดว่าปัจจัยที่ทำให้กองทัพรับทหารกองประจำการเพิ่มขึ้นในระยะผ่านมา ทั้งที่สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศในปัจจุบันมีแนวโน้มเกิดขึ้นน้อยมาก น่าจะมาจากสองปัจจัยหลักคือ แนวโน้มการก่อการร้ายระหว่างประเทศมีมากขึ้น และความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศมีสูงขึ้น สถานการณ์ทั้งสองเรื่องนี้อาจทำให้กองทัพคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีปริมาณกำลังทหารเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าไปควบคุมสถานการณ์เหล่านั้น

อย่างไรก็ตามในเรื่องการเพิ่มทหารเกณฑ์ สิ่งที่ควรพิจารณาคือมีการใช้ทหารเกณฑ์อย่างเหมาะสมหรือยัง เพราะว่ามักมีข่าวออกมาสู่สังคมเสมอว่ามีการใช้ทหารเกณฑ์จำนวนหนึ่งไปเป็นทหารรับใช้แก่นายทหารระดับสูง จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ยิ่งมีจำนวนนายทหารระดับสูงเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ก็อาจยิ่งทำให้ต้องมีจำนวนทหารเกณฑ์ไปรับใช้มากขึ้น ทหารเกณฑ์จำนวนหนึ่งซึ่งควรทำหน้าที่รับใช้ชาติจึงถูกใช้ไปไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ และเป็นการลดคุณค่าของการเป็นทหารด้วย ดังนั้นหากมีการใช้ทหารเกณฑ์ไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์ก็เป็นไปได้

ปรากฏการณ์อีกประการที่น่าสนใจคือ อัตราการสมัครเป็นทหารประจำการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ช่วงระหว่างปี 2550 ถึง 2555 มีผู้สมัครระหว่างร้อยละ 20-30 ของจำนวนทหารกองประจำการทั้งหมด ถัดมาในปี 2556 -2557 ผู้สมัครเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 กว่าๆ และในปี 2558 มีผู้สมัครเป็นทหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั่นคือเพิ่มไปถึงร้อยละ 43.42 หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของทหารกองประจำการทั้งหมดในปีนั้น

ตารางที่ 2 ร้อยละของผู้สมัครเป็นทหาร พ.ศ. 2550-2558
ที่มา ที่มา คำนวณจากข้อมูลกองสัสดี หน่วยบัญชาการทหารรักษาดินแดน
คำถามที่น่าสนใจคือทำไมมีผู้สมัครเป็นทหารเพิ่มขึ้น ทั้งที่มีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์จากทหารเกณฑ์รุ่นพี่บ้าง จากครูฝึกบ้าง เผยแพร่สู่สาธารณะเป็นระยะ การอธิบายที่ดูเหมือนมีน้ำหนักไม่น้อยคือปัจจัยด้านเศรษฐกิจ คนจำนวนหนึ่งอาจเห็นว่าการเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ถือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง มีรายได้มีสวัสดิการพอสมควร ทั้งยังมีโอกาสได้รับการฝึกวิชาความรู้ทางทหารหรือความรู้อื่นๆจากกองทัพซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ยิ่งกว่านั้นหากกองทัพรับสมัครทหารชั้นประทวนก็อาจทำให้มีโอกาสเข้ารับราชการทหารต่อไปก็ได้

ส่วนปัจจัยอีกประการหนึ่งน่าจะมาจากเงื่อนไขพิเศษที่กองทัพให้แก่ผู้สมัครบางกลุ่ม โดยกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปวส. อนุปริญญา และปริญญาตรีขึ้นไป หากสมัครก็เป็นทหารเพียง 6 เดือนเท่านั้น และสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปวช.และมัธยม 6 หากสมัครก็เป็นทหารเพียง 1 ปีเท่านั้น ด้วยเงื่อนไขนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าการสมัครไปเลย ดีกว่าการเสี่ยงจับสลาก ซึ่งหากได้ใบแดงก็ต้องเป็นทหารตามระยะเวลาที่กำหนดซึ่งมากกว่าการสมัครหนึ่งเท่า

การมีผู้สมัครเป็นทหารเพิ่มขึ้นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อกองทัพและประเทศ และหากกองทัพมีการปรับปรุงภาพลักษณ์เกี่ยวกับการฝึกทหารเกณฑ์เสียใหม่ให้ออกมาในเชิงบวกมากขึ้น โดยการปรับทัศนคติของครูฝึกและนายทหารบางส่วนเสียใหม่ จากเดิมที่อาจมองทหารเกณฑ์มีสถานภาพต่ำกว่าตนเองหรือมองในเชิงดูถูกและมีการปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติ ก็ปรับเป็นมองว่าพวกเขาเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของกองทัพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและศักดิ์ศรี

รวมทั้งการฝึกก็ทำอย่างเป็นมาตรฐานสากล ทั้งในแง่วิธีการฝึก การใช้วาจา และการลงโทษผู้ที่กระทำผิด ก็ต้องไม่กระทำอย่างป่าเถื่อนดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นบางครั้ง ในเรื่องนี้ผมคิดว่ากองทัพควรเข้มงวด อบรม และปรับทัศนคติครูฝึกอย่างเข้มข้นก่อนที่จะให้ทำการฝึกทหารใหม่ รวมทั้งดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งกัน

นอกจากนั้นในการฝึกทหารก็ควรมีหลักสูตรต่างๆที่หลากหลายเพื่อให้ทหารเกณฑ์ได้เลือกเรียนตามความถนัดทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพหรือความรู้ทางวิชาการตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาศักยภาพของทหารเกณฑ์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น นอกเหนือจากวินัยและความรักชาติที่กองทัพปลูกฝังอยู่แล้ว เราก็จะได้พลเมืองที่มีคุณภาพแก่สังคมมากขึ้นในอนาคตด้วย

หากกองทัพปรับมาตรการเหล่านี้ผมคิดว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นทหารเกณฑ์ดี และในอนาคตอาจมีผู้สมัครเป็นทหารมากขึ้นไปอีก จนไม่จำเป็นต้องมีการเกณฑ์อีกต่อไป และเมื่อไรที่เราไม่จำเป็นต้องมีการเกณฑ์ทหารแล้ว และพลเมืองพร้อมที่รับใช้ชาติอย่างสมัครใจ เมื่อนั้นก็หมายถึงการที่เราเข้าสู่ความเป็นอารยะประเทศอย่างเต็มตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น