xs
xsm
sm
md
lg

ควรได้รางวัลส่งเสริมพระพุทธศาสนา : อาปัติ

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เหนื่อยกันมาก็มาก ยุ่งยากกันมาก็เยอะ ท้ายที่สุด ภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องแรกของผู้กำกับหญิง “ขนิษฐา ขวัญอยู่” ภายใต้ชายคาของสหมงคลฟิล์ม ก็ได้ฉายโรง ในชื่อใหม่ที่ใกล้ๆ เคียงๆ กับชื่อเก่า เพียงเปลี่ยนจาก “บ ใบไม้ทับถม” ไปเป็น “ป ปลาตากลม” ซึ่งโดยเนื้อหาของชื่อหรือถ้อยคำ ก็ยังคงเดิม เพราะ “อาปัติ” เป็นคำต้นรากจากภาษาบาลี เมื่อโยกย้ายมาสู่ภาษาไทย ก็ใช้ว่า “อาบัติ” ไม่ผิดเพี้ยนความหมาย

กล่าวให้ชัด ไม่ว่าจะ “อาบัติ” หรือ “อาปัติ” ก็ชี้ชัดถึงการละเมิดกฎระเบียบหรือวินัยของสมณะ ศีลของพระ 227 ข้อ มีตั้งแต่เบาไปถึงหนัก ข้อที่หนักคือปาราชิก 4 ข้อ ละเมิดเมื่อใด ตัดขาดจากความเป็นภิกษุเมื่อนั้น รองลงมาคือ “สังฆาทิเสส” 13 ข้อ ต้องเข้าปริวาสกรรมหรืออยู่กรรม ถึงจะทำให้พ้นโทษ ส่วนที่เหลือนอกจากนี้ ตั้งแต่ปาจิตตีย์ลงไป ใช้วิธีปลงอาบัติ ซึ่งคล้ายๆ การสารภาพบาปในบางศาสนา ขณะที่ในส่วนของสามเณรมีศีลให้รักษา (หรือที่เรียกว่า “สิกขาบท”) อยู่ 10 ข้อ ห้าข้อแรกเป็นความผิดขั้นรุนแรง แต่ถึงอย่างไร หากละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ต้องสมาทานรับศีลใหม่ ซึ่งโดยทั่วไป จะรับจากพระภิกษุที่มีศีลบริสุทธิ์

ที่ต้องบอกกล่าวเล่าแจ้งกันเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยตัวหนังนั่นล่ะครับ เพราะ “อาบัติ” ในหนัง มีทั้งส่วนที่เกี่ยวกับพระและเณร แต่ส่วนมาก สำหรับเณรจะไม่เรียกว่า “อาบัติ” จะเรียกว่า “ศีลขาด” หรืออะไรก็ว่าไป แล้วเวลาศีล “ขาด” ก็ต้อง “ต่อ” ใหม่ ส่วนของพระภิกษุ ถ้าไม่ใช่อาบัติร้ายแรง ก็ใช้การปลงอาบัติ ซึ่งในหนัง มีพูดถึงทั้งการ “สมาทานศีลใหม่” ของสามเณร และการปลงอาบัติของพระที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ เพราะตลอดระยะเวลาที่หนังดำเนินไป เราจะได้เห็นตัวละครตัวหนึ่งท่องคำปลงอาบัติแทบตลอดทั้งเรื่อง “สัพพาตา อาปัตติโย อาโรเจมิ” นั่นล่ะครับ คือคำปลงอาบัติ แปลได้ใจความว่า “ข้าพเจ้าขอบอกกล่าวอาบัติทั้งหมด” หรือพูดง่ายๆ ก็คือสารภาพบาปที่ทำมาทั้งหมด การยอมรับผิดเป็นเสมือนกระบวนการเริ่มต้นเข้าสู่การทำศีลให้บริสุทธิ์อีกครั้ง ซึ่งจุดนี้ ผมเห็นว่าหนังทำการบ้านมาดี และสื่อออกมาได้ดี

เหนือไปกว่านี้ คือเมื่อมองในภาพรวม ผมเห็นว่าหนังไม่มีอะไรที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม นี่คือเสียงแห่งความปรารถนาดีตามแนวทางคำสั่งสอน บนหลักการพื้นฐาน คือทำดีได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว และรับผลกรรมไปตามระเบียบ มีสิ่งหนึ่งซึ่งต้องบอกว่าสำคัญมากๆ ในเชิงการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ นั่นก็คือ ต้นไม้ต้นใหญ่กลางทุ่งเวิ้งว้าง ที่แม้จะใหญ่โต แต่ก็ไม่อาจผลิดอกออกใบอะไรได้อีก

ถ้าใครศึกษาในทางพุทธ จะรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่อยู่ในคำสอนซึ่งมักจะเปรียบเทียบพระภิกษุหรือสามเณรที่ทำผิดบาปขั้นรุนแรงคือปาราชิก ว่าเหมือนกับต้นไม้ที่ไม่อาจเจริญงอกงามอันใดอีก (บางแห่งอาจจะว่าเหมือนต้นตาลยอดด้วนที่มีแต่จะตายดับ) ตัดขาดจากความเป็นภิกษุ เป็น “โมฆะบุรุษ” ที่ทำอะไรก็ไม่เจริญ ต้นไม้ต้นนี้ในหนังถูกใช้ประกอบฉากอยู่หลายครั้ง และด้วยขนาดที่ใหญ่โตของมัน ก็บอกกล่าวเป็นนัยๆ ถึง “ตัวละครอาบัติ” ที่เหนือการคาดเดา และเป็นปริศนาที่พาให้สืบเสาะเกาะตาม

บางความรู้สึก ผมเห็นว่า “อาปัติ” มีเซ็นส์ของความเป็นหนังสืบสวนอยู่สูงมาก ซึ่งที่จริงหนังสยองขวัญส่วนใหญ่ก็มักจะใช้แนวทางนี้ในการเล่นกับคนดู หนังค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ให้เราทีละตัวสองตัว ขณะที่รักษาเงื่อนงำและบรรยากาศแห่งความน่ากังขาสงสัยไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และเมื่อถึงจุดที่จะคลี่คลายปมปริศนาเรื่องราวและตัวตนแท้จริงของตัวละคร เราจะย้อนกลับไปมองทางที่ผ่านมาได้สนุกมากขึ้น และอาจจะเกิดคำพูดอย่างเช่น อ๋อ รู้แล้วว่าทำไมคุณป้าคนนั้นถึงพูดว่า หลวงพี่รูปนั้นเทศน์ดีมากแต่เสียดายท่านเทศน์น้อยไปหน่อย...ผมชื่นชมในการผูกปมและคลายปมของเรื่อง และมองมันในฐานะของหนังสยองขวัญที่เขย่าขวัญได้ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ผมมีความเชื่อว่า ประชาชนส่วนมากที่อยากดูหนังเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ามันเป็นหนังผี (ที่เกี่ยวพันกับพระ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่เป็นเรื่องของผีเปรตที่มีส่วนผสมของความน่าสงสารเห็นใจอยู่มาก สำหรับคนที่ศึกษา อาจจะรู้ว่าจริงๆ แล้ว เปรตไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด (แม้ถ้าเจอจริงๆ ก็คงขนหัวลุกไปเหมือนกัน) เพราะตัวตนของเปรต แม้ร่างจะสูงใหญ่ แต่ปากเล็กเท่ารูเข็ม ต้องร่อนเร่คอยรอขอส่วนบุญ ดูแล้วไม่น่ามีพิษสงอะไรมาก เมื่อเทียบกับพวกผีปอบผีตายโหงหรือผีอื่นๆ แต่ถึงอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่าผี ก็ยังฟังดูหลอนอยู่ดี

ไม่ว่าจะอย่างไร ความหลอนแท้จริงของหนังนั้น นอกจากเรื่องผี คือการสร้างบรรยากาศหลอกหลอนความรู้สึก เรื่องจังหวะที่ทำให้ตกใจบวกกับซาวด์ดนตรีที่บิลด์ความกลัว อาจจะมีอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือชั้นเชิงในการทำให้บรรยากาศแวดล้อมน่าขนลุก ไม่ว่าจะเป็นความมืด ป่าทึบ กุฏิเก่าร้าง หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของตัวละครบางตัว ก็ชวนหลอกหลอนได้พอๆ กัน รวมความแล้ว “อาปัติ” จึงเป็นหนังที่เข้าถึงซึ่งศาสตร์แห่งการสร้างความกลัวได้อย่างคนที่เข้าอกเข้าใจ

นักแสดงทุกคน ทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ก็เล่นได้ดีหมด บทแต่ละบทมีความสำคัญ และเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันและกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอานิสงส์ส่งมาจากบทภาพยนตร์อีกที อาปัติเป็นหนังที่เขียนบทได้ดี โดยเฉพาะเรื่องเหตุผลที่มาของตัวละครต่างๆ โดยมีคำว่า “บาป” “กรรม” หรือ “อาบัติ” เป็นสิ่งหนุนนำให้มาพบ

กล่าวอย่างถึงที่สุด ถึงแม้จะมีถ้อยคำเชิงเทศนาที่ขึ้นตั้งแต่ตอนต้นและตอนจบ (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการแก้ไขเพื่อให้ชัดเจน) ผมก็ยังเห็นว่า นี่คือหนังที่ส่งเสริมคำสอนของบวรพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึก จนกระทั่งรู้สึกว่าในฐานะของหนังที่ดีงามเรื่องหนึ่ง อาปัติควรได้รับการเชิดชูหรือมอบรางวัลด้านการส่งเสริมพุทธศาสนา

การมอง “อาปัติ” ในสถานะของหนังที่จะสร้างความเสื่อมเสีย จึงเป็นการมองที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด เพราะเนื้อหาของหนังนั้นมุ่งเน้นให้คนได้เข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ ตลอดจนการปฏิบัติตนให้ถูกต้องทำนองคลองธรรม เป็นการเน้นย้ำเรื่องบาปเรื่องกรรม ไม่ใช่เฉพาะบุคคลที่ถือครองเพศบรรพชิต หากแต่ยังสะกิดสะเกาไปถึงญาติโยมที่อยู่นอกวัดวาอารามด้วย

คือสุดท้าย เราอาจจินตนาการไม่ออกก็จริง ว่าบาปมันเป็นตัวอย่างไร หรือกระทั่งว่าบุญมันเป็นตัวอย่างไร เหมือนบทสนทนาในหนังบางฉาก ขณะที่หนังกลับทำให้เห็นเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ต่อให้ไม่มีตัวตนที่จับต้องสัมผัสได้ แต่ “อาบัติ” นั้นสามารถสิงสถิตติดอยู่ไม่รู้หาย ตามหลอกหลอนคุณไป อย่างไร้จุดสิ้นสุด...








ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น