คอลัมน์ : คนดูหนังไทย
__________________________________
“ถ้าคุณรู้ว่า คุณจะต้องตายเวลาเท่านั้นเท่านี้ หรือวันนั้นวันนี้ คุณจะทำอย่างไรกับชีวิตที่เหลืออยู่?”
โจทย์ของ “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” น่าจะออกสตาร์ทด้วยคำถามทำนองนี้ นี่เป็นหนังยอดเยี่ยมรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงในปีที่ออกฉาย พ.ศ.๒๕๓๖ ขณะที่ดารานำ “ดู๋-สัญญา คุณากร” ก็ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ขอขอบคุณผู้อ่านบางท่านที่ท้วงติงมาอย่างเป็นมิตรในท้ายบทความชิ้นก่อน “ท้าฟ้าลิขิต” ว่าลูกบ้าเที่ยวล่าสุดคือหนังที่ดู๋แสดงเรื่องแรก) นอกจากนี้ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุดยังเป็นผลงานหนังใหญ่เรื่องแรกของ “อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์” นักทำหนังที่เติบโตมาจาการทำโฆษณาและรายการโทรทัศน์ และเขาคนนี้ก็คือผู้กำกับ “โหมโรง” อันลือลั่นในกาลต่อมา
“ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” เปรียบเสมือนขุมพลังที่ถูกถ่ายเทออกมาจากคนทำงานซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการมาอย่างชำนาญช่ำชอง พูดได้ว่าเป็นงาน “โชว์ของ” โชว์พลังอย่างเต็มที่ เราอาจเห็นหนังดีๆ ในอดีตบางเรื่องที่เมื่อกาลผ่านไป หยิบเอามาดูอีกครั้งแล้วรู้สึกว่าเชย (Old Fashioned) แต่สำหรับเรื่องนี้ อีกกี่ปีหยิบมาดู ก็ไม่มีคำว่าเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่หนังพูด นั้นถือว่าเป็นสากลและอยู่เหนือกาลเวลา คนบางคนจำยอมกับสภาพชีวิตและปล่อยให้คืนวันผ่านไปอย่างเลื่อนลอยเพ้อฝัน สังคมบางสังคมจำทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายคล้ายยอมจำนน ฉากแรกของเรื่องซึ่งเปิดมาที่ภาพชายหนุ่มผู้เป็นราวกับพระเอกขี่ม้าขาวซึ่งเข้าไปช่วยหญิงสาวที่กำลังถูกรุมทำร้าย คือภาพแทนแห่งความคิดที่ผูกติดอยู่กับฝันลมๆ แล้งๆ คล้ายกับว่าชีวิตจะมีค่าได้ก็เพียงในความฝันและการ “มโน”...
แม้จะพบเจอสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ปริปากโต้แย้ง นั่นคือชีวิตพนักงานบริษัทเครื่องกระป๋อง ที่ชื่อ “นพ” (สัญญา คุณากร) ตำแหน่งของเขาคือเจ้าหน้าที่ “ดีไซน์” บรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) แต่ดูเหมือนว่า กับชีวิตของเขาเองนั้น เขากลับไม่สามารถแม้แต่จะ “ออกแบบ” อะไรได้ ชีวิตพนักงานออฟฟิศของนพผ่านไปวันแล้ววันเล่าอย่างไม่มีเป้าหมายอะไรที่ปลายทาง แม้มีรักก็มิอาจจะเอ่ยปาก มันคือความลำบากของคนที่ไม่รู้สึกมั่นคง ไม่ว่าจะมองในแง่ของวัยที่ล่วงผ่าน ขณะที่การงานก็รู้สึกไม่มั่นคง สิ่งเหล่านี้ส่งผลไม่มากก็น้อยต่อความมั่นอกมั่นใจของนพในแทบทุกด้านของชีวิต และเรื่องราวของนพก็คงจะดำเนินไปแบบเก้ๆ กังๆ ต่อไปอย่างนั้น ถ้าเพียงแต่เขาไม่ได้ลงนรก...ลงนรกจริงๆ นะครับ เพราะหลังจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มบีบคั้นกดดัน บวกกับโรคบางโรค ทำให้เจ้าหน้าที่จากนรกมานำตัวของนพไป แม้สุดท้ายจะพบว่าเกิดความผิดพลาดบางอย่าง แต่ชีวิตที่เหลืออยู่นับจากนี้ของหนุ่มพนักงานดีไซน์บรรจุภัณฑ์ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...
...“ผมไม่ค่อยคุ้นกับไอ้ตึกสูงนี่เท่าไหร่หรอกครับ
เดินเข้าไปทีไร รู้สึกตัวเองค่อยๆ เล็กลงไปทุกที”
คือคำพูดแนะนำตัวเองครั้งแรกของนพ ยิ่งเมื่อบวกรวมกับเนื้อหาบางท่อนของบทเพลง “แล้วมันก็คุ้นกันไปเอง” (ขับร้องโดย วัชระ ปานเอี่ยม) ซึ่งร้องว่า “เมืองมันใหญ่โต แต่คนไม่ใหญ่ตาม” ยิ่งเหมือนช่วยกันสื่อความให้เห็นเด่นชัดถึงความจริงที่สวนทางระหว่าง “ความเป็นเมือง” กับ “ความเป็นคน” เรื่องของนพก็คงเหมือนกับเรื่องของคนตัวเล็กๆ อีกหลายชีวิตซึ่งถูกกลืนหายไปในความเป็นเมือง ถ้าเข้าใจไม่ผิด ปี พ.ศ.ที่หนังเรื่องนี้ใช้เป็นฉากหลัง น่าจะเป็นช่วงที่เมืองหลวงกำลังพัฒนามาจนถึงขีดสุดระดับหนึ่งแล้ว ความเป็นเมืองที่ใหญ่โตโอฬาร ไม่เพียงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน หากแต่ยังกระทบต่อชีวิตด้านในคือความรู้สึกนึกคิดอย่างปฏิเสธได้ยาก สิ่งที่หนังเล่าผ่านหนังเรื่องนี้ก็คือว่า ขณะที่เมืองเติบใหญ่รุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ในฝั่งของคนหรือปัจเจกกลับค่อยๆ หดเล็กลง ถ้าไม่คิดว่าเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในเครื่องยนต์กลไกอันใหญ่หลวงที่ชื่อว่าเมือง ก็มีสถานะไม่ต่างอะไรกับฝุ่นผงในเมืองใหญ่ และฝุ่นผงนั้นก็ปลิวไปปลิวมาอย่างไร้จุดหมาย การจะเข้าใจประเด็นของหนังในจุดนี้ อาจจำเป็นต้องยกเนื้อหาในบทเพลง “แล้วมันก็คุ้นกันไปเอง” มาอีกสักท่อนหนึ่ง
...“คนมีแต่ฝัน แต่ฝันหายไปทุกวัน”
คนตัวเล็กๆ เช่นนพก็คงไม่ต่างจากบทเพลงดังกล่าวนั้น มีความฝันแต่ฝันก็เลือนรางจางลงทุกที และที่สำคัญ เราเหมือนจะพบว่านพนั้นก็ไม่ได้แสดงความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่อันใดให้เราเห็น นอกเสียจากความฝันอันสวยงามเรื่องความรักกับพนักงานสาวสวยออฟฟิศเดียวกัน สังคมเมืองที่มีความเหงาเป็นเจ้าเรือน ย่อมหมายรักมาบรรเทา แต่นพก็ได้เฝ้าแต่ฝันเพราะไม่กล้าและไม่มั่นใจ ตัวตนและความฝันของนพคงจะหดเล็กลงไปเรื่อยๆ เช่นนั้นก่อนจะถึงจุดที่หลงลืมไปเลยว่าความฝันของตนเองคืออะไร ถ้าเพียงแต่เขาไม่ได้เผชิญหน้ากับความตาย
เมื่อความตายมายืนอยู่ตรงหน้า “ลูกบ้า” จึงเกิดขึ้น...
อย่างไรก็ดี เรื่องคุณค่าชีวิตและการทำวันเวลาให้มีความหมาย ก่อนลับหายไปจากโลก เป็นเรื่องที่เชื่อว่าทุกคนคงจะตระหนักกันอยู่บ้าง (แม้ว่าบ่อยครั้งจะตระหนักแบบเบาๆ ถ้าไม่ถูก “ตบกระโหลก” ให้ “ตระหนก” แบบเดียวกับนพ) ผมคิดว่า มุมมองอย่างหนึ่งซึ่งหนังใส่เข้ามาในสถานการณ์ชีวิตของนพนั้น เป็นแก่นสารสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูทรงพลังยิ่งขึ้น
โรงงานกระป๋องที่นพทำงานอยู่ แท้จริงแล้วก็คือภาพแทนแห่งความเป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งเต็มไปด้วย “ระบบ” และ “ระเบียบ” นอกเหนือจากเครื่องแต่งกายของตัวละครจะเต็มสูทแบบมนุษย์เงินเดือน (เช่น ผู้ชายต้องสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว ผูกเนคไท กางเกงสแล็ก รองเท้าหนัง ฯ) บทพูดในหนังยังมีอยู่หลายครั้งที่อ้างถึงคำว่า “ระบบ” อย่างเช่นตอนหนึ่ง หลังจากที่นพถูกหัวหน้าต่อว่าอยู่หลายครั้ง “อริน” หญิงสาวที่นพหมายปอง ก็พูดในเชิงตั้งคำถามว่าทำไมระบบมันเป็นแบบนั้น คนที่ตัวเล็กด้วยสภาพความเป็นเมืองอยู่แล้ว เมื่อถูกกดทับด้วยระบบทบไปอีกชั้นหนึ่ง มันยิ่งกลายเป็นความกดดันบีบคั้นมากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และสิ่งซึ่งทำได้ก็มีเพียงไหลไปตามกระแส ชาชินจนกระทั่งเมินเฉย ไม่ว่ากับเรื่องอะไรทั้งนั้น แม้แต่กับเรื่องที่เห็นอยู่ตำตาว่าชั่วร้าย
“ยอมได้ก็ยอม คนเลวมันมีเยอะ คนดีมันมีน้อย หลบได้ก็หลบ รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” คำพูดของ “โย” เพื่อนรักของนพคำนี้ สะท้อนถึงวิถีที่เป็นไปในสังคมได้อย่างหมดเปลือก คำดังกล่าวอาจโยงใยไปถึงลักษณะอันดีของคนไทยที่มีนิสัยประนีประนอม ยอมได้ก็ยอม ไม่อยากมีเรื่องมีราวอะไร พูดง่ายๆ ว่าไม่อยากจะยุ่งยากมากความ โดยเฉพาะเรื่องเลวร้าย เราไม่อยากจะตอแย เพราะลำพังชีวิตส่วนตัวก็ย่ำแย่พออยู่แล้ว อย่างนั้นก็ดี ไม่เหน็บก็เหมือนเหน็บ และหนังสะท้อนออกมาแบบเจ็บๆ ว่า เราในสังคมส่วนมาก บางทีก็มักจะนิ่งเฉยเมื่อเห็นเรื่องเลวร้าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล “ธุระไม่ใช่” หรือเพราะอะไรก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็อย่างที่รู้ คือพวกที่ร้ายก็ยังร้ายได้อยู่ร่ำไปและลอยนวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ถืออำนาจหรืออิทธิพลไว้ในมือ ตัวอย่างที่ชัดของอำนาจอาจจะหมายถึงหัวหน้างานคนนั้น ขณะที่อิทธิพลก็คือเจ้าของคาเฟ่ที่พร้อมจะคั่วนักร้องในร้านแม้เธอไม่เต็มใจ
รายละเอียดเล็กๆ อย่างหนึ่งซึ่งผมเห็นว่ายอดเยี่ยมมากก็คือ ตอนที่นพเข้าไปนั่งดื่มในคาเฟ่ เสื้อเชิ้ตแขนยาวที่เคยเรียบร้อยตามระบบ ถูกพับขึ้นจนยับย่น ขณะที่เนคไทที่คอก็ถูกคลายออกอย่างไร้ระเบียบ มันคือสัญญาณแห่งการขบถเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้น นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ในฉากต่อมา หัวหน้างานของนพก็มาเที่ยวร้านนั้นด้วย และเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างนพกับหัวหน้า และด้วย “ลูกบ้า” นพก็ตอกกลับหัวหน้างานจนหน้าหงาย
ต่อเมื่อพับแขนเสื้อขึ้นแล้ว โลกก็เหมือนจะเปลี่ยนไป ความหงอยเหงาเศร้าซึมก็พลันเปลี่ยนเป็นคึกคัก เหมือนได้ชีวิตและจิตวิญญาณกลับคืนมา...
“อย่ายินยอมเฝ้ามองให้วันคืนผ่าน
อย่าซมซาน อย่าน้อยใจ
อย่าพ่ายแพ้และผันแปรเปลี่ยนไป
อย่าหวั่นไหวในศรัทธา...”
เนื้อหาในบทเพลงประกอบอีกเพลงหนึ่ง “วันพรุ่งนี้” ขับร้องโดยอังคณา ทิมดี ซึ่งรับบทเป็นนักร้องคาเฟ่...ความหมายของวันเวลา และศรัทธาในการมีชีวิต ถูกลำเลียงผ่านเสียงขับร้องของอังคณาและซาบซ่านผ่านเข้าไปในความรู้สึกของนพที่นั่งฟังอยู่ ที่ผ่านมา เขาก็เหมือนเราคนดูผู้ชมอีกจำนวนไม่น้อยซึ่งปล่อยให้คืนวันผ่านไปอย่างเลื่อนลอย...
ในด้านหนึ่ง เราอาจพูดได้ว่า “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” เป็นหนังที่เข้าใจสังคมในหลายแง่มุมก็คงไม่ผิดนัก สังคมไทยกับเรื่องไสยศาสตร์ของขลังดูจะตีคู่กันมาอย่างแยกไม่ออก ขณะเดียวกัน เรื่องดวงเรื่องหมอดู ก็เป็นราวกับคู่ชีวิตของสังคมไทยมานาน ในหนังเรื่องนี้ มีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งตั้งแต่ต้นเรื่อง ที่ชายชรามาเคาะห้องของนพหลังจากที่เขาฝันร้ายแล้วสะดุ้งตื่นโวยวายลั่นตึก ชายชราแนะนำนพว่าฝันแบบนี้ไม่ค่อยจะดี ต้องไปหาหมอดูหรือไม่ก็พกอะไรที่มันขลังๆ ไว้กับตัว ทั้งหมดนี้มันก็สะท้อนความเชื่อเรื่องดวงชะตาราศี อีกทั้งต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้คุ้มภัย “เรื่องผี” และ “เรื่องพระ” จึงเปรียบเสมือนคู่อีกคู่หนึ่งซึ่งดำรงอยู่ในสังคมและมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเรื่อยมา
เขียนมาถึงตรงนี้ ก็นึกไปถึงบทสนทนาสั้นๆ ในฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งของหนังที่เสริมเข้ามา ไม่เพียงสะท้อนถึงวิถีพุทธที่การเข้าวัดทำบุญในช่วงว้าวุ่นจิต เป็นเรื่องปกติที่มักจะทำกัน หากแต่ในอีกด้าน คำกล่าวของหลวงตา ยังนำพาความคิดในเรื่องคุณค่าชีวิตและวันเวลา ตามที่หนังต้องการจะสื่อ...
“เจริญสุขเถอะโยม เอาของมาถวายซะมากเลย นี่วันเกิดใช่ไหมล่ะนี่” หลวงพ่อเอ่ยถาม น้ำเสียงอารมณ์ดี
“อ๋อ ไม่ใช่หรอกครับ ผมอยากจะทำบุญเฉยๆ ครับ” นพตอบ หลังก้มกราบ
“อ่อ เอ้อ..ดี หายากจริงๆ นะ พวกหนุ่มสาวสมัยนี้ รู้จักเข้าวัดเข้าวา ทำบุญทำทานซะบ้างน่ะดีแล้ว เพราะบุญกุศลมันต้องทำสะสมไว้ มันต้องใช้เวลาทีละเล็กละน้อย มันจึงจะเจริญด้วยบุญ ไม่ใช่ว่าแบบส่วนใหญ่ พอแก่ๆ หรือใกล้จะตายแล้วค่อยมาทำ ไอ้บุญวูบวาบแบบนั้นน่ะมันจะไปมีประโยชน์อะไร ยังไงก็ตายอยู่ดี หรือจะต้องตกนรก มันก็ต้องตกอยู่ดี”
ก็คงเหมือนที่หลวงพ่อได้พูด “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” คุณจะรอถึงจุดไหน
หรือต้องรอจนกระทั่งมัจจุราชมาเคาะประตูบอก ว่าวันนี้พรุ่งนี้ คุณจะตาย!
ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |