xs
xsm
sm
md
lg

ส่องทีวีดิจิตอล ใครจะเป็นรายต่อไป ? หลังการบอกลาของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากประกาศิต และท่าทีที่แข็งกร้าวของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” ประธานกรรมการบริษัท ไทยทีวี จำกัด ต่อกรณีที่จะละเว้นการจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ด้วยเหตุที่มองว่า ต้นตอที่ทำให้ช่องดิจิตอลในเครือข่ายของไทยทีวีทั้ง 2 ช่อง คือช่องไทยทีวี และ LOGA ล้มคว่ำไม่เป็นท่า จนมียอดเงินขาดทุนเบื้องต้นไปแล้วกว่า 300 ล้านบาทนั้น สืบเนื่องมาจากการดำเนินงานที่บกพร่องของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเหตุใหญ่ นั่นจึงเป็นที่มาของนโยบาย “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” อันสร้างความฮือฮาไปทั่ววงการ ภาพและข่าวของเจ๊ติ๋ม จึงปรากฏอยู่ในแทบจะทุกสื่อ ทั้งสิ่งพิมพ์ , ทีวี และออนไลน์

หลายคนอาจพุ่งประเด็นไปว่า พฤติกรรมของเจ๊ติ๋มในครานี้ เสมือนขี้แพ้ชวนตี คือไม่มองความผิดพลาดของตัวเอง แต่กลับฟาดงวงฟาดงาไปที่ความบกพร่องของผู้อื่นเป็นสาเหตุใหญ่ หากในอีกมุมหนึ่ง ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของช่องทีวีดิจิตอล สนามธุรกิจแห่งใหม่ที่ถูกสร้างภาพ และปรุงแต่งไว้สวยหรู ดึงดูดให้บรรดานักธุรกิจ นักลงทุน กระโจนเข้ามา ด้วยหวังจะเก็บกินผลประโยชน์อันมากมายมหาศาล ทว่า...เพียงขวบปีที่ผ่านมา ปราสาททรายหลังใหญ่ก็พังครืนลงมา เมื่อมีทั้งคลื่น ทั้งลมพายุ ถาโถมเข้ามาปะทะ
ความมุ่งหวังที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนัมเบอร์วันอย่างที่เจ๊ติ๋มเคยให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีอหังการนั้น พังพินาศไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งตรงนี้เธอก็น้อมรับว่าเป็นเพราะคาดการณ์ผิด ตัวเลขขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท ทำให้ท่าทีที่มั่นอกมั่นใจว่าจะเป็นผู้กำชัยในสนามศึกของสงครามทีวีดิจิตอล เปลี่ยนเป็นยอมรับกับความพ่ายแพ้ แต่ไม่ยอมรับว่าเป็นเพราะเนื้อหาสาระในช่องไม่ดึงดูดมากพอ ทำให้คนดูมองข้าม ส่งผลต่อเนื่องให้เรตติ้งไม่กระเตื้อง และโฆษณาไม่เข้า กระทั่งจำยอมต้องประกาศถอนตัวออกจากสงครามนี้เป็นรายแรก (ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่างก็วิ่งเต้นหาเงินมาชำระค่าสัมปทานแบบเฉียดฉิว) แต่นโยบาย “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ที่เจ๊ติ๋มพร่ำพูดนั้น ดูเหมือนจะสวนทางกับกติกาที่ทาง กสทช. กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ว่า
...การเข้าประมูลช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง คือการเป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระดับประเทศ (National Television) เป็นฟรีทีวีที่ได้รับสิทธิพิเศษ สามารถออกอากาศได้บนโครงข่ายทุกชนิด โดยผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีทุกชนิดในประเทศไทย มีหน้าที่ออกอากาศทีวีดิจิตอล 24 ช่องตามกฎมัสแคร์รี่ (Must Carry) ขณะเดียวกัน 24 ช่องดิจิตอลทั้งหมด ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบภายใต้ใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด...
การไม่จ่ายเงินค่างวดประมูลตามระยะเวลาที่กำหนดนั้น ยังผลให้เจ๊ติ๋มต้องชำระค่าปรับปีละ 7.5% หรือเฉลี่ยวันละ 60,000 บาท แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับ การที่จู่ๆ จะมาถอนสมอออกกลางคัน โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้โดยพลการ ทั้งนี้เพราะตามกติกานั้น ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีสิทธิที่จะยกเลิกการประกอบกิจการ แต่ต้องเสนอแผนเยียวยาผู้บริโภคมาให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณาภายใน 7 วัน เพื่อให้บอร์ด กสท.อนุมัติ เมื่อเห็นชอบแล้วจึงเลิกได้ กระนั้นก็ตาม ก็ยังคงต้องจ่ายค่าประมูลไปจนครบ แบ่งจ่ายได้ 6 งวด

นั่นหมายถึงต่อให้ถอนสมอออกมา ก็ยังต้องจ่ายค่าสัมปานจนครบอยู่ดี เปรียบเสมือนคนที่เซ็นสัญญาเช่าอาคารเพื่อประกอบการค้า ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ แม้ที่สุดแล้ว ถึงจะสู้ต่อไม่ไหว ขอออกก่อนสัญญา ก็ต้องโดนยึดเงินมัดจำ ฉันใดก็ฉันนั้น การที่เจ๊ติ๋มประกาศบอกเลิกศาลาทีวีดิจิตอล เพื่อหันหัวเรือกลับไปสู่ตลาดเก่า คือช่องทีวีดาวเทียมนั้น จึงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะหากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายหนึ่งรายใด ยุติออกอากาศกลางคัน ปล่อยช่อง “จอดำ” ก่อนที่บอร์ด กสท.จะอนุมัติ ถือว่ามีความผิด อาจจะถึงขั้นพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต ยังเป็นผลต่อเนื่องให้ขาดคุณสมบัติการประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียม (ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เคยถูกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการใดๆ) และซ้ำร้ายยังจะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นเวลา 3 ปีด้วย
เงื่อนไขดังกล่าว คือสิ่งที่ทางเจ๊ติ๋มต้องตระหนักให้จงดี !!!
ล่าสุดทาง กสทช. ก็ขีดเส้นตายกับเจ๊ติ๋ม ด้วยการลงนามในหนังสือแจ้งไปยัง บริษัท ไทยทีวี จำกัด เพื่อขอให้ดำเนินการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 พร้อมชำระเบี้ยปรับ 7.5% ต่อปี ภายในวันที่ 15 มิ.ย. ศกนี้ หากไม่ตอบกลับหนังสือทวงเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ภายใน 15 วันจะดำเนินการนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) ไปขอขึ้นเงินกับทางสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงเทพ) ที่รับรองให้ บริษัท ไทยทีวี จำกัด หลังจากนั้นก็จะดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อเรียกค่าดอกเบี้ยที่เลยกำหนดชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ธนาคารได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น

การล้มคว่ำของยักษ์ใหญ่อย่างเจ๊ติ๋ม ที่เคยมีสถานะเป็นเจ้าแม่สื่อสิ่งพิมพ์ผู้ยิ่งยง เป็นเจ้าของนิตยสารบันเทิงหัวใหญ่ที่ผู้คนในวงการบันเทิงเคารพ ยำเกรง และชื่นชมในบารมี อีกทั้งยังมีคุณูปการในการช่วยผลักดันนักแสดงให้แจ้งเกิดเป็นดาวประดับวงการมานักต่อนักตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการ “เขย่าขวัญ” ต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้งรายใหญ่ และรายย่อยไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างช่องเวิร์คพ้อยท์ทีวี ที่มีเรตติ้งอยู่ในอัน 1 ของบรรดาช่องดิจิตอล (ถ้านับรวมฟรีทีวี อยู่ในอันดับ 3 รองจากช่อง 7 และช่อง 3) ก็เริ่มมีการขยับปรับตัวกันเป็นการใหญ่ เมื่อรายการที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทอย่าง “ชิงร้อย ชิงล้าน” ซึ่งสร้างความบันเทิงมาตลอด 25 ปีเต็ม มีอันจะต้องกระเด็นหลุดผังจากช่อง 3 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งแน่นอนล่ะว่าจะถูกนำมาบรรจุลงในผังของเวิร์คพ้อยท์ทีวีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัญหาหนักอก ก็คืออัตราค่าโฆษณาของช่องทีวีดิจิตอล ยังห่างชั้นกับค่าโฆษณาในช่องฟรีทีวีครึ่งต่อครึ่ง (งบประมาณค่าโฆษณาเดิมที่ออกอากาศในช่อง 3 อยู่ที่ 300,000 บาทต่อนาที แต่หากย้ายไปออกอากาศที่ช่องเวิร์คพ้อยท์ จะลดเหลือ 150,000 บาทต่อนาที) นั่นหมายถึงว่าแม้รายการ “ชิงร้อย ชิงล้าน” จะมีที่ยืนอยู่ในผังของช่องเวิร์คพ้อยท์ทีวี แต่ฝ่ายโฆษณาก็จะต้องทำงานกันหนักหน่วง กว่าจะหาเม็ดเงินจากค่าโฆษณามา “ถม” ให้เต็มเท่าเดิม ในขณะที่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนการผลิต ที่จะต้องคงคุณภาพให้เทียบเท่ากับเสมือนเมื่อครั้งอยู่ช่อง 3
ขณะที่ช่อง 8 ของ อาร์เอส ซึ่งมีเรตติ้งอยู่ในอันดับ 4 ของช่องทีวีทั้งหมด ก็เตรียมขยับปรับกลยุทธ์เพื่อสู้ศึกในสมรภูมิทีวีดิจิตอลครั้งมโหฬาร โดยจะมีการเติมคอนเทนต์ใหม่ๆ ต่อเนื่องให้ครบทั้ง 100% ก่อนสิ้นปี 2559 โดยจะมีสัดส่วนของละครประมาณ 15% ซึ่งวางไว้ที่ประมาณ 3 เรื่องต่อสัปดาห์ แต่ละเรื่องใช้งบลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท สัดส่วนของรายการวาไรตี้ อยู่ที่ประมาณ 55% อีกประมาณ 25% เป็นรายการประเภทข่าว ส่วน 5% สุดท้าย จะเป็นรายการมวย แถมคุยฟุ้งว่า ตอนนี้หุ้นอาร์เอส กำลังหอมหวน มีบรรดาโบรกเกอร์หลายรายรุมจีบร่วมโรดโชว์ต่างประเทศ

ส่วนช่อง ONE ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง “บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ” มองจากภายนอกเหมือนจะอยู่สบาย แต่เมื่อสำรวจตรวจตราจากการจัดอันดับเรตติ้งแล้ว กลับร่วงมาอยู่อันดับที่ 7 พ่ายแพ้แม้กระทั่งมวยรองอย่างช่อง MONO 29 (อันดับ 6) รวมไปถึงช่อง 9 (อันดับ 7) ที่สำคัญเวลานี้ดูเหมือนจะมีคู่ต่อสู้รอบทิศ โดยเฉพาะภาคของละคร ที่จะต้องห้ำหั่นช่วงชิงเรตติ้งจากช่อง 3 และช่อง 7 รวมถึงช่อง 8 ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็เรียกว่าหืดขึ้นคอแล้ว ซ้ำยังจะต้องฟาดฟันกับศึกสายเลือดกับพี่น้องร่วมค่ายอย่าง GMM 25 ของ “เจ๊ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ที่ล่าสุดก็กระโจนลงมาสู้ศึกในสงครามละครด้วยอีกช่อง โดยมอบหมายให้ “เอส-วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย”เป็นทัพหน้า
ในสงครามละครท่ามกลางสมรภูมิของทีวีดิจิตอล ไม่ได้มีเพียงช่อง ONE , GMM25 และช่อง 8 ที่หวังจะเข้ามาช่วงชิงกับเจ้าตลาดเดิมอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ยังจะมี “ม้ามืด” ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจบันเทิง ที่สามารถลงมาช่วงชิงสัมปทานช่อง HD ซึ่งถือว่าเป็นดิจิตอลระดับพรีเมียมมากที่สุด อย่างกลุ่มปราสาททองโอสถ (PPTV.) ซึ่งนับเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ที่หลายคนจับตามอง โดยเฉพาะการจับงานละครชิ้นโบแดง อย่าง “ปริศนา เดอะ ซิรี่ส์” ที่ร้อยเรียงละครคลาสสิก 3 เรื่อง ปริศนา , เจ้าสาวของอานนท์ และรัตนาวดี โดยฝีมือของ ม.ร.ว. ศรีคำรุ้ง ยุคล หน่อเนื้อเชื้อไขของปรมาจารย์งานสร้างภาพยนตร์อย่าง ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” แต่ดูเหมือนหนทางการจะเข้ามาแทรกในตลาดละครของ PPTV. ก็อาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะขนาดมือเซียนอย่างช่อง ONE ที่มีทั้งดารา และบุคลากรครบครันอยู่ในมือยังอาการน่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ตามในสมรภูมิทีวีดิจิตอล ยังจะมีผู้ประกอบการที่เติบโตมาทางสายธุรกิจสิ่งพิมพ์อีกหลายราย ที่กระโจนลงมาสู้ศึก แต่การเป็น “ที่หนึ่ง” มาจากสายงานสิ่งพิมพ์ ก็ใช่จะการันตีได้ว่าจะก้าวมาเป็น “ที่หนึ่ง” ในสนามแข่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ นสพ. หัวสี อย่างไทยรัฐ ก็ไม่สามารถผลักดันไทยรัฐทีวีให้กระเตื้องมากไปกว่าการรั้งอยู่ในอันดับที่ 8 ของช่องทีวีทั้งหมด (แต่ถ้านับคู่แข่งเฉพาะในสายธุรกิจสิ่งพิมพ์เหมือนกัน ไทยรัฐทีวี ก็ยังอยู่ในอันดับที่ 1) แม้จะมีพันธมิตรผู้ผลิตรายการมากหน้าหลายตาภายใต้คอนเซ็ปท์ “คิดต่าง อย่างเข้าใจ” ขณะเดียวกันเดลินิวส์ เจ้าของสัมปทานช่อง NEW TV. ที่รั้งเรตติ้งในอันดับที่ 19 ก็เจอมรสุมลูกใหญ่ในการแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายอันสูงลิ่ว ล่าสุดจึงมีการปรับผังโครงสร้างของรายการทีวี หลังจากที่หวังใจว่าจะเบนเข็มมาสู่บุกเบิกรายการประเภทวาไรตี้ ก็กลับลำถอยไปเน้นรายการประเภทข่าว และสารคดีตามแนวถนัด เพื่อลดต้นทุนในการ “ว่าจ้าง” บริษัทนอกในการผลิตรายการ ยังผลให้หลายรายการในช่องนี้ มีอันต้องกระเด็นหลุดผัง ซึ่งหนึ่งในผู้ผลิตรายการที่ประสบชะตากรรมนี้ ก็คือ “เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย”
ช่องอมรินทร์ทีวี ในเครืออมรินทร์ ที่ถือเป็นเจ้าของนิตยสารผู้หญิงหัวใหญ่อย่าง “แพรว” รวมถึงนิตยสารเกี่ยวกับบ้านและการตกแต่งอย่าง “บ้านและสวน” ทว่าในสมรภูมิทีวีดิจิตอล ก็ไต่อันดับไปไม่ได้มากไปกว่าอันดับที่ 18 แต่อย่างน้อยก็ยังอยู่ในอันดับที่สูงกว่าช่องบันเทิงโดยตรงอย่าง GMM 25 (อันดับ 20) กระนั้นก็ยังอยู่ในสภาวะที่หายใจไม่ทั่วท้องอยู่ดี และอาจเป็นไปได้ว่าจะต้องดึงรายได้ในธุรกิจสิ่งพิมพ์นิตยสาร มาถมเพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจทีวีดิจิตอล
มาทางช่องเนชั่นทีวี ก็มีการปรับผังรายการครั้งใหญ่รอบ 15 ปี โดยการผนึกพันธมิตรผลิตรายการ เกมโชว์-สารคดี"เพื่อสร้างสีสันให้กับช่องมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการนำเสนอข่าวและสาระ และยังทุ่มทุนสร้างสตูดิโอแห่งใหม่ด้วยงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท โดยคาดการว่าจะทำให้ภาพรวมรายได้ของช่องเนชั่นทีวี สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ไม่วายยืนยันว่าแม้จะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ของเนชั่นยังอยู่ได้แบบสบายๆ
และในบรรดา 24 ช่องของทีวีดิจิตอล ก็มีหลายช่อง ที่อยู่แบบ “โลกลืม” คือแทบไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึง ใม่ว่าจะเป็นในแง่ของเรตติ้ง หรือค่าโฆษณา โดยเฉพาะช่องรายการประเภทข่าวและสาระ อย่าง Bright TV , Spring News , Voice TV. NOW 26 (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ) แต่กระนั้นทั้งหมดก็ยังมีเรตติ้งสูงกว่าช่อง LOGA ของเจ๊ติ๋มอยู่ดี

ความพ่ายแพ้ของเจ๊ติ๋ม และมีแนวโน้มว่าน่าจะตามมาอีกหลายช่อง อาจจะส่งผลให้ผู้ที่พลาดหวังในการประมูลสัมปทานในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอินทัช ที่ประกาศประมูลทั้งช่องเด็กและ SD แต่พลาดหมด จนทำให้แผนการสยายปีกจากธุรกิจโทรคมนาคมสู่ธุรกิจสื่อต้องหยุดชะงักไป , กลุ่มมหากิจศิริ ที่สร้างชื่อมาจากธุรกิจกาแฟยี่ห้อดัง หัวเราะทีหลังได้ดังกว่า เพราะชัยชนะจากการประมูล ไม่สามารถนำมาการันตีได้ว่าจะสามารถอยู่ยั้งยืนยงบนสมรภูมิแห่งนี้
บทเรียนครั้งนี้ เจ๊ติ๋มต้องแลกมาด้วยตัวเลขขาดทุน ที่สูงลิ่ว และศักดิ์ศรีที่ค้ำคอ
และใครจะเป็นรายต่อไป !!???
ที่มา นิตยสารASTV สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 292 6-12 มิถุนายน 2558













กำลังโหลดความคิดเห็น