xs
xsm
sm
md
lg

รักนอกอุดมคติ : สี่เส้า เรา 3-4 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เมื่อเอ่ยถึงความรัก ภาพความคิดแบบหนึ่งซึ่งมักจะแล่นเข้ามาในสมองของเราเป็นภาพแรกๆ มักจะหนีไม่พ้นภาพสวยๆ งามๆ ตามแบบฉบับนิยามที่เราคุ้นเคย และนี่ไม่ใช่เรื่องปกติ หากแต่มันผ่านกระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลามาโดยตลอด รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง ผ่านวาทกรรมความรักในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่คำเปรียบพื้นๆ อย่างความรักเหมือนดอกไม้ หรือความรักเสมือนแสงแห่งรุ่งอรุณที่อ่อนละมุนอุ่นละไมอะไรบ้าง ไล่เลยไปจนกระทั่งการตอกแผนผังทางความคิดลงไปในจิตใจของเราว่า ความรักนั้นคือการเสียสละ คือการให้ และคืออะไรต่อมิอะไรที่มุ่งเน้นความสวยงามของความรัก แน่นอนว่า ทั้งหมดนั้น ก่อรูปเกิดร่างจนกระทั่งรวมตัวกันเป็นความรักในแบบที่สังคมนิยามว่าเป็นรักในอุดมคติ (Ideal Type) ที่ถ้าใครทำได้ ก็มักจะได้รับการชื่นชมในฐานะยอดมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ คนที่ได้รับคำชม แม้ว่าจะต้องขื่นขมตรมตรอมเพียงใด แต่ด้วยความแยบคายของวาทกรรมความรักแบบนั้น ก็อาจจะช่วยคลี่คลายความชอกช้ำลงไปได้บ้าง คำพูดประเภทที่ว่า “ทำใจซะเถอะ ปล่อยให้เขาไป เขาไปได้ดิบได้ดีแล้ว” ก็เหมือนคำปลอบประโลมใจที่ช่วยโยกย้ายระดับจิตให้คิดไปในอีกฟาก คือความมีมุทิตาธรรมหรือความเสียสละของความรัก แต่ก็อย่างที่บอก นั่นคือรักในแบบอุดมคติ และคน อย่างไรเสียก็ยังเป็นคน บ่อยครั้งบ่อยหน เราจึงได้เห็นใครหลายคนยังคงเก็บกักเงื่อนปมแห่งความไม่สมหวังในความรักไว้ ไม่ปล่อยวางจนกระทั่งลงโลงไปเลยก็น่าจะมี ขณะที่เพลงรักปลอบใจคนอกหักนับหมื่นนับแสนเพลง ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เสื่อมสภาพมาจากความรักแบบอุดมคติ บรรเลงเยียวยาหัวใจคนอกหักที่ได้แต่มอง “เธอได้กับเขา” หรือ “เขาได้กับเธอ” มีทั้งอกตรมแบบเปิดเผย และปกปิดแบบหน้าชื่นอกตรม

แน่ชัดว่า ขณะที่แบบแผนความรักในอุดมคติทำหน้าที่ของมันไปในการเก็บกวาดหัวใจที่แตกกระจัดกระจายของผู้คนให้เข้ารูปเข้ารอย (ซึ่งอาจจะใช้เวลาเร็วช้าแตกต่างกันไป) ในอีกหนึ่งด้าน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันได้กีดกันเอาความรักแบบมุ่งหวังตั้งใจอยากได้ออกไปจากสารบบ ไม่ยอมรับการมีอยู่ของมัน เพราะเชื่อว่าความรักที่ดื้อรั้นเอาแต่ได้ ไม่ควรมีที่ทางและผิดวิสัยของความรัก ทั้งที่ตามความเป็นจริง เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเสมอๆ กล้าปฏิเสธหรือเปล่าว่า ตั้งแต่เกิดมา คุณไม่เคยพบเห็นคนประเภทที่ “ก็กูจะเอา จะเอา จะเอาให้ได้” ไม่ว่าผิดหรือถูกตามกรอบของสังคมก็ตาม (ขณะที่พวก “กูจะเลิก จะเลิก” ก็จะเลิกให้ได้เช่นกัน) ภาษิตไทยที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็ต้องเอาด้วยคาถา” ดูจะเฉลยปริศนาข้อนี้ได้ดีที่สุดว่าโลกของเรามีความรักประเภทดื้อรั้นดันทุรังแบบนี้มาแล้วแต่นานเนิ่น แต่เราก็ไม่ยอมรับการมีอยู่ของมันเท่าไหร่หรอก และมักจะผลักไสไล่ส่งให้มันไปอยู่อีกฝั่งฟาก ซึ่งได้แก่ “ความใคร่” ซะอีกแน่ะ

และประเด็นความรักแบบ “จะเอา จะเอา” แบบนี้แหละที่ทำให้ผมกลับมามองหนัง “สี่เส้า” ในอีกมุมหนึ่ง จากที่รู้สึกไม่พึงใจสักเท่าไหร่ (เพราะอะไร จะบอกตอนท้ายๆ) กลับกลายเป็นหนังที่มีคุณค่าพอจะใช้เวลาในการความทำเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่องความรัก

หน้าฉากที่จับต้องได้ง่ายสุด “สี่เส้า” มีความรักโรแมนติกเป็นจุดขาย แต่เบื้องลึกลงไป นี่คือหนังที่บอกเล่าแง่มุมความรักได้หลายเส้า ขณะเดียวกันก็ตีแผ่รูปแบบประเพณีบางอย่างที่เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่มีอิทธิพลไปจนถึงเรื่องหัวจิตหัวใจหรือความรักของผู้คนด้วย และตัวละครในเรื่อง แท้จริงแล้วก็เป็นดั่งภาพแทนของความรักรูปแบบต่างๆ ที่ย้อนแย้งตบตีกันตลอดเวลา

“สี่เส้า” เล่าผ่านตัวละครหนุ่มสาวสี่คนที่เป็นเพื่อนรักและแอบรักแอบชอบกันมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเติบโตเรียนจบมีงานทำ แต่ละคนก็คิดถึงการครองคู่ “กมล” หนุ่มหล่อและรวยและล่ำ กำลังขอแต่งงานกับครูสาวคนสวยอย่าง “อาฉิง” ขณะที่ “เสี่ยวผิง” ก็กำลังจะเข้าหอลงโลงกับ “อาเว่ย” แต่เส้นทางรักกลับดูเหมือนจะไม่ง่ายอย่างที่คาด และการ “จับคู่” ครั้งนี้ อาจเป็นความผิดพลาดแบบผิดฝาผิดตัวกันอย่างรุนแรง และจากภาพโปสเตอร์หนังที่จับใบหน้าครึ่งหนึ่งของตัวละครตัวหนึ่งมารวมกับอีกใบหน้าอีกครึ่งหนึ่งของตัวละครอีกตัว ก็พอจะบอกได้เลาๆ ถึงความเป็นไปได้ของตัวเรื่อง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าใบหน้าและดวงตาเหล่านั้นล้วนแลดูเศร้า แถมในเบ้าตามีน้ำคลอ ยิ่งนำทางเราให้คิดไปว่า รักครั้งนี้คงมีเรื่องน่าโศกมากกว่าเรื่องน่าสุข

“กมล” ชายหนุ่มผู้หล่อเหลาจากเมืองหลวง เขาอาจเคยวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ตามลำธารและขุนเขาเมื่อครั้งเยาว์วัย แต่เมื่อเติบใหญ่ เขาคือลูกชายของผู้มีอันจะกิน และเขากำลังตั้งเป้าหมายว่าจะขออาฉิงแต่งงาน หนังให้ภาพของกมลเหมือนหนุ่มคนเมืองที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรในชนบท เสพติดสื่อโซเชียล(เฟซบุ๊ก)จนต้องอัปเสตตัสทุกที่และทุกเวลาขอเพียงว่ามีสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่เขาก็เหมือนหนุ่มหล่อในนวนิยายพาฝันที่มั่งคั่งทางฐานะ แต่ทว่าค่อนข้างยากแค้นทางความคิด และต้องรอให้คนอื่นมาสะกิดเพื่อจะรู้สึกรู้สา เขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าหญิงสาวที่ตนรัก ชอบอะไร กมลควรถูกจัดวางไว้ในฐานะของผู้พรั่งพร้อมที่พร้อมจะรับสิ่งดีๆ ที่คนดีๆ คนอื่นจัดสรรให้ คนรวยที่แสนดีและออกจะไปทางกลวงเปล่าแบบเขา มีให้เห็นไม่น้อยในนวนิยายพาฝันดาษดื่น แต่จริงๆ เขาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรหรอก ออกจะนิสัยดีและน่าคบหาเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ทัศนะเชิงความรักของกมลก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก นอกไปจากรักแล้วก็คือรัก ไม่ว่าตนเองจะเข้าใจคนที่ตนรักมากน้อยแค่ไหนก็ตามที

“อาฉิง” หญิงสาวผู้มีพื้นฐานทางความคิดที่ดีมาก เธอเหมือนเจ้าหญิงแสนดีในนิยาย การมีอาชีพครูก็ดูเหมือนจะส่งเสริมความดีความงามของเธออยู่ในที นั่นยังไม่นับรวมถึงเหตุผลของการที่เธอเป็นครูอยู่ที่นี่-ที่บ้านนอก-ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเป็นคนแสนดีของเธอมากยิ่งขึ้นไปอีก อาฉิงนั้นคือ “แม่พระ” อย่างมิอาจปฏิเสธ เธอไม่ยอมให้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาบั่นทอนความดีแม้แต่น้อย เหมือนที่เธอบอกกับเพื่อนหนุ่มว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอและเขาดีที่สุดก็คือความเป็นเพื่อน เธอไม่มีวันให้ความดีแปดเปื้อนด่างพร้อย เธอบริสุทธิ์เหมือนธรรมชาติที่โอบรอบรอบทิศและยังไม่ถูกรุกรานด้วย

เธอแสดงความเป็นคนก้าวหน้าด้วยการเหน็บแนมพฤติกรรมของกมลที่ติดเฟซบุ๊กงอมแงม แต่เมื่อถึงคราวที่กมลประสบอุบัติเหตุ เธอก็ไม่แสดงท่าทีจะผละหนีหรือลังเลแม้แต่เล็กน้อย เธอประกาศว่าจะดูแลกมลไปจนชั่วชีวิต ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่ว่ามันจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม อาฉิงผู้บูชาความรักอันบริสุทธ์ดีงาม จึงถือเป็นตัวแทนแห่งความรักในแบบที่เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นรักในอุดมคติ (Ideal Type) ความรักแบบนี้แหละที่โลกยกย่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกของนวนิยายชวนฝัน นี่ถ้ามีตัวอิจฉามาคอยบ่อนเซาะความสุขของเธอสักคน จะนับได้ว่าครบเซ็ตสูตรสำเร็จของนิยายประโลมโลกย์ได้เลย แต่กระนั้นก็อย่าเพิ่งวางใจไป เพราะ “มารหัวใจ” จริงๆ ของเรื่องราวนั้นแฝงมาในรูปแบบอื่นที่แนบเนียนกว่าตัวอิจฉาวี้ดว้ายกะตู้วู้ที่ส่วนใหญ่มักจะถูกกระทำให้ดูโง่เง่าไร้ทั้งปัญญาและความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง

อย่างไรก็ดี ในขณะที่อาฉิงดูเป็นผู้หญิงที่กล้าจะยืนยันในความคิดความอ่านของตัวเอง อีกฟากหนึ่ง “เสี่ยวผิง” กลับให้ภาพตรงกันข้าม เธอเกิดและเติบโตมาในครอบครัวของคนจีน และต้องเดินตามกรอบที่ประเพณีครอบไว้ แม้แต่เรื่องของหัวใจหรือความรัก เธอก็ไม่สามารถปฏิเสธ ถ้าโลกนี้มีเรื่องให้ทำสองเรื่องคือเรื่องหน้าที่ตามประเพณีกับเรื่องความรัก “เสี่ยวผิง” ต้องเลือกอย่างแรกเป็นแน่แท้ และถ้าเฟมินิสต์พากันคิดมากกับตัวละครตัวนี้แล้วล่ะก็ คงจะอกแตกตายไปได้เหมือนกัน เพราะสถานการณ์ของเธอนั้นเหมือนจะถูกกดทับความเป็นคนไปจนกระทั่งกดขี่ความเป็นหญิงอย่างย่อยยับ เสี่ยวผิงอาจมี “ความรู้สึกส่วนตัว” กับสถานการณ์บางด้านของชีวิต แต่เธอไม่สามารถจะทำตามนั้นได้ เพราะชีวิตถูกกำหนดมาแล้วให้ไร้อิสระแห่งการเลือก จะมีความรักก็ต้องผ่านครอบครัว แล้วพอมีผัว ผัวก็ดันเป็นพวกถูกขืนใจให้มาแต่งด้วย สาวสวยอย่างเสี่ยวผิงจึงมีแต่ต้องก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ “ทายาทผู้ว่านอนสอนง่าย” และ “ภรรยาที่สามีไม่ปลื้ม” ของเธอต่อไปในทำนอง “อะไรก็ยอม” ตัวละครของเสี่ยวผิงเป็นตัวละครแบบล้าสมัยที่เราพบเห็นได้ไม่ยากในขนบของนวนิยายพาฝันที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง รู้สึกได้แต่ไม่สามารถแสดงออก จะป่วยกล่าวไปไยถึงการฝืนต้านอย่างออกหน้าออกตา และนั่นก็ดูเหมือนว่าจะตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับตัวละครอีกตัวหนึ่งซึ่งถ้าจะพูดกันตรงๆ มันถูกออกแบบมาชนิดตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับตัวละครสองสามคนที่ว่ามา

ในบรรดา “พวกเรา” ที่มีอยู่ “สี่เส้า” หรือเรา 3-4 คน “อาเว่ย” ดูเป็นตัวละครที่ “ไม่เข้าพวก” อย่างที่สุด เพราะอย่างน้อยๆ สามคนที่เหลือนั้น ต่อให้แตกต่างกันอย่างไร พวกเขาก็ยังยืนหยัดอยู่ภายในกรอบของคนดีๆ ชอกช้ำระกำทรวงอย่างเสี่ยวผิงอย่างน้อยสังคมก็ยอมรับ ไม่ค่อยมีมวลสารอะไรนอกไปจากความหล่อเหลาและร่ำรวยอย่างกมล ก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้าย ยังมินับอาฉิงที่เป็นตัวแทนแห่งความดีชนิดที่เรียกได้ว่าเกือบสมบูรณ์แบบ (และถ้าตาไม่ฝาด เราจะเห็นความหวั่นไหวเล็กๆ ในใจของอาฉิงด้วยตอนที่เธอกอดกับหนุ่มคนนั้นแล้วร้องไห้ แต่ไม่มีวันเสียล่ะที่แม่พระอย่างเธอจะปล่อยให้อะไรๆ มันเกินเลย) เรียกได้ว่า ทุกๆ คนเจริญรอยตามวิถีอันดีอันชอบภายใต้กรอบที่สังคมยอมรับ ต่างกันกับอาเว่ยซึ่งดูเหมือนจะเป็นเพียงคนเดียวในเรื่องที่ “ใช้หัวใจนำทาง” โดยมีหญิงสาวที่เขาหลงรักมาตั้งแต่เด็กเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ

แม้จะเกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนจีน แต่อาเว่ยก็แสดงให้เราเห็นตลอดถึงอาการแข็งขืนต่อขนบประเพณี ครั้งหนึ่งนั้นพ่อพูดกับเขาในเรื่องแต่งงานทำนองว่าอยู่ๆ กันไปเถอะ เดี๋ยวก็รักกันเองแหละ แต่อาเว่ยไม่ได้เชื่อเช่นนั้น เขาเยาะหยันความคิดแบบนั้นเสียด้วยซ้ำ และในระดับที่ลึกลงไป อาเว่ยไม่ใช่คนที่ยินยอมประนีประนอมต่อความรักตามแบบฉบับอุดมคติที่สังคมสรรเสริญ เขาเพียงแค่ใช้ความรักเป็นอุดมคติในการดำเนินชีวิต เราอาจมองอาเว่ยด้วยสายตาแบบใกล้ๆ กับการมองตัวอิจฉา แต่ก็เป็นตัวอิจฉาที่มาเพื่อตีโต้และบอกกล่าวนิยามความรักในแบบฉบับของเขาเอง มันเป็นความตลกอันเจ็บปวดตรงที่ว่า เขาอาจจะเอออ่อห่อหมกไปกับแบบฉบับแห่งรักในอุดมคติอย่างเช่น “รักคือการให้” แต่ทว่า “การให้” ในแบบของเขา ก็เป็นการให้ที่มีเบื้องหลังทางความคิดอันสาแก่ใจอย่างยิ่ง (ซึ่งผมไม่ขอเล่าเพราะจะเป็นการสปอยล์ตอนสำคัญของหนัง แต่ยอมรับว่าฉากที่หนังเฉลยถึงเหตุผลแห่งการให้ของอาเว่ยนี้ มีพลังแห่งความน่าสะพรึงพอที่จะเป็นหนังเขย่าขวัญได้เลยด้วยซ้ำ)

กล่าวโดยภาพรวม ผมไม่ค่อยชอบบรรยากาศในหนังสักเท่าไหร่ รู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ “ถอดแบบ” หรือ “แปรรูป” มาจากนวนิยายโรแมนติกพาฝันหรือละครน้ำเน่าทางทีวี (ที่ส่วนมากก็ดัดแปลงมาจากนวนิยายพาฝันพวกนั้นอีกที) ผู้กำกับหรือคนเขียนบทชอบอ่านนิยายและดูละครเหล่านั้นหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่การออกแบบตัวละครหลักแต่ละตัว ล้วนแล้วแต่พูดได้ว่าเป็น “แบบ” ที่เราเคยได้เห็นมาแล้วแทบทั้งสิ้นในนวนิยายและละครแนวดังกล่าว ขณะที่ท่วงทำนองการดำเนินเรื่องก็ดูฟูมฟายบีบบิลท์ หลายๆ จุดก็มุ่งเน้นเค้นอารมณ์จนละเลยความสมจริง และบางทีก็ทำเอาเราคนดูรู้สึกเคอะเขินที่จะรู้สึกร่วมไปด้วย ขอยกตัวอย่างเช่น ฉากที่อาเว่ยยืนมองคนรักของเขาซึ่งนอนหลับอยู่บนเตียงพยาบาลแล้วครวญเพลงออกมาปิ่มว่าจะขาดใจตายลงตรงนั้น คือเพลงที่มีชื่อว่า You Represent of My Heart หรือ “เยวี่ยเลี่ยงไต้ เปียวหว่อเตอซิน” เพลงที่โด่งดังเพลงหนึ่งของเติ้งลี่จวิน นั้นก็ไพเราะอยู่หรอกครับและเป็นเพลงที่ผมชอบมากเพลงหนึ่ง แต่การไปยืนทำซึ้งแล้วครวญออกมาแบบนั้นมันทำให้หนังดูเน่าสนิท และยังมีอีกหลายฉากที่ดูมากเกินไป เช่นเดียวกับนักแสดงที่ร่วมแรงร่วมใจกันแสดงแบบล้นๆ แทบทั้งเรื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมขอยืนยันว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัวของผมเอง เพราะไม่แน่ว่า ถ้าคุณชอบอ่านนิยายที่เขียนขึ้นเพื่อทำละครทีวีหรือชอบดูละครทีวี อาจจะชอบหนังเรื่องนี้ก็เป็นได้ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม้จะรู้สึกรำคาญกับองค์ประกอบต่างๆ ในหนัง แต่เมื่อมองไปอีกฝั่งหนึ่ง กลับรู้สึกว่าหนังน้ำเน่าเรื่องนี้มีสิ่งที่หนังเรื่องอื่นๆ ไม่ค่อยจะมี ดังนั้นแล้ว แม้น้ำจะเน่า ก็เน่าแบบพอมองเห็นเงาจันทร์อยู่บ้าง

ในทางหนึ่ง “สี่เส้า” จำลองเอาอุดมคติและขนบของความรักตามแบบที่สังคมยอมรับนับถือมาสื่อให้เราเห็น ขณะเดียวกันก็ยังมีการเว้นพื้นที่ไว้ให้ความรักที่ไม่งดงามเหมือนภาพวาดในอุดมคติ

อุดมคติของความรักที่สวยงามในความคิดของหนัง ถูกสื่อผ่านทั้งวาทกรรมและการกระทำของตัวละครในเรื่อง คำพูดอย่าง “ความรักมองไม่เห็นด้วยตา แต่ต้องใช้ใจมอง” หรือแม้แต่การประกาศก้องเกี่ยวกับปณิธานแห่งรักของอาฉิงที่บอกว่าจะขออยู่ดูแลชายที่หมายหมั้นไปจนตราบสิ้นลมหายใจ ทั้งหมดนี้คืออุดมคติแห่งความรักในแบบที่สังคมนิยมนิยายพาฝันต่างคาดหวังและอยากให้เป็น กระนั้นก็ตาม ข้อดีของหนังคือการไม่ทำให้ความรักดูเลี่ยนจนเกินไป ด้วยการถ่ายทอดความรักในอีกมุมหนึ่งซึ่งถ้าจะพูด ก็คงพูดได้ว่าเป็น “รักนอกอุดมคติ” ไม่ใช่ “รักในอุดมคติ” เพราะมันไม่สวยงาม ไม่ดีงาม

ความรักแบบแรกหรือรักในอุดมคติ ถึงอย่างไรก็สวยงาม ถึงอย่างไรก็ดีงาม เพราะมันอุดมไปด้วยความเสียสละ คือเสียสละแม้กระทั่งความรู้สึกแท้จริงของตัวเอง ส่วนแบบหลัง คนดีๆ อาจจะต้องการหยิบยกคัมภีร์ขึ้นมาเทศนา เพราะมองว่ามันคือการแสดงออกซึ่งความเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง แต่ก็นั่นแหละ นี่คือปุถุชนคนธรรมดาที่สุดแล้ว

หลังจากอึนๆ กับการฟูมฟายย้ายย้วยของหนังมาตลอดทั้งเรื่อง ก็มาสะอกสะใจเอากับตอนจบของหนังนี่เอง


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก








กำลังโหลดความคิดเห็น