xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิเกียรติ - เจริญ เอี่ยมพึ่งพร” แถลงข่าวโครงการ “ปั้นน้ำเป็นเงิน” ปี2 ปั้น “คนเขียนบท” เข้าสู่วงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“มูลนิธิเกียรติ - เจริญ เอี่ยมพึ่งพร” แถลงข่าวโครงการ “ปั้นน้ำเป็นเงิน” ปี2 
 
ปั้น “คนเขียนบท” เข้าสู่วงการ

 
 
ด้วยความขาดแคลน “ผู้เขียนบท” ในวงการบันเทิง ทายาทตระกูลเอี่ยมพึ่งพร และเพื่อนพ้องในวงการภาพยนตร์ ร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิเกียรติ-เจริญ เอี่ยมพึ่งพร” เพื่อระลึกถึง 2 ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทย ผู้สร้างสรรค์ผลงานว่า 260 เรื่องและสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยมากว่า 40 ปี มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำประโยชน์ให้คนในวงการภาพยนตร์
 
 
ปีที่แล้ว ประเดิมโครงการแรก “ปั้นน้ำเป็นเงิน” ปั้นคนเขียนบทภาพยนตร์ขึ้นมา มีผู้สนใจกว่า 500 คัดเหลือ 30 คน ในปีนี้ได้จัดให้มีโครงการนี้ต่อ เพราะการทำหนังจะดีได้นั้น ต้องมีบทภาพยนตร์ที่ดี อุตสาหกรรมนี้กำลังขาดแคลนคนเขียนบทอย่างหนักจึงต้องสร้าง และให้โอกาสกับคนเหล่านั้นขึ้นมา 
 
 
 
“วิสูตร พูลวรลักษณ์” รองประธานมูลนิธิ เกียรติ - เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
 
 
“ปีที่แล้วได้ผลตอบรับดี เลยมีความรู้สึกว่าโครงการดีๆ แบบนี้ ไม่อยากให้หยุดไป ในปีที่ 2 เราเราจึงดึงจุดเด่นเก็บไว้ ส่วนที่ยังไม่ดีก็ปรับปรุง ให้การเรียนครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
 
 
ในปีนี้เราจะเน้นไปที่ภาพยนตร์กระแสหลัก ผู้ที่จะมาสอนครั้งนี้นอกจาก โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ คนเขียนบทแล้ว เราอยากจะเพิ่มส่วนอื่นๆ เข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำการตลาดด้านภาพยนตร์ หรือว่าสายหนัง ก็อยากจะเชิญเข้ามาให้ข้อมูลให้ความรู้ผู้ที่เรียนด้วย
 
 
คำว่าขาดแคลน หมายถึง ตั้งแต่ต้นน้ำเลย ปีหนึ่งๆ มีนักศึกษาวิชาภาพยนตร์จบใหม่เยอะมาก แล้ววิชาภาพยนตร์ก็ถูกสอนในหลายๆ มหาวิทยาลัยมาก แต่ว่าจบมาแล้วยังไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ได้จริงๆ เอาหนังสั้นตัวเองมาเป็นใบเบิกทางแล้วยังต้องมาหาประสบการณ์เพิ่มเติมต่อด้วยการเรียนรู้ ถ้ามีโปรดิวเซอร์มอบหมายงานให้ทำ ก็ต้องศึกษาฝึกปรือซึ่งไม่รู้ว่าฝึกแล้วจะออกมาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ได้จริงหรือเปล่า
 
 
โครงการนี้เปรียบเสมือนทางลัด ที่จะให้กับผู้ที่เรียนได้เอาความรู้ที่อัดแน่นมาในวิทยากรแต่ละท่าน มีเท่าไรสอนให้หมดเลย สิ่งที่เราหวังมากคือ หวังว่าจะมีนักเรียนที่มาเรียนสักรุ่นหนึ่งจบออกไปแล้วสามารถประกอบอาชีพได้จริง อันนี้จะทำให้เราดีใจมาก ถือว่าตรงตามวัตถุประสงค์ที่อยากจะได้จริงๆ
 
 
คุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามา ไม่มีเกณฑ์เลยฮะ อาชีพไหนก็ได้ วัยไหนก็ได้ จะเป็นพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยว จะเป็นแม่บ้าน ผมมองว่าอาชีพเขียนบท เป็นอาชีพที่นั่งทำงานอยู่กับบ้านได้ เป็นอาชีพที่ใช้จินตนาการล้วนๆ ขอแค่มีโครงสร้างที่ดี คุณสามารถเรียนจบแล้วไปประกอบอาชีพนี้ที่บ้านได้”

 
 
 
“เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร” กรรมการมูลนิธิ เกียรติ - เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
 
 
“จากความสำเร็จของปีแรก ทำให้เราทำโครงการปี 2 หวังว่าจะมีผู้สมัครมาเยอะขึ้น มีผู้สนใจที่อยากจะทำงานอาชีพเขียนบทในวงการ จะเป็นวงการภาพยนตร์ วงการละคร วงการทีวีดิจิตอล ก็สามารถมาเรียนได้ สิ่งที่เราสอนน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกหน่วยงานในวงการ
 
 
ปีนี้จะเป็นอินเตอร์แอ็คทีฟนิดหนึ่ง อะไรที่ดีปีที่แล้วเก็บไว้ อะไรที่ควรปรับปรุงก็พัฒนาไป ปีนี้เราเอาจังหวะของหนังแต่ละเรื่องมาด้วย อย่างเช่น หนังผี เป็นจังหวะยังไง หนังรัก มีจังหวะยังไง วิทยากรก็เชิญหลากหลายทุกค่าย”

 
 
 
“ดำรงค์ ทองสม” ผู้ตรวจราชการ กระทรวงวัฒนธรรม
 
 
“มันเป็นยุทธศาสตร์ เป็นนโยบาย ในการพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทย ทั้งการพัฒนาบุคลากร เรามองเห็นในวงการว่าเรายังขาด “นักเขียนบท” ที่มีคุณภาพ ของเราก็มี 40-50เรื่องยังไม่ได้สร้าง อยู่ในชั้นพัฒนา มาเจอโครงการของมูลนิธิฯ ดูแล้วก็ตรงกัน ก็ร่วมมือกันทำ เป็นความภาคภูมิใจของกระทรวงฯ ที่ได้มีส่วนสนับสนุนงานสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
 
 
อนาคตจะมีความสำคัญอย่างมากในประเทศไทย สร้างรายได้ สร้างภาพลักษณ์ เผยแพร่วัฒนธรรมไปในหลายๆ เรื่อง เรายินดีอย่างยิ่ง ถ้าโครงการนี้ยังอยู่เราก็สนับสนุนไปเรื่อยๆ
 
 
หนังเรื่องหนึ่งทำให้คนมีเงินในหลายศาสตร์ หลายๆ ศิลปะ หลายๆ วิชาที่มาทำ บทภาพยนตร์จะเป็นสิ่งซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศชาติเปลี่ยน มันมีตัวอย่าง ซึ่งสร้างกันมาหลายปี อย่างเกาหลี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเขาลงทุนมหาศาล ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยมากมาย นี่เป็นจุดเริ่มต้น เราหวังว่าภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกันพัฒนาสู่สิ่งที่เราคาดหวัง”

 
 
 
“พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์” ผู้กำกับ- โปรดิวเซอร์ ตัวแทนวิทยากร
 
 
“ปีที่แล้วไม่ว่างไม่มีโอกาสเป็นวิทยากร แต่ปีนี้มีโอกาส สิ่งที่จะเห็นแตกต่างกันชัดเจนคือหลักสูตรกับผู้สอน จะเน้นเป็นการสอนเพื่อเล่าเรื่องให้เขียนภาพยนตร์ในกระแสหลัก เพราะว่าปีที่แล้ววิทยากรคละกันระหว่างเมนสตรีมและหนังอาร์ต ในปีนี้จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการวางโครงสร้าง การเขียนบทแบบกระแสหลัก
 
 
จะมีแพทเทิร์น มีแนวทางในการสร้างรูปแบบตั้งแต่การสร้างตัวละคร การสร้างคอนฟลิกซ์ การนำเรื่อง ทำยังไงให้มันเล่าแล้วเป็นเรื่องเล่าที่ดี เพื่อจะตอบโจทย์ว่าเมื่อคุณออกมาแล้ว คุณจะต้องสามารถเขียนบทเพื่อทำเงินให้ได้ มันถึงจะทำให้อุตสาหกรรมมันเติบโต
 
 
สิ่งที่ดีของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การได้พบกับคนเขียนบทและผู้กำกับเท่านั้น แต่เป็นหลักสูตรที่คุณจะได้เจอผู้อำนวยการสร้างของสตูดิโอใหญ่ทั้งประเทศ ได้รับแนวทางของผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติหนังจริงๆ ว่าเขาอยากได้อะไร แล้วมาเรียนว่าแนวทางจะเป็นยังไง ซึ่งปกติยากมากที่จะได้เจอคนเหล่านั้น ไม่มีทางที่จะเอาเงินมาจ้างคนได้ขนาดนี้ ที่ทำได้เพราะมูลนิธิจริงๆ
 
 
สิ่งที่จะได้รับ ปีนี้เน้นเรื่องโครงสร้าง เขาจะรู้ว่าการเขียนบทเพื่อให้อยู่ในโครงสร้างที่ทำให้คนดูแล้วสนุก ดูแล้วชอบ ดูแล้วบันเทิงคืออะไร วิธีที่ทำให้คนดูชอบ มันจะมีรูปแบบ สิ่งที่จะใส่เข้าไปคือความชำนาญของผู้มาสอน กับรสนิยมของผู้มาสอน”

 
 
 
“ธงชัย ธนารุจนันท์” ผู้อำนวยการโครงการ “ปั้นน้ำเป็นเงิน”
 
 
“จากที่ไม่รู้ว่าการเขียนบทต้องมีโครงสร้าง จากคนที่มาสมัครบอกว่าชอบการเขียนบท แต่คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวนี้ก็คุยกับเขาได้แล้วครับ มีโครงสร้างยังไง มันต้องมี ต้น กลาง จบ ยังไง ก็ได้ความรู้จากโครงการนี้
 
 
คุณสมบัติของผู้ที่จะมาสมัคร เปิดกว้างมากครับ ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดเพศ ประสบการณ์ ส่งเรื่องมาได้เลย ความยาว 1 หน้ากระดาษ ในปีนี้มีให้เลือกใน 4 หัวข้อ รัก, ตลก, ผี, แอ็คชั่น ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.kiat-chareon.com แล้วก็ส่งเรื่องพร้อมใบสมัครมาที่อีเมล เริ่มส่งได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 19 เมษายนนี้”

 
 
 
ผู้ใดมีความฝัน อยากเป็น “นักเขียนบท” โอกาสมาถึงท่านแล้ว เชิญส่งผลงาน สมัครได้เลย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
(เรื่องและภาพ กนก โชคะ รายงาน)
วิสูตร พูลวรลักษณ์ รองประธานมูลนิธิฯ
เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร กรรมการมูลนิธิฯ
ดำรงค์ ทองสม กระทรวงวัฒนธรรม
“พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์” ผู้กำกับ- โปรดิวเซอร์ ตัวแทนวิทยากร
“ธงชัย ธนารุจนันท์” ผู้อำนวยการโครงการ “ปั้นน้ำเป็นเงิน”







กำลังโหลดความคิดเห็น