xs
xsm
sm
md
lg

หนังเล็กๆ แต่อุดมการณ์ยิ่งใหญ่ : อมีน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



“ในวันที่เราแก่เฒ่า หากมีหลานมาถามว่า
คุณปู่ งานอะไรที่คุณปู่ภูมิใจที่สุดในชีวิต
งานอะไรที่ถ้าคุณปู่ตายไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นหลานหรือโหลน
ก็ยังเอาไปเล่าให้เพื่อนฟังแล้วภูมิใจไปด้วย”

ข้อความข้างต้น คือถ้อยคำของ “ฮามีซี อัคคี-รัฐ” ที่ให้สัมภาษณ์ไว้แก่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ เขาคือผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อมีน” (Ameen) ที่แม้จะเป็นงานการกำกับครั้งแรก แต่เชื่อว่ามันน่าจะเป็นหนึ่งในการงานแห่งชีวิตที่จะทำให้เขาสามารถมั่นอกมั่นใจได้ระดับหนึ่งแล้วล่ะว่าถ้าต้องเจอกับคำถามข้างต้น เขาจะตอบลูกหลานของเขาว่าอย่างไร

ในแง่ของกระบวนการสร้าง “อมีน” ควรนับเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานทุกคน เพราะระยะเวลาสามสี่ปีกับการปลุกปั้นหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความยากอยู่เพียงแค่การระดมทุน หานักแสดง และอะไรอีกจิปาถะ หากแต่การมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนา ก็ถูกมองด้วยสายตาปนคำถามมาแล้วแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ดี ถึงนาทีนี้ สำหรับคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ไปแล้ว ย่อมหมดสิ้นสงสัยและไม่คาใจแล้วกับเจตนารมณ์ของทีมสร้างหนังเรื่องนี้

แต่เบื้องต้นที่ว่ามานั้น นับเป็นปัจจัยภายในคือแรงปรารถนาส่วนบุคคลที่จะยืนยันถึงคุณค่าแห่งตนกับการได้เกิดมาเป็นคนบนโลกและฝากสิ่งดีงามไว้กับกาลเวลา ทว่าในอีกหนึ่งด้าน การเกิดขึ้นมาของหนังเรื่อง “อมีน” ยังมีปัจจัยภายนอกที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งจะละเลยไม่เอ่ยถึงเป็นไม่ได้ หลายท่านคงจำกันได้ใช่ไหมครับว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีหนังเรื่องหนึ่งซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก นั่นก็คือ Innocence of Muslims ที่ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกลุกฮือด้วยความไม่พอใจในเนื้อหาของหนังที่อิสลามมิกชนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าบิดเบือนความเป็นจริงและ “ทำให้ท่านนบีมุฮัมหมัดเป็นดั่งตัวตลก” นำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงจากพี่น้องมุสลิมในหลายพื้นที่ และตามความจริง แม้หนังเรื่องดังกล่าวจะถูกระงับการเผยแพร่ แต่ตัวอย่างหนัง 13 นาทีที่ผู้สร้างปล่อยลงยูทูปไปแล้ว (ก่อนจะถูกแบนในภายหลัง) ก็เป็นความปวดร้าวสำหรับชาวมุสลิมที่ยากจะลบลืม ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าก็เพียงเพื่อจะบอกครับว่า เจตนารมณ์หนึ่งของหนังอมีนนั้นก็เพื่อต้องการจะตีโต้ Innocence of Muslims แต่เป็นการตีโต้ที่นุ่มนวลตามวิถีแห่งอิสลามด้วยการนำความจริงมาเปิดเผยให้เห็น แทนการตอบโต้ด้วยอารมณ์ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงไม่รู้จบ

ความพยายามดังกล่าวนั้นแสดงผ่านออกมาตั้งแต่ชื่อหนังอย่าง “อมีน” (Ameen) ซึ่งได้รับการชี้แจงในหนังว่าเป็นหนึ่งในชื่อเรียกของท่านนบีมุฮัมหมัด โดยรากศัพท์ของคำนี้หมายถึงผู้ซื่อสัตย์ มั่นคง และเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ใครก็ตามที่ได้รับการเรียกขานด้วยชื่อนี้จะต้องพูดแต่เพียงความจริง และเมื่อหนังเรื่องนี้ถูกเรียกขานด้วยชื่อนี้ จึงเท่ากับเป็นการทำสัญญาทั้งกับตัวเองและคนดูผู้ชมว่า สิ่งที่หนังจะพูดต่อไปนี้ จะไม่มีคำโกหกหลอกลวงแต่ประการใด หากแต่เป็นความจริงตามหลักศาสนา ดังนั้น ตลอดระยะเวลาแห่งการรับชม เราจะได้รู้ได้เห็น “ข้อมูล” หลากหลายด้านเกี่ยวกับมุสลิมหรือชาวอิสลามที่หนังตั้งใจบอกเล่าเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ไล่ตั้งแต่วิถีปฏิบัติขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันอย่างการละหมาด ไปจนถึงสิ่งที่คนภายนอกมองเข้าไปอย่างมีคำถาม เช่น การมีภรรยาได้สี่คน (ซึ่งหนังตอบได้ชัดเจน) ทั้งนี้ รวมถึงแนวทางปฏิบัติตนต่อสถานการณ์ต่างๆ โดยมีถ้อยคำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมหมัดเป็นเหมือนแสงสว่างนำทางที่หนังหยิบยกมากล่าวถึงในหลายๆ ฉาก

พูดมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะกำลังคิดว่า นี่คงเป็นหนังศาสนาซีเรียสและเต็มไปด้วยคำเทศนา ตรงกันข้ามครับ หนังนั้นมีเรื่องมีราว และตัวละครจะกล่าวถึงคำสั่งสอนของท่านนบีก็แต่เฉพาะที่จำเป็นต่อสถานการณ์นั้นๆ เท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง การที่ตัวละครหลักตัวหนึ่งของเรื่อง เป็นอิหม่าม (ผู้นำทางศาสนาในชุมชนมุสลิม) จึงเป็นการเลี่ยงได้ยากที่บุคคลสำคัญทางศาสนาจะไม่เอ่ยวาจาอันเป็นการชี้แนะแนวทางตามหลักคำสอน อีกทั้งความตั้งใจของหนังยังมุ่งเน้นในการเป็นภาพยนตร์ “เทิดเกียรติศาสนทูตมุฮัมหมัด” และพาคนดูกลับไปสู่รากเหง้าแห่ง “คำสั่งสอนที่จริงแท้” มันจึงเป็นการมีเหตุมีผลมากพอต่อการเอื้อนเอ่ยถ้อยคำเชิงเทศนาเหล่านั้น กระนั้นก็ตาม ในความเป็นหนัง “อมีน” ยังคงรักษาบาลานซ์ไว้ได้ดี ระหว่างการนำเสนอความเป็นจริงกับเรื่องราวที่ควรมีความรื่นรมย์ในการรับชม หนังมีหลากรสหลายอารมณ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งอารมณ์ขันเหนือความคาดหมาย ทั้งหมดประกอบกันให้เป็นความเพลิดเพลินเจริญใจในระยะเวลาความยาว 90 นาที

เรื่องราวของหนังเริ่มต้นด้วยตัวละครของ “เร แม็คโดนัลด์” ที่เป็นเสมือนเสาหลักเสาหนึ่งของโครงเรื่อง เขาคือชายหนุ่มที่เข้าไปสู่ชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งด้วยภารกิจบางอย่าง แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความทรงจำระยะสั้นๆ เขาได้รับการช่วยเหลือให้พักอาศัยอยู่ในบ้านของอิหม่ามท่านหนึ่งซึ่งดูแลเขาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขาค่อยๆ เก็บกวาดความทรงจำกลับคืนมาเพื่อคลี่ปริศนาว่าเขาเป็นใครมาจากไหน มันกลับนำไปสู่เรื่องราวที่ยิ่งคลี่คลาย ยิ่งดูเหมือนจะยุ่งยากวุ่นวายมากขึ้นทุกที ชุมชนมุสลิมแห่งนี้ที่เพิ่งได้ผู้นำคนใหม่เมื่อไม่นานมานี้ กำลังต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อความสูญเสียอีกครั้งหนึ่ง

เล่าแบบไม่ต้องอมพะนำอำซ่อน โครงสร้างของหนังอมีนนั้นถูกออกแบบมาผ่านตัวละครอย่างน้อยสองสามกลุ่ม นอกจากเร แม็คโดนัลด์ แล้ว ก็มีกลุ่มหนึ่งเป็นชาวมุสลิมผู้อยู่ในพื้นที่ อีกกลุ่มเป็นพวกนายทุนจากข้างนอกเข้าไปในพื้นที่ ทำธุรกิจการค้าอวัยวะมนุษย์ โดยมีชาวโรฮิงญาเป็นเหยื่อในการสร้างเงิน (ผมไม่แน่ใจว่าโลเกชั่นในหนังเป็นพื้นที่รอยต่อเขตแดนตรงช่วงไหนแต่คิดว่าคงเป็นจุดที่สามารถลำเลียงเคลื่อนย้ายของชาวโรฮิงญาได้) หนังใช้โมเดลในการผูกเรื่องแบบธรรมะต้องเผชิญกับอธรรม ตั้งแต่ต้นเรื่อง เราจะได้เห็นการปะทะระหว่างสองฝ่ายอย่างชัดแจ้ง ผ่านความตายของอิหม่ามคนเก่าซึ่งถูกสังหารอย่างไร้ปราณี แน่นอนว่า สิ่งนี้คงไม่ต้องพูดอะไรมากไปกว่าว่า มันเป็นความขัดแย้งที่เสมือนดำรงอยู่มาโดยตลอด แม้จะเปลี่ยนอิหม่ามคนใหม่ ความขัดแย้งนั้นก็ยังคงดำรงอยู่ ขณะที่อีกฟากหนึ่ง คือฝ่ายทางการหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็หาทางจัดการกับพวกผู้ร้าย อิหม่ามที่เป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำชุมชนซึ่งคอยปกป้องคุ้มกันสมาชิกในชุมชนรวมถึงสอดส่องความไม่ถูกต้องต่างๆ นานา นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากนายทุน(ในหนัง)จะมองอิหม่ามเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ที่จำต้องจัดการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เส้นทางสองสาย – ธรรมะ กับ อธรรม – จึงทอดผ่านมาตัดกัน ณ จุดจุดหนึ่ง ที่ซึ่งมีเลือดเนื้อและความตายเป็นเดิมพัน

ในเนื้อเรื่องแบบง่ายๆ สิ่งที่ “อมีน” บอกเล่าออกมา อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันคือเรื่องราวความขัดแย้งที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินได้ฟังกันอยู่ตลอดมา ผมพยายามทำความเข้าใจเหตุผลที่หนังไม่สืบสาวราวลึกมากนักในส่วนของผู้ร้าย เพราะว่ากันตาม “ความเป็นจริง” สิ่งที่เชื่อว่าทุกคนก็คงสรุปได้ไม่แจ่มชัดเช่นเดียวกัน ก็คือเรื่องของผู้ร้าย เหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ไม่สามารถจับมือใครดม และเอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าเบื้องหลังเบื้องลึกจริงๆ นั้นคือใคร

อย่างไรก็ตาม...ย้อนกลับไปที่ตัวเรื่อง ผมพบว่า การที่หนังจงใจให้ตัวละครอย่างเร แม็คโดนัลด์ เกิดอาการความจำเสื่อมตั้งแต่เริ่มเรื่อง ก่อนจะเข้าไปสู่ชุมชนมุสลิม สิ่งนี้แฝงนัยยะอย่างแยบยลและมันก็เหมาะสมกับเจตนารมณ์ของผู้กำกับและทีมสร้างหนังในแง่ที่ว่าอยากจะให้หนังเรื่องนี้เป็นการสร้างความเข้าใจในมุสลิมอย่างถูกต้อง นั่นคือเสียงที่ส่งถึง “คนที่อยู่ข้างนอก” หรือคนที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ที่ผ่านๆ มา เราๆ ท่านๆ หลายคนก็ล้วนมองมุสลิมด้วยสายตาของคนที่อยู่ข้างนอกและอาจจะมีภาพทางความคิดบางอย่างเกี่ยวกับอิสลามอยู่ในหัวมาก่อน การปูให้ตัวละครของเรความจำเสื่อม ก็ไม่ต่างอะไรกับทำใจให้ว่างจากภาพทางความคิดที่มีอยู่ก่อน เพื่อสัมผัสกับความเป็นจริงที่แตกต่างจริงๆ เข้าไปอยู่ เข้าไปเรียนรู้ เพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ ในช่วงแรกๆ เราจึงได้เห็นตัวละครของเร แม็คโดนัลด์ (ซึ่งไม่ระบุชัดว่าเขานับถือศาสนาอะไร หรือกระทั่งอาจไม่มีศาสนา) เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับวิถีแห่งชุมชนมุสลิม ก่อนจะได้รับการอธิบายทั้งจากอิหม่าม และลูกชายของอิหม่ามซึ่งหนังจัดวางไว้ให้เป็นตัวละครที่จะประกบเร แม็คโดนัลด์ ไปตลอดทั้งเรื่อง

“อิมรอน” ลูกชายของอิหม่าม ว่าตามจริง ก็เป็นตัวละครที่ส่งเสียงถึงเนื้อหาในทิศทางใกล้ๆ กันกับเร เขาเป็นเด็กหนุ่มมุสลิมที่ประสบอุบัติเหตุเช่นเดียวกับเร (แต่ต่างเวลา ต่างสถานการณ์) จนทำให้สูญเสียการมองเห็น เราไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้ เขาดำรงวิถีอย่างไร เรารู้แต่ว่าเขาเคยอยู่เมืองกรุงสมัยที่พ่อรับราชการและย้ายมาอยู่ชุมชนแห่งนี้ เราจะรู้ก็เพียงว่าหลังจากการมองไม่เห็นอันเนื่องมาแต่อุบัติเหตุ มันเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนทางโลกทัศน์ครั้งสำคัญในตัวเขาอย่างที่เขาบอกเล่า การมองไม่เห็นด้วย “ตาเนื้อ” ของเขา ถูกทดแทนด้วยการมองเห็นผ่าน “ตาใน” และโลกที่เขามองเห็น มันก็เป็นอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

คงเป็นเช่นเดียวกับอิมรอนที่ต้อง “ตาบอด” เสียก่อนแล้วจึงมองเห็นความงดงามบางประการ เร แม็คโดนัลด์ ในหนัง ก็สูญเสียความทรงจำอันเปรียบเสมือนคลังข้อมูลเดิมเสียก่อน เพื่อจะได้มีพื้นที่บรรจุความรับรู้ความเข้าใจแบบใหม่เข้าไป เพราะบ่อยครั้ง เราเองก็มักจะแบกหามเอาความคิดหรือมโนภาพที่มีต่อ “ผู้อื่น” ไว้มากจนเกินไป แม้เพียงเล็กน้อยก็ถือว่ามากเกินไป หากมันไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง และที่สำคัญคือ มากเกินกว่าจะเรียนรู้เพื่อยอมรับ “ข้อมูลใหม่” ของ “ผู้อื่น” อย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาต่างๆ จึงยังมักจะเกิดขึ้นเสมอๆ

อมีน เป็นหนังที่พูดตรงๆ ไม่มีอะไรอ้อมค้อมซับซ้อนหรือมีซับเท็กซ์ (Sub-Text) อะไรวุ่นวาย พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีจริตจะก้านอะไรมาก ต่างจากหนังที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาในยุคหลังๆ หลายเรื่องที่พยายาม “ตีความใหม่” กันเยอะแยะมากมาย กระทั่งบ่อยครั้ง ตีความกันไป ตีความกันมา ก็หันกลับมา “ตีกันเอง” ก็มีอยู่มาก ดังที่เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ แต่อมีนเป็นหนังที่วางตัวให้ “ซื่อตรง” เช่นเดียวกับชื่อเรื่อง มันไม่ใช่การทำให้ทุกอย่างง่ายดายไม่ซับซ้อน (Simplification) เพื่อจะแก้ไขปัญหา แต่เป็นการกลับไปหารากเหง้าของตนเองและบอกกล่าวกับชาวโลกถึงสัจจะอันจริงแท้บนเส้นทางแห่งศรัทธา ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของโลกมุสลิมส่วนหนึ่งซึ่งปรากฏบนพื้นที่สื่อกระแสหลักอย่างที่เราเห็นในข่าว เป็นภาพลักษณ์แห่งความรุนแรง แต่อมีนจะถกแย้งด้วยการแถลงว่าแท้จริงแล้ว คำสอนแห่งศาสดา ใช่เป็นไปเพื่อปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงนั้นจริงหรือ? อมีนคือการบอกกล่าวเล่าขานอย่างตรงไปตรงมาถึงวิถีแห่งจิตวิญญาณแบบมุสลิมที่อ่อนน้อม นุ่มนวล ต่อเพื่อนร่วมโลก และสันติอยู่ภายในจิตใจของตน ดังเช่นที่อิหม่ามในเรื่องมักพูดเสมอๆ ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงแต่อย่างใด

ในรายการวิวไฟน์เดอร์ ทางช่องซูเปอร์บันเทิง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 เมษายน) ถามผมคำถามหนึ่งทำนองว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีท่าทีโน้มน้าวประมาณว่าเป็นหนังประชาสัมพันธ์ศาสนาทำนองนั้นไหม ผมเองไม่ใช่ศาสนิกของมุสลิม แต่ผมก็อยากจะหยิบยกเอาถ้อยคำหนึ่งในหนังซึ่งอิมรอนลูกชายของอิหม่ามกล่าวเอาไว้ ประมาณว่า
“ถ้าผมมีของกินอร่อยๆ ผมก็อยากแบ่งให้คุณได้กิน
แล้วเหตุไฉน ถ้าผมมีสิ่งที่ดีกว่านั้น ที่เป็นความสุขสงบทางจิตวิญญาณ ผมถึงจะไม่แบ่งปันให้แก่คุณ ”

เมื่อคนคนหนึ่งบอกต่อสิ่งดีๆ
แล้วเราจะกลัวต่อการได้รับรู้สิ่งดีๆ นั้นทำไมล่ะครับ จริงไหม?



*** หมายเหตุ: เนื่องด้วยข้อจำกัดทางศาสนา “อมีน” จึงไม่เข้าฉายในโรงหนังทั่วไป หากแต่มีการจัดฉายเป็นพิเศษตามสถานที่ต่างๆ ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “อมีน AMEEN ภาพยนตร์เทิดเกียรติศาสนทูตมุฮัมมัด”



ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น