xs
xsm
sm
md
lg

หญิงๆ และความลับของเลสฯในหนังจิบลิ : When Marnie was there

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ไม่อาจหาญเรียกขานตนเองว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสตูดิโอจิบลิ เพราะถ้าให้ไล่เรียงทุกรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานค่ายแอนิเมชั่นที่ยิ่งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นค่ายนี้ เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนทำได้ดีกว่ามาก กระนั้นก็ตาม ก็เกือบพูดได้เหมือนกันว่า ผมดูหนังของจิบลิมาน่าจะครบทุกเรื่อง เพียงแต่จดจำรายละเอียดอะไรไม่ค่อยได้ รู้แต่ว่ามีความประทับใจทุกครั้งที่ได้ดู และบางเรื่องก็อินจนหดหู่น้ำหูน้ำตาไหล อย่างเรื่อง Grave of Fireflies ซึ่งเป็นเรื่องอิงจากชีวิตจริงของชายคนหนึ่งซึ่งสูญเสียน้องสาววัยไม่กี่ขวบจากการขาดอาหารรับประทานในระหว่างสงคราม เขียนถึงตรงนี้ก็ให้นึกอะไรขึ้นมาได้อย่าง ในภาพทรงจำอันเลือนรางบ้างแจ่มชัดบ้างนั้น ผมพบว่า ตัวละครเด่นๆ ในหนังของสตูดิโอจิบลิ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นหญิง และขอบเขตอายุของหญิงในหนังค่ายนี้ จะอยู่ที่ราวๆ ห้าขวบไปจนถึง 15 ขวบ หรือไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ตั้งแต่เป็นเด็กหญิงไปจนถึงย่างก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

และนี่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
อันที่จริง ผลงานของจิบลินั้น สามารถเก็บเกี่ยวมาวิเคราะห์ได้มากมายหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแก่นสารที่ถูกวางลงไปในเนื้อหนังซึ่งให้ร่ายในที่นี้ก็คงไม่มีวันพูดได้จบครบถ้วน ความสวยงามของชีวิต ความงดงามของมนุษย์ ความเลวร้ายของสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับตัวเอง ตัวเองกับผู้อื่น ไปจนถึงมนุษย์กับธรรมชาติและการดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายไม่ต้องมีอะไรปรุงแต่งให้ล้นเกินจนยุ่งยาก คนทุกคนมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีได้ ไปจนถึงความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ ที่เชื่อว่าคนดูหนังจิบลิทุกท่านคงสัมผัสได้ในประเด็นเนื้อหาอันลึกซึ้งเหล่านั้น แต่ถ้าจะมีอันหนึ่งสิ่งใดที่สมควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาเอ่ยถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในวาระที่หนังเรื่อง When Marnie was there เข้าฉาย ประเด็นนั้นก็ควรจะเป็นเรื่องของ “ผู้หญิง” หรือ “เพศหญิง”

ยิ่งเมื่อสืบค้นลงไปในเรื่องราวความเป็นมาของจิบลิ ก็ยิ่งได้พบว่า รากฐานที่มาของการมีตัวละครเด่นเป็นผู้หญิงนั้น ดูเหมือนจะฝังแน่นอยู่ในจิตวิญญาณของผู้สร้างงานมาแต่อ้อนแต่ออก

ฮายาโอะ มิยาซากิ ปรมาจารย์ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอนั้นชื่อว่าให้เกียรติแก่เพศแม่เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งห้องน้ำหญิงในสตูดิโอจิบลิของเขาก็ยังถูกสร้างให้มีขนาดเป็นสองเท่าของห้องน้ำชาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อแม่ของเขาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1984 ความรักผูกพันระหว่างมิยาซากิและแม่ผู้เข้มแข็งได้ถูกถ่ายทอดจากความทรงจำในวัยเด็ก ในช่วงเวลาที่แม่ของเขาต้องนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจนกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง My Neighbor Totoro (1998) ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลต่อการสร้างตัวละครเอกของเขาที่มักจะเป็นผู้หญิงแทบทุกเรื่องด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจจาก “เรียวตะ ซูซูกิ” นักเขียนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “การใช้ตัวละครเอกเป็นผู้หญิง บทผู้หญิงต้องเด่น ผมว่าเป็นเพราะมิยาซากิไม่หวังอะไรกับผู้ชายแล้ว เขาอยากจะเห็นผู้หญิงในยุคนี้ ต้องเก่งกว่านี้ ต้องเข้มแข็งกว่านี้ นั่นแหละเป้าหมายของเขา” (จากหนังสือ “ฉีกขนบแอนิเมชั่น” เขียนโดย นับทอง ทองใบ)

จากข้อสังเกตนี้ ทำให้ความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะอย่างที่รับรู้กันว่า ญี่ปุ่นนั้นก็เหมือนสังคมอีกหลายแห่งซึ่งสืบทอดแบบแผนสังคมที่ “ผู้ชายเป็นใหญ่” มาเนิ่นนานหลายร้อยปีจนฝังรากลึก...

“ผู้หญิงญี่ปุ่นมิได้อยู่ใต้บังคับแต่เพียงบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่เท่านั้น แต่อยู่ใต้บังคับของคนทุกคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชาย แม้แต่ผู้ชายนั้นจะเป็นน้องหรือหลานของตนเอง ชีวิตของผู้หญิงญี่ปุ่นคือการเก็บตัวไว้ในบ้าน มีเสรีภาพในความเคลื่อนไหวน้อยที่สุด...” (จากหนังสือ “ฉากญี่ปุ่น” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดเฟมินิสต์ แต่ก็รู้สึกว่าอิสตรีในหนังของจิบลินั้น แฝงแนวคิดชนิดนี้ให้สะกดรอยตามมาโดยตลอด สามสิบปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นตัวละครหญิงในหลากหลายบทบาทซึ่ง “คล้ายๆ” จะเป็นการขยับสถานะของเพศแม่ให้ฟักตัวออกจากสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ตัวละครเด็กหญิงหรือสาวน้อยวัยรุ่นในหนังของจิบลิอาจจะมีความอ่อนไหว ฟุ้งฟายด้วยจินตนาการตามประสาวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน สับสน เจ็บปวดและอ่อนไหว แต่ทว่าสุดท้ายก็ต้องก้าวผ่านความเปราะบางและเติบโตด้วยตัวเอง นี่จึงทำให้ตัวละครหญิงของจิบลิดูแตกต่างไปจากเรื่องราวอื่นๆ อย่างถ้าเทียบกับแนวตะวันตก “ซินเดอเรลล่า” “เจ้าหญิงนิทรา” “สโนว์ไวท์” ไปจนถึง “เงือกน้อย” ที่มักจะรอคอย “ผู้อื่น” มาทำให้ในเรื่องใหญ่ๆ ของชีวิต แต่จิบลิจะแตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น เด็กน้อยผู้หญิงอย่าง “ชิฮิโร่” ในเรื่อง Spirited Away ที่พ่อแม่ของเธอถูกแม่มดสาปให้เป็นหมูและเธอต้องไปขอร้องแม่มดทำงาน ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่างการทำความสะอาดห้องอาบน้ำให้กับเทพเจ้า ในคราวที่ท้อแท้หมดแรง เธอนั่งลงร้องไห้แทบเป็นแทบตาย และคนทำหนังเรื่องนี้ก็ใจดีพอที่จะให้เธอร้องไห้จนน้ำตาเหือดแห้งแล้วค่อยกลับไปเรียนรู้และเริ่มใหม่อีกครั้งแล้วก้าวผ่านมันด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นลักษณะเทพนิยายหรือการ์ตูนอื่นๆ ไม่เว้นกระทั่งการ์ตูนญี่ปุ่นเอง อาจจะมีมือนางฟ้าหยิบยื่นเข้ามาช่วยเหลือ แต่สำหรับจิบลิไม่ใช่แบบนั้น แต่ละคนควรก้าวผ่านทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ผู้หญิงก็เช่นกัน

ตัวละครหญิง หรือจะพูดให้ชัดขึ้นคือ “เด็กหญิง” ในหนังของจิบลิ ที่จริงก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีหรอกเจ้าหญิงหรือนางเอกผู้เลิศเลอเพอร์เฟคต์ แต่พวกเธอคือเด็กธรรมดาๆ ที่เราสามารถพบเห็นได้ตามสังคมชุมชนทั่วไป และส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ลุกขึ้นมาประกอบวีรกรรมอันหาญกล้าราวกับชายชาตรี เฉกเช่นวีรสตรีทั่วไปในเทพนิยายอื่นๆ ที่มักจะชูความเป็นฮีโร่ของเพศแม่ที่แกร่งกล้ามาก (ซึ่งหากมองตามความคิดของเฟมินิสต์ การทำแบบนั้นก็อาจไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการถอดแบบคาแรกเตอร์ของผู้ชายมาใส่ในผู้หญิง ถ้าเราเชื่อว่าผู้ชายต้องออกไปผจญเผชิญหาอาหาร ทำสงคราม ฯลฯ ขณะที่ผู้หญิงเลี้ยงลูกทำงานบ้าน) แต่ผู้หญิงของจิบลิเป็นผู้หญิงที่แม้จะเข้มแข็ง แต่ก็มีความอ่อนหวานอ่อนไหวอยู่ในนั้น เวลาแกร่งก็แกร่ง เวลาอ่อนล้าโรยแรงก็ร้องไห้ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับวีรกรรมอะไรทั้งสิ้น นี่จึงทำให้ตัวละครหญิงของจิบลิดูมีชีวิตจิตใจ และมีความใกล้ชิดกับคนดูมากกว่าการ์ตูนที่นำเสนอภาพของนางฟ้าผู้เลอโฉมรอเจ้าชายมาอุ้มสม หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นวีรสตรีที่ดูเก่งกล้าเกินคน

ในขณะที่โลกกำลังร้องเรียกบทบาทที่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง แอนิเมชั่นของจิบลิก็รับลูกได้อย่างถูกเวลา เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 (บังเอิญเหมือนกันที่ยุค 80s นั้นถือกันว่าเป็นช่วงที่คำว่าเฟมินิสต์เฟื่องฟูมากช่วงหนึ่ง) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แอนิเมชั่นของจิบลิก็ไม่เคยหลีกหนีจากแนวทางการให้บทสำคัญแก่อิสตรี เจ้าหญิงกุษณะในเรื่อง Nausicaa of the Valley of the Wind คือผู้นำแห่งเผ่าโทลเมเกี้ยนที่มายึดครองหุบเขาเนาซิก้า, คุณยายโดล่าแห่ง Lupita The Castle in the Sky ก็เป็นหัวหน้าสลัดอากาศที่มีลูกน้องเป็นผู้ชายนับไม่ถ้วน, สาวน้อยฟิโอ ช่างแต่งเครื่องบินฝีมือดี ใน Porco Rosso แล้วยังมีแม่มดซัลลิมานซึ่งเป็นแม่มดประจำองค์ราชาในเรื่อง Howl’s Moving Castle นั่นยังไม่ต้องพูดถึงท่านหญิงอีโบชิใน Princes Mononoke ที่เป็นผู้นำสูงสุดแห่งโลหะนคร ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่กล่าวได้ว่า คือความก้าวล้ำในผลงานของจิบลิที่มองเห็นความสำคัญในบทบาทของผู้หญิงซึ่งจะว่าไปก็สามารถจะทำในสิ่งที่ผู้ชายก็ทำได้ในหลายๆ เรื่อง

สามสิบปีผ่านไป กระทั่งมาถึงงานชิ้นนี้... When Marnie was there ที่ได้รับการบอกกล่าวว่าเป็นผลงาน “สั่งลา” ของสตูดิโอจิบลิ อาจจะเป็นการ “ลาพักร้อน” หรือ “ลาถาวร” ก็ยากจะรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ When Marnie was there หรือ “ฝันของฉันต้องมีเธอ” นั้น ยังคงตอกย้ำเอกลักษณ์ลายเซ็นของจิบลิในแง่ที่ใช้ตัวละครสุภาพสตรีเป็นตัวเด่นของเรื่อง และที่พิเศษยิ่งขึ้นคือสตรีในเรื่องนี้ดูจะมีความคืบหน้าและก้าวล้ำกว่าสตรีทุกคนที่เคยมีมาในหนังของจิบลิ เพราะท่ามกลางความเข้มแข็งแต่อ่อนไหว ความเจ็บปวดและงดงาม ยังมีรูปรอยของความรักบางแบบซึ่งพ้นไปจากความรักที่เคยมีมาในหนังของจิบลิทุกเรื่อง หรือจริงๆ มันก็คือภาพสะท้อนแห่งความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปในโลกความเป็นจริงที่ความรักไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียง “ชายกับหญิง” อีกต่อไป

ด้วยรูปแบบตัวละครที่ไม่ต่างจากเดิม งานชิ้นนี้ยังคงให้บทบาทแก่ตัวละครหญิงวัยรุ่นวัยเรียนเป็นตัวนำของเรื่อง “อันนะ” เด็กสาววัยมัธยมที่มีปัญหาสุขภาพคือเป็นโรคหอบหืด และด้วยเหตุนั้น เธอจึงต้องเดินทางไปอาศัยอยู่กับป้าลุงที่ต่างจังหวัดเป็นการชั่วคราวตามคำแนะนำของหมอที่เชื่อว่าอากาศดีๆ ในชนบทจะช่วยให้โรคหอบหืดของเธอทุเลาเบาบางลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้ว ก็เกิดมีประสบการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นกับเธอ และนำไปสู่การคลี่คลายปมบางอย่างซึ่งฝังแน่นอยู่ในใจของอันนะมาเนิ่นนาน

ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อเดียวกัน ผู้เขียนคือ Joan G. Robinson และเป็น 1 ใน 50 หนังสือแนะนำของฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ก่อตั้งจิบลิด้วย ผู้กำกับคือ “ฮิโรมาสะ โยเนะบายาชิ” (จาก The Borrower Arrietty) ตั้งแต่ต้นเรื่อง หนังก็วาดภาพให้อันนะดูเหมือนเป็นคนนอก ผ่านคำรำพึงกับตัวเองทำนองว่า ถ้ามีวงกลมอยู่วงหนึ่ง เธอก็คือคนที่อยู่นอกวงกลมนั้น อันนะเป็นเด็กกำพร้า หลังจากสูญเสียพ่อเเม่ในอุบัติเหตุ เธอก็ถูกญาติๆ เกี่ยงกันรับดูแล จนท้ายที่สุด ก็ได้รับการดูแลจาก “โยริโกะ” แม่บุญธรรมของเธอ ซึ่งอันนะเชื่อมาตลอดว่า สาเหตุที่นางรับเลี้ยงเธอ ก็เพราะได้รับค่าตอบแทน นี่จึงทำให้อันนะรู้สึกเกลียดตัวเอง ที่เกิดมาไม่มีใครต้องการอย่างบริสุทธิ์ใจ

ในชนบทนั้น อันนะได้พบกับเรื่องเล่าข่าวลือเกี่ยวกับผีในบ้านร้างที่เคยเป็นบ้านพักของชาวต่างชาติเมื่อสิบกว่าปีก่อน พร้อมกับการปรากฏตัวของ “มาร์นี่” เด็กหญิงผมสีบลอนด์ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับเด็กผู้หญิงในฝันของอันนะ เรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้นและถือเป็นปฐมบทแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนความคิดและชีวิตของอันนะไปแบบไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม

มันเป็นเรื่องราวที่งดงามและแพรวพรายไปด้วยภาพจินตนาการฟุ้งฝัน ดูมีความสมจริงแบบปนความมหัศจรรย์ตามแบบฉบับของแอนิเมชั่นจากสตูดิโอจิบลิ ขณะที่แก่นของเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการคลี่คลายภาวะทางใจของตัวละครอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการคลี่คลายเติบโตในท้ายที่สุด แต่เรื่องราวระหว่างทาง กลับเฉิดฉายในนามของความรัก ถ้าไม่นับการปรากฏตัวขึ้นมาของสาวน้อยผมบลอนด์ที่ชื่อว่า “มาร์นี่” ก่อนหน้านี้ก็อย่างที่บอกว่า อันนะนั้นรู้สึกเหมือนตนเองเป็นคนนอกมาโดยตลอด “วงกลม” ที่ว่านั้น อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังแปลกแยกต่อผู้เลี้ยงดูของตนเอง (โยริโกะ) แต่วงกลมนั้นอาจหมายถึงอะไรอย่างอื่นๆ ได้อีกด้วย ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งในชนบทตอนที่อันนะไปงานเทศกาล แล้วเด็กหญิงในชุมชนซักไซ้เกี่ยวกับเธอว่ามาจากไหน เมื่อเธอตอบว่ามาจากโตเกียว เด็กหญิงเหล่านั้นก็แสดงท่าทีตื่นเต้นพร้อมกับคำพูดทำนองว่า ที่โตเกียวคงมีผู้ชายหล่อๆ หน้าตาดีเยอะ แต่อันนะกลับรู้สึกพะอืดพะอมพูดอะไรไม่ออกและวิ่งหนีจากงานเทศกาลนั้น เพื่อไปพบกับคนที่หัวใจเธอบอกให้ไปพบ...มาร์นี่

คงคล้ายๆ กับความรักที่มิอาจเอ่ยปาก เสน่ห์ของงานชิ้นนี้คือความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และเล่นกับการคาดเดาของคนดูตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการปรากฏตัวของสาวน้อยผมบลอนด์ เชื่อว่าหลายคนคงจะลุ้นให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับอันนะแสดงความแจ่มชัดออกมาว่าเป็นฉันใด แต่จนแล้วจนรอด หนังจะไม่สนองเราแบบนั้น เราอาจจะพยายามพูดให้สวยหรูได้ว่าเรื่องของอันนะกับมาร์นี่คือมิตรภาพอันงดงาม แต่จริงๆ มันแสดงผ่านหลายฉากว่าคนทั้งคู่ไปไกลกว่านั้น ผมรู้สึกว่าเป็นความชาญฉลาดในการนำเสนออย่างยิ่งของหนังที่ใส่บทพูดให้ทั้งสองคนสัญญากันว่า ขอให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรานี้เป็นความลับ

ไม่ว่าสังคมที่ไหนๆ รวมถึงญี่ปุ่น (และก็อาจรวมถึงเมืองไทยของเราด้วย) ความรักแบบหญิงรักหญิง หรือเรียกตามนิยามว่าเลสเบี้ยน ยังเป็นอะไรที่ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย พวกเธอจึงต้องเก็บ “ความรัก” ไว้เป็น “ความลับ”

ความแยบยลในการสะท้อนความเป็นไปในสังคมนี้ ยังถูกเสนอผ่าน “บ้านหลังนั้น” ที่ร่ำลือกันว่าเป็น “บ้านผีสิง” มาร์นี่ซึ่งอยู่ที่บ้านหลังนั้น เราจึงปฏิเสธได้ยากว่า ความรักของเลสฯ ในบางสังคมนั้น ที่จริงแล้ว ไม่เพียงเป็นสิ่งที่อยู่นอกวงกลม ไม่เพียงเป็นสิ่งที่ต้องเก็บงำเป็นความลับ หากแต่ยังมีสถานะไม่ต่างอะไรกับ “ผี” ที่อยู่ในโลกคนละใบกับโลกของคน!

ผ่านเรื่องราวที่ร้าวรานและเปลี่ยนผ่านสู่ความฟีลกู๊ด สิ่งที่สตูดิโอจิบลิพูดผ่านหนังเรื่องนี้ จึงเป็นแง่มุมแบบสตรีที่ไปไกลกว่าเรื่องอื่นที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องของหญิงแกร่ง ไม่ใช่แค่อุดมคติแบบหญิงเก่ง แต่หญิงก็ควรมีสิทธิ์พูดความปรารถนาของตนเองได้อย่างหมดจด ไม่ใช่แค่รอคอยให้ใครมาบอกว่าเธอควรทำหรือไม่ทำอะไร ควรชอบหรือไม่ชอบอะไร
เรื่องของหัวใจก็เช่นกัน...



ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น