xs
xsm
sm
md
lg

มองกรณี "หยุดตรงนี้ที่เธอ" ทำไมอาร์เอสฯ ไม่ฟ้อง "ฟอร์ด"/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

เดินทางไปกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ)เพื่อเข้าไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพยานตามการนัดหมายเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาสำหรับนักร้อง-นักดนตรีหนุ่ม "ฟอร์ด สบชัย" ต่อกรณีที่เจ้าตัวได้นำเพลงที่สร้างชื่อให้กับตนเองเมื่อครั้งยังเป็นศิลปินในสังกัดอาร์เอสฯ ไปร้องในงานแต่งงานหนึ่งก่อนที่อดีตต้นสังกัดจะยื่นเรื่องฟ้องร้องไปยังผู้ว่าจ้างในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

ภายหลังจากการให้ปากคำทางนักร้องหนุ่มได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโดยเล่าให้ฟังว่าเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วตนเองได้เดินทางไปร่วมงานแต่งเพื่อนของเพื่อน และเพื่อนที่สนิทได้ขอให้ตนขึ้นไปร้องเพลงอวยพรคู่บ่าวสาวเป็นการเซอร์ไพรส์ ตนจึงขึ้นไปร้องเพลง "หยุดตรงนี้ที่เธอ" ให้หนึ่งเพลง

จากนั้นก็ได้ออกมาจากงานโดยไม่คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

จนได้มาเห็นหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตอนแรกที่เห็นรู้สึกตกใจมาก เพราะไม่เคยเจอกรณีเช่นนี้ เพราะตนเองระมัดระวังเรื่องพวกนี้เป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เนื่องจากการร้องเพลงดังกล่าวไม่มีการว่าจ้าง และงานแต่งงานก็ไม่ใช่คอนเสิร์ตพาณิชย์ที่จะมีการไปขายบัตรหน้างานหรือโฆษณาเชิญชวนให้คนเข้ามาเพิ่มเติมแต่อย่างใด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตนก็คงจะไม่เอาเพลงที่ว่ามาร้องอีกแล้ว

ขณะที่ทางด้านของตำรวจเองก็ได้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยกับนักข่าวเช่นกันว่าจากนี้ไปจะต้องมีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบว่าในงานดังกล่าวได้มีการว่าจ้างนักร้องหนุ่มขึ้นไปร้องเพลงหรือไม่ หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการว่าจ้าง การร้องดังกล่าวเป็นความสมัครใจของตัวนักร้องหนุ่มเอง คดีก็จะสิ้นสุดทันที

สำหรับกรณีนี้ต้องบอกว่าเราในฐานะผู้บริโภคเองได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างทีเดียวครับ

โดยเฉพาะจากการให้สัมภาษณ์ของคุณ "เณร ศุภชัย นิลวรรณ" รองกรรมการ ผอ.อาวุโส - กลุ่มธุรกิจเพลง บริษัท อาร์เอสฯ ที่เปรียบเปรยให้ฟังทำนองว่า..."ลิขสิทธิ์เพลงก็เหมือนบ้านครับคนสร้างอาจไม่ใช่เจ้าของก็ได้ เราไปซื้อบ้านไปเช่าบ้านเขาอยู่เขาก็ต้องเป็นเจ้าของ"

หรือแม้กระทั่งคำบอกกล่าวที่ชวนให้อึ้งที่ว่า..."นักร้องทุกคนโดยหลักการแล้วเขาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทุกคนแม้กระทั้งนักร้องปัจจุบันในอาร์เอสเองเราเก็บนะ แต่เก็บในรูปแบบของสัญญา..." (อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ “อาร์เอส” ปัดฟ้อง “ฟอร์ด” แค่เรียกตัวเป็นพยาน โต้ลั่นเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงมหาโหด)

อ่านคำให้สัมภาษณ์ของคนจากอาร์เอสฯ ก็ได้รับรู้มุมมองนึง พอได้มาอ่านข้อเขียนของรุ่นใหญ่ในวงการเพลงของบ้านเรา "ปุ้ม วงตาวัน" (พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) ที่เขียนถึงเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กก่อนกลายเป็นข่าวที่ว่า ฟังรุ่นใหญ่ “ปุ้ม ตาวัน” วิพากษ์ หลังอาร์เอสแจงเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ก็ได้มุมมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่แตกต่างกันไปคนละขั้ว

ต้องยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์นั้น บ้านเรายังรับรู้ในรายละเอียดกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วเรื่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่รอบตัวเราทั้งสิ้น

แต่ทั้งนี้ก็คงจะไม่เรื่องแปลก เพราะแม้มันจะอยู่รอบตัว แต่น้อยครั้งที่เรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับเราในฐานะผู้บริโภคชนิดที่รู้สึกได้ เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาคนที่อยู่ในฐานะผู้ให้บริการทั้งหลาย

ส่วนตัวผมมองว่ากฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์นี่แหละครับคือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของระบอบที่เราเรียกกันว่า "ทุนนิยม" และดูเหมือนจะไม่เข้ากันอย่างแรงกับคนในบ้านเราที่มีพื้นฐานมาจากสังคมการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เวลามีเรื่องอะไรที่ไม่ได้รุนแรงชนิดคอขาดบาดตายก็มักจะลงเอยที่หยวนๆ กันไป

ถามว่าระบอบนี้ กฎหมายนี้เลวร้ายมั้ย ดีหรือไม่ อันนี้คงจะต้องขึ้นอยู่กับ "คน" ที่นำเอามันไปใช้นั่นแหละครับว่าจะใช้มันแบบไหนด้วยเจตนาอะไร เข้มงวดมากน้อยเพียงใด หรือตีความหมายไปในแง่มุมใด

นักร้อง-ศิลปินเปิดคอนเสิร์ตเอาเพลงมีลิขสิทธิ์ไปเต้นไปร้องต้องเสียเงินมั้ย, ขอทาน-วงดนตรีตาบอด เอาเพลงที่มีลิขสิทธิ์ไปเล่นไปร้องแลกเงินมีความผิดหรือไม่? แขกในงานขึ้นไปร้องเพลงเพื่อต้องการสร้างความครึกครื้นต้องเสียเงินหรือเปล่า, พนักงานออฟฟิศร้องคาราโอเกะในงานปีใหม่แล้วหัวหน้าตบรางวัลด้วยความชอบใจจะผิดมั้ย ฯลฯ

จริงๆ เรื่องนี้ที่ผมว่าน่าสนใจพอๆ กับเรื่องของลิขสิทธิ์ก็คือเรื่องที่อาร์เอสฯ เลือกคนฟ้องครับ

เพราะจากเท่าที่มาไล่เรียงดู พบว่างานแต่งงานนั้นจัดขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จากนั้นในเดือนธันวาคม อาร์เอสฯ จึงได้ส่งตัวแทนไปร้องทุกข์ต่อร.ต.อ.หญิง ยุพิน โดยระบุว่าในงานดังกล่าวได้มีการนำเอาเพลง "หยุดตรงนี้ที่เธอ" ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เพลงของบริษัท อาร์เอสฯ ไปร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยในเบื้องต้นนั้นทางอาร์เอสฯ เองไม่ได้แจ้งความว่าจะดำเนินคดีความกับใครเสียด้วยซ้ำไป

ก่อนที่ในเวลาต่อมาจึงได้ตัดสินใจ แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ "ผู้ว่าจ้าง"

ความน่าสนใจมันอยู่ที่ตรงนี้แหละครับว่า ทำไมอาร์เอสฯ เองเลือกดูท่าทีก่อนจะตัดสินใจฟ้องอยู่นานสองนาน และสองทำไมถึงตัดสินใจฟ้องร้องด้วยการระบุตัวตนไปยังผู้ว่าจ้างซึ่งยังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร ทำไมไม่ฟ้องโดยตรงไปที่อดีตนักร้องในสังกัดซึ่งมีหลักฐานว่าร้องเพลงนี้อยู่

เป็นไปได้มั้ยว่าเพราะอาร์เอสฯ เองให้เกียรติหนุ่มฟอร์ดในฐานะที่เคยเป็นอดีตศิลปินที่สร้างชื่อให้กับค่ายตนเอง ขืนฟ้องไปเกรงว่ากระแสตีกลับจะต้องรุนแรงแน่ๆ

หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่าอาร์เอสฯ เองรู้อยู่แล้วว่าการฟ้องร้องครั้งนี้สุดท้ายจะจบลงเช่นไร แต่ที่ทำก็เพราะหวังอะไรบางอย่างระหว่างทางที่คดีความดำเนินอยู่

ผมนี้ล่ะอยากรู้จริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น