“ปุ้ม พงษ์พรหม” ซัดเอี้ย! คนเปรียบ “ลิขสิทธิ์เพลงเหมือนบ้าน” ชี้จะกี่ยุคกี่สมัยค่ายเพลงก็เอาเปรียบศิลปินนักแต่งเพลงตลอด ท้าถ้ากล้าตั้งโต๊ะกลมเชิญคนเกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน
น่าจะกลายเป็นประเด็นที่คนในแวดวงดนตรีให้ความสนใจไม่น้อยสำหรับการออกมาให้สัมภาษณ์ของ “เณร ศุภชัย นิลวรรณ” รองกรรมการ ผอ.อาวุโส - กลุ่มธุรกิจเพลง บริษัท อาร์เอสฯ ต่อกรณีที่นักร้องหยุ่ม “ฟอร์ด สบชัย” ได้นำเพลง “หยุดตรงนี้ที่เธอ” ซึ่งเป็นงานเพลงของตนเองที่เคยร้องไว้กับค่ายอาร์เอสฯ ไปร้องในงานแต่งงานหนึ่ง
เป็นเหตุให้ทางอาร์เอสฯ ตัดสินใจยื่นฟ้องไปยังผู้ว่าจ้างนักร้องหนุ่มในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์พร้อมมีจดหมายไปยังหนุ่มฟอร์ดเพื่อให้เข้ามาเป็นพยาน โดยทางรองกรรมการ ผอ.อาวุโส - กลุ่มธุรกิจเพลงของอาร์เอสยังได้ยืนยันว่าการกระทำที่ว่านี้ไม่ถือเป็นการทำกว่าเหตุ แต่ที่เป็นประเด็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นกับกฏหมายที่ว่านี้และยังบอกด้วยว่าแม้แต่ตัวศิลปินในสังกัดอาร์เอสเวลานำเพลงไปร้องยังต้อจ่ายค่าลิขสิทธิ์เลย (ตามตามอ่านรายละเอียดที่“อาร์เอส” ปัดฟ้อง “ฟอร์ด” แค่เรียกตัวเป็นพยาน โต้ลั่นเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงมหาโหด)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุดก็เป็น “ปุ้ม พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” นักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรี อดีตสมาชิกวงตาวันที่ได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิงผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่าการเปรียบเปรยของใครบางคนที่มองว่าลิขสิทธิ์เพลงก็เหมือนบ้านที่คนสร้างอาจไม่ใช่เจ้าของก็ได้ ส่วนใครที่เข้ามาซื้อหรือเช่าบ้านก็ต้องเป็นเจ้าของนั้นเป็นการเปรียบเทียบที่แย่มากๆ พร้อมกับยืนยันว่าที่ผ่านมาค่ายเพลงเอาเปรียบศิลปินนักแต่งเพลงมานานแล้ว อย่ามาพูดเลยว่าค่ายเพลงไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุและได้ให้ความยุติธรรมเป็นธรรมแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ไอ้ตัวแทนคนหนึ่งของอาร์เอสพูดว่า... “ลิขสิทธิ์เพลงก็เหมือนบ้านครับคนสร้างอาจไม่ใช่เจ้าของก็ได้ เราไปซื้อบ้านไปเช่าบ้านเขาอยู่เขาก็ต้องเป็นเจ้าของ ถ้าเพลงไหนเขาแต่งเองแล้วเขาขายเพลงให้เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทบริษัทก็เป็นเจ้าของ เวลาใครเอาไปเล่นเพลงของเขาผมก็แบ่งค่าลิขสิทธิ์เพลงให้เขาเป็นครั้งๆ ไป แต่ลิขสิทธิ์เพลงของคุณฟอร์ดมันเป็นยุคแรกๆ ที่ยังไม่มีอะไรแบบนี้” เปรียบเปรยได้เหี้ยมาก
ไทยเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาเบิร์น ข้อแรกก็ระบุแล้วว่า ลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างสรรค์เท่านั้น... คำพูดที่ว่า เพลงของคุณฟอร์ด เป็นยุคแรกๆ ที่ยังไม่มีอะไรแบบนี้ ผมอธิบายให้ฟังว่า เพราะมันคือยุคมืดของวงการเพลงเมืองไทยที่มีพ่อค้าอุบาทว์จำนวนหนึ่ง ฉวยโอกาสฮุบเอาลิขสิทธิ์แบบผูกขาดตลอดไป โดยผู้สร้างสรรค์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ “จำยอม” และไม่ยินยอมพร้อมใจ (สามารถเรียกนักประพันธ์ในยุคนั้นมาให้ปากคำสืบพยานได้ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่)
เนื่องเพราะระบบจัดสรรลิขสิทธิ์แก่ผู้สร้างสรรค์เวลานั้น ยังไม่มี คำพูดที่ว่าแบ่งให้เป็นครั้งๆ ไป ยิ่งแสดงความไม่ถูกต้องให้เห็นชัด โดยสามัญสำนึกที่ถูกต้องคือ จะต้องแบ่งส่วนแบ่งทุกครั้ง ดังนั้น เพื่อให้ชัดเจนในการให้ผลตอบแทน ทางค่ายเพลงจะต้องนำหลักฐานมาแสดงว่า ขายไปเท่าไหร่ เคยปันผลส่วนแบ่งอย่างไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ฯ ให้แก่ผู้สร้างสรรค์และศิลปิน ซึ่งหากบริษัทดำเนินกิจการโดยถูกต้องตามกฏหมาย ย่อมมีเอกสารยืนยันการจ่ายแบ่งผลประโยชน์เสมอมา ดูตัวอย่างเช่น กรณีของตัวผมเองมีลิขสิทธิผูกพันกับแกรมมี่มหาชนมาเป็นสิบๆ ปี ทุกวันนี้ยังคงมีการปันส่วนแบ่งจากผลงานและแจกแจงเอกสารทางบัญชีให้ทราบ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
(ส่วนจะเป็นที่พอใจยุติธรรมหรือไม่ ไม่ขอกล่าวถึง)
ยังมีข้อสงสัยในเวลานี้อีกประการว่า.. ค่ายเพลงอย่าง อาร์เอส ปัจจุบัน ได้กลายเป็นบริษัทมหาชน แต่ลิขสิทธิเพลงทั้งหลายที่เป็น asset แท้จริงของบริษัทมหาชนนี้ "ถูกครอบครองลิขสิทธิโดยบริษัทหรือไม่" หรือถูกครอบครองโดยตัวบุคคล อาทิ เฮียฮ้อ หรือคนในครอบครัว.. เพราะหากปรากฏว่าเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าเข้าข่ายหลอกลวงมหาชนที่ถือหุ้นในบริษัท ซึ่งอาจไม่รู้ว่าสินทรัพย์ของบริษัท อาจมีเพียงอุปกรณ์สำนักงานและสัญญาศิลปิน ฯ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิเพลงเพลงใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่มหาชน ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้คำตอบที่ชัดเจนแก่มหาชนผู้ถือหุ้น เพราะเป็นไปได้ว่าเหตุผลหลักที่มหาชนซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าว อาจเป็นเพราะเข้าใจว่าบริษัทครอบครองลิขสิทธิ์เพลงเหล่านั้น ซึ่งเป็นมูลค่าแท้จริงของกิจการที่เป็นค่ายเพลง
หากมีความบริสุทธิ์ใจจริง กล้าไหม ที่จัดสัมนาโต๊ะกลม เชิญนักประพันธ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ทุกประเภท นักกฎหมาย ผู้ประกอบการฯ มาพูดคุยกันว่าระบบที่ผ่านมาไม่ถูกต้องและเอาเปรียบอย่างไร และควรแก้ไขอย่างไรให้เป็นธรรมทุกฝ่าย
ยังมีข้อสังเกตจากคำพูดของตัวแทนบริษัทอีกข้อที่อ้างว่า "ไม่ทำเกินเหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดหลักการถูกต้องตามสากล.." นั้น จริงหรือไม่ หากตรวจสอบออกมาแล้วพบว่าไม่ใช่ บริษัทจะชดใช้ความผิดพลาดอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น การเก็บค่าลิขสิทธิที่เรียกว่า public perform จากการแสดงสด เป็นลิขสิทธิประเภทเดียวกับที่สถานีวิทยุต้องจ่ายแก่ผู้สร้างสรรค์และศิลปิน แต่หากนับย้อนหลังไปสักแค่สามสิบปีที่ผ่านมา สถานีวิทยุได้เคยจ่ายสิทธิส่วนนี้หรือไม่ หรือค่ายเพลงได้ทำการจัดเก็บมาบ้างหรือไม่ เพราะหากถามตัวผมเองที่มีเพลงอยู่กับค่ายเพลงนับร้อยเพลง สามสิบปีที่ผ่านมา “ไม่เคยได้ส่วนแบ่ง” ส่วนนี้จากค่ายเพลงเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ การจัดเก็บนับแต่อดีตถึงปัจจุบันมีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ และเป็นการทำสองมาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
ส่วนที่พูดว่า “ยืนยันไม่เอาเปรียบศิลปินนักแต่งเพลงแน่นอน เราให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายอันนี้เป็นสิ่งที่เราชัดเจนมากและชัดเจนมานานแล้ว..” นั่นคือที่พ่อค้าคิด ถามผม ในมุมของศิลปินนักแต่งเพลง บอกให้ฟังชัดๆ ว่า ค่ายเพลงเอาเปรียบศิลปินนักแต่งเพลงแน่นอน เอาเปรียบมานานแล้ว ไม่เคยมีความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายนอกจากฝ่ายพ่อค้า ซึ่งชัดเจนมากและชัดเจนมานานแล้ว เขารู้กันทั้งนั้น!