ตลอดระยะเวลามากกว่าสี่สิบปี นักแสดงสัญชาตินิวซีแลนด์นามว่า “รัสเซลล์ โครว์” ค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวในฐานะนักแสดงกระทั่งได้รับการยอมรับ งานแสดงหลายเรื่องของเขามีสถานะเป็นมาสเตอร์พีซของวงการภาพยนตร์โดยมีรางวัลการันตี และถึงนาทีนี้ ผลงานอย่าง เดอะ วอร์เตอร์ ดีไวเนอร์ ก็ไม่ใช่แค่การฝีกงาน หากแต่เป็นใบแจ้งเกิดอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะผู้กำกับของดาราที่คลุกคลีอยู่บนเส้นทางสายนี้มาค่อนชีวิต
คงเป็นเรื่องของนักแสดงที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้และมีความทะเยอทะยาน เมื่อบ่มเพาะตัวเองอย่างแก่กล้าแล้ว ก็อาจต้องการทดลองงานในระดับที่สูงขึ้นไปบ้าง อันที่จริง รัสเซลล์ โครว์ นั้นเริ่มทดสอบงานด้านกำกับมาแล้วสองสามเรื่อง แต่เป็นแนวหนังสารคดีสั้นๆ และหนังสั้นๆ 2-3 เรื่อง ซึ่งเรียกว่าเป็นการซ้อมมือฝึกปรือวิทยายุทธ และเมื่อเขาเอาจริง งานอย่าง เดอะ วอร์เตอร์ ดีไวเนอร์ ก็เปิดเผยให้คนดูได้เห็นฝีมือของเขาอย่างแท้จริง
หนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ที่เหนืออื่นใดก็คือ ชีวิตจริงของบุคคลที่หนังหยิบมาเล่า อย่าง “โจชัว คอนเนอร์” นั้น เรื่องราวของเขาสุดแสนอัศจรรย์ราวกับหลุดออกมาจากหน้ากระดาษของนิยายผจญภัยชั้นเยี่ยมสักเรื่อง ขณะเดียวกัน นอกเหนือไปจากความอัศจรรย์ลุ้นระทึก ยังมีมิติเชิงลึกอันว่าด้วยโศกนาฎกรรมและความรักซึ่งพร้อมจะทำให้คนที่รับรู้ได้ “รู้สึก” และ “ลึกซึ้ง” และนั่นก็จึงไม่น่าแปลกใจ หากว่าบางฉากในหนังเรื่องนี้ จะทำให้หลายคนเผลอหล่นน้ำตาออกมาแบบยากจะเก็บกลั้น
เรื่องราวโดยย่อของ เดอะ วอร์เตอร์ ดีไวเนอร์ นั้นย้อนไปในปี ค.ศ.1919 หลังจากการจบสิ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนนับล้าน โจชัว คอนนอร์ (รัสเซลล์ โครว์) ชาวนาชาวออสเตรเลีย ตัดสินใจออกเดินทางตามลำพังสู่ประเทศตุรกี ดินแดนที่ลูกชายทั้งสามของเขาหายสาบสูญไปหลังจากเข้าร่วมรบในสมรภูมิกัลลิโพลี ที่นั่นเขาได้พบกับพันโท ซิซิล ฮิลตัน (ไจ คอร์ทนีย์) นายทหารผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ในการระบุตัวศพทหารนับหมื่น ซึ่งตัดสินใจที่จะช่วยเหลือพ่อคนหนึ่งให้ได้พบกับลูกชายของเขาอีกครั้ง...
ครับ, สำหรับคนที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์หรือสงคราม ย่อมรู้ว่า กัลลิโพลี คือสมรภูมิที่นองเลือดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามโลก ในตอนนั้น วินสตัน เชอร์ชิล ผู้นำของอังกฤษ ได้วางแผนให้กองกำลังผสม (อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรีเลีย ฝรั่งเศส และบริติชอินเดีย) บุกยึดกัลลิโพลี โดยมีเป้าหมายในการให้กองทัพเรือบุกฝ่าทะเลดำ ตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมัน และโจมตีเยอรมนีเป็นลำดับต่อไป และในวันนั้น 25 เมษายน 1919 กองกำลังทหารที่เรียกว่า “แอนแซค” (ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ก็บุกเข้ากัลลิโพลี ประเทศตุรกี อันเป็นที่มาของการสูญเสียที่เปลี่ยนสมรภูมิให้กลายเป็นสุสานของเหล่าทหาร ซึ่งรวมถึงลูกชายทั้งสามคนของโจชัว คอนเนอร์
อย่างที่บอกครับว่า เรื่องราวของชาวนาแห่งออสเตรเลียผู้นี้ ดูไปก็มหัศจรรย์คล้ายดั่งนิยายผจญภัยเรื่องหนึ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาในหนัง หลังจากเปิดตัวได้ไม่กี่ฉาก หนังก็พาเราเดินทางร่วมไปกับเขาในดินแดนห่างไกลจากบ้านเกิด มันมีทั้งความยุ่งยากและเสี่ยงต่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิต ขณะแบกความปวดร้าวออกเดินทาง ก็มีรสชาติของความรื่นรมย์ให้ชมชื่น ขณะขมขื่นกับการสูญเสีย ก็มีแง่มุมให้สุ่มเสี่ยงผจญภัย นอกเหนือจากบทหนังที่จัดวางจังหวะตึงเครียดและผ่อนคลาย ซึ่งแม้รัสเซลล์ โครว์ ไม่ได้เป็นผู้เขียนบทเอง หากแต่การกำกับหรือควบคุมบรรยากาศในหนัง ผมมองว่าดารารุ่นใหญ่คนนี้ทำได้ดีน่าปรบมือให้ เดอะ วอเตอร์ ดีไวเนอร์ คือการผสมผสานระหว่างอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งเศร้า ซึ้ง สะเทือนใจ รวมไปจนถึงอารมณ์ขันและความรื่นรมย์ หรือแม้กระทั่งลุ้นระทึก ออกมาได้อย่างกลมกล่อมลงตัว
แง่มุมหนึ่งซึ่งผมรู้สึกชอบมากๆ ในหนัง ก็คือ แม้หนังจะบอกเล่าเรื่องราวของสงคราม หรือพูดให้ชัดขึ้น ความเลวร้ายของสงคราม แต่ทว่าน้ำเสียงของหนัง กลับไม่มีแม้แต่คำก่นด่าหรือจะวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม หนังใช้ภาษาหนังในการสื่อถึงความเลวร้ายของสงครามนั้น ผ่านองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะสภาพสมรภูมิที่กลายเป็นป่าช้าฝังผี ซากกระดูกของเหล่าทหารหาญที่กองกันระเกะระกะอย่างไม่รู้ว่ากระดูกชิ้นไหนเป็นของนักรบคนใด นั่นยังไม่นับรวมกระดูกอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชิ้นที่กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของสมรภูมิที่ไม่รู้ว่าชาตินี้ทั้งชาติจะเก็บกวาดหรือระบุชื่อเสียงเรียงนามได้ทั้งหมดหรือไม่ และที่ยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสะเทือนใจของสงคราม ยังถูกสื่อผ่านเรื่องราวของสามพี่น้อง ลูกชายของโจชัว ซึ่งเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้ด้วย หนังปูฉากๆ หนึ่งไว้ในการรับรู้ของคนดูอยู่ตลอดรายทางของการดำเนินเรื่อง และตอนสุดท้ายก็ตามไปเก็บเป็นหมัดฮุกที่ปลุกความเศร้าซึ้งสะเทือนอารมณ์ได้อย่างทรงพลัง
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง เดอะ วอเตอร์ ดีไวเนอร์ ยังนำเสนอภาพที่เหมือนด้านตรงข้ามของสงคราม ด้วยเรื่องราวที่เสริมเข้ามา ทั้งภาพน่ารักๆ สมวัยของเด็กชายผู้แสนซนและสดใสซึ่งรอคอยการกลับมาของพ่อ สงครามไม่ได้มีความหมายอะไรต่อเขาเลย นอกเหนือไปจากความหวังที่จะได้เห็นพ่อ เช่นเดียวกัน เรื่องมิตรภาพระหว่างโจชัวกับทหารผู้ใหญ่นายนั้นซึ่งเป็นถึงผู้บัญชาการ ก็ดูเหมือนจะคลี่คลายให้เห็นอย่างหมดจดถึงความสัมพันธ์หรือมิตรภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ที่สุดท้ายแล้ว มันทำให้รู้สึกว่า สงครามการแย่งชิงเข่นฆ่าต่างๆ นานา เป็นเรื่องไร้สาระโดยสิ้นเชิง
หากจะมองเรื่องราวของโจชัว คอนเนอร์ เปรียบเสมือนหนังฮีโร่เรื่องหนึ่ง ก็คงไม่เป็นการมองที่เกินจริงแต่อย่างใด แน่นอนว่า ในหนังที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามส่วนมาก มักจะแสวงหาใครสักคนที่เป็นเช่นฮีโร่หรือบุคคลที่น่าเชิดชู แต่เอาเข้าจริง ฮีโร่ที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่แบกปืนไปยิงคนอื่น หากแต่เป็นใครสักคนที่มาพร้อมกับความรักอันยิ่งใหญ่
เดอะ วอเตอร์ ดีไวเนอร์ เป็นการเปิดตัวในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มภาคภูมิของนักแสดงอย่างรัสเซลล์ โครว์ เขารู้ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องราวสักเรื่อง และเล่ามันออกมาให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวนั้น ผมนึกถึงใครหลายคนบนเส้นทางสายนี้ที่ขยับตัวเองจากบทบาทนักแสดงสู่ตำแหน่งผู้กำกับ และทำได้ดีมีแววจะไปได้สวยยิ่งขึ้นๆ ในเรื่องต่อๆ ไป ซึ่งรัสเซลล์ โครว์ ก็โชว์ให้เห็นแล้วว่า ฝีมือของเขา อยู่ในกลุ่มที่ว่านี้ นอกจากเล่นหนังดี เขาคนนี้ยังทำหนังได้ดีอีกด้วย
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |