แม้ "กำลังซื้อ" จะอยู่ในกลุ่มที่จัดว่าไม่มาก แต่พลังแห่งความอยาก-ความต้องการนั้นต้องจัดว่าอยู่ในระดับสูงทีเดียวสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนในบ้านเรา
แถมเป็นความต้องการที่มีกำลังเงินของพ่อแม่ผู้ปกครองคอยหนุนหลังอีกต่างหาก
ด้วยชีวิตที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ขาดการยั้งคิด หลงใหลคลั่งใคล้อะไรได้ง่ายๆ บนการตัดสินใจที่ขึ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่ว่ามันเท่ มันทันสมัย มันน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างมากกว่าเรื่องอื่นๆ แถมมีการใช้เงินโดยที่ไม่รู้สึกถึงคุณค่าในความยากลำบากของการได้มา เหตุนี้จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมากลุ่มคนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นกลุ่ม "ลูกค้า" กลุ่มใหญ่ที่บรรดานักการตลาด นักโฆษณาให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อความใส ความขาว ค่ายเพลง ค่ายหนัง หรือแม้แต่ค่ายละครอย่างในปัจจุบัน
ในอดีต เราคงนึกภาพไม่ออกอย่างแน่นอนว่าจะมีละครที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กมัธยมโผล่ขึ้นมาในขณะที่หน้าจอทีวีของบ้านเราเต็มไปเต็มไปด้วยละครที่ส่วนใหญ่เอาเนื้อหามาจากนิยายประโลมโลกทั้งหลายที่มีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องราวความรัก ความอิจฉาริษยา แย่งผัว แย่งเมีย
กระทั่งการมาของละครชุดที่มีชื่อว่า "ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น"(Hormones) ในปี 2556 ที่เกิดจากการจับมือกันของ "นาดาว บอกกอก" และค่ายหนัง "จีทีเอช" โดยมี "ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์" รับหน้าที่กำกับการแสดง ที่แม้จะไม่ได้ออกอากาศผ่านช่องฟรีทีวี แต่กระนั้นซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะเนื้อหาการนำเสนอที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งในเรื่องขอความรักและเพศสัมพันธ์จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงในโลกโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถจะหยุดกระแสฮิตของซีรีส์เรื่องนี้ไปได้โดยเฉพาะในหมู่วัยนักเรียนขาสั้นทั้งหลายกระทั่งต้องมีการทำซีซั่นที่ 2 ออกมา รวมถึงซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่ต่างก็มีเนื้อหาในลักษณะที่ไม่ต่างกัน โดยมีดาราวัยรุ่นเป็น "จุดขาย" และมีวัยรุ่นในช่วงระดับมัธยมเป็นกลุ่มลูกค้า อาทิที่เพิ่งจะจบลงไปอย่าง "love sick" ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี โดยมีเรื่องใหม่ที่มาแทนอย่าง "เกรียน เฮาส์" รวมไปถึงงานใหม่ของค่ายจีทีเอชอย่าง "เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน" ที่เตรียมจะฉายผ่านช่อง GMM CHANNEL และ GTH ON AIR ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
เช่นเดียวกับในส่วนของจอเงินเองที่เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลายปีหลังนี้มีหนังที่เจาะขายกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมออกมาค่อนข้างจะถี่ทีเดียวไม่ว่าจะเป็นของค่ายจีทีเอชผู้บุกเบิก อาทิ "Suck Seed ห่วยขั้นเทพ", "ฝากไว้..ในกายเธอ" ฯ ผู้พร้อมจะตามกระแสอย่าง "พจน์ อานนท์" ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น "พชร์ ภเสฐ" ไล่ไปตั้งแต่ "ม.6/5 ปากหมาท้าผี", "ม.6/5 ปากหมาท้าแม่นาค" และที่กำลังจะเข้าฉายอย่าง "วัยเป้งง นักเลงขาสั้น" หรือจะเป็นของผู้กำกับ "มะเดี่ยว ชูเกียรติ" ทั้ง "รักแห่งสยาม", "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ" รวมถึงล่าสุดซึ่งเพิ่งจะลงโรงไปมาดๆ กับ "เกรียน ฟิคชั่น"
แน่นอนแม้หลายเรื่องของละครรวมทั้งของหนังจะดูเหมือนมีความแตกต่างหลากหลายในแนวทาง อาทิ แนวสยองขวัญ อย่าง "ฝากไว้...ในกายเธอ", "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ" ในแนวดราม่าครอบครัว หรือจะออกในเชิงสร้างแรงบันดาลใจอย่าง "Suck Seed ห่วยขั้นเทพ" ฯ แต่หากมองโดยภาพรวมแล้วคงปฏิเสธได้ยากว่าส่วนใหญ่นั้นดูเหมือนจะเน้นขายความแรงของเนื้อหา ทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศ ตลอดจนพฤติกรรมในด้านลบ หรือแม้กระทั่งการใช้เรือนร่างของตัวละครมาเป็นตัวกระตุ้นความน่าสนใจเสียมากกว่า
ล่าสุดกับการออกาอากศตอนแรกของซีรีส์ "เกรียน เฮาส์" ผลผลิตจาก ผู้จัดหน้าใหม่ "มิดเดิลแมน มีเดีย" ที่ได้ "มะเดียว ชูเกียรติ" มารับหน้าที่กำกับการแสดงโดยเนื้อหาก็เป็นเรื่องราวต่อเนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง "เกรียน ฟิคชั่น" ที่เขากำกับ ซึ่งเพียงแค่การออกอากาศครั้งแรกก็เรียกเสียงฮือฮากันแล้วเมื่อมีการเปิดเรื่องด้วยประเด็น "จู๋ติดท่อ"
ด้วยวัยที่กำลังเติบโตสมควรจะได้รับเรื่องราวอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจดีๆ แต่กลับต้องมาถูกยัดเยียดด้วยเนื้อหาที่วนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ความรุนแรงอันวุ่นวายยุ่งเหยิงที่แม้แต่ตัวผู้ใหญ่เองบางครั้งก็ยังหาทางออกที่เป็นบทสรุปไม่ได้เหล่านี้ คำถามที่น่าสนใจก็คือทั้งหมดเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วหรือ?
"อันที่จริง ถ้าเราเป็นคนที่ชอบเดินทางในโลกโซเชียลมีเดีย เราอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่ซีรีส์หรือหนังเหล่านี้นำเสนอมันก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าตกใจอะไรมากมายนะ..." "อภินันท์ บุญเรืองพะเนา" จากคอลัมน์ "ภาพยนตร์" ในเวบไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ให้ความเห็น
"เพราะเรื่องราวพิเรนทร์ๆ หรือดูแรงๆ พวกนี้ มันก็เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้เป็นประจำ และถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาเรื่องของวัยรุ่นที่ทำอะไรพิเรนทร์ๆ มันก็ไม่ได้จะเพิ่งเกิดขึ้นตอนที่ซีรีส์หรือหนังพวกนี้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก เราทำเรื่องพิเรนทร์ๆ กันมาตลอดนั่นล่ะ เพียงแต่ว่าเมื่อก่อน มันอาจจะหลบซ่อนอยู่ในซอกในมุมไหนสักแห่ง เพราะมันไม่มีสื่อโซเชียลให้อัพโชว์ (ตรงนี้ค่านิยม) จะรู้อีกทีก็ตอนที่ท้องป่องขึ้นมาแล้ว หรือว่าไปทำแท้งกับหมอเถื่อนแล้วเกิดความผิดพลาด"
คอลัมนิสต์จากเวบไซต์เมเนเจอร์ยังบอกด้วยว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าคำกล่าวแบบหนึ่งซึ่งคนทำหนังและซีรีส์เหล่านี้มักจะบอกกับสังคมเสมอมาก็คือ การทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม หรือกระทั่งว่าให้คติแง่คิดเพื่อการดำเนินชีวิตของวัยรุ่น รวมไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในการที่จะมองหรือทำความเข้าใจความเป็นอยู่และเป็นไปของลูกๆ หลานๆ ในยุคปัจจุบัน แต่มันก็น่าคิดว่า เจตนารมณ์อันนั้นมันสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นที่คาดหวังได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือว่าจริงๆ แล้ว มันกลับจะนำไปสู่ค่านิยมอะไรบางอย่างที่น่ากลัวกว่า...
"ถึงตรงนี้ ผมไม่อยากจะมองสื่อพวกนี้ในแง่ลบแต่เพียงด้านเดียวนะ ถึงแม้จะมีหลายคนบอกว่ามันเป็นเรื่องของตัณหาด้านมาร์เก็ตติ้งหรือกิเลสส่วนตัวของผู้สร้างอย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันสื่อสังคมของเราก็ก้าวมาไกลเกินกว่าจะเป็นเพียง “สื่อชี้นำ” หรือ “โฆษณาชวนเชื่อ” ทื่อๆ เหมือนยุคสงครามที่ตัดสินแทนผู้คนว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่เรามาถึงยุคที่ภาระของการคิดมันตกไปอยู่กับผู้ดูผู้เสพอย่างเต็มที่แล้ว เราอ่านหนังสือบรรทัดเดียวกัน เราอาจคิดหรือตีความได้ต่างกันเป็นโยชน์ หรือดูหนังเรื่องเดียวกัน แต่จับใจความสำคัญได้ต่างกัน อันนี้มีเยอะแยะ"
"และประเด็นก็คือ ผมนึกไปถึงบทสนทนาในหนังเรื่อง “มันนี่ บอลล์” ที่แบรด พิตต์ แสดง มันมีฉากหนึ่งในหนังที่ตัวละครสักตัวพูดว่า...กับเรื่องราวต่างๆ บางคนคิดได้ตอนอายุ 18 บางคนต้องรอถึง 48 แล้วค่อยคิดได้...คือสุดท้าย มันก็เป็นเรื่องของวุฒิภาวะของแต่ละคน ซีรี่ส์ละครหรือหนังก็เหมือนกัน มันสามารถนำพาไปสู่อะไรก็ได้ คือเรายอมรับนั่นล่ะว่าวุฒิภาวะของผู้สร้างนั้นมีอยู่ และผมเองก็เชื่อมั่นสามัญสำนึกในการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ผลิตผลงานพวกนี้อยู่แล้ว"
"แต่ก็อย่างที่บอก เรื่องเดียวกันนั้น บางคนคิดได้ตอนนี้ แต่บางคนอีกสามสิบปีถึงจะเข้าใจ ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้ ก็จะมีคนมาแย้งอีกแหละว่า เรามันพวกไดโนเสาร์ เพราะเด็กเดี๋ยวนี้เขาคิดได้กันหมดแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็ขออนุญาตแสดงความดีใจล่วงหน้าว่า นับจากนี้ไป เราคงไม่ได้เห็นคลิปประเภทนักเรียนตบโชว์ในโซเชียลมีเดียเพราะแย่งผัวแย่งเมียกันอีกแล้ว"
พร้อมกันนี้เจ้าตัวยังเปรียบเทียบกับหนัง/ซีรีส์ของต่างประเทศที่ดูเหมือนจะเปิดกว้างมากกว่ากับเรื่องในทำนองนี้ว่า..."มันค่อนข้างไม่แตกต่างกันมากครับ มันมีความล่อแหลมอยู่ในเรื่องราว มันมีคมของดาบสองด้านสองคมอยู่ในนั้น ที่เหลือก็ไปวัดกันที่คุณภาพของผู้คนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ลองยกตัวอย่างซีรีส์หรือหนังที่ให้อะไรๆ กับคนดูมากกว่าเรื่องจู๋หรือจิ๋ม ก็คงเป็นจากประเทศญี่ปุ่น"
"ตรงนี้ ผมจะไม่พูดถึงสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งตอบสนองคนดูในแนวทางที่ต่างออกไปและมันก็อยู่ในที่ทางที่มันควรจะอยู่ แต่ถ้าเป็นซีรีส์หรือสื่อบันเทิงที่ดังๆ ระดับประเทศของเขา เราจะพบว่ามันมีส่วนอย่างสำคัญในการหล่อหลอมความคิดของคนดูไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะวัยรุ่น หนุ่มสาว ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ซี่รีส์อย่างพวกโนดาเมะ (Nodame cantabile) หรือเรื่องเชนจ์ (Change) เราจะเห็นว่าเขาสามารถทำให้มันสนุกสนานตามสไตล์สื่อบันเทิงได้ ขณะเดียวกันก็ให้บทเรียนทางความคิดแก่คนดูได้ด้วย"
"อย่างบ้านเราจริงๆ ก็มีนะครับที่ผ่านมา ใช่ว่าไม่มี อย่างหนังพวกโหมโรงหรือแฟนฉันอะไรพวกนั้น ที่มันนำพามุมมองดีๆ จากผู้ผลิตไปถึงคนดู แต่ช่วงหลังๆ ก็อย่างว่า ถ้าไม่เกี่ยวกับจิ๋มหรือจู๋ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีแรงบันดาลใจพอที่จะทุ่มเทเวลาให้ทำออกมาได้ แต่ไม่ว่าจะยังไง สุดท้าย ผมพยายามมองเป็นเรื่องความหลากหลายมากกว่าครับ สื่อเรามีมากมายหลายหลากมาก และในยุคแบบนี้ ขณะที่สื่อทุกชนิดสามารถเข้าถึงและประกบเราระยะประชิดถึงเตียงนอน จะมีอะไรที่มากไปกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเอง สังคมเรามาไกลเกินกว่าจะไปเพ้อฝันถึงความรับผิดชอบจากคนอื่นแล้ว"