xs
xsm
sm
md
lg

ฮา ตลก สนุก ไม่ผูกพัน : ความลับนางมารร้าย/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


นับตั้งแต่ความสำเร็จของหนังจากค่ายจีทีเอชเรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ดูเหมือนจะปูทางให้กับหนังแนวผู้หญิงมีบทบาทเด่น หรือที่เรียกกันว่า “ชิค ฟลิค” (Chick Flick) ได้มีที่ยืนที่เด่นชัดขึ้นในตลาดหนังบ้านเรา จากนั้นก็มีหนังที่มุ่งเน้นความเด่นของตัวละครหญิงสาวออกมาอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น “30+ โสด On Sale”, 30 กำลังแจ๋ว มาจนถึง “คุณนายโฮ”

สำหรับคนที่ต้องการจะสืบค้นให้ลึกลงไปในหนังกลุ่มนี้และสนุกกับมันจริงๆ ก็คงต้องย้อนไปดูหนังเก่าๆ ที่ฮอลลีวูดเคยทำเอาไว้ ซึ่งถ้าจะให้ไล่ก็คงไม่หมด แต่หนังอย่าง My Best Friend’s Wedding เอย Bridget Jones’ s Diary เอย หรืออย่าง A Walk to Remember หนังพวกนี้อยู่ในกลุ่มชิค ฟลิค ที่ให้ความบันเทิงในการรับชมเป็นอย่างยิ่ง ความหมายของชิค ฟลิค จริงๆ ก็คงจะอยู่ที่การพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงในหลากหลายมิติ ไล่ตั้งแต่เรื่องการใช้ชีวิต วิธีคิด มุมมอง สุขทุกข์ความกังวลในเรื่องราวต่างๆ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์และความรัก

คุณสมบัติอันดับต้นๆ ที่หนังชิค ฟลิค ควรจะต้องมีก็คือ ความรู้ความเข้าใจในตัวตนของผู้หญิงระดับหนึ่ง ที่บอกว่าระดับหนึ่ง ก็เพราะถึงที่สุด ความเป็นผู้หญิงก็ใช่ว่าใครจะเข้าใจได้กระจ่างแจ้งแท้จริงได้ทั้งหมด เพราะแม้แต่ผู้หญิงเอง บางทีก็ยังต้องใช้เวลาเพื่อค้นหาความจริงที่อยู่ในใจของตน เหมือนกับบุษบาในภาพยนตร์เรื่องนี้

งานชิ้นใหม่จากค่ายเอ็ม 39 อย่าง “ความลับนางมารร้าย” สามารถจัดเข้าอยู่ในหมวดหมู่ของหนังชิค ฟลิค ได้อย่างไม่ขัดแย้ง หนังพยายามเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับวิถีของหญิงสาวร่วมสมัย (จำนวนหนึ่ง) ซึ่งเฮฮาปาร์ตี้กับชีวิตไปวันๆ ในแง่ความสัมพันธ์ก็เป็นไปในแบบรักสนุกแต่ไม่ผูกพัน ผ่านมาแล้วผ่านไป และเหนืออื่นใด จริตมารยามีเท่าไหร่ก็งัดออกมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตน

ผมว่าสิ่งหนึ่งซึ่งหนังนำเสนอได้ค่อนข้างเห็นภาพและสัมผัสสัมพันธ์กับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้หญิง ก็คือประเด็นเกี่ยวกับผู้ชาย ซึ่งเดี๋ยวนี้ เชื่อว่าความทุกข์ของผู้หญิงส่วนหนึ่งนั้น นอกเหนือจากจะต้องขาว สวย อึ๋ม ให้โดนใจชายแล้ว หูตาก็ต้องกว้างไกลด้วยว่าผู้ชายที่เล็งแลอยู่ในสายตาหรือแม้กระทั่งกำลังคบหาอยู่นั้น เป็นชายแท้จริงหรือเปล่า เพราะบ่อยครั้ง เก้งกวางที่มาในมาดของเทพบุตรสุดหล่อก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไอ้ที่ว่าแมนๆ กล้ามใหญ่ๆ จริงๆ แล้วไซร้ อาจจะแอบไปกินกันเอง

ความสงสัยในตัวของ “เหนือสมุทร” (ธีรเดช เมธาวรายุทธ) หรือการร้องห่มร้องไห้ราวกับสูญเสียญาติผู้ใหญ่ของสองสาวเพื่อนรักที่รู้ว่าสองหนุ่มที่ตนคบหา หันมากินกันเอง จึงไม่ใช่เรื่องแต่งที่ไร้แหล่งข้อมูล หากแต่มีต้นทุนทางความเป็นจริงรองรับอย่างยากจะปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เกาะติดก้าวตามและนำเสนอบริบทของสังคมชะนีเก้งกวาง กระดูกสันหลังของหนังจริงๆ นั้น ก็เป็นอย่างที่เชื่อเรื่องบอกไว้ นั่นก็คือการเล่นความร้ายของผู้หญิงที่ยากยิ่งผู้ชายจะเข้าถึง “มิน-พีชญา วัฒนามนตรี” กับบทของ “บุษบา” หญิงสาวในเมืองใหญ่ที่ชื่อก็สื่อความหมายไปในทาง “ลอยไปก็ลอยมา” เพราะการใช้ชีวิตสนุกสนานเฮฮากับเพื่อนพ้องในแก๊งอีกสองสามคนที่ต่างก็มีอุดมการณ์เหมือนกันในแง่การคบหากับผู้ชาย ซึ่งใช้ตรรกะ “รักสนุก แต่ไม่ผูกพัน” และด้วยเหตุนั้น โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายความรู้สึกนึกคิดและหัวจิตหัวใจของบุษบาเป็นอย่างยิ่ง คือการเข้ามาของผู้ชายอย่าง “เหนือสมุทร” ที่เพียงคบหากันไม่นาน เขาก็ขอคำว่าแต่งงานจากเธอ

หนังชวนให้คนดูติดตามว่า ผู้ชายแสนดี (ม้ากกกก...) อย่างเหนือสมุทรนั้น จะเอาหญิงร้ายอย่างบุษบาอยู่หรือไม่ และหญิงร้อยเล่ห์อย่างบุษบาจะหลงเหลือความอ่อนไหวพอจะอ่อนใจให้กับชายแสนดีได้หรือเปล่า ประเด็นของหนังก็จะวนเวียนกับการตั้งคำถามลักษณะนี้ โดยดำเนินไปท่ามกลางตัวเรื่องที่ไม่ซีเรียสจริงจัง แต่เน้นความเฮฮาสนุกสนานเป็นอารมณ์หลัก

ผมว่าความดีความชอบส่วนหนึ่งของหนัง ควรจะยกให้เป็นเครดิตของนักแสดงนำ อย่าง “มิน-พีชญา” เธอทำให้คาแรกเตอร์ของผู้หญิงร้อยเล่ห์มารยา ดูมีความน่ารักน่าหมั่นไส้ไปด้วยในขณะเดียวกัน เอาเป็นว่ามันไม่ได้เป็นบทที่สมจริงสมจังหรือมีตรรกะรองรับอะไรแน่นปึ้ก แต่ผมเชื่อว่าเธอทำให้คนดูยิ้มได้กับความร้ายของเธอ

ด้วยเหตุนี้ ขณะที่หวังว่าคนดูจะได้เห็นความลับความร้ายของผู้หญิงในแง่มุมไหนอย่างไรบ้าง เรื่องอารมณ์ขันและความตลกกลับเป็นสิ่งที่จับต้องได้ชัดกว่า มุกหรือแก๊กในหนังก็จะวนๆ เวียนๆ อยู่กับเรื่องเก้ง กวาง และชะนี ที่คนยุคนี้น่าจะเชื่อมโยงได้ไม่ยากนัก เพราะมันก็เป็นมุกที่ล้อๆ อำๆ ขำๆ กันอยู่ทั่วไป โทนภาพของหนังก็ออกไปในแนวๆ สดใสๆ มีชีวิตชีวาและขับเน้นบรรยากาศชวนฝันหน่อยๆ เหมือนพวกเอ็มวีหรือมิวสิกวิดีโอ มีความฟุ้งในภาพ และมีความเฟ้อในตัวเรื่อง

ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า ถ้าคุณคิดจะมองหาตรรกะหรือความสมเหตุสมผลจากหนังเรื่องนี้นั้น บางที นอนฝันเอารางวัลที่หนึ่ง น่าจะพบได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อพิจารณาที่ตัวบทหนัง เราจะพบความอีเหละเขละขละเหมือนรอยปะรอยชุนที่ไม่เนียนบนเนื้อผ้า อย่างเช่น เราอาจจะงงๆ ว่าทำไมนางเอกวิ่งไปสวนลุมในวันแต่งงาน บ้านนางเอกอยู่ไหน รวมไปถึง “วิกผม” ซึ่งจู่ๆ ก็ถูกขับเน้นให้เป็น “สัญลักษณ์” แทนการปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวละคร ซึ่งแน่นอนว่าตลอดทั้งเรื่องที่ผ่านมา เราแทบไม่ได้เห็นหนังปูทางไว้ก่อนเลย สุดท้ายก็กลายเป็นความเคอะๆ เขินๆ ที่ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้มีน้ำหนักได้

ขณะเดียวกัน เรื่องของตัวละคร ถ้าไม่นับรวมเหนือสมุทรที่ดูเป็นเทพบุตรเกินจริงไปมาก เพ้อฝันไปมาก (อย่างที่พอจะเข้าใจได้ว่า ผู้หญิงร้ายๆ ต้องหาใครมาเป็นคู่ตรงข้ามเพื่อการเปลี่ยนผ่าน) ผมว่าตัวละครที่มีปัญหามากที่สุด คือตัวที่รับบทโดยคุณภาวินี พูนพิพัฒน์ ที่ตอนต้นไม่ได้ปูอะไรมาหนักแน่นเพียงพอ แต่สุดท้ายกลับก้าวขึ้นมามีสถานะแข็งแรงขนาดนั้นในหนัง นี่คือความลักลั่นที่ต้องยอมรับว่าหนังทำให้เรามึนงงได้ไม่น้อย ครับ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวนักแสดง หากแต่เป็นเพราะบทที่ทำมา ไม่ได้ส่งเสริมตัวละครอย่างที่ควรจะเป็น

หนังแบบนี้ก็คงเหมือนกับผู้ชายในโลกของบุษบานั่นกระมังครับ คือ ดูเอาขำๆ สนุกๆ แต่ไม่ต้องรู้สึกผูกพันอะไรทั้งสิ้น น่าสังเกตนะครับว่า ที่ผ่านมา เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ ก็ทำหนังแนวๆ นี้มาแล้วหลายเรื่อง แต่แทบทุกเรื่องก็ออกๆ จะเหมือนกันไปหมด คือยังไม่ถึงวันที่เราจะสนุกและผูกพันไปด้วยได้ในขณะเดียวกัน



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก








กำลังโหลดความคิดเห็น