xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการดิจิตอลทีวี ขู่ “กสทช.” อีก 2 เดือนหากไร้เรตติ้ง งดจ่ายค่าสัมปทาน-ค่าโครงข่าย เลิกผลิตรายการทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาพันธ์ฯ รวมตัวกลุ่มผู้ประกอบการดิจิตอลทีวี คัดค้านราคาคูปอง 690 บาท จวก กสทช. ไร้ความจริงใจในการทำงาน ผลักภาระให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการจนขาดทุนยับ ทั้งที่ยืมเงินผู้ประกอบการถึง 5 หมื่นกว่าล้านบาท ขู่ให้เวลาอีก 2 เดือนหากยังไร้เรตติ้ง พร้อมรวมตัวไม่จ่ายค่าโครงข่าย ค่าสัมปทาน และเลิกผลิตรายการทันที

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการจัดการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ (โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล) จำนวน 24 ช่อง ซึ่งแนวทางของ กสทช. ที่เคาะราคาคูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอล ราคา 690 บาท ไม่สะท้อนข้อเท็จจริงของราคาในการผลิตเทคโนโลยีกล่องที่รองรับความคมชัดแบบ HD คอนเฟิร์มราคากลางของคูปองควรจะอยู่ที่ 1 พันบาท และควรออกคูปองให้เร็วที่สุด เพราะส่งผลแผนดิจิตอลทีวีทั้งประเทศล่าช้า

กระทั่งล่าสุดสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ร่วมด้วยผู้ประกอบการดิจิตอลทีวี สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมมีเดียเอเยนซี่ อาทิ ช่อง 3 HD, ช่อง PPTV, ช่อง ONE, ช่อง GMM CHANNEL, ช่อง 7 HD, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่อง ทรู โฟร์ยู, ช่อง 8 ก็ได้รวมตัวออกมาเคลื่อนไหว โดยได้นัดสื่อมวลชนแถลงข่าวเพื่อยื่นคัดค้านราคาคูปอง 690 บาท ณ ห้องเทวกรรมรังรักษ์ ชั้น 2 สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ระบุ กสทช. มีเงินอยู่ในมือถึง 5 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ทำไมผลักภาระให้ประชาชน อีกทั้งยังทำงานล่าช้า ไร้ความจริงใจ จนผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบขาดทุนยับ เตรียมยื่นเรื่องร้อง คสช. ต่อไป แนะหาทางแก้วิกฤตด้วยแผนประชาสัมพันธ์ และให้เป็นวาระแห่งชาติ ขู่อีก 2 เดือนหากเรตติ้งยังไม่มา พร้อมใจไม่จ่ายค่าโครงข่าย ค่าสัมปทาน และเลิกผลิตรายการทันที

โดย “จำนรรค์ ศิริตัน” นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ได้เผยว่า “ตอนนี้คูปองยังเงียบ เพราะความคิดเห็นของ กสทช. ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กสทช. ปัญหาที่แตกแยกออกไป แต่ผู้รับเคราะห์คือผู้ประกอบการอย่างเราๆ ก็อยากจะวิงวอนที่จะให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อที่จะช่วยกันผลักดันให้เราประกอบกิจการกันไปได้ ไม่ล้มหายตายจากกันไปเสียก่อน เพราะงานชิ้นนี้เป็นงานเปลี่ยนถ่าย ซึ่งถือเป็นมาสเตอร์พีซของเทคโนโลยีในประเทศนี้ โดยคณะนี้ ถ้าคุณผลักดันให้มันเกิดความสำเร็จได้เราก็มีความสำเร็จร่วมกันหมด นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะออกมาเคลื่อนไหว เพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนให้มากที่สุดเราจำเป็นต้องทำ คนอาจจะพูดว่าจะออกมาทำไม ยิ่งทำนี้ยิ่งได้แจกช้า ช้าดีกว่าไม่ถึง ช้าดีกว่าไม่ใช่ ถามว่าเงินห้าหมื่นกว่าล้านเป็นงบประมาณไม่ใช่น้อยๆ แต่ที่ทำออกไปแล้วเกิดการทุจริต คดโกง เกิดการไม่ถึงมือประชาชน หรือถึงมือประชาชนแล้วมันไม่มีค่า เป็นภาระให้เขาอีก เราจึงจำเป็นต้องเคลื่อนไหวครั้งสุดท้าย จะไปอยู่ที่ คสช. ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณา หันมาฟังบ้างว่าพวกเรามีปัญหาอะไร”

“ตอนนี้มีผู้ซื้อกล่องจริง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเขาก็จะรอคูปอง แต่คูปอง 690 ได้กล่องแต่ต้องเสียเงินเพิ่มซื้อเสาซื้ออะไร ก็จะมีคำถามตัวใหญ่ๆ เลยว่าเขาจะยอมลงทุนตรงนั้นไหม โดยเฉพาะต่างจังหวัด เขาหวังว่าเขาจะได้รับการสนับสนุนโดยที่ไม่ต้องเสียเงินมาก เมื่อไม่มีผู้ชมไม่มี สปอนเซอร์ก็ไม่เข้า เราก็ไม่มีรายได้ รายจ่ายวันละหลักล้าน แต่รายได้หลักหมื่น มันก็อยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ล่ะค่ะ ตอนนี้ยังอยู่ได้เพราะมีธนาคารให้กู้ แต่ถ้าอีก 2 เดือนธนาคารคงไม่ให้กู้แล้ว ผู้ประกอบการจะทำเช่นไร เราไม่อยากให้เกิดการล้มหายตายจากกันไป ฉะนั้นเราอยากจะออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เราได้เสนอไปแล้วว่าทุกอย่างสมบูรณ์ที่หนึ่งพันบาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงคือหนึ่งพันเก้าสิบเอ็ดบาท ราคานี้ผู้บริโภคไม่ต้องเดือดร้อนควักกระเป๋าสตางค์เอง”

นอกจากนี้ “ฉัตรชัย ตะวันธรงค์” จากช่องไทยรัฐ ทีวี ก็ได้กล่าวเสริมว่า “เราถลำลึกกับโครงการนี้มาเรื่อยๆ พอทำงานไปเราก็มีการตั้งคำถามกับการทำงานของ กสทช. ถึงความพอดีและไม่พอดีในการออกกฎออกระเบียบต่างๆ ยังไงเสียคูปองที่จะให้ประชาชนนั้นประชาชนก็ไม่ควรจะต้องไปแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่าย เพราะเงินนั้นได้ถูกเตรียมเอาไว้จากผู้ประกอบการมาแล้วในนาม กสทช. ถึงห้าหมื่นกว่าล้านบาท ฉะนั้นแล้วรัฐน่าจะทำการไปเพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายระบบนี้ราบรื่น และเร็วที่สุด ซึ่งทุกสายพร้อมพูดเป็นเสียงเดียวกันและก็คอนเฟิร์มแล้วว่าราคากลางของคูปองควรจะอยู่ที่ราคาพันบาท วันนี้เราอยากให้คูปองออกไปโดยเร็วที่สุด เรตติ้งก็ยังไม่โผล่ คอนเทนส์เราก็พยายามตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปเรื่อยๆ ใส่กันเต็มเกียร์แต่เรตติ้งไม่มา คนดูไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหารายการได้ มันก็เป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ปัญหาอยู่ที่ กสทช. ที่ท่านจะต้องเร่งให้เร็ว”

“เราออกอากาศกันครั้งแรกเมษา เราได้ใบอนุญาตมาตั้งแต่ ธันวาปีที่แล้ว เงินเราก็ได้ทยอยจ่ายให้กับ กสทช. ตามเงื่อนไขภายใต้ใบอนุญาตสิบห้าปี ท่านบอกให้เราจ่ายให้ครบภายในหกปีขั้นต่ำ ตอนนี้เรากังวลกันครับว่าเราอาจจะมีชีวิตอยู่กันไม่ถึงหกปีแรกถ้ามันยังเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างดีเลย์หมด อีกอย่างเรื่องของการประชาสัมพันธ์ต่างๆ อีก สารพัดปัญหาที่รุมผู้ประกอบการดิจิตอลอยู่ มีหลายท่านทำหน้าที่หมอดูทำนายว่ายี่สิบสี่ผู้ที่มีใบอนุญาตนั้นน่าจะมีผู้ที่มีลมหายใจอยู่กันไม่ครบ เสียชีวิตกันกลางคัน ไทยรัฐเราเองก็พยายามประคองกรรเชียงไปเรื่อยๆ ให้ทุกอย่างมันราบรื่น บอกเลยว่าตอนนี้มันหนักมาก แต่จะหนักน้อยกว่านี้ถ้า กสทช. มาตอบคำถามแล้วแก้ไขทุกอย่างให้เราอย่างเร็วที่สุด ในเมื่อเราไม่เคยผิดคำมั่นสัญญากับท่าน ฉะนั้นท่านก็อย่ามาผิดคำมั่นสัญญากับเรา”

“เขมทัตต์ พลเดช” จากช่อง PPTV ได้เผยต่อว่า “ที่ประมวลมาผมมองว่าปัญหามีเกิดขึ้นอยู่สี่ประเด็น ประเด็นแรกฝากไปถึง กสทช.ในเรื่องบริบทกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เขาบอกว่ามีแค่กำกับดูแล สนับสนุนส่งเสริมได้ด้วยหรือไม่ ที่เราเข้ามาในฐานะผู้ประกอบการยี่สิบสี่ช่อง ตามกฎหมายเขาบอกว่าจะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม กฎข้อนี้แค่ข้อแรกไม่รู้ว่าคุณสอบตกหรือสอบผ่าน ข้อที่สองวิธีการทำงานของกสทช. กับผู้ประกอบการยี่สิบสี่ช่อง เสมือนอยู่คนละด้าน ไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งจริงๆ แล้วทั่วโลกที่เขาเปลี่ยนผ่านจะต้องมาทำงานร่วมกันว่าแผนงานต่างๆ จะทำร่วมกันยังไง เขาใช้เวลาหนึ่งถึงสามปี แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า กสทช. ไม่ใส่ใจ สนใจ ผมไม่แน่ใจว่าท่านไม่จริงใจด้วยหรือเปล่า”

“ข้อที่สามแผนงานต่างๆ ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแผนงานการเปลี่ยนผ่าน แผนงานประชาสัมพันธ์ แผนงานโครงข่ายที่ไม่มีการสื่อสารไปถึงประชาชน ผู้ประกอบการได้เข้าใจ ข้อที่สี่จากสามข้อที่ผ่านมามันสะท้อนมาถึงข้อที่สี่ เราได้มาคุยกันสี่เดือนที่ผ่านมาต้นทุนของผู้ประกอบการ แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานให้กับ กสทช. อันที่สองเป็นค่ามัคซ์โครงข่ายประมาณเดือนละประมาณสิบห้าล้าน เฉพาะจุดนี้พันเจ็ดร้อยล้านไปแล้วต่อปี ยังไม่รวมค่าคอนเทนส์แต่ละช่อง ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านแน่นอน แล้วยังมีบิ๊กคอร์สค่าพนักงาน ค่าสตูดิโอ ค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ อีกมหาศาล ยังไม่รวมดอกเบี้ยของธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ให้กู้เยอะที่สุด ฉะนั้นธนาคารกรุงเทพไม่ออกมาเรียกร้องหรือเปิดประเด็นอะไรบางอย่าง เพราะจะทำให้ระบบเศรษฐกิจบางส่วนมีปัญหาแน่นอน เพราะวงเงินที่หมุนเวียนอยู่ตรงนี้มันหลายหมื่นล้าน จากสี่ประเด็นที่บอกผมเลยนำเสนอกับ กสทช. และเลยไปถึง คสช. ด้วยว่าควรจะมีแผนงานดังต่อไปนี้ หนึ่งแผนประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการประกอบการดิจิตอลทีวี เริ่มแต่ยุทธศาสตร์ กำหนดกรอบมาเลยว่าจะทำอย่างไร จะประชาสัมพันธ์อย่างไร ทั้งพรีและโพสต์ โครงข่ายตอนนี้มันผ่านไปแล้วห้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ประมาณสิบเอ็ดจังหวัด ภายในปีหน้าจะเกือบครบทั้งหมดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ตรงนี้คนเลยยังไม่เข้าใจกันเยอะมาก สองควรจะมีการส่งเสริมหรือกิจกรรมรณรงค์ให้เข้าถึงผู้ชมในส่วนภูมิภาคว่าอะนาล็อคทีวีคืออะไร ทีวีดาวเทียมคืออะไร ดิจิตอลทีวีคืออะไร ขณะนี้เรายังไม่เห็นความชัดเจนในการประชาสัมพันธ์ของแผนนี้เลย ควรจะต้องมีคณะทำงานการประชาสัมพันธ์ตรงนี้ด้วย”

“ข้อที่สองคือแผนงานสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอะนาล็อคสู่ดิจิตอล มีการตั้งคณะอนุกรรมการแต่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการกลับไปพูดเรื่องของตัวเองคือ เรื่องของ กสทช. ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเลย ฉะนั้นคณะอนุกรรมการจะต้องทำการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องคูปอง ประเด็นของโครงข่ายรับสัญญาณต่างๆ การติดตั้งเสาอากาศ และแผนงานกระตุ้นตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมาย”

“ข้อที่สามควรจะมีแผนการประชาสัมพันธ์การขยายตัวของโครงข่ายส่งเสริมความรู้เรื่องของสัญญาณการรับชม ในแผนจะต้องมีการทำเวิร์คช็อปร่วมกันด้วย สามแผนงานประชาสัมพันธ์ตรงนี้น่าที่จะจัดทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา แล้วเอาผู้ประกอบการเข้าไปมีส่วนร่วม เราต้องมีส่วนรู้เพราะผู้ประกอบการเราเป็นผู้จ่าย อย่าลืมว่า กสทช.บอกว่าเงินตรงนี้เป็นเงินของรัฐ แต่ไม่ใช่นะ เงินตรงนี้เป็นเงินของผู้ประกอบการที่ให้ กสทช.ยืมไปสำหรับไปกระตุ้นตลาด และดึงดูดผู้บริโภค ไม่ใช่เป็นรายได้ที่เกิดจากภาษี ฉะนั้นคงต้องไปทบทวนตั้งแต่ข้อแรกในบริบทที่เกี่ยวกับหลักการทางกฎหมายก่อนสำหรับ กสทช. ฉะนั้น ในการทำงานผู้ประกอบการควรจะต้องมีส่วนร่วมในทุกอิริยาบถการทำงานของกสทช.”

“ทำเป็นยุทธศาสตร์แต่งตั้งให้เป็นวาระแห่งชาติเลยก็ได้ ตั้งเป็นสองคณะ คือคณะยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนดิจิตอลทีวี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขวิกฤตดิจิตอลทีวี สี่เดือนนี้เรายังไม่เห็นเลยว่าจะไปทางไหน เงินลงทุนไปแล้วสี่เดือนน่าจะเป็นหมื่นล้าน ถ้าอีกสองเดือนครบหกเดือนเรตติ้งไม่มา ยี่สิบสี่ช่องจะรัดเข็มขัด ข้อที่หนึ่งไม่จ่ายค่ามัคสัญญาณ ข้อที่สองไม่จ่ายค่าสัมปทาน ข้อที่สามเราไม่ผลิตรายการ ผลกระทบก็คือโปรดักชั่นเฮ้าส์ทั้งหมด ดารา นักแสดง จะลดงานลง แล้วพวกนี้จะเดินขบวนไปบอกกับ กสทช. อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นไหมครับ อันนี้คือประเด็นที่ถึงเวลาวิกฤตแล้วเราคงจะดำเนินการ”




ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น