หลังจากไม่หือไม่อือ หรือกระทั่งส่ายหน้า กับหนังแอ็กชั่นฟอร์มใหญ่ๆ ที่ทยอยฉายมาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็น “ปอมเปอี”, “แฟรงเกนสไตน์” ไปจนถึงเฮอร์คิวลิส คิดว่าคอหนังแอ็กชั่นน่าจะได้มันส์กันแบบไม่รู้สึกเสียดุลการค้ากันสักที กับหนังภาคต่ออย่าง 300 : Rise of an Empire
ไม่น่าแปลกใจว่าเพราะอะไร คนดูหนังส่วนใหญ่จึงรอคอยการมาถึงของหนังเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่ 300 ทำไว้ในภาคแรกนั้น มันกลายเป็นภาพจำสำหรับคนดูที่กาลเวลามิอาจลบเลือนได้ กับนวัตกรรมด้านงานภาพซึ่งเป็นหลักไมล์ใหม่ให้กับโลกภาพยนตร์ ชนิดที่ทำให้หนังหลายต่อหลายเรื่องพยายามที่จะเป็น เช่นเดียวกันกับ Love Actually ที่มีหนังยุคหลังๆ เดินตามต้อยๆ
นอกจากงานด้านภาพที่นับเป็นลายเซ็นเด่นชัด...นอกจากอกล่ำๆ กล้ามแขน และซิกแพ็ค อีกสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นภาพติดตาสำหรับ 300 ก็คือความเลือดสาดของฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ เลือดเป็นเลือด เชือดเป็นเชือด คอที่หลุดจากบ่าเพราะคมดาบ ถูกถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี ด้วยเทคนิคการย้อมสีภาพกลับช่วยทำให้ภาพไม่ดูน่าสยดสยองเหมือนกับเวลาที่เราดูหนังประเภทฆ่าหั่นศพ มันคือการเดินทางมาพบกันระหว่าง “ศิลปะ” กับ “ความตาย” ที่พอเหมาะพอดี ก่อให้เกิดเป็นความเลือดสาดที่สวยงาม พอๆ กับ “ความตายที่งดงาม” ซึ่งเป็นอุดมคติที่ปลุกเร้าให้เหล่าสปาร์ตันลุกฮือขึ้นมาต่อสู้กับศัตรูผู้รุกราน ในหนังภาคที่หนึ่ง
เนื้อเรื่องของ Rise of an Empire ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นแห่งการรวมตัวกันของชาวกรีกในการปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดจากการรุกรานของกษัตริย์เซอร์เซสแห่งเปอร์เซีย ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องในหนังภาคสอง ดำเนินไปคู่ขนานกับเรื่องราวในภาคแรก นั่นหมายความว่า ขณะที่ลีโอไนดาสนำพาผองเพื่อนสปาร์ตันไปทำศึกที่ภูเขาในหนังภาคแรก เรื่องราวการต่อสู้ของธีมิสโธคลิสแห่งเอเธนส์ก็กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นเช่นกัน โดยมีน่านน้ำเป็นสนามรบ
มากกว่าการเป็นหนังโชว์วิช่วลเอฟเฟคต์เจ๋งๆ Rise of an Empire ดูจะไปได้ไกลกว่าหนังภาคแรก ในแง่เนื้อหาเรื่องราวที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ท่ามกลางศึกสงคราม เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ซึ่งมีมิติของตัวละคร หนังให้เหตุและผลตลอดจนแรงจูงใจแห่งพฤติกรรมของตัวละครตัวนั้นๆ ได้ว่าเพราะอะไร พวกเขาจึง “เป็น” และ “กระทำ” แบบนั้น และทำให้เราได้เข้าใจว่า แต่ละคนก็มีเหตุและผลแห่งการกระทำ เป็นของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ในภาคที่หนึ่ง เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเพราะอะไร กษัตริย์เซอเซสผู้ร่างกายใหญ่โตจึงดูโหดร้ายอำมหิตถึงเพียงนั้น แต่หนังภาคนี้จะเฉลยถึงที่มาที่ไปอันเป็นมูลเหตุแห่งความอำมหิต เช่นเดียวกับอีกหนึ่งตัวละครที่รับบทโดยอีวา กรีน “อาร์ทีมีเซีย” หญิงสาวชาวกรีกที่ไปเข้ากับฝ่ายเปอร์เซีย หนังก็ไม่ได้ละทิ้งเหตุผลต้นตอว่าเพราะอะไร คนกรีกคนหนึ่งจึงหันคมดาบกลับมาประหัตประหารคนบ้านเดียวกัน
ความแอ็กชั่นตามรูปแบบแนวทางของหนัง ไม่มีอะไรน่าผิดหวังอยู่แล้วล่ะครับ แม้เมื่อเทียบกับภาคแรก ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างมากนัก นอกไปจากฉากการต่อสู้ที่เปลี่ยนมาบู๊กันกลางน่านน้ำ แต่ก็อย่างที่บอก ถ้าหนังภาคนี้จะมีภาษีเหนือกว่าหนังภาคหนึ่ง ก็คงเป็นเรื่องของเนื้อหาและตัวละครล้วนๆ ตัวละครมีมิติ เรื่องราวมีแง่มุม และย่อมไม่ใช่การตีขลุมแบบไร้เหตุผล ถ้าใครสักคนจะบอกว่า นี่คือหนังการเมืองเรื่องหนึ่ง
อันที่จริง หนังอย่าง 300 นั้น มีเชื้อไฟแห่งความเป็นการเมืองให้เราสัมผัสมาแล้วในภาคแรก จะกล่าวว่าเป็นการเมืองระหว่างประเทศที่จบลงด้วยการทำสงครามก็ไม่ผิด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าภาคที่สองทำให้หนังเด่นชัดกระจ่างตายิ่งขึ้นกับความเป็นสงครามการเมือง ซึ่งไม่ได้จำเพาะแค่เพียงการใช้กำลังพลและประจันประจญกันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ หากแต่ทับซ้อนอยู่ด้วยชั้นเชิงเหลี่ยมเล่ห์ที่ลึกล้ำและเลวร้าย
โดยจุดศูนย์กลางของเหลี่ยมเล่ห์ที่ว่านี้ ไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์เซอเซสซึ่งมีบทเพียงน้อยนิดในภาคนี้ (แต่หนังจะเอาไปใช้แบบเต็มๆ แน่นอนในภาคต่อไป) เพราะบทที่เป็นเสาหลักของเรื่องคืออาร์ทีมีเซีย หญิงสาวผู้บัญชาการทัพเรือแห่งเปอร์เซีย เธอทำให้ภาพความคิดแบบหนึ่งปรากฏชัดขึ้นมา นั่นก็คือ ไม่ว่าสงครามครั้งไหน ขณะที่ผู้ชายพากันใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันจนเลือดอาบ แต่อิสตรีผู้มากมีเสน่ห์ มักอาศัยเหลี่ยมเล่ห์แห่งเรือนร่างและมารยาเย้ายวน ก่อกวนเพื่อเอาชัย
“สงครามกลางน้ำ” หรือจะเร้าใจ เท่า “สงครามน้ำ”?
300 ภาคสองเป็นหนังที่ดูสนุกครับ สนุกไปกับหนังแล้วก็มานั่งคิด อืมมม...อิสตรีอย่างอาร์ทีมีเซีย ไม่เคยหมดไปจากโลกจริงๆ นะ