xs
xsm
sm
md
lg

เจ๊งแน่!! ฟันธงทีวีดิจิตอลไทยไปไม่รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เต็มอัตราสำหรับโครงการทีวีดิจิตอลของทีโอทีที่หวังจะยกระดับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในบ้านเรา โดยการเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณจากอะนาล็อกที่ใช้มาตลอดมาเป็นระบบดิจิตอลที่นอกจากจะได้ภาพและเสียงที่คมชัดยิ่งขึ้นแล้วก็ยังจะมีช่องสัญญาณที่เพิ่มจาก 6 เป็น 24 ช่องสัญญาณ โดยมีบริษัทที่ชนะการประมูลที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ทั้งหมด 17 บริษัทแบ่งเป็นผู้ผลิตรายเก่า 3 บริษัทและผู้ผลิตรายใหม่ถึง 14 บริษัท ซึ่งหลายคนยังเป็นกังวลอยู่ว่าอนาคตของทีวีดิจิตอลในไทยนั้นจะรุ่งโรจน์หรือร่วง เพราะผู้บริหารทีโอทีอย่าง “ศุภชัย ตั้งวรชัย” ก็เคยออกมายอมรับว่าทีวีดิจิตอลเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปสำหรับสังคมไทยที่ยังไม่ได้ตระเตรียมอะไรให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่ขนาดนี้ พูดง่ายๆ ว่าโปรเจกต์นี้มีโอกาสแป้กสูงมาก

ลงทุนก่อร่างสร้างโปรเจกต์ทีวีดิจิตอลและเข็นจนเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่างแม้จะทุลักทุเลสำหรับทีโอที ทั้งที่ในใจยังหวั่นๆ ว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่าเพราะว่าสังคมไทยยังมีหลายอย่างที่ไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างแบบนี้ แต่จนแล้วจนรอดมหกรรมการประมูลสัมปทานช่องแบ่งเค้กของบรรดากลุ่มธุรกิจก็ผ่านพ้นไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในบ้านเราก็กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว

ประการแรก พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากในอดีตมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่คนส่วนใหญ่ยึดกรอบสี่เหลี่ยมของโทรทัศน์เป็นปัจจัยหลักในการเสพข้อมูล ข่าวสาร สาระ และความบันเทิงแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่หลายคนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองใหญ่มีพฤติกรรมนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น ทั้งเสพข่าวสาร สาระ และความบันเทิงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และเลือกชมรายการที่ตัวเองสนใจ ในช่วงเวลาที่ตัวเองสะดวกผ่านยูทิวบ์โดยไม่จำเป็นต้องง้อโทรทัศน์

เมื่อระบบการให้บริการอินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่กระจายไปสู่เขตอื่นๆมากขึ้น คนทั่วไปสามารถชมโทรทัศน์ผ่านคอมพิวเตอร์ ผ่านสมาร์ทโฟนที่พวกเขาพกพาไปดูได้ทุกที่ในบ้าน มิหนำซ้ำยังมีผู้ผลิตคอนเทนต์ดีๆ ป้อนอินเทอร์เน็ตทีวีโดยตรงโดยไม่ง้อสัมปทานรัฐ เช่นนี้แล้วก็น่าคิดว่าอนาคตของดิจิตอลทีวีจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงไปหรือเปล่า

เนื่องจากการรับชมโทรทัศน์ในรูปแบบดิจิตอลนั้น ผู้บริโภคจะต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ให้เป็นระบบดิจิตอลนั่นหมายความว่าโทรทัศน์แบบเก่าที่รับสัญญาณแบบอะนาล็อกจะมีค่าเป็นเพียงกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ หลังจากที่การแพร่สัญญาณในระบบอะนาล็อกถูกยกเลิกไปทั้งหมดในอีกห้าปีข้างหน้า ภาระจึงตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคตาดำๆ ซึ่งถ้ายังต้องการจะเสพข้อมูล ข่าวสาร และความบันเทิงผ่านโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่สถานีออกอากาศก็คงต้องควักกระเป๋าซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่หรือซื้อกล่องรับสัญญาณเพิ่มกันเอง

นั่นเท่ากับว่าเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคเต็มๆ ในขณะที่มีการปูดไอเดียที่ว่าอาจจะมีการแจกกล่องรับสัญญาณฟรี ซึ่งเอาเข้าจริงก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะว่าการแจกของฟรีแบบไม่มีลิมิตจะเป็นการผลาญเงินไปกับโปรเจกต์ได้ไม่คุ้มเสียอย่างทีวีดิจิตอล ท้ายที่สุดแล้วการแจกกล่องรับสัญญาณอาจจะเข้าข่ายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้

ในมุมของผู้ผลิตที่กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วยในครั้งนี้ก็น่าสนใจ เพราะมีผู้ผลิตที่มาจากสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก ทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าอาจจะถึงยุคที่เปลี่ยนผ่านจากสิ่งพิมพ์ที่สื่อสารด้วยตัวหนังสือไปสู่การสื่อสารด้วยภาพและเสียงที่เหมาะกับผู้คนในยุคที่สมาธิสั้นและถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่ายเช่นนี้ ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหม่เจ้าอื่นๆ นอกเหนือจากเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็มีทั้งค่ายเพลงและผู้ผลิตอิสระอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับสถานีดั้งเดิมอย่างช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 ถือเป็นผู้ผลิตเจ้าเก่าที่ชนะการประมูลในครั้งนี้ โดยช่อง 3 ได้ช่องสัญญาณมากที่สุดคือ 3 ช่อง ในขณะที่ช่อง 9 ได้ 2 ช่อง และช่อง 7 ได้มาเพียงหนึ่งช่องเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าในมุมของผู้ผลิตนั้น จะมีหลายช่องที่ไม่อาจยืนหยัดต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้มข้นได้ โดยเฉพาะผู้เล่นรายย่อยที่จะไม่มีแหล่งเงินทุนจากโฆษณาไหลเข้ามาในปริมาณที่มากที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้ เนื่องจากปริมาณช่องกระจายตัวออกไป เม็ดเงินที่ใช้ในการโปรโมตสินค้าและบริการย่อมจะต้องกระจายออกไปมากกว่าเดิม และนั่นก็หมายถึงว่าค่าโฆษณาที่สถานีเคยได้รับจะลดน้อยลงอย่างแน่นอน

ส่วนผู้ผลิตเจ้าเก่าที่น่าเป็นห่วงอันดับต้นๆ คือช่อง 7 เพราะช่อง 7 นั้นชนะการประมูลแค่เพียงหนึ่งช่องสัญญาณ หมายความว่าจะไม่สามารถแตกไลน์การผลิตรายการออกไปได้เหมือนช่อง 3 ที่ชนะการประมูลถึง 3 ช่องสัญญาณทำให้ในอนาคตช่อง 3 จะให้บริการออกอากาศในระบบอะนาล็อกแบบเดิมควบคู่ไปกับการทดลองผลิตคอนเทนต์แปลกๆใหม่ๆ แพร่ภาพในช่องสัญญาณโทรทัศน์ความละเอียดสูง (high definition) ไปด้วย ซึ่งจะเพิ่มฐานผู้ชมและเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยช่องสัญญาณ 3 /2 3/3 ที่อยู่ในกำมือ ในขณะที่ช่อง 7 ซึ่งมีเหลือแค่เพียงช่องเดียวจำเป็นต้องคงรูปแบบการผลิตเดิมๆ ไว้นั่นคือมีข่าว ละคร และรายการต่างๆ อัดแน่นอยู่ในผัง หนึ่งวัน ไม่สามารถเพิ่มรายการใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นมาแข่งกับช่อง 3 ที่มี 3 ช่องสัญญาณ และช่อง 9 ที่มี 2 ช่องสัญญาณได้

ในขณะที่ผู้ผลิตมีการแข่งขันที่สูงขึ้นนี้ ก็น่าสนใจว่าในมุมของผู้บริโภคจะง้อทีวีดิจิตอลขนาดไหนแน่นอนว่าในเขตต่างจังหวัดหรือกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตนั้น โทรทัศน์ก็ยังเป็นสื่อหลักสำหรับพวกเขาอยู่ดี และนั่นก็คือกลุ่มเป้าหมายหลักของทีวีดิจิตอลในอนาคต คู่แข่งขันของทีวีดิจิตอลก็คือเคเบิลทีวีทั้งหลายที่ให้บริการในลักษณะจ่ายครั้งเดียวดูฟรีตลอดชีวิต ซึ่งก็ทำให้ผู้บริโภคได้ดูฟรีทีวีที่คมชัดกันอยู่แล้ว เมื่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์เปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อกสู่ดิจิตอล ฟรีทีวีทั้งหลายก็จะย้ายตัวเองสู่ระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นแปลว่าสถานีโทรทัศน์ที่เคเบิลทีวีเคยรับสัญญาณได้ก็จะหายไป เท่ากับว่าเคเบิลทีวีก็จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เปลี่ยนกฎกติกาเช่นนี้

อย่างไรก็ดีก็ถือว่ามหกรรมปฏิวัติอุตสาหกรรมโทรทัศน์ครั้งนี้น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้รากฐานที่เปราะบาง จนแทบจะมองไม่เห็นอนาคต การเตรียมงานโดยเฉพาะในส่วนของการประมูลก็มีการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกเพราะไม่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ระบบการเสพโทรทัศน์ไปจนถึงความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อทีวีดิจิตอล แต่เมื่อเข็นกันจนการประมูลสำเร็จลุล่วงมาได้ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าทีวีดิจิตอลในไทยจะไปได้ไกลขนาดไหน ที่แน่ๆ เราขอคาดการณ์โดยไม่ต้องอาศัยหมอดูที่ไหนมาฟันธงว่างานนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
.........................................

ที่มานิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 227 วันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2557



กำลังโหลดความคิดเห็น