หลังจากเพลิดเพลินเจริญใจไปกับหนังต่างประเทศมาหลายสัปดาห์ ที่แต่ละเรื่องก็มีคุณค่าน่าจดจำด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Prisoners และ Gravity มาจนถึง The Butler ทำให้ผมยังไม่ได้พูดถึงหนังไทยเรื่องหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ดังมาก แต่จัดได้ว่า “ดี” มากๆ เรื่องหนึ่ง... “รักโง่ๆ” คือหนังเรื่องนั้น
นี่คือผลงานการกำกับของคุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ซึ่งมีผลงานการันตีฝีมือมาแล้วจำนวนหนึ่ง และเชื่อว่าน่าจะเป็นความชอบของคนดูจำนวนไม่น้อย ทั้ง “ไอ้ฟัก” (ที่ดัดแปลงจากนิยาย “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ) และ “มะหมา 4 ขาครับ” รักโง่ๆ หรือ Love Syndromeเดินมาในแนวทางของหนังที่เล่าถึงความรักหลากคู่หลายวัย และคงคล้ายๆ กับ Love Actually ที่คนดูสามารถเลือกประทับใจกับเรื่องรักของคู่ใดก็ได้ และเป็นไปได้มากเหลือเกินที่จะประทับใจไปกับเรื่องของทุกคู่ เพราะความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ แต่ละคู่ล้วนแล้วแต่มีความน่าประทับใจในแบบของตัวเอง
แต่ไม่ว่าเรื่องราวของแต่ละคู่จะแตกต่างกันออกไปอย่างไรในแง่รายละเอียด สุดท้ายแล้ว ประเด็นของแต่ละคู่ก็วิ่งไปสู่ปลายทางคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ การพาคนดูร่วมกันเดินทางไปค้นหาคำตอบของคำถามว่าความรักนั้น แท้จริงแล้วคือสิ่งใดกันแน่ ซึ่งในแง่นี้ ผมคิดว่า หนังได้ให้แนวทางคำตอบซึ่งครอบคลุมพอสมควร แก่คนดูตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คือ การนำเอาหนังเก่า อย่าง “เพื่อน-แพง” มาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของหนัง โดยที่ถ้าใครรู้จักกับหนังวรรรกรรมเรื่องนี้ (กำกับโดย คุณเชิด ทรงศรี) ย่อมจะจดจำได้ว่า ในหนังเรื่องดังกล่าว มีประโยคที่ถือเป็นอมตะและสั่นสะเทือนความรู้สึกลึกซึ้งกินใจ ซึ่งได้แก่ตอนที่ตัวละคร “แพง” กล่าวกับ “ลอ” ที่เธอแอบรักว่า “ฉันไม่ได้รักพี่ลอ เพราะพี่ลอไม่มีเจ้าของ ไม่เพราะเหตุอะไรทั้งนั้น ฉันรักพี่ลอ เพราะฉันเกิดมาเพื่อรักพี่ลอคนเดียว”
คนแรกๆ ที่น่าจะกระจ่างแจ้งในความจริงข้อนี้ก่อนใคร ก็คือ “โจ” (ยิปซี-คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์) สาวมหาวิทยาลัยผู้ไม่เคยเชื่อว่าความรักจะจำเป็นอย่างไรกับชีวิต เธอพร้อมจะหัวเราะขบขันใครก็ตามที่กำลังหัวปักหัวปำกับความรัก และอย่าดูหนังรักแล้วร้องไห้ให้เธอได้เห็นเป็นเด็ดขาด เพราะเธอจะแซวคุณตั้งแต่ชาตินี้ไปจนถึงชาติหน้าได้เลย กระนั้นก็ดี เหมือนกามเทพต้องการจะทดสอบอะไรบางอย่าง โจกำลังมีไอเดียในการนำ “เพื่อน-แพง” มาทำเป็นละคร โดยมีหนุ่มต่างคณะ (เลโอ โซสเซย์) มารับบทพระเอก ผมคิดว่า เทคนิคของหนังในการเล่าเรื่องของโจนี้ มีความดีในแง่ที่สามารถใช้ความเป็นละครสื่อสะท้อนถึงความรู้สึกอันซ่อนอยู่ลึกๆ ของหญิงสาวผู้ไม่เชื่อในความรัก
...ในความรัก มีทั้งปรารถนาและทะเยอทะยานที่จะได้มาเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นไปได้ยาก ก็ยังอยากที่จะรัก คล้ายกับตัวละครอีกหนึ่งตัวในหนัง อย่าง “เปตอง” เด็กหนุ่มมัธยมลูกพี่ลูกน้องของโจซึ่งแอบรักแอบชอบ “อิง” มานาน แต่อิงนั้นเป็นทอมและมีคนรักอยู่แล้ว ความหวังของเปตองที่จะได้ครอบครองหัวใจของอิง จึงต้องพึ่งพิงหนังสือฮาวทู “วิธีเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” ซึ่งเด็กหนุ่มนำมาปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เรื่องราวในส่วนของตัวละครตัวนี้มีสีสันความสนุกเต็มที่ในแบบรักวัยเยาว์ เปี่ยมความคาดหวัง และความไร้เดียงสา ซึ่งเชื่อมั่นเป็นวรรคเป็นเวรว่า เรื่องของหัวใจหรือความรัก จะเป็นไปตามสูตรสำเร็จซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ
...ในความรัก มีทั้งโหยหาและรอคอย เหมือนกับอาร์ม (โตโน่ เดอะ สตาร์) ที่รอการกลับมาของ “พลอย” หญิงสาวที่เขาหลงรักตั้งแต่เรียนมัธยม ขณะที่โจแซวเขาว่าโง่งมงายกับสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่เขาก็รอและรอ
และ...ในความรักของใครหลายคน ก็คงจะมีบ้าง ที่เมื่อรักวิ่งมาชน ก็แทบจะไม่เป็นผู้เป็นคนกันไปเลย เช่นเดียวกับ “พริกแกง” (ธิติรัตน์ โรจน์แสงรัตน์) สาวออฟฟิศที่เหมือนถูกกามเทพสะกิดด้วยการส่งคนหนุ่มรูปงามเข้ามาในชีวิต แม้การสะกิดของเพื่อนที่เป็นเกย์จะพยายามส่งเสียงว่าหนุ่มคนนั้นเป็นเก้งกวาง แต่เธอก็ยังไม่มีทางเชื่อ
ผมเคยได้ยินใครสักคนพูดว่า เวลาที่เราตกหลุมรักใครสักคน เรามักจะปิดตาข้างหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะจริงสำหรับหลายคน และถ้าการปิดตาข้างหนึ่งสามารถหมายถึงอาการ “โง่ๆ” ได้ เรื่องของพวกเขาและเธอในหนัง ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่อาการแบบนั้น เมื่อมาอยู่ในหนัง “รักโง่ๆ” มันกลับไม่ได้ดู “โง่” แม้แต่น้อย
อาจจะไม่ได้ทำให้ใครคนดู “ฉลาดขึ้น” ในเรื่องความรัก แต่เชื่อได้ว่า งานชิ้นนี้จะทำให้เข้าอกเข้าใจในความรักได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย กับความเป็นหนัง “รักโง่ๆ” มีมวลสารองค์ประกอบที่ทำให้สนุกได้ตั้งแต่จนจบโดยปราศจากความน่าเบื่อหน่าย ตัวละครทุกตัวผ่านการออกแบบมาอย่างมีสีสัน และเราอาจจะพบว่า แต่ละคนอาจมีความเหมือนหรือใกล้เคียงกับบุคคลรอบๆ พื้นที่ชีวิตจริงของเรา หรือกระทั่งว่า พวกเขาและเธอ อาจจะเป็น “ตัวเรา” เอง ในบางขณะของชีวิต
ในรายการวิวไฟน์เดอร์ ทางช่องซูเปอร์บันเทิง “อลิซ ทอย” พิธีกรสาวสวยขวัญใจแฟนรายการ ถามว่า หนังเรื่องนี้เหมาะกับคนวัยไหนมากที่สุด คงเพราะเห็นว่าเป็นหนังรัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเฉพาะเจาะจงกลุ่มวัยรุ่น ผมตอบว่า “รักโง่ๆ” เหมาะสมกับทุกวัยนั่นแหละครับ โดยเฉพาะวัยที่ยังรื่นรมย์กับการมีความรัก หนังใช้ตัวละครสามสี่คู่ที่ครอบคลุมตั้งแต่เด็กมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน และทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะว่ากันอย่างถึงที่สุด เราทุกวัยต่างก็มีโอกาส “ไม่ฉลาดในเรื่องรัก” กันได้ทั้งนั้น รักโง่ๆ จึงไม่ได้มีความหมายในเชิงจะด่าว่าใคร ว่าเป็น “ชายโง่” หรือ “หญิงโง่” ในจักรวาลของความรัก เพราะแต่ละคนต่างก็มี “เหตุผลแห่งรัก” เป็นของตนเองที่อาจจะมีปลายทางเป็นสุขสมหวังหรือไม่ก็ได้
“ความรักไม่ใช่การเป็นเจ้าของ รักไม่ได้สมหวังเพราะมีรักตอบ แต่รักมันสมหวังในตัวของมันเอง” ถ้อยคำนี้ของตัวละครบางตัวในเรื่อง อาจฟังดูเหมือนประโยคของพวกอกหักรักคุด แต่ถ้าหลุดพ้นไปจากจุดที่เป็นภาพฝันแล้วเผชิญหน้ากับความจริง ก็จะพบความงามและความหมายอันแท้จริงของประโยคดังกล่าว
ความงามและความสุขของความรักนั้นสามารถมีได้หลายแบบ และแบบที่หนังนำเสนอ อาจจะเป็นแบบที่ต้องอาศัยการก้าวผ่านอะไรบางอย่าง ถึงจุดนี้ ผมนึกถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งในหนังซึ่งมีบทบาทไม่มากนัก แต่กลับแสดงทัศนียภาพอันสวยงามของความรักได้อย่างน่ารัก นั่นก็คือบทของ “แจ็ค-กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา” ที่แสดงเป็นเพื่อนของเปตอง
บทของเขาทำให้เรารู้สึกว่า ขณะที่คนอื่นๆ พยายามดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อได้รักมาครอง เขากลับนั่งมองความรักนั้นเติบโตอยู่ในใจตนอย่างไม่กระวนกระวาย แน่นอนว่า มันอาจจะไม่ใช่สำหรับใครที่คิดว่า ถ้ารักแล้วชอบแล้วก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา แต่บางที การเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ พร้อมจะกระเถิบเข้าหาถ้าเขาคนนั้นต้องการ และยินดีที่จะถอยกลับออกมา ถ้าเขาคนนั้นอยากอยู่เงียบๆ ก็เป็นความสุขในรักรูปแบบหนึ่ง
รักโง่ๆ คือเรื่องงามๆ ของความรัก จะเจ็บปวด จะงดงาม ก็ความรัก...