ในกลุ่มมุสลิมด้วยกัน “รุสนี” ไม่ใช่ชื่อที่แปลกใหม่ และตรงกันข้าม... ในแถบคาบสมุทรมลายู ไล่ตั้งแต่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเรื่อยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย จดดินแดนที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร “รุสนี” กลายเป็นชื่อโหลเสียด้วยซ้ำไป!
“มนตรี ศรียงค์” ก็ไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่บนถนนหนังสือ บ่อยครั้งที่หนุ่มไทยพุทธเชื้อสายจีน เจ้าของฉายา “กวีหมี่เป็ด” คนนี้ เขียนบทกวีเล่าเรื่องรอบตัวด้วยชุดคำแสนเรียบง่าย ทว่ามันสะท้อนวิถีชีวิต วิธีคิดและวิธีมองโลกออกมาได้อย่างแยบยล “โลกในดวงตาข้าพเจ้า” หนังสือรวมบทกวีที่ทำให้เขาสวมหมวกอีกใบในฐานะ “กวีซีไรต์ ประจำปี 2550” ยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เขาเหน็บแนม กระทบกระเทียบ และเสียดสีความเป็นไปในสังคมนี้ได้จัดจ้าน ขณะเดียวกันมันก็มิได้ดูเกินจริงสักนิดเมื่อคิดตาม
ขณะที่สถานการณ์ไฟใต้ยังร้อนระอุอยู่ตรงดินแดนปลายด้ามขวาน ชายหนุ่มผู้เติบโตขึ้นท่ามกลางชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และไปมาหาสู่กับชาวไทยพุทธ รวมทั้งมีเพื่อนเป็นชาวไทยมุสลิม เลือกที่จะหยิบยกความหวาดหวั่นอกสั่นขวัญแขวนของ “มุสลิม” ในพื้นที่ที่เกิดเหตุมาบอกเล่า และเป็นครั้งแรกที่เขาเลือกเล่าเรื่องราวของมุสลิมออกมาในรูปแบบนวนิยาย ซึ่งตั้งชื่อเรื่องตามตัวละครเอกว่า “รุสนี”
ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนถึงมุสลิมในเรื่องสั้น “หมี่เป็ดไรเดอร์” ซึ่งมาจากการขุ่นข้องหมองใจที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้อย่างลุล่วง ส่วนบทกวี “แรมนราฯ” ที่เหมือนเป็นภาคต่อของนวนิยายเรื่อง “รุสนี” นั้น ก็เป็นการอธิบายความรู้สึกของคนรู้จักซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น และอกสั่นขวัญแขวนมาตั้งแต่ปีแรกของความไม่สงบ ในขณะที่ “ชื่นเช้า” กวีอีกบทเขียนขึ้นเนื่องจากหน่วยงานหนึ่งร้องขอเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตของคนชายแดนใต้ และแน่นอนว่างานทุกชิ้นที่เขียนขึ้นนั้นไม่ได้รู้สึกต่างไปจากตอนที่เขียนเรื่อง “รุสนี” เลย
เมื่อมีโอกาสประจวบเหมาะ และ “กวีหมี่เป็ด” ว่างเว้นจากการขายบะหมี่เป็ด เราจึงได้สอบถามเขาถึงที่มาที่ไปของ “รุสนี” นวนิยายปกสีน้ำเงินที่บอกเล่าข้อมูลอีกด้านจากชายแดนใต้ ซึ่งหลายคนให้ความเห็นตรงกันหลังจากอ่านจบว่า “รู้สึกเจ็บร้าวในอก” และสะทกสะท้านไปกับชะตากรรมที่ตัวละครต้องเผชิญ
ก่อนหน้าจะเขียน “รุสนี” ใช้ชีวิตคลุกคลีกับมุสลิมมากน้อยแค่ไหน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมใน อ.หาดใหญ่ จากสายตาของมนตรี ศรียงค์ เป็นอย่างไรบ้าง?
มนตรี ศรียงค์ : ผมเป็นเด็กที่เกิด และเติบโตใน อ.หาดใหญ่ มาโดยตลอด หาดใหญ่เป็นพื้นที่หลากหลาย รากเหง้าแท้ๆ ของหาดใหญ่เป็นชุมชนไทย โดยมีเชื้อสายจีนเข้ามาปะปนอยู่มากในภายหลัง และมีมุสลิมอยู่ไม่น้อยเลย ดังนั้นผู้คนจึงเห็นความแตกต่างกันจนคุ้นชิน จนรู้สึกว่าไม่แตกต่างอะไรกันนัก แค่เห็นคนจีนไหว้เจ้า แห่พระ เห็นมุสลิมไปละหมาด ไม่กินหมู เห็นไทยทำบุญเดือนสิบ จนเป็นปกติ
ตั้งแต่เด็กก็มีเพื่อนฝูงมากมายที่เป็นมุสลิม เห็นเพื่อนมุสลิมที่นอกคอกกินเหล้าเมามายมาก็เยอะ แต่พอเติบโตขึ้นก็เห็นเขาหลายคนกลายเป็นอิสลามิกชนที่ดีมากๆ ซึ่งไม่ต่างจากคนพุทธหรือคนจีน ที่ชีวิตย่อมมีผิดพลาดบ้าง
ความสัมพันธ์จึงเป็นในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ค้าขายกัน ดื่มน้ำชาร่วมกัน เป็นมิตรกัน แต่แน่ล่ะที่มันมีเส้นใยบางๆ ขวางอยู่ จากทัศนคติที่ตกค้าง โดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวก็ตาม มีความเกลียดชังในความแตกต่างกันอยู่แน่นอน เพียงแต่มันถูกกลบด้วยสัมพันธภาพอื่นๆ เช่น การค้า สังคมรวมกลุ่ม ผลประโยชน์ร่วมจะเป็นตัวสมานความขัดแย้งต่างๆ ได้ดีที่สุด
อยากให้เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ตัดสินใจเขียนงานเกี่ยวกับมุสลิม ทําไมจึงเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของพวกเขา?
มนตรี ศรียงค์ : สำหรับนิยายเรื่อง “รุสนี” มาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันที่น้องนักข่าวศูนย์อิสราได้ขอเพื่อลงในนิตยสารดีพเซาธ์ เล่มแรก ส่วนเรื่องสั้น “หมี่เป็ดไรเดอร์” มาจากการหมองขุ่นใจที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้สักที บทกวี “แรมนราฯ” เขียนขึ้นเนื่องจากมีน้องคนหนึ่งอยู่ที่ จ.นราธิวาส และอกสั่นขวัญแขวนมาตั้งแต่ปีแรกของความไม่สงบ และบทกวี “ชื่นเช้า” มาจากกลุ่มหัวใจเดียวกันขอ เพื่อกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตของคนชายแดนใต้
ความรู้สึกเมื่อเขียนงานเกี่ยวกับมุสลิม ก็เหมือนกับที่เขียนเรื่องอื่นๆ การเลือกเล่าเรื่องมุสลิมในมุมมองของคนนอกเป็นเรื่องยากลำบากมาก ต้องหาข้อมูลสอบถามจากใครหลายคน เลือกเพราะอยากเล่าให้คนพื้นที่อื่นได้รับรู้ อย่างน้อยก็รับรู้ความหวาดกลัวของคนที่นั่น ของมุสลิมที่นั่นที่ พวกเขาในพื้นที่อื่นไม่เคยเข้าใจ และเพื่อละลายความเกลียดชังที่มีอยู่ให้หมดไปบ้าง เล่าด้วยความรู้สึกที่ไม่มีพุทธ มุสลิม ไม่มีหมาไม่มีแมว มีแต่มนุษย์ มีแต่เพื่อนร่วมโลก
ทําไมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า “รุสนี”?
มนตรี ศรียงค์ : ไม่ทราบว่า “รุสนี” หมายถึงอะไร แปลว่าอะไร เห็นเป็นคำที่สวย จำง่าย เลยหยิบมาใช้
ในความแตกต่างหลากหลายนั้น สังคมนี้ควรจะทําอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติจริงๆ?
มนตรี ศรียงค์ : ไม่มีสงครามก็ไม่มีสันติ แต่สันติมิอาจเกิดขึ้นได้จากสงคราม การอยู่ร่วมกันเป็นปัญหาของสัตว์ทุกชนิดในโลกมาแต่ดึกดำบรรพ์ การช่วงชิงอำนาจเพื่อครอบครองทรัพยากร การแย่งชิงขึ้นเป็นจ่าฝูงผู้นำ ล้วนมีเหตุมาจากปัจจัยเดียว คือ การได้ครอบครองทรัพยากร, พื้นที่, อาหาร และการสืบสายพันธุ์
มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราครอบครองแล้วสะสม ในขณะที่สัตว์ครอบครองเพื่อกินมื้อต่อมื้อ สัตว์ร้ายจะไม่ล่าเหยื่อหากมันยังอิ่ม แม้ว่าลูกกวางตัวนั้นจะอยู่ใกล้เพียงปลายจมูกเสือดาว แต่มนุษย์ไม่รู้จักพอ ดังนั้น การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในการครอบครองให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โฟกัสให้เล็กลงเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ การครอบครองที่ทั่วถึงเป็นธรรมนั้น จักต้องอยู่บนฐานแห่งการเคารพกันและกันในความแตกต่างด้วย
เมื่อถามต่อไปว่า “อยากให้มุสลิมในพื้นที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองบ้างมั้ย?”
กวีหนุ่มตอบทันทีว่า นั่นเป็นสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ และทำมาหลายปีแล้ว ด้วยการเป็นวิทยากรค่ายของ ดร.รุ่ง แก้วแดง สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เชื่อว่าเขาก็เขียนได้ อย่างไรเสียเขาเชื่อว่าไม่มีใครบอกเล่าเรื่องราวของเราได้ดีเท่ากับเราเป็นคนเล่ามันเอง
“คุณไม่สามารถพูดให้ทุกคนฟังได้ แต่คุณสามารถเขียนให้ทุกคนรับรู้ได้” เขายืนยันหนักแน่น และสำทับว่า “ความขัดแย้งมีอยู่ตลอดไป แม้ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบไปแล้วก็ตาม เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ของสรรพสิ่ง ตอนนั้น “รุสนี” จะทำหน้าที่เพียงจำลองภาพความขัดแย้งในอดีตให้เห็น”
สำหรับคนที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของพี่น้องร่วมประเทศตรงชายแดนภาคใต้อยู่บ้างนั้น “รุสนี” แทบไม่ต่างอะไรเลยกับบันทึกข่าว เหตุการณ์ซ้ำเดิมที่เห็นจากจอโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ข่าว จนชาชินนั้นมันยังคงดำเนินอยู่ในพื้นที่อย่างเรื่อยเอื่อยอ้อยอิ่ง ต่างกันแต่เพียง... “รุสนี” นั้นบอกเล่าเรื่องราวในอีกมิติหนึ่งที่ลงลึกไปถึงความรู้สึกสูญเสีย ความหวาดระแวง ความเจ็บปวด และความร้ายกาจที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน แบบที่แวบหนึ่งนั้นทำให้นึกไปถึงเรื่อง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ
และสำหรับทุกความกังขาในสถานการณ์ไฟใต้ที่ไม่จบสิ้น “รุสนี” อาจเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งที่ทำให้ฉุกคิด และเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ก่อนจะปักใจเชื่อ และพิพากษากันด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อนรุนแรง