xs
xsm
sm
md
lg

"กวีหมี่เป็ด" ตั้งคำถามถึงไฟใต้ “เราอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายไม่ได้จริงหรือ?”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.ทักษิณเปิดวงเสนวนา “ชายแดนใต้ในสายตารุสนี” มองสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านนวนิยายของมนตรี ศรียงค์ บนพื้นฐานความคิดที่ว่าเราอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาไม่ได้จริงหรือ? พร้อมถกประเด็นไฟใต้ที่คาราคาซังมานานหลายปี
อ.จรูญ หยูทอง, มนตรี ศรียงค์, ผศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย และปรเมศวร์ กาแก้ว (จากซ้ายไปขวา)
 
โครงการศูนย์ศึกษาเชิงบูรณาการทางสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดงาน “มนุษย์ฯ-สังคม เสวนา ครั้งที่ 3” ขึ้นในหัวข้อ “ชายแดนใต้ในสายตารุสนี” โดยหยิบยกนวนิยายเรื่อง “รุสนี” ของมนตรี ศรียงค์ ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผ่านเข้ารอบ 15 เล่มชิงรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2555 มาเป็นประเด็นหลักในสนทนา โดยมี อ.จรูญ หยูทอง, ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรันดร์, ผศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย และปรเมศวร์ กาแก้ว ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรันดร์ เลขานุการ ศูนย์ศึกษาเชิงบูรณาการทางสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เพื่อการทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางความอึมครึม และซับซ้อน การทำความเข้าใจผ่านวรรณกรรมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คนนอกพื้นที่เข้าใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ได้
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรันดร์ เลขานุการ ศูนย์ศึกษาเชิงบูรณาการทางสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
“มีคนกล่าวไว้ว่า ‘นักเขียนเป็นเลขานุการของประวัติศาสตร์’ เนื่องจากสามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมออกมาได้แยบยล และมนตรี ศรียงค์ ก็บันทึกเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ มีเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกมากมายที่ถูกฝังเป็นมายาคติอยู่ในหัวเรา จนเราเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เชื่อว่าน่ากลัวจริงๆ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราจึงต้องกะเทาะมายาคตินั้นออกมาเสียก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งวรรณกรรมช่วยเราได้ ทำให้เราเห็นเลือดเนื้อ ชีวิต ความคิด และครอบครัว ของคนที่ถูกกระทำได้ สิ่งที่ศูนย์ศึกษาเชิงบูรณาการทางสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำคือ ค่อยๆ สร้างมุมมองและการรับรู้ใหม่ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และนวนิยายเรื่อง “รุสนี” สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เราจึงเชิญมนตรี ศรียงค์ มาร่วมเสวนา” ผศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
มนตรี ศรียงค์
 
มนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ประจำปี 2550 กล่าวถึงนวนิยาย “รุสนี” ซึ่งเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวน่าสนใจตรงที่มันเป็นดินแดนลึกลับสำหรับคนอื่น การจะทำความเข้าใจชายแดนใต้ เราต้องไม่ทำตัวให้เป็นคนอื่น คือต้องทำความรู้จัก ต้องเป็นเพื่อนกันก่อน และในระหว่างที่หาข้อมูลมาเขียนก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า “เราอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างไม่ได้จริงหรือ?” จึงสร้างตัวละครขึ้นมา 2 ตัวที่แตกต่างกันสุดขั้ว แล้วหาเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนความเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เพื่อจะอธิบายว่าจริงๆ แล้วเราอยู่ร่วมกันได้

“ผมเชื่อว่าสันติไม่ได้เกิดจากสงคราม ถ้าเรามองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์เรื่องอื่นก็ไม่ใช่ปัญหา แต่การที่เราจะคุยกันได้นั้น เราต้องวางอาวุธกันก่อน เราต้องตั้งคำถามว่าสาเหตุของชายแดนใต้คืออะไร จังหวัดชายแดนใต้เปรียบเหมือนอุจจาระก้อนใหญ่ ขอโทษที่ผมต้องใช้คำนี้ มันเป็นอุจจาระที่จิ้มลงไปตรงไหนก็คืออุจจาระ ทุกอย่างจึงเป็นปัญหา การแก้ปัญหาจึงต้องรื้อใหม่หมด และเข้าไปแก้ปัญหาทุกด้าน ที่สำคัญคือการมองคนในพื้นที่ด้วยความรู้สึกของการเป็นเพื่อนมนุษย์” มนตรี ศรียงค์ กล่าว
ปรเมศวร์ กาแก้ว
 
ด้าน ปรเมศวร์ กาแก้ว ตัวแทนนักเขียนรุ่นใหม่ที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนา กล่าวว่า “รุสนี” เป็นนวนิยายรักที่ขมขื่น และเต็มไปด้วยสัญญะ ทั้งแมว ผีเสื้อ หรือแม้กระทั่ง รุสนี ซูไฮมิง และยะห์ยา เอง ผู้เขียนพยายามเปิดโปงโครงสร้างอำนาจบางอย่างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีที่มา เหมือนกับการพิพากษาอะไรบางอย่าง ชวนให้นึกถึง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิตติ ที่สังคมพร้อมพิพากษาคนอื่นโดยไม่มีข้อมูล เหมือนที่ตัวละครถูกพิพากษาว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ สังคมพยายามสร้างชุดความคิดหนึ่งขึ้นมาว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่เราไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่า แต่เราก็ยัดเยียดคำจำกัดความให้เขาไปแล้ว สุดท้ายจึงไม่รู้ว่าใครกลัวใคร ใช่คนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกพื้นที่หรือเปล่าที่พยายามถีบเขาออกไปจากความเป็นกลุ่มก้อน

ส่วน ผศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กล่าวว่า ถ้าธีม (Theme) ของเรื่องนี้คือสมมติฐานของความรุนแรง จะเห็นได้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งที่เราเจอจากนวนิยายอาจจะไปพ้องกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เราเข้าใจสังคมได้ในอีกมิติหนึ่ง

 
ขณะที่ อ.จรูญ หยูทอง นักเขียนและนักวิชาการภาคใต้ ให้ความเห็นว่า พฤติกรรมของตัวละครในเรื่องมีปูมหลัง มีที่มา เหมือนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่ผู้ไม่มีอำนาจมักถูกกระทำโดยผู้มีอำนาจมากกว่าเสมอ เป็นการเปิดโปงบางเหตุการณ์ให้คนอ่านได้รับรู้ ซึ่งมันเชื่อมโยงมาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงกรณีตากใบ กรือแซะ หรืออื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย

“ทุกส่วนในเรื่องไม่มีส่วนไหนที่ไม่มีนัยยะ ไม่ว่าจะอ่านด้วยสายตาของผู้ที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด หรืออ่านเพื่อความบันเทิงเฉยๆ ทุกอย่างเป็นรูปแบบที่สังคมนี้กระทำต่อกันทั้งสิ้น ทั้งเรื่องยาเสพติด ความรุนแรง หรือศาสนา อาจมีคนอื่นๆ ในสังคมประสบชะตากรรมเดียวกับตัวละครในเรื่องอีกมาก เพราะฉะนั้นการมองโลกในแง่ดีก็ไม่ใช่เรื่องดี การมองโลกในแง่ร้ายก็ไม่ใช่เรื่องดี การมองโลกในแง่จริงจึงมีประโยชน์มากที่สุด วรรณกรรมที่ดีต้องทำให้คนอ่านรู้สึกได้เอง ไม่ใช่บอกว่าต้องรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ แต่คนอ่านจะรู้สึกได้เพราะเราได้รับรู้ข้อมูลมาตั้งแต่ต้น ทั้งบุคลิก ความคิด และนิสัยใจคอของตัวละคร” อ.จรูญ กล่าว

 
นอกจากนี้ มนตรี ศรียงค์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า มีความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง คือ มีความเกลียดชังท่ามกลางชาติพันธุ์ และศาสนา ซึ่งถูกปลูกฝังกันมานมนานด้วยความเชื่อความคิดบางอย่าง การละลายความเกลียดชังนี้ได้ ต้องพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และถ้า “รุสนี” ทำลายความเกลียดชังทางชาติพันธุ์และศาสนาได้ รางวัลซีไรต์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น