สำหรับคนดูหนัง ต่างยอมรับว่าบทบาทของจอมเผด็จการอีดี้ อามิน ของฟอเรสต์ วิเทเกอร์ ในเรื่อง The Last King of Scotland นั้นคือความทรงจำที่ยอดเยี่ยมบนประวัติศาสตร์หนึ่งหน้าของวงการภาพยนตร์ และคงไม่เกินเลยไปนัก หากเราจะลงทะเบียนบทบาทพ่อบ้านประจำทำเนียบขาวในเรื่องเดอะ บัทเลอร์ (The Butler) ว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงอันเยี่ยมยอดของชายผิวสีผู้นี้
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า นอกเหนือไปจากบทบาทในฐานะนักแสดง ฟอเรสต์ วิเทเกอร์ นั้นสวมหมวกอีกหลายใบที่เกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ซึ่งคงต้องใช้พื้นที่หลายบรรทัดเพื่อไล่เรียงให้หมด แต่สิ่งที่ควรจดจารึกไว้และมันน่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับบทของเขาในงานชิ้นนี้ก็คือ การที่เขาได้รับแต่งตั้งจากหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยบอสตันให้ดำรงตำแหน่งเป็น “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เฟลโลว์” พูดภาษาชาวบ้านก็คงประมาณว่า ผู้เจริญรอยตามนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียม อย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และก็เป็นความพ้องพานอย่างยิ่ง ที่หนังเรื่องเดอะ บัทเลอร์ ก็มีส่วนพาดพิงถึงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และขบวนการต่อสู้ของเขาด้วย
เดอะ บัทเลอร์ เกาะเกี่ยวอย่างเหนียวแน่นกับเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวสี จึงเป็นเรื่องถูกที่ถูกคนแบบ Put the right man on the right job หรือใช้คนได้ถูกงาน กับการเลือกนักแสดงอย่างฟอเรสต์ วิเทเกอร์ มารับบทบาทนี้ เขาเป็นคนผิวสีที่ถึงอย่างไรย่อมลึกซึ้งกับสุขทุกข์ของคนผิวนี้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงบทบาทในชีวิตจริงซึ่งก็เกาะพิงอยู่ใกล้ๆ กับการต่อสู้เพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้ทุกย่างก้าวการแสดงของเขา เหมือนออกมาจากชีวิตจิตวิญญาณ และดูเป็นธรรมชาติ
เดอะ บัทเลอร์ มีจุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่พ่อบ้านประจำทำเนียบขาว “เซซิล เกนส์” ผู้ระเหเร่ร่อนออกมาจากไร่ฝ้ายตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาแบกความขมขื่นในวัยเยาว์ออกเดินทางแสวงหาที่อยู่ที่ยืนให้กับชีวิต ท่ามกลางสภาวะสังคมอเมริกาที่มีพื้นที่เพียงน้อยนิดให้กับคนผิวสี จากเด็กหนุ่มที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย เซซิลค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยทักษะของการเป็นคนรับใช้คนขาว ซึ่งเรียนรู้มาแต่เด็ก ก่อนจะถูกเรียกตัวให้เข้าไปทำงานเป็นพ่อบ้านในทำเนียบขาว และพบเห็นเรื่องราวหลากหลาย ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เขาได้ทำงานอยู่ในบ้านหลังนั้นยาวนานเท่ากับการเปลี่ยนผ่านของประธานาธิบดีมากกว่าสิบคน
เซซิล เกนส์ เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของทำเนียบขาว เขายังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของบารัค โอบามา ซึ่งเป็นชาวผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอันสูงสุดของประเทศนี้ และนั่นก็จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นแววตาอันเปี่ยมสุขของผู้เฒ่าเซซิลเมื่อเห็นชัยชนะของโอบามาในฉากท้ายๆ ของเรื่อง เพราะเมื่อย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เราจะเข้าใจได้ว่า เพราะอะไร ชายชราผู้นี้จึงยินดียิ่งนักกับชัยชนะนั้น
ข้อสังเกตประการหนึ่งซึ่งผมมักจะพูดถึงเสมอๆ ในคอลัมน์นี้เวลากล่าวถึงหนังชีวประวัติก็คือ หนังแนวนี้ยุคหลังๆ มักจะหยิบเอาบางส่วนเสี้ยวของชีวิตคนมานำเสนอ แต่เดอะ บัทเลอร์ เก็บกวาดทุกสัดส่วนเรื่องราวของคนคนหนึ่งมาอย่างครอบคลุมตั้งแต่เด็กจนแก่ แน่นอนว่า มองอย่างพยายามทำความเข้าใจ เหตุผลนั้นคงไม่ใช่เพียงเพราะต้องการถ่ายทอดให้เห็นเส้นทางชีวิตอันยาวนานของคนผู้หนึ่งเท่านั้น หากแต่นัยยะสำคัญที่หนังส่งเสียงบอกควบคู่ไปด้วย ก็คือระยะทางอันยาวไกลของความขมขื่นที่คนผิวสีต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ
มันคือเส้นทางประวัตศาสตร์ของผู้คนที่ดูเหมือนจะไร้ค่ายิ่งกว่าฝุ่นผงและพร้อมจะถูกกระทำย่ำยีโดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการโต้เถียงขัดขืน มาจนถึงยุคแห่งการลุกยืนขึ้นต่อสู้ตามแนวทางอหิงสาโดยมีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นเสาหลัก ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับมัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X) และอีกหลายสิบปีต่อมา จึงค่อยเข้าสู่ยุครุ่งอรุณเบิกฟ้าที่คนผิวสีก้าวขึ้นมามีสิทธิอันเท่าเทียมในฐานะพลเมืองอเมริกาและในฐานะของมนุษย์
จากเรื่องราวของพ่อบ้านผู้ทำงานรับใช้ในทำเนียบขาว เรื่องราวของเซซิล เกนส์ จึงซ้อนทับอยู่กับเรื่องราวการต่อสู้ของคนผิวสีอย่างแยกไม่ออก ลี แดเนียลส์ ซึ่งเป็นผู้กำกับซึ่งเคยหยิบเรื่องราวของคนผิวสีมาทำแล้วครั้งหนึ่งอย่างเรื่อง Precious ตัดสินใจได้ยอดเยี่ยมกับการเลือกเอาเรื่องราวของเซซิล เกนส์ มาเล่าผ่านเลนส์กล้องของภาพยนตร์ เพราะชีวิตของบุคคลผู้นี้มีมิติที่ลุ่มลึกแหลมคมอยู่ในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะมันคงไม่มีอะไรที่ดูน่าขัดแย้งมากไปกว่าการเป็นคนผิวสี แต่กลับต้องเข้าไปทำงานอยู่ในฐานประจำการที่มี “คนขาว” เป็นใหญ่ เหมือนกับที่เซซิลบอกว่าเขาเป็นคน “สองบุคลิก” คือด้านหนึ่งต้องรับใช้คนขาว แต่อีกหนึ่งด้านก็รู้สึกคับแค้นขมขื่นกับความเป็นจริงข้างนอกนั้น แต่ก็เป็นความคับแค้นที่แสดงออกได้เพียงแค่ในความนึกคิด
ความยอดเยี่ยมของบทเซซิลนั้น ก็เพราะว่าตัวเขาเองไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง หากแต่ต้องดำรงอยู่ระหว่างกลางของความขัดแย้งด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าลูกชายคนโตของเขานั้นแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการเป็นอริกับคนขาว มันจึงเป็นความร้าวลึกของพ่อบ้านอย่างเซซิลที่ตระหนักรู้อยู่ทุกเมื่อว่า ขณะที่ตนเองทำงานรับใช้คนขาวอยู่นั้น พ้นประตูทำเนียบออกไป ทายาทและเพื่อนพ้องน้องพี่ของเขาก็กำลังคัดง้างอย่างรุนแรงกับพวกคนขาว
เท่าๆ กับที่วางตัวละครหลักอย่างเซซิลไว้ตรงกลางความขัดแย้ง ผมคิดว่าหนังก็จัดวางมุมมองของตัวเองได้ค่อนข้างดีเช่นเดียวกัน ตลอดทั้งเรื่อง เราจะไม่ได้ยินน้ำเสียงแห่งการตัดสินใดๆ หลุดออกมาจากหนัง พูดอีกครั้งก็คือหนังเปิดพื้นที่ให้คนได้รู้สึกไปกับเรื่องราวด้วยตัวเอง
มีสองฉากที่ผมคิดว่าหนังคิดมาดี แม้พูดกันจริงๆ มันเป็นความจริงที่ประจักษ์อยู่แล้วในยุคนั้น คือฉากในร้านอาหารกับตรงอ่างล้างหน้าสาธารณะ ซึ่งมีการจัดแจงมุมที่นั่งหรืออ่างล้างหน้าแยกกันต่างหาก ระหว่างของคนขาวกับคนผิวสี โดยใช้คำว่า “White” กับ “Colored” เป็นตัวแยกแยะ หนังจงใจหยิบเอาคำสองคำนี้เข้ามาใช้ในการจัดวางองค์ประกอบภาพ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำให้คนดูรู้สึกว่า ถ้าโลกนี้มีแต่เพียง White หรือสีขาว มันจะจืดชืดไร้ชีวิตชีวาเพียงใด คำว่า Colored ที่ใช้พูดถึงคนผิวสีนั้นมีมิติมากกว่าคำว่า White คำเดียว เพราะ Colored สามารถหมายถึง “สีสัน” หรือความแตกต่างหลากหลายได้เช่นกัน
เดอะ บัทเลอร์ นั้น เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อโน้มนำความรู้สึกสะเทือนใจไปยังคนดูผู้ชมอย่างเห็นเด่นชัด ขณะที่สะท้อนใจกับความบอดเขลาและคับแคบของมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ถูกซ้อนเข้ามาเล่าได้แบบทรงพลัง พอๆ กับเรื่องราวความคับแค้นของคนผิวสี และทั้งสองเรื่องนี้ ก็วิ่งไปสู่ปลายทางเดียวกันอย่างน่าประหลาด เพราะในขณะที่ความแตกต่างระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาวดำเนินไปอย่างเข้มข้น เราจะพบว่าความขัดแย้งในหมู่คนผิวสี กระทั่งในครอบครัวเดียวกันก็ยังมีอยู่ และเมื่อมองทั้งสองเรื่องนี้ในมุมกว้างๆ ภาพความคิดแบบหนึ่งจะปรากฏต่อสายตาอย่างชัดเจน นั่นก็คือความแตกต่าง ไม่ว่าจะในทางผิวพรรณรูปลักษณ์ หรือความคิดความเชื่อ ควรแล้วหรือไม่ที่จะนำมาเป็นประเด็นความขัดแย้งหรือกระทั่งเหยียบหยามย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นคนของกันและกัน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าให้พูดกันจริงๆ ผมคิดว่าตัวบทหนังของเดอะ บัทเลอร์ นั้น ยังเหมือนไม่เต็มที่เท่าใดนัก หนังดีเด่นขึ้นมาได้ เพราะการแสดงของฟอเรสต์ วิเทเกอร์ เป็นหลัก และถ้าออสการ์จะให้ตุ๊กตาทองแก่เขาอีกสักตัว ก็ไม่น่าจะเกินเลยแต่อย่างใด และที่สำคัญไปกว่านั้น บท “พ่อบ้าน” ของฟอเรสต์ วิเทเกอร์ ในเรื่อง เดอะ บัทเลอร์ มีแต้มต่ออยู่พอสมควรในการที่ออสการ์จะหันมามอง
พูดง่ายๆ ถ้าเรายอมรับว่า ออสการ์คืออเมริกา อเมริกาก็ย่อมต้องมองหาบุคคลที่น่าภาคภูมิเพื่อบอกกล่าวกับโลกไว้บ้าง ความเป็นชาตินิยมนั้นแทรกซึมอยู่ในมวลความคิดของออสการ์เสมอมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทของฟอเรสต์ วิเทเกอร์ ในเรื่องนี้ มีความเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริการวมอยู่ด้วยอย่างมองข้ามไม่ได้ ดังนั้น ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นใด “พ่อบ้านในทำเนียบขาว” ก็มีโอกาสได้ครองออสการ์สาขาแสดงนำ ตามอดีตประธานาธิบดีลินคอร์น อย่างเดเนียล เดย์ ลูอิส (จากเรื่อง Lincoln) ไปติดๆ
แต่นั่นก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะปีนี้ ยังมีหนัง “12 Years a Slave” ที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนผิวสีอีกหนึ่งเรื่องซึ่งได้รับคะแนนความรักทั้งจากนักวิจารณ์และคนดูไปอย่างท่วมท้น ซึ่งจะว่าไป นับแต่ผู้นำคนปัจจุบันของอเมริกาผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของคนผิวสีอย่างบารัค โอบามา ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง ยังไม่มีหนังที่ว่าด้วยเรื่องของคนผิวสีเรื่องไหนไปถึงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเลย
และบางที มันอาจจะถึงปีของหนังโปรโอบามาก็เป็นได้ ถ้าไม่ติดอยู่นิดหน่อยตรงที่ว่า เดอะ บัทเลอร์ นั้นดูโฉ่งฉ่างเกินไปในการแสดงตัวว่าโปรโอบามา ถึงขั้นที่โอบามาก็บอกว่าเขาน้ำตาไหลเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้...ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาบางอย่าง “12 Years a Slave” ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่เบียดแซงขึ้นมาแทนในสายหนังยอดเยี่ยม อันนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตนะครับ อย่าเชื่อ จนกว่าคุณจะได้ดู