xs
xsm
sm
md
lg

World War Z : สนุก ระทึก ศึกซอมบี้

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


อาจไม่ใช่หนังที่ลึกซึ้งคมคาย อาจไม่ได้หนักอึ้งด้วยประเด็น แต่ World War Z คือหนังบล็อกบัสเตอร์ซัมเมอร์นี้ที่สามารถไปยืนได้อย่างสง่าผ่าเผยในลำดับต้นๆ ของหนังที่ดูสนุกมากๆ เรื่องหนึ่งประจำฤดูกาล

อันที่จริง World War Z ทำออกมาได้ขนาดนี้ ก็นับว่าเกินความคาดหมายแล้วล่ะครับ ตัวหนังนั้นดัดแปลงมาจากต้นฉบับที่เป็นงานเขียน ซึ่งผมเองยังไม่ได้อ่าน แต่หลังจากศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับหนังสือแล้ว พบว่า มันมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่หนังจะออกมา “น่าหลับ” เนื่องจากหนังสือต้นฉบับ มันคืองานเขียนเชิงเรียบเรียงบทสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ถึงสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญหน้ากับซอมบี้ผีดิบ อย่างไรก็ดี เมื่อหนังสือเดินทางมาถึงมือของโปรดิวเซอร์อย่างแบรด พิตต์ (ซึ่งแสดงนำในหนังด้วย) เขาเกิดไอเดียในการตัดแต่งดัดแปลงและรื้องานเขียนชนิดที่แทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม ด้วยการสร้างเรื่องสร้างตัวละครในแบบที่สามารถจะทำให้เป็นหนังที่มีเรื่องมีราวจริงๆ

แน่นอนครับ กับผลลัพธ์ที่ออกมา กล่าวได้ว่า หนังไม่มีอะไรเสียหายในจุดดังกล่าว จากสารตั้งต้นที่มีแต่คำบอกเล่าหรือคำให้สัมภาษณ์ของบุคคล กลายเป็นหนังที่ “เป็นหนัง” จริงๆ ไม่ใช่เพียงสารคดี มีเรื่องราวให้จับต้องและเดินตามได้ โดยหลักๆ ตัวเรื่องผูกพันเกาะเกี่ยวอยู่กับ “เจอร์รี่” (แบรด พิตต์) อดีตเจ้าหน้าที่ยูเอ็นซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ปริศนา คนตายแล้วฟื้นขึ้นมากัดคนเป็น ลุกลามไปทั่วโลก เจอร์รี่จึงถูกเรียกตัวไปเพื่อทำหน้าที่ถอดรหัส “ไวรัสปริศนา” ตัวนี้ว่ามีต้นตอที่มาอย่างไร

อาจไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้ว ที่มาของไวรัสคืออะไร จุดกำเนิดของซอมบี้อยู่ตรงไหน เพราะเอาเข้าจริง หนังก็ไม่ได้อยากจะไปเฉลยอะไรตรงนั้น และจุดใหญ่ใจความของหนังคือการทำอย่างไรให้คนดูลุ้นระทึกไปกับสถานการณ์ของตัวละคร ซึ่งผมคิดว่าตัวละครอย่างเจอร์รี่นั้น ประสบความสำเร็จตั้งแต่นาทีแรกๆ ในการผูกมัดใจคนดู ผมพูดอยู่เสมอว่า หลักการพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการทำหนังให้ได้ใจคนดู ก็คือ การทำให้ตัวละครเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้ชม หรือคนดูรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวละคร แล้วหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนดูผู้ชมก็พร้อมที่จะ “เชียร์” และเอาใจช่วยตัวละครของเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งในจุดนี้ บทของแบรด พิตต์ สอบผ่านอย่างสมบูรณ์ และถ้าใครสนุกจะดูหนังเรื่องนี้ในแบบหนังฮีโร่ก็ได้อีก เพราะบทของแบรด พิตต์ ก็แทบไม่ต่างอะไรกับฮีโร่ที่กำลังออกเดินทางกู้โลก เพียงแต่เขาไม่ได้มีพลังพิเศษอะไรเท่านั้นเอง

เหมือนอย่างที่แบรด พิตต์ ให้สัมภาษณ์ไว้ครับว่า แม้หนังเรื่องนี้จะเกี่ยวกับซอมบี้ แต่เขาอยากให้งานชิ้นนี้ออกมาในสไตล์เดียวกันกับหนังตระกูลเจสัน บอร์น ซึ่งเมื่อดูแล้ว พบว่าโครงสร้างเป็นไปในทิศทางนั้นพอสมควร คือการสืบสวนสอบสวนที่ดำเนินควบคู่กันไปกับสถานการณ์ลุ้นระทึก หนังมีการจัดสรรปันแบ่งช่วงเวลาได้ดีในแง่ที่ว่าจะผ่อนตอนช่วงไหน และเมื่อไหร่ควรจะใส่สถานการณ์คับขันเข้ามาเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูในการลุ้นเอาใจช่วยตัวละคร

ส่วนที่น่าพูดถึงอีกอย่างสองอย่าง นอกจากมิวสิกสกอร์ที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเร้าบรรยากาศความลุ้นของเรื่องราว งานด้านภาพก็สำคัญครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มุมมอง” เกี่ยวกับเจ้าซอมบี้ผีดิบ ซอมบี้นั้นเกิดขึ้นมาในโลกภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1920 ภาพที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับซอมบี้ก็คือ ลีลาท่าเดินอันช่วงช้า กระย่องกระแย่ง เหมือนผีไม่มีแรงพอที่จะทำอะไรเราได้ แต่ซอมบี้ของ World War Z กลับเป็นผีดิบที่รวดเร็ว

แน่นอนล่ะ เราอาจจะเคยเห็นซอมบี้ที่เคลื่อนไหวราวสายฟ้าแบบนี้มาแล้วในหนังของแดนนี่ บอยล์ (28 Days Later), แซค สไนเดอร์ (Dawn Of The Dead) หรือแม้แต่ Resident Evil แต่ประเภทที่กระโจนเกาะเครื่องบินได้คล้ายจะเหาะ World War Z ทำออกมาได้ดูน่าตื่นตาตื่นเต้น ฉากบางฉากอย่างซอมบี้ปีนกำแพงเมือง คืออะไรที่ต้องบอกว่ามันเป็นภาพที่จะอยู่ในความทรงจำของเราไปอีกนาน แต่เหนือสิ่งอื่นใด หนังให้เหตุผลได้น่าสนใจว่า ที่ซอมบี้เดินหงอยๆ ก็เพียงช่วงรอคอยการกระโจนเข้าหาเหยื่อเท่านั้นเอง ขณะที่จุดมุ่งหมายของซอมบี้เรื่องนี้ ก็ไม่ใช่อยากกัดกินสังขารคน หากแต่เป็นเรื่องของการแพร่เชื้อโรคกระจายไวรัสเป็นหลัก

ช่วงหลังๆ ต้องยอมรับครับว่า โลกบันเทิงที่วิ่งเข้าหาซอมบี้ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการมาถึงของซีรี่ส์ซอมบี้อย่าง The Walking Dead ที่ต้องบอกว่าทำออกมาได้น่าประทับใจมาก และซีรี่ส์ก็เล่นกับเนื้อหาประเด็นเชิงลึกที่เข้มข้นสะเทือนใจชนิดที่แตะไปถึงก้นบึ้งของความเป็นมนุษย์ ส่วนหนังซอมบี้ยุคก่อนๆ ก็มีประเด็นแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นเด่นชัด มักจะบอกว่าซอมบี้นั้นสะท้อนภาพของโลกทุนนิยมบริโภคนิยม ซอมบี้เหมือนภาพแทนของผู้คนที่ “บริโภคอย่างสุดโต่ง” หน้ามืดตามัว คือบริโภคอย่างไม่คิด (ซอมบี้เองก็ดูเหมือนจะปราศจากชีวิตและความคิดอยู่แล้ว) คำถามก็คือ หนังรุ่นหลานหรือรุ่นเหลนอย่าง World War Z ยังจะมีอะไรให้คิดไปได้อีก

แน่นอนครับ หนังฉีกแง่มุมไปพอสมควร ในบางขณะของหนัง ทำให้เรารู้สึกว่าซอมบี้มันดูฉลาดขึ้นด้วยซ้ำ และบ้าระห่ำชนิดที่ไม่มีอะไรฉุดไว้อยู่ พร้อมจะลุยและชนทุกอย่างที่ขวางหน้า มันคือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นมาในระดับที่เรียกได้ว่า “บ้าคลั่ง” และความรุนแรงนี่เองที่จะว่าไป เป็นคล้ายๆ เสาหลักทางความคิดให้กับหนัง หนังมีองค์ประกอบที่ “อ้างถึงความรุนแรง” โอบล้อมอยู่หลายส่วน เชื้อไวรัส ปืน ระเบิด ความตาย พวกนี้คือเครื่องหมายแห่งความรุนแรงได้ทั้งสิ้น ฉากหนึ่งในหนัง ตัวละครตัวหนึ่งพูดถึงเรื่องความรุนแรงออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า การฆ่าซอมบี้หนึ่งตัว เท่ากับเป็นการกระตุ้นความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดของซอมบี้ตัวที่เหลือให้รุนแรงยิ่งขึ้น และที่ยิ่งไปกว่านั้นทั้งหมด กระบวนการแก้ปัญหาของเรื่อง ท้ายที่สุดก็เป็นการใช้ความรุนแรงบดขยี้ความรุนแรง แบบพิษต้านพิษ

ผมไม่อยากจะคิดอะไรให้ลึกมาก เพราะบางที มันอาจจะเป็นการวิเคราะห์ที่เกินเลยไปกว่าหนัง อย่างไรก็ดี หลังจากสนุกระทึกมากับหนังตลอดทั้งเรื่อง หนังก็ทิ้งปมเขื่องไว้ให้เราขบคิดต่อ ผ่านบทบรรยายของเจอร์รี่ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเชื้อโรคหรือไวรัส นี่เป็นการปิดประเด็นแบบ “ปลายเปิด” ฝากคนดูมาคิดต่อได้น่าสนใจ แม้บทบรรยายจะดูเป็นการยัดเยียดไปสักหน่อย...แว่วว่าหนังมีปัญหาในกระบวนการถ่ายทำ จึงจำต้องขมวดให้จบแบบค่อนข้างรวบรัด...กระนั้นก็ดี ประเด็นที่แฝงไว้ในคำบรรยายของเจอร์รี่ ก็เป็นอะไรที่สามารถกระตุ้นให้เราย้อนกลับมามองและฉุกคิดกับชีวิตและโลกในความเป็นจริงได้เช่นกัน

ภัยร้ายของโลคยุคนี้ ดูเหมือนจะมีไวรัสเป็นหนึ่งในนั้นด้วย และต่อให้ไม่มีไวรัสซอมบี้มารุมกัดกินโลก เราก็มีไวรัสแบบอื่นๆ กันเยอะแยะอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้ ได้ยินเขาว่า ไวรัสประชาธิปไตยกำลังระบาดหนัก องค์การอนามัยโลกก็เอาไม่อยู่นะ ดูท่า



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น