xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนานพ่อมดเทคนิคพิเศษฮอลลีวูดรุ่นบุกเบิก “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” สิ้นลมแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เริ่มต้นจากความประทับใจใน “คิงคอง” ที่ได้ชมตอนอายุ 13 ขวบ “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน“ กลายเป็นนักทำเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของฮอลลีวูด และวันนี้เขาได้จากไปในวัย 92 ปี ซึ่งนับเป็นข่าวเศร้า ที่คนในวงการต่างร่วมไว้อาลัย สำหรับการสูญเสียบุคลากรผู้ยิ่งใหญ่ไปอีกคน



จากความฝันในวัยเด็ก เรย์ แฮร์รีเฮาเซน สามารถทำให้ภาพในจินตนาการของเขาเป็นความจริงขึ้นมาบนแผ่นฟิล์ม ทั้งฉากการต่อสู้ของเหล่ากองทัพโครงกระดูก, ฉากใหญ่ที่ปลาหมึกยักษ์เข้าถล่มสะพานโกเดนเกต และการเต้นรำของเทพธิดาที่มี 6 แขน เป็นความตื่นตาตื่นใจของผู้ชมภาพยนตร์ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่างานเทคนิคจะพัฒนาไปมากเพียงใด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนังมากมาย ซึ่งล่าสุดข่าวจากต่างประเทศได้รายงานว่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งสายงานเทคนิคพิเศษ เรย์ แฮร์รีเฮาเซน ได้เสียชีวิตลงแล้วที่โรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธ ในลอนดอน เมื่อวันที่ 7 พ.ค. หลังเข้ามารักษาตัวได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในขณะที่เขามีอายุได้ 92 ปี

โทนี ดัลตัน นักเขียนชีวประวัติ ที่เป็นเพื่อนสนิทของ เรย์ แฮร์รีเฮาเซน ได้ยืนยันข่าวเศร้า เกี่ยวกับการจากไปของเขา โดยบอกว่าตอนนี้ยังเร็วไปที่จะระบุถึงสาเหตุของการเสียชีวิต แต่บอกว่า แฮร์รีเฮาเซน สิ้นลมจงอย่างสงบเงียบ “เขาสร้างอิทธิพลให้กับผู้คนเอาไว้มากมาย เป็นคนที่ตลก, มีอารมณ์ขันมาก” ดัลตัน กล่าว พร้อมยกย่องว่าผลงานการสร้างตัวประหลาดในภาพยนตร์ต่างๆ ของสุดยอดนักทำเทคนิคพิเศษท่านนี้ “พิเศษ และไปไกลเกินกว่าจินตนาการจริงๆ”

แฮร์รีเฮาเซน มีผลงานในการทำเทคนิคพิเศษให้กับหนังมากมาย และสร้างหนังเอง 17 เรื่อง เป็นงานซึ่งอยู่ในใจของแฟนๆ หนังแนววิทยาศาสตร์ และแฟนตาซีทุกคน ซึ่งส่วนหนึ่งในแฟนๆ ของเขาได้เติบโตกลายเป็นคนทำหนังแถวหน้าของวงการจนมาถึงปัจจุบัน

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ จอร์จ ลูคัส ที่ยอมรับว่า “ยืม” เทคนิคหลายอย่างมาจาก แฮร์รีเฮาเซน ในการสร้าง Star Wars และกล่าวถึงหนังของคนทำหนังรุ่นใหญ่ว่า “ผมเคยดูหนังแฟนตาซีมาก่อนหน้านั้นบ้าง แต่ไม่เคยมีอะไรในแบบที่ เรย์ แฮร์รีเฮาเซน ทำมาก่อน”



เรย์ แบรดบิวรี นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ที่เป็นเพื่อนสนิทของ แฮร์รีเฮาเซน ก็เคยยกย่องเพื่อนแห่งวงการภาพยนตร์ผู้นี้ว่า “แฮร์รีเฮาเซนโดดเด่นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค, ศิลปิน และนักฝัน ... เขาให้ลมหายใจแก่สิ่งมีชีวิตจากเทพนิยาย ซึ่งเขาสร้างขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง”

ซึ่งเทคนิคที่ แฮร์รีเฮาเซน ถนัดที่สุดก็คือ “สต็อปโมชั่น” เทคนิคยุคโบราณของวงการภาพยนตร์ ที่เขาจะปั้นหุ่นจำลองขนาด 7.5 - 38 ซม.ขึ้นมาตามแต่ความจำเป็นในการถ่ายทำ และถ่ายภาพของหุ่นจำลองเหล่านั้นทีละแฟรม ค่อยๆ ขยับส่วนต่างๆ ของหุ่นจำลองไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหว

แม้จะเป็นเทคนิคที่ทำกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีใครใช้ สต็อปโมชั่น ได้ทรงประสิทธิภาพเท่า แฮร์รีเฮาเซน ที่สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของสัตว์ประหลาดต่าง ๆ จากหนังสือ, เทพนิาย, เรื่องเล่า หรือจินตาการ ได้แนบเนียนราวกับมีชีวิตจริง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเทคนิคที่แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วยการทำภาพดิจิตอลคอมพิวเตอร์

แฮร์รีเฮาเซน เองก็ยอมรับถึงความสมจริงสมจังของภาพแบบดิจิตอล แต่ก็เอ่ยปากว่าสำหรับเขาแล้วยังคงนิยมการสร้างภาพด้วยสต็อปโมชั่นมากกว่า “ผมไม่คิดว่าคุณอยากจะสร้างภาพที่มันจริงเกินไปหรอกครับ สำหรับผมอยากจะให้ความรู้สึกเหมือนโลกแห่งความฝันมากกว่า”



เรย์ เฟรดเดอริค แฮร์รีเฮาเซน เกิดที่ลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 1920 เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ เขามีโอกาสได้ชมหนังเงียบขาวดำเรื่อง The Lost World ที่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสายงานเทคนิคพิเศษในยุคเริ่มต้นของฮอลลีวูด วิลลิส โอ'ไบรแอน เป็นผู้สร้างสรรค์ ให้ชีวิตเหล่าไดโนเสาร์ ซึ่งในท้องเรื่องยังมีชีวิตกันอยู่ในเขตป่าของแอฟริกาใต้ได้อย่างสมจริงสมจัง เป็นงานที่ แฮร์รีเฮาเซน บอกว่าอยู่ในความทรงจำของเขานานทีเดียว “ผมจำฉากที่ไดโนเสาร์ตกหน้าผาได้อยู่เลย” เขากล่าวระหว่างไปร่วมงานสัมนาด้านอนิเมชัน และเทคนิคพิเศษที่ แวนคูเวอร์เมื่อปี 2001 “มันติดอยู่ในหัวของผมหลายปีมาก”

กระทั่งในปี 1933 ตอนที่เขาอายุ 13 ขวบ จึงได้มีโอกาสชม King Kong หนึ่งในหนังดังที่สุดตลอดกาลของฮอลลีวูด ณ โรงหนัง Grauman's Chinese ซึ่งเป็นงานของ โอ'ไบรแอน เจ้าเดิม และทำให้เด็กชายแฮร์รีเฮาเซนเริ่มต้นคิดถึงอนาคตของการเป็นคนทำหนังอย่างจริงจัง “ผมชอบปั้นดินน้ำมันอยู่แล้ว เมื่อได้ดู King Kong ก็ได้เห็นวิธีที่หุ่นพวกนี้ขยับได้”

เขาหายืมกล้อง 16 มม.มาได้ และนำเสื้อขนสัตว์เก่าของแม่มาตัดสร้างหุ่นหมีขึ้นมา เพื่อถ่ายทำหนังเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตนเองและสุนัขคู่ใจโดนเจ้าหมีร้ายจู่โจม เป็นงานที่พ่อแม่ของแฮร์รีเฮาเซนเอ่ยปากชื่นชม และประทับใจมาก แม้เขาจะลงเอยต้องโดนตีเพราะทำเสื้อของแม้พังก็ตาม



อาชีพคนทำหนังของ แฮร์รีเฮาเซน เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขาได้มีโอกาสเข้าประจำในหน่วยของ ผกก.ดัง แฟรง คาปรา เพื่อสร้างหนังโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง Why We Fight กระทั่งหลังสงครามเขาจึงได้รับโอกาสในวงการหนัง เป็นการเริ่มอาชีพในอุตสาหกรรมราวกับความฝัน เมื่อได้รับการว่าจ้างโดยฮีโร่ของตัวเองที่ชื่อว่า วิลลิส โอ'ไบรแอน ที่มอบหมายให้เขามาเป็นผู้ช่วยในการให้ลมหายใจตัวละครลิงยักษ์ในหนัง Mighty Joe Young งานที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษมาได้ และทำให้ แฮร์รีเฮาเซน ได้เริ่มงานในฐานะศิลปินเดี่ยวเสียที

ในปัจจุบันหนังแฟนตาซี และไซไฟ กลายเป็นขุมทองของฮอลลีวูด ที่สตูดิโอต่าง ๆ พร้อมทุ่มเงินระดับร้อยล้านเหรียญฯ ในการเนรมิตภาพฝันแห่งจินตนาการให้กลายเป็นความจริงบนแผ่นฟิล์ม แต่ในยุคของ แฮร์รีเฮาเซน ทุกอย่างไม่ได้เป็นเช่นหนัง หนังไซไฟ หรือแฟนตาซี มักจะเป็นหนังที่โดนดูถูกดูแคลน และสตูดิโอก็มีงบประมาณให้กับงานประเภทนี้อย่างจำกัด

ในหนังเรื่องแรกที่ แฮร์รีเฮาเซน ได้รับผิดชอบงานทำเทคนิคพิเศษด้วยตัวเองคือ The Beast from 20,000 Fathoms (1953) หนังซึ่งทั้งเรื่องได้งบประมาณเพียงแค่ 250,000 เหรียญฯ เท่านั้น เป็นงานที่เขาบอกในเวลาต่อมาว่า “มันน่าทึ่งเหมือนกันที่ได้มานั่งดูฉากเครดิตท้ายเรื่องแล้วเห็นชื่อคนประมาณ 200 คนสำหรับงานในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วผมเป็นคนทำเองทั้งหมด”



ส่วนใน It Came from Beneath the Sea (1955) เขาถึงกับต้องสร้างหุ่นจำลองปลาหมึกตัวละครเอกของเรื่อง ให้มีหนวดเพียง 6 เส้นแทนที่จะเป็น 8 เพื่อประหยัดเวลา

อย่างไรก็ตาม แฮร์รีเฮาเซน ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทุ่มเทให้กับงานเป็นอย่างมาก ใน Jason and the Argonauts (1963) ที่มีฉากการต่อสู้ของตัวละคร 3 คน กับฝูงนักรบโครงกระดูก ซึ่งสร้างขึ้นด้วยสต็อปโมชั่นนั้น แฮร์รีเฮาเซน ใช้เวลาทำถึง 4 เดือน เพื่อภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์เพียงไม่กี่นาที

นอกจากนั้นเขายังมีผลงานที่ได้รับการจดจำมากมาย อาทิ Earth vs. the Flying Saucers ที่มีฉากมนุษย์ต่างดาวบุกทำลายเมืองหลวงของสหรัฐฯ หรือ The Golden Voyage of Sinbad ที่ฉากต่อสู้ระหว่างเซนทอร์ตาเดียว และ กริฟฟิน สิ่งมีชีวิตครึ่งสิงโตครึ่งอินทรีย์ สร้างความตื่นเต้นให้กับคนดูในยุคนั้นทุกคน

ในปี 1981 แฮร์รีเฮาเซน ได้มีโอกาสสร้างหนังด้วยทุนที่สูงขึ้นใน The Clash of the Titans งานว่าด้วยเทพปกรณัม ที่มีนักแสดงดัง อาทิ ลอเรนซ์ โอลิเวีย, แม็กกี สมิธ, เบอร์เจส เมอเรอดิธ, แฮร์รี แฮมลิน และ แคล บลูม โดย แฮมลิน สวมบทเป็น เพอเซอุส มนุษย์กึ่งเทพ ที่ต้องต่อสู้กับทั้งสัตว์ประหลาด และเทพ มีฉากเด่นเป็นสงครามระหว่างตัวเอก และเมดูซ่า หญิงที่มีผมเป็นงู



หลังหนังเรื่องนี้ แฮร์รีเฮาเซน จึงถอนตัวจากวงการไป และให้เหตุผลว่าเขาอยากจะพักเสียที “ผมเหนื่อยเต็มทนที่ต้องใช้ชีวิตในห้องมืดๆ มาหลายปี” เขาบอกในเวลาต่อมา

แฮร์รีเฮาเซน ใช้ชีวิตในลอนดอนกับ ไดอานา ภรรยาจนถึงปัจจุบัน และปรากฏตัวในงานพบปะของแฟนหนังแฟนตาซีอยู่เป็นระยะ นอกจากนั้นยังเคยได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ในปี 1992 ในฐานะที่ได้ให้อะไรแก่วงการ และคนรุ่นหลังไว้มากมาย

แดร์เรน จี.เดวิส แห่ง Bluewater Productions บริษัทตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเจ้าใหญ่กล่าวถึง แฮร์เฮาเซน หลังการจากไปของเขา ว่านี่คือการสูญเสียสัญลักษ์แห่งวงการภาพยนตร์ ฝ่าย จอน ฟาฟโร แห่งหนัง Iron Man 2 ภาคแรกกล่าวว่างานของ แฮร์รีเฮาเซน คือแรงบันดาลใจของทุกคน และ แอนดรู สแตนตัน แห่งหนัง John Carter ก็ยกย่องว่า “ทุกคน” ในวงการอนิเมชัน, เทคนิคพิเศษ และแฟนตาซีเป็นหนี้บุญคุณในทุกสิ่งที่อย่างที่ แฮร์รีเฮาเซน ได้สร้างเอาไว้

“สิ่งที่เราทำด้วยวิธีดิจิตอลโดยใช้คอมพิวเตอร์ เรย์ แฮร์รีเฮาเซน สามารถทำได้ก่อนหน้านั้นมายาวนานแล้ว โดยไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยมือของเขาเอง” เทอร์รี กิลเลียม กล่าว ส่วน จอร์จ ลูคัส ก็ยกย่องว่าหากไม่มี แฮร์รีเฮาเซน ก็คงไม่มี Star Wars เช่นเดียวกัน

แบรดบิวรีย์ ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน ที่รู้จักกับ แฮร์รีเฮาเซน ตั้งแต่ปี 1938 ก่อนที่ทั้งคู่จะโด่งดังเป็นตำนานแห่งวงการนิยายวิทยาศาสตร์ และภาพยนตร์ เคยว่าเอาไว้ครั้งหนึ่งว่า “เขากับผมเคยสัญญาว่าเราจะแก่ไปด้วยกัน แต่ก็จะขอเป็นเด็กแบบนี้ไปตลอดกาล จะขอเก็บพวกไดโนเสาร์และนกยักษ์เหล่านี้ ไว้ในหัวใจของเราตลอดไป”



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก











กำลังโหลดความคิดเห็น