xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าหญิงแห่งดอกไม้-เจ้าชายแห่งทะเล” สุดยอดอัลบั้มคู่ของ “พราย : ปฐมพร”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด(skbon109@hotmail.com)
พราย อัลบั้มสร้างชื่อ พลิกโฉมของปฐมพร
“ปฐมพร ตายเป็น พราย”

เจตนารมณ์ที่ “ปฐมพร ปฐมพร” ประกาศไว้ในอัลบั้ม “พราย”( พ.ศ. 2534) ดูจะไปได้ดีเมื่ออัลบั้มพรายสามารถสร้างชื่อแจ้งเกิดให้กับปฐมพร นักร้องคาดหน้าที่หลังจากอัลบั้มนี้ เขาได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ“พราย” เป็นชื่อนำ

อัลบั้มชุดนี้มีความแปลกใหม่และแปลกประหลาด(สำหรับยุคนั้น)อยู่พอสมควร เริ่มจาก ชายคาดหน้าคนนี้มาด้วยสโลแกนแสลงใจด้วยการยืนยันว่าปฐมพรตายแล้วกลายเป็นพราย(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)

ขณะที่บทเพลงทั้งหมดในอัลบั้ม(ยุคดั้งเดิม)ไม่ได้มีการระบุชื่อไว้ มีเพียงเพลง“พราย”เพลงเดียว ก่อนที่ภายหลังจะมีการนำหลายเพลงมาใส่ชื่อไว้ในอัลบั้มทำใหม่ชื่อ “ก่อนกาล” อาทิ “เพื่อนรัก”, “กำพร้า”, “ยักษ์ร้องทุกข์”, “อำพราง” เป็นต้น

ส่วนที่สร้างความฮือฮาและได้รับก้อนอิฐเสียงก่นด่าจากพวกที่รับไม่ได้(รวมถึงกลุ่มหัวอนุรักษ์)ก็คือการแก้ผ้าถ่ายรูปในปกใน ซึ่งพรายให้เหตุผลว่า เพราะเนื้อเพลงในชุดนี้ต้องการสื่อถึงการเกิด การตาย อิสรภาพ การปลดปล่อย ไม่มีสิ่งใดมาพันธนาการ เขาจึงเปลือยกายถ่ายรูปเพื่อสะท้อนความคิดดังกล่าว

อย่างไรก็ดีด้วยความแปลกใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาดนตรีที่น่าฟัง ทำให้อัลบั้มพรายได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงกระแสรองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มนักฟังอินดี้นั้นดูจะปลื้มพรายเอามากๆ

หลังอัลบั้มพรายสร้างชื่อให้คนรู้จักนักร้องคาดหน้า แก้ผ้าคนนี้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2536 พรายส่งผลงานอัลบั้มคู่ออกมาในชื่อชุด “เจ้าหญิงแห่งดอกไม้” - “เจ้าชายแห่งทะเล” ที่ในยุคต้นฉบับ(เทปคลาสเซท) งานเพลงทั้งคู่ยังคงมาในแนวเดียวกับชุดพรายคือทำเพลงที่ไม่มีชื่อเพลงออกมา หากแต่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆแทนชื่อเพลง อาทิ พีรามิด,อินฟินิตี้,เข็มนาฬิกา,พระจันทร์ เป็นต้น แต่ต่อมาในยุคหลัง(ยุคซีดีทำใหม่) ผลงานอัลบั้มคู่ชุดนี้ได้ถูกนำมาทำใหม่และได้ใส่ชื่อเพลงเข้าไป(บทความนี้ขออ้างอิงจากผลงานเพลงยุคทำใหม่)
อัลบั้มคู่ เจ้าหญิงแห่งดอกไม้-เจ้าชายแห่งทะเลที่มีหน้าปกคล้ายกัน ต่างกันตรงสีลวดลายคาดหน้า
อัลบั้มเจ้าหญิงแห่งดอกไม้มีทั้ง 10 เพลง ซึ่งผมขอคัดเพลงเด่นๆชวนฟังมานำเสนอดังนี้

ร้อยตะวัน” เป็นงานเพลงเปิดตัวกับบทพูดประกอบดนตรีในกลิ่นอายแบบไทยๆ จากนั้นตามต่อกันด้วย “จริงเพียงจริง” ขึ้นต้นมาด้วยปิ๊กกิ้งอะคูสติกกีตาร์ในโทนหม่นๆ มีเสียงฮาร์โมนิคเพิ่มความล่องลอย เพลงนี้เป็นเพลงเพราะเศร้าๆ มีท่อนแยกที่น่าฟัง มีภาคดนตรีค่อยทวีความเข้มข้นขึ้น โดยในช่วงหลังพรายใช้วิธีการร้องซ้อนเสียงระหว่างเสียงแหกปากกับเสียงปกติ ซึ่งเป็นลูกเล่นที่เขามักจะใช้อยู่บ่อย ขณะที่ลูกโซโลกีตาร์ที่เล่นรองเป็นแถวสองนั้นบาดลึกได้อารมณ์ดีแท้

ชั่วนิรันดร์” ภาคดนตรีออกไปในทางโปรเกรสซีฟ ร็อก เสียงเบสฟังเด่น มีท่อนกีตาร์โซโลที่ยาวและเจ๋งมาก ฟังแล้วอดนึกถึงเดวิด กิลมอร์ไม่ได้

นาฬิกาตาย” เนื้อเพลงระบายความอัดอั้นตันใจ โดยมีท่อนเด็ด คือ “...นาฬิกาตายยังบอกเวลาแก่ฉัน ความถูกผิดนั้น มันไม่มีความหมาย เพลงคือเพื่อน ความเหงาคือน้องชาย จะเลวจะร้ายไม่เคยกลัว...” ส่วนภาคดนตรีมี 2 อารมณ์ คืออารมณ์หวานเศร้า เนิบช้า สลับกับอารมณ์บ้าคลั่ง ระเบิดสิ่งคับแค้นภายในออกมา

ฉันรักเธอ” ขึ้นด้วยมาด้วยเสียงพรมเปียโนอันแสนละเมียด เป็นบทเพลงรัก เศร้า เหงา อันไพเราะเพราะพริ้ง บาดลึก อีกทั้งยังมีเนื้อปลอบประโลม ให้กำลังใจที่น่าฟังมาก ดังตัวอย่าง “...ฉันรักเธอ ผู้ที่มีความฝัน แม้หวังนั้น จะสูญสิ้น หมดสิ้น ทุกอย่างไป -เก็บซับน้ำตา นั้นไว้ หยุดร้องไห้ เถิดขวัญตา- สู้กับความรู้สึกอ่อนล้า แม้โลกนี้ ไม่มีใครเข้าใจ-เมื่อเธออยู่คนเดียว เมื่อเธออยู่คนเดียว...”

ลืม” อีกหนึ่งบทเพลงสุดเท่ที่พรายอยากปิดตัวเองไว้ เพื่อลืมหลายสิ่งหลายอย่าง ดนตรีเพลงนี้เริ่มจากเนิบๆแล้วค่อยเพิ่มดีกรีขึ้นไปในท่อนท้ายจนกลายเป็นร็อกมันก่อนระเบิดตูม!?! แล้วจบเพลงไป

พรายกล่อม” เนื้อเพลงพรายขับกล่อมให้เธอนิทราจากน้ำเสียงอันเศร้าเหงา อินโทรเล่นกีตาร์คลาสสิกเล่นโน้ตสำเนียงสเปนนำมา ดนตรีและอารมณ์ในเพลงนี้เด็ดมาก โดยเฉพาะท่อนที่กีตาร์กระชากคอร์ดผ่านเอฟเฟคแตกพร่าเล่นสวนไปกับไลน์ปิ๊กกิ้งกีตาร์คลาสสิคเสียงเพราะพริ้ง แล้วมีเสียงคอรัสร้องเด่นนำมา

ปิดท้ายอัลบั้มชุดนี้กันด้วย “เจ้าหญิงแห่งดอกไม้”เพลงนี้ใช้ภาษาสวยงาม เสียงเปียโนเล่นฟังวังเวง พรายร้องถ่ายทอดอารมณ์เพลงเปลี่ยวเหงาได้ใจ แถมอารมณ์เพลงยังฟังต่อเนื่องจากเพลงพรายกล่อมด้วย เสียงคอรัสอันบาดลึก นับเป็นอีกหนึ่งบทเพลงยอดเยี่ยมของพราย
อัลบั้มคู่ เจ้าหญิงแห่งดอกไม้-เจ้าชายแห่งทะเลในยุคเทปคลาสเซทที่มีการใช้สัญลักษ์แทนชื่อเพลง
มาดูกันที่อัลบั้มเจ้าชายแห่งทะเลบ้าง อัลบั้มชุดนี่มีทั้งหมด 12 เพลง สำหรับเพลงเด่นในอัลบั้มชุดนี้ได้แก่

ปีศาจ”(2) เปิดเพลงขึ้นต้นมาด้วยเสียงลมอื้ออึง ก่อนตามด้วยเสียงคลื่นโหมกระหน่ำ ส่งสัญญาณถึงท้องทะเลที่บ้าคลั่ง ก่อนจะเข้าเพลงกับร็อกหนักๆเบส กลอง กีตาร์ กระหน่ำ อัดจัดหนักใส่กันมา ปีศาจตัวนี้มีแต่ความแค้น อยากจะ ฆ่ามัน ฆ่ามัน ทำลายมัน ซึ่งพรายร้องตะโกนอย่างดุดัน บ้าคลั่ง

ภาคดนตรีเพลงนี้ค่อนข้างซับซ้อน แม้ขึ้นต้นมาอย่างหนักหน่วงดุดัน แต่มีท่อนเบรกกับเสียงคอรัสกับซาวนด์ออร์เคสตร้าเพราะๆ ก่อนจะเปลี่ยนพาร์ทเข้าสู่อารมณ์เพลงที่ซอฟต์ลงมา มีไลน์ออร์เคสตร้าเล่นโอบอุ้มสอดประสานอย่างสวยงาม แต่เนื้อหาบอกกล่าวให้เห็นว่า ปีศาจตัวนี้ลึกๆแล้วก็คือความเกลียดชังที่มันฝังอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของใครหลายๆคนนั่นเอง

ตื่น”กับ“ถุย” 2 บทเพลงร็อกหนักเร็ว อารมณ์ต่อเนื่องด้วยเนื้อหาระบายความอัดอั้น เพลงแรกอัดคำหยาบเหี้ยห่าใส่มาอย่างจัดเต็ม ส่วนถุย เนื้อเพลงถุยถ่มพวกบ้าอำนาจ พวกตอแหล แบบชนิดสะใจพวกที่เบื่อสังคมเส็งเคร็งทั้งในยุคโน้นและยุคนี้ ถุย!!!

งมงาย”(ลัทธิอมควัน) เพลงนี้มองผ่านๆ เหมือนเพลงต่อต้านการดูดบุหรี่ ที่น่าจะถูกใจ สสส. ในยุคนี้ไม่น้อย แต่หากมองให้ลึก นี่เป็นหนึ่งในเพลงขบถสังคม ต่อต้านสังคมหมู่มากที่ทำเลว พวกมากลากไป ฟังแล้วช่างเข้ากับสถานการณ์ในยุคนี้ที่มารครองเมืองกับลิ่วล้อสมุนไพร่ชั้นเลว ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย และพร้อมจะทำร้าย ทำลาย คนที่เห็นต่าง

ดีแต่พูด” อีกหนึ่งเพลงสะท้อนความตอแหลของสังคมไทย โดยเฉพาะพวกที่มีแต่พูด ดีแต่พูด เพลงนี้พี่พรายแกแหกปากระบายร้องระบายความอัดอั้นได้มันสะใจมาก พวกดีแต่พูด พูดๆๆกันไป แต่ไม่เห็นทำกันจริงจัง สักราย ให้ตายเหอะ

โรคจิต” ร็อกมันๆ พูดถึงปัญหาหลายประการของสังคมในยุคนั้น(ที่ไม่ต่างจากยุคนี้)ที่หากใครธาตุไฟไม่แข็งอาจเป็นโรคจิตเอาได้ง่ายๆ

เจ้าชายแห่งทะเล” บทเพลงปิดอัลบั้มคู่ ขึ้นต้นมาด้วยเสียงนก เสียงคลื่น ฟังสบาย แล้วตามด้วยกีตาร์ คีย์บอร์ด เล่นโน้ตฟังลอยๆ พรายร้องแบบ 2 อารมณ์ คือร้องแบบสลายๆสลับกับแหกปากตะโกนอย่างสุดขั้ว

เพลงนี้มีอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับเพลงเจ้าหญิงแห่งดอกไม้ด้วยเสียงคอรัสเพราะๆที่ร้องออกมาในโทนเดียวกัน ก่อนที่เจ้าชายทะเลจะบ้าคลั่ง สับสน กับตัวเพลงที่เร่งเร้า สลับเนิบห่วง เหมือนดังทะเลที่มีหลายมิติให้สัมผัส

ครับและนั่นก็เป็นเพลงเด่นๆจากอัลบั้มคู่เจ้าหญิงแหงดอกไม้ เจ้าชายแห่งทะเล ที่เป็นงานคอนเซ็ปต์อัลบั้ม(หลายๆคนยกให้นี่เป็นอัลบั้มโพรเกรสซีฟร็อก) ซึ่งบทเพลงในชุดเจ้าหญิงแห่งดอกไม้ จะมีความไพเราะ มีความซอฟต์(กว่าชุดเจ้าชายฯ)สอดคล้องกับชื่อชุด

ขณะที่เจ้าชายแห่งทะเลนั้นอุดมไปด้วยร็อกหนักๆ ดนตรีดุดัน เนื้อหาระบายความอัดอั้นใส่กันมาแบบไม่ยั้ง ฟังสอดรับกับชื่อชุดเจ้าชายแห่งทะเลที่เต็มไปด้วยความดุดัน เกี้ยวกราด และบ้าคลั่ง

นอกจากแนวคิดหลักของอัลบั้มคู่ชุดนี้ที่มีความชัดเจน ภาคดนตรีในชุดนี้ก็ถือว่ามีความสวยงามน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งร็อกดุดัน หวานเศร้า อ้อยสร้อย รวมถึงล่องลอย ส่วนภาคเนื้อหานั้น พรายใช้ภาษาได้ดีทีเดียว หลายเพลงมีภาษาที่สวยงาม บางเพลงเป็นดังบทกวีกลายๆเลยทีเดียว แต่กระนั้นก็มีหลายเพลงที่เนื้อหาฟังยากต้องใช้สมาธิคิดตาม และตีความตาม

ขณะที่น้ำเสียง ลีลาการร้องนั้น พรายไม่ใช่นักร้องประเภทน้ำเสียงทรงพลัง แน่นหนา นั่นจึงทำให้ในเพลงร็อกหนักๆ เขาทำได้ไม่โดดเด่นเท่ากับในเพลงหวาน เศร้า เหงา แต่กระนั้น แม้เสียงร้องของพรายจะถูกใครบางคนปรามาสว่าไม่ถึง ร้องเพี้ยนในบางเพลง แต่ผมว่าเขาสามารถร้องถ่ายทอดอารมณ์เพลงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของพรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันผลงานเพลงชุดนี้ผ่านกาลเวลามาร่วม 20 ปีแล้ว แต่อัลบั้มคู่ชุดนี้ของพราย ยังคงเป็นที่โหยหาต้องการจากแฟนเพลง(ของเขา)

นอกจากนี้ผลงานเพลงชุดเจ้าหญิงแห่งดอกไม้-เจ้าชายแห่งทะเล ยังได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานเพลงที่ดีที่สุดของพราย ปฐมพร และเป็นหนึ่งในผลงานอินดี้ชั้นเยี่ยมของเมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น