xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสเล็กๆ ใน "โรงหนังชั้น 2"/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่แท้จริงคือเท่าไหร่ แต่ว่าไม่น่าจะถึง 5 โรงแล้วมั้งครับสำหรับจำนวนโรงภาพยนตร์ที่ถูกเรียกกันว่า "โรงหนังชั้น 2" ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครฯ ในช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน

โดยรายล่าสุดที่ต้องปิดตัวลงไปก็คือโรงภาพยนตร์ "ธนบุรีรามา" บริเวณ 35 โบว์ล ย่านพระปิ่นเกล้า หลังจากที่เปิดให้บริการมาร่วม 41 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จากการฉาย "ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง" เป็นหนังเรื่องแรก

สำหรับเหตุผลของการปิดตัวจากคำบอกเล่าของ "สุทธิพงษ์ ชื่นภักดี" ที่รับหน้าที่บริหารโรงหนังมาจากผู้เป็นพ่ออีกทีเผยว่า เป็นเพราะในปัจจุบันบริเวณที่ตั้งโรงภาพยนตร์นั้นมีการก่อสร้างอุโมงค์ ทำให้จำนวนคนดูจากที่น้อยอยู่แล้วลดลงยิ่งขึ้นไปอีก แถมระบบการฉายหนังก็เปลี่ยนจากระบบฟิล์มเข้าสู่ดิจิตอลที่ต้องใช้การลงทุนที่สูง ซึ่งก็คงจะเป็นเหตุผลที่ไม่ต่างอะไรไปจากโรงหนังชั้นสองอื่นๆ ทั้ง เอเชียรามา (พระโขนง), งามวงศ์วาน เดอะ เธียเตอร์ (สี่แยกพงษ์เพชร), มงคลรามา (สะพานควาย) และอีกมากมายหลายต่อหลายโรงที่ต่างก็ทยอยปิดกิจการลงไปในช่วง 10-15 ปีหลังนี้

คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะเข้าใจด้วยความคุ้นเคยว่าโรงหนังชั้น 2 ก็คือโรงหนังที่มีสภาพเก่า ราคาตั๋วที่ค่อนข้างถูก ฉายหนังควบ-วน บางโรงก็ฉายหนังในแนววาบหวิว ฯ จนบางคนอาจจะไม่รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ตลอดจนรับรู้ถึงความเป็นมาของโรงหนังเหล่านี้

ย้อนกลับไปในอดีตของการก่อกำเนิดโรงหนังในบ้านเรานั้นว่ากันว่าเกิดขึ้นในราวๆ ปี พ.ศ. 2470 โดยเปลี่ยนแปลงมาจากโรงละครเวทีอีกทีหนึ่งเนื่องเพราะการแสดงละครเวทีเองเริ่มจะคลายความนิยมลงไปจากการเข้ามาของภาพยนตร์ต่างประเทศนั่นเอง

ผลจากความนิยมในการชมภาพยนตร์ที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองที่ทำให้ในอีกประมาณ 20 ปีต่อโรงภาพยนตร์ในบ้านเราโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครฯ จึงผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด และความที่มันถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นโรงฉายภาพยนตร์ไม่ได้ถูกใช้ร่วมกับความบันเทิงอื่นๆ ตลอดจนส่วนใหญ่เป็นโรงใหญ่โรงเดียว เราจึงเรียกโรงหนังประเภทนี้ว่าเป็นโรงหนัง stand alone ส่วนค่าชมนั้นก็มีหลากหลายราคา ทั้ง 5 บาท, 7 บาท, 10 บาท, 10 บาท ฯ

ว่ากันว่ายุคที่โรงหนัง stand alone ได้รับความนิยมนั้นเป็นบรรยากาศที่คึกคักและสร้างงานให้คนมากมาย ทั้ง คนเดินตั๋ว คนฉายหนัง คนเขียนป้ายโฆษณา - ป้ายโปรแกรมหนัง แม่ค้าพ่อขาย คนขับรถแห่หนัง นักพากย์ ฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลายิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนไป จากของใหม่ก็กลายเป็นของเก่าอันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก

ปี พ.ศ. 2500 - 2515 อาจจะถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคอันรุ่งเรืองของวงการหนังไทยเนื่องเพราะรัฐบาลมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมหนังไทยด้วยการตั้งกำแพงภาษีหนังจากต่างประเทศแพงกว่าปกติ ผลที่ตามมาก็คือแม้วงการหนังไทยจะคึกคักเป็นอย่างมากทว่าก็มีหนังไทยคุณภาพต่ำที่ถูกผลิตออกมาเยอะจนล้นตลาด ประกอบกับในระยะต่อมาความบันเทิงทางทีวีที่มีบทบาทมากขึ้น ตลอดจนการเข้ามาของวิดีโอ ที่สำคัญก็คือการก่อเกิดของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ตามห้างสรรพสินค้าที่มีความสะอาด สะดวกสบาย และทันสมัยโอ่อ่า มีหลายโรงให้เลืกชมหนังหลากหลายเรื่องในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา ต่างๆ นานาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้บรรดาโรงหนัง stand alone ต้องปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอด ทั้งการฉายหนังควบ กำหนดราคาค่าตั๋วให้ถูกกว่าโรงหนังตามห้างฯ และบางรายดิ้นรนถึงขนาดหันไปฉายหนังในแนวเรตเอ็กซ์ เรตอาร์แทน ทั้งหมดล้วนทำให้โรงหนังชั้น 1 ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตกลายเป็นโรงหนังชั้น 2 อย่างเต็มตัวไปโดยปริยาย

"คนดูเริ่มลดลงตั้งแต่ก่อนปี 40 หลังจากนั้นก็ลดลงจนน่าตกใจ อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี และผู้ประกอบการโรงหนังรายใหญ่นิยมสร้างอาณาจักรโรงหนังของตัวเองขึ้น แต่เสน่ห์โรงหนังของเราคือ มีความเก่าแก่อยู่มานาน ดังนั้นคอหนังรุ่นเก่าๆ ชอบมาดู ฉายหนังซ้ำดูเมื่อไหร่ก็ได้ ประหยัดและยังรักษาความสะอาดได้อย่างดีเพราะเป็นโรงของเราเองสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง..."

สุทธิพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามรักษาไว้ซึ่งเรื่องหนังชั้น 2 ในการดูแลของตนเองผ่านหัวข้อ "โรงหนัง สแตนด์อะโลน ลมหายใจสุดท้ายก่อนเป็นอดีต" ในหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" โดย "ศราวุธ ดีหมื่นไวย์" ก่อนที่โรงภาพยนตร์ "ธนบุรีรามา" จะกลายเป็นอดีตด้วยการเป็นโรงหนังชั้น 2 ที่ปิดตัวเป็นรายล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาโดยมี "แจ็คผู้สยบยักษ์" และ "ได ฮาร์ด ภาค 5" เป็นหนังสองเรื่องสุดท้ายที่ถูกฉาย

ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดประกอบกับสภาพของครอบครัวที่มีเฉพาะกินเฉพาะใช้ สำหรับผมประสบการณ์ในวัยเด็กกับการเดินเข้าโรงหนังจึงมีน้อยมาก

ที่จำได้ก็คือหนังเรื่อง "มาธาดอร์ จอมเพี้ยน" ที่มี "เปิ้ล จารุณี" เล่นคู่กับ "พร้อมพงษ์ นพฤทธิ์" อีกเรื่องก็คือ "โลกทั้งใบให้นายคนเดียว" ทั้งสองเรื่องดูที่โรงหนังชื่อ "ไพโรจน์ รามา" แต่จะบอกว่าเป็นโรงหนังชั้น 2 ก็อาจจะไม่เต็มปากนัก เพราะในอดีตนั้นที่นั่นคือโรงภาพยนตร์โรงใหญ่โรงเดียวที่มีอยู่ในตัวจังหวัดสระบุรีนั่นเอง

ส่วนที่พอจะเล่าว่าเป็นประสบการณ์ในการดูหนังโรงหนังชั้น 2 ได้จริงๆ ก็คงจะเป็นการเข้าไปดูหนังเรื่อง "โอเค เบตง" ที่โรงหนัง "ปารีส" แถวบริเวณสะพานขาว เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วก่อนที่โรงหนังโรงนี้จะปิดตัวลงในอีกราวๆ 3 ปีต่อมา

อาจจะมีกลิ่นอับ ติดขัดในเรื่องของความสะอาด หรือแม้กระทั่งเครื่องเสียงและระบบการฉายที่ทันสมัยไม่เทียบเท่ากับโรงหนังมัลติเพล็กซ์ยุคใหม่ๆ ทว่าสิ่งที่ยังคงจำได้จนถึงวันนี้จากการเดินเข้าไปในโรงหนังก็คือความรู้สึกได้ถึงความหรูหราเมื่อครั้งในอดีตอันมาจากความโอ่อ่าของสถานที่ ความงดงามคลาสสิคของสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ ความใหญ่โตของโรงภาพยนตร์ที่จุคนได้ร่วมพันคน!

แม้จะไม่ใช่คนในพื้นที่ที่มีความผูกพันมากมายอะไรนักกับโรงหนังปารีส แต่หลับตาลงแล้วพอจะนึกภาพออกเลยละครับว่า ณ วันที่โรงหนังโรงนี้ยังอยู่ในช่วงแรกแย้มเปรียบได้กับหนุ่มสาวที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ความคึกคักครึกครื้นของโรงหนังโรงนี้คงจะเป็นบรรยากาศอะไรที่สุดยอดไม่แพ้โรงหนังอื่นๆ อย่างแน่นอน

ชนิดที่ว่ายามที่ว่าหากโรงมหรสพแห่งความฝันแห่งนี้ฉายหนังตลกเสียงหัวเราะก็คงจะดึงกึกก้องไปทั่วย่านที่ว่า หรือหากมาตรแม้เป็นหนังเศร้าน้ำตาของคนดูก็อาจจะไหลทะลักทลายออกมาไม่น้อยไปกว่าน้ำในคลองผดุงกรุงเกษมที่สะพานขาวพาดผ่านก็เป็นได้

คิดแล้วก็ขอไว้อาลัยกับโรงหนังชั้น 2 ที่อีกไม่นานคงเหลือไว้ก็เพียงชื่อและความทรงจำของคนที่ได้มีโอกาสสัมผัส



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศhttp://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น