ทายาทนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ได้ให้ความเห็นเชิงปฏิเสธ ถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่าผลงานจากบิดาของเธอ มีส่วนสนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นใช้พลังงานนิวเคลียร์โดยไม่จำเป็น และยังมองข้ามความเสี่ยงอันตรายของมัน โดยเชื่อว่านั้นไม่ใช่จุดประสงค์จากบิดาของตนเอง
Astro Boy หรือ เท็ตสึวัง อะตอม ซึ่งเป็นที่รู้จักสำหรับเมืองไทยภายใต้ชื่อ “เจ้าหนูปรมาณู” คือผลงานอมตะของ โอซามุ เท็ตซึกะ บิดาแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัยมามากกว่า 60 ปี
อย่างไรก็ตามการ์ตูนอมตะเรื่องนี้ กำลังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ จนอาจเรียกได้ว่ากลายเป็นกระแสวิจารณ์ที่สร้างความด่างพร้อยให้กับตัวละคร “อะตอม” ซึ่งมีอายุครบ 10 ขวบในปี 2013 ตามเนื้อเรื่องของการ์ตูนที่ผู้แต่งระบุเอาไว้ว่า อะตอม เกิดในวันที่ 7 เม.ย. 2003 พอดี
แม้ปี 2013 จะเป็นปีสำคัญของ อะตอม แต่ปัญหากัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมะ กลับทำให้วาระการรำลึกถึงตัวละครจากการ์ตูน Astro Boy ทำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อมีความเห็นจากชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ทำนองที่ว่าผลงานของ โอซามุ เท็ตซึกะ ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น กับการสร้างภาพอันปลอดภัย ไร้อันตรายให้กับพลังงานนิวเคลียร์จนเป็นต้นเหตุของความประมาท
ต่อเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น รูมิโกะ เท็ตซึกะ ลูกสาวคนโตของ โอซามุ เท็ตซึกะ ถึงขั้นต้องออกมาตอบโต้ต่อข้อกล่าวหาพวกนี้ โดยเธอกล่าวถึงผลงานของพ่อว่า งานของท่านไม่ได้สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ อันที่จริงแล้วพยายามชี้ให้เห็นถึงโทษด้วยซ้ำ “ใน Astro Boy พ่อแสดงให้เห็นถึง เหตุการณ์ที่มนุษย์ไม่ฉลาดพอที่จะใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ และไม่ตระหนกถึงอันตรายจากวิทยาศาสตร์ด้วย”
รูมิโกะ เท็ตซึกะ วัย 48 ปีที่ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่โตเกียวยังเสริมด้วยว่าอันที่จริงแล้ว ภาพรวมของ Astro Boy ได้สะท้อนถึง “ยุค 1950s ที่พลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นของใหม่ และสังคมเชื่อว่านี่จะทำให้ประชาชนมีความสุข” ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม โอซามุ เท็ตซึกะ จึงตั้งชื่อตัวละครว่า อะตอม, โคบอลต์ น้องชายของอะตอม และน้องสาวที่ชื่อ อูรัน ที่มาจาก ยูเรเนียม
ปัญหาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมะ ถูกวิจารณ์อย่างหนักในสังคมญี่ปุ่น ว่าเกิดขึ้นเพราะความประมาท ที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่า ปัจจุบันนี้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้การใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นเรื่องปลอดภัย และสะอาด จนไม่น่าจะมีผลต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่น
ศาสตราจารย์ แม็ตทิว เพนนีย์ แห่ง Concordia University ก็แสดงความเห็นว่ามีส่วนจริงอยู่เหมือนกัน ที่ผลงานบันเทิงหลายๆ ชิ้นมีผลต่อความรู้สึกด้านนี้ของชาวญี่ปุ่น ทั้งภาพการ์ตูนมัสคอร์ตของ The Tokyo Electric Power Co., รวมถึงผลงานเรื่อง Astro Boy ซึ่งมักจะถูกใช้ประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยของโรงงานไฟฟ้าในญี่ปุ่น