xs
xsm
sm
md
lg

Focus: นักธรณีฯญี่ปุ่นเตือน “รฟ.นิวเคลียร์โออิ” ตั้งคร่อมรอยเลื่อนอันตราย-เสี่ยงหายนะเหมือนฟูกูชิมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คูนิฮิโกะ ชิมาซากิ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษานิวเคลียร์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งสำนักงานควบคุมนิวเคลียร์ญี่ปุ่น กำลังตรวจสอบแนวรอยเลื่อนใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ จ.ฟูกูอิ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
เอเอฟพี - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งเดียวที่ยังเปิดใช้งานในญี่ปุ่นตั้งอยู่เหนือรอยเลื่อนอันตราย และหากรัฐบาลจะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปก็ถือเป็นการตัดสินใจที่ “โง่เขลาอย่างยิ่ง” นักธรณีวิทยาเตือน

มิตสุฮิสะ วาตานาเบะ นักภูมิสัณฐานวิทยาผู้เชี่ยวชาญแผ่นเปลือกโลก และ 1 ใน 5 คณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยสำนักงานควบคุมนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority) เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใต้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ซึ่งเป็นแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่ยังมีการผลิตไฟฟ้าตามปกติ ระบุว่า รอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใต้โรงไฟฟ้าแห่งนี้อาจเคลื่อนตัวได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะไม่ต่างจากโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อปี 2011 ขณะที่นักธรณีวิทยาคนอื่นๆในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านนิวเคลียร์ยังไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้

“มันเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ครั้งล่าสุดที่แผ่นเปลือกโลกทั้งสองเคลื่อนตัวคือเมื่อราว 120,000-130,000 ปีที่แล้ว” วาตานาเบะ ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโตโย กรุงโตเกียว ระบุ

“จากงานวิจัยว่าด้วยรอยเลื่อนที่มีพลังในญี่ปุ่นและต่างประเทศของผมพบว่า สิ่งก่อสร้างที่อยู่เหนือรอยเลื่อนนี้จะพังพินาศทั้งหมด” หากเปลือกโลกเคลื่อนตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหว

ตามระเบียบของรัฐบาลญี่ปุ่น สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวพันกับพลังงานนิวเคลียร์จะต้องไม่ตั้งอยู่เหนือรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง ซึ่งหมายถึงรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดไม่เกิน 130,000 ปีที่แล้ว

หากพบว่ารอยเลื่อนในจุดนี้ยังมีพลัง สำนักงานควบคุมนิวเคลียร์ก็จะต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดฟูกูอิทางตะวันตกของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคนอื่นๆกลับเห็นว่า ยังเร็วเกินที่จะสรุปว่ารอยเลื่อนนี้ “มีพลัง” และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรงไฟฟ้า โดยขอให้ใช้ “วิธีทางวิทยาศาสตร์ที่เยือกเย็น” กว่านี้มาตัดสิน

คูนิฮิโกะ ชิมาซากิ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา และเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมนิวเคลียร์ อธิบายว่า รอยแยกที่เห็นอาจเป็นเพียงร่องรอยของดินถล่มที่เกิดขึ้นนานมาแล้วก็เป็นได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษาขอเวลาตรวจสอบเพิ่มเติม และยังไม่อนุมัติไฟเขียวตามที่บริษัท คันไซ อิเล็กทริก เพาเวอร์ (KEPCO) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิเรียกร้อง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลควรอนุญาตให้โรงไฟฟ้าโออิเปิดดำเนินการต่อหรือไม่ วาตานาเบะ ตอบว่า “นั่นจะเป็นทางเลือกที่โง่เขลาอย่างยิ่ง... เท่ากับว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากฟูกูชิมะ ผมเกรงว่าวันหนึ่งเราอาจต้องเผชิญหายนะซ้ำเก่า”

วาตานาเบะ บอกด้วยว่า แม้ผลวิจัยของเขาจะยังไม่ใช่ข้อสรุปที่แน่นอน แต่ก็ควรสั่งระงับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าโออิเสียก่อนเพื่อความไม่ประมาท

“เราไม่ได้มีเจตนาที่จะปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้... ในเบื้องต้นอาจเพียงหยุดใช้งาน แล้วตรวจสอบสภาพพื้นดินใต้โรงไฟฟ้าอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะสรุปลงไป” วาตานาเบะ กล่าว

กรุงโตเกียวสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกแห่งในประเทศภายในไม่กี่เดือน หลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ ซึ่งเป็นผลมาจากพลังทำลายล้างของคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปีที่แล้ว

แม้สังคมญี่ปุ่นจะยังหวาดผวาภัยนิวเคลียร์ แต่นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ก็ตัดสินใจสั่งเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิในเดือนมิถุนายนปีนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนในฤดูร้อน

อ. มิตสุฮิสะ วาตานาเบะ จากมหาวิทยาลัยโตโย ผู้ออกมาเตือนว่าโรงไฟฟ้าโออิตั้งอยู่เหนือรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น