เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นหลายหมื่นคนร่วมพิธีไว้อาลัยครบปีที่ 67 แห่งการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา วันนี้ (6) ท่ามกลางกระแสต่อต้านนิวเคลียร์ที่ดังสะท้อนไปทั่วสังคมญี่ปุ่น เนื่องจากวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ
ผู้สูงอายุที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู, ญาติมิตร, เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้แทนต่างประเทศ เดินทางไปร่วมพิธีซึ่งจัดขึ้น ณ อนุสรณ์สถานสันติภาพเมืองฮิโรชิมา เพื่อรำลึกถึงวันที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดโจมตีเมืองแห่งนี้เมื่อเกือบ 7 ทศวรรษก่อน
เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 “เอโนลา เกย์” หย่อนระเบิดปรมาณูลงสู่เมืองฮิโรชิมาเมื่อเช้าวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 เปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็นขุมนรกในชั่วพริบตา และทำให้ชาวเมืองเสียชีวิตไปถึง 140,000 ราย อันเป็นปัจฉิมบทที่น่าเศร้าของสงครามโลกครั้งที่ 2
เวลา 08.15 น.ตามเวลาท้องถิ่นวันนี้ (6) ซึ่งตรงกับเวลาที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงเหนือเมืองฮิโรชิมาเมื่อ 67 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ลั่นระฆังเป็นสัญญาณสงบนิ่ง ผู้คนที่เดินผ่านไปมาต่างหยุดยืน ก้มศีรษะ และประสานมือสวดมนต์ ท่ามกลางแสงที่แผดกล้าในยามเช้า
พิธีรำลึกในวันนี้ (6) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50,000 คน ขณะที่อีกหลายพันคนร่วมเดินขบวน ฟังการเสวนา และชมคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นทั่วเมืองฮิโรชิมา นอกจากนี้ ยังมีการเดินขบวนต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มผู้รอดชีวิตจากระเบิด และผู้ที่อพยพออกจากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะอีกราว 700 คน
ชาวญี่ปุ่นซึ่งโดยปกติจะค่อนข้างสุขุมเยือกเย็น เริ่มแสดงพลังประท้วงรัฐบาลบ่อยครั้งขึ้น นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ สั่งให้เปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 ตัวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูหรือ “ฮิบาคุฉะ” ต่างคัดค้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะด้านการทหารหรือพลเรือนก็ตาม โดยชี้ถึงชะตากรรมของผู้คนหลายหมื่นชีวิตที่ดับดิ้นไปในชั่วพริบตาด้วยอานุภาพทำลายล้างของระเบิดปรมาณู และอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตในภายหลังจากโรคมะเร็ง และความผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับสารกัมมันตรังสี
ชาติที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 พยายามโต้แย้งว่า การทิ้งระเบิดในปี 1945 ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเร็วขึ้น และช่วยยับยั้งการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนอีกหลายล้านคน