xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเปิดใช้ “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์” ตัวแรกในรอบเกือบ 2 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้าโออิ (ภาพ: วิกิพีเดีย)
เอเอฟพี - วิศวกรญี่ปุ่นเริ่มบรรจุเชื้อเพลิงลงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งหนึ่ง เมื่อวานนี้(1) ท่ามกลางเสียงประท้วงจากสาธารณชนที่ยังเข็ดขยาดกับมหันตภัยนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ครั้งล่าสุดถือเป็นการสิ้นสุดสภาวะปลอดนิวเคลียร์ที่ดำเนินมาร่วม 2 เดือนเต็ม

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่เริ่มเปิดใช้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่โรงไฟฟ้าโออิ ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น เมื่อเวลา 21.00 น. (19.00 น.ตามเวลาในไทย) ขณะที่สำนักข่าวเกียวโดรายงานในภายหลังว่า เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวเข้าถึงภาวะวิกฤต (criticality) เมื่อช่วงเช้ามืดของวันนี้(2)

ประชาชนที่รวมกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังคงปักหลักประท้วงอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่เห็นด้วยกับการเปิดเตาปฏิกรณ์” ผู้ประท้วงต่างร้องตะโกน โดยมีตำรวจปราบจลาจลมาคอยคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จากวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://www.ustream.tv/channel/iwakamiyasumi ยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ประท้วงหรือตำรวจที่ประจำอยู่ในพื้นที่ชุมนุมได้ ทว่า ยอดผู้เข้าชมวิดีโอจนถึงเวลา 22.00 น.วานนี้ (1) สูงถึง 25,000 คนแล้ว

ญี่ปุ่นยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเตาปฏิกรณ์ตัวสุดท้ายจากทั้งหมดกว่า 50 แห่งทั่วประเทศถูกปิดตัวลงเพื่อตรวจเช็คสภาพ

รัฐบาลญี่ปุ่นชะลอการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อมองหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ หลังเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 และคลื่นสึนามิที่ซัดทำลายระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ เมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับมีคำพยากรณ์ว่าญี่ปุ่นอาจจะต้องประสบแผ่นดินไหวที่รุนแรงยิ่งกว่านี้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ให้เปิดเตาปฏิกรณ์ 2 ตัวในโรงไฟฟ้าโออิ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูร้อน

ทั้งนี้ ก่อนจะเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ พลังงานนิวเคลียร์ถูกใช้เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในญี่ปุ่นถึง 2 ใน 3

บริษัท คันไซ อิเล็กทริก เพาเวอร์ (KEPCO) ผู้บริหารโรงไฟฟ้าโออิ ระบุว่า เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3ขนาด 1.18 ล้านกิโลวัตต์ จะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในวันพุธนี้ (4) และจะผลิตอย่างเต็มศักยภาพภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่โรงไฟฟ้ายังมีแผนจะเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ด้วย

วิกฤตโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะถือเป็นมหันตภัยนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ถัดจากเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986 และแม้จะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์ ทว่า กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าก็ส่งผลให้พลเมืองนับหมื่นคนต้องละทิ้งบ้านเรือน และบางคนยังคงกลับไปใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้จนทุกวันนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าพื้นที่บางแห่งอาจไม่สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้อีกหลายสิบปี
กำลังโหลดความคิดเห็น