เอเอฟพี - เศรษฐกิจญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นในเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา ด้วยความพยายามในการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และผลิตสินค้าชดเชยที่หายไปจากผลกระทบของมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส
การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหว และสึนามิ ตามด้วยวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากหลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างเร่งเพิ่มการผลิตของตน
เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนี้ขยายตัว 6.0% ในไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าเป็นการก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2010 ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของตลาด
ตามข้อมูลรายไตรมาสระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน ทว่า ข้อมูลจีดีพีนี้จะต้องมีการแก้ไขใหม่อีกครั้ง
เจ้าหน้าที่รัฐบาลชี้ว่า การส่งออกที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นในไตรมาสที่ 3 ด้วยตัวเลขสูงขึ้น 6.2% เมื่อเทียบรายไตรมาส หรือ 27.4% เมื่อเทียบรายปี ตามด้วยการอุปโภคบริโภคของภาคประชาชน ที่ 1.0% รายไตรมาส หรือ 3.9% รายปี
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 อาจเป็นเพราะนำไปเปรียบเทียบกับไตรมาส ที่ตัวเลขตกลงฮวบฮาบหลังมหาภัยพิบัติ ขณะที่เงินเยนแข็งค่า และการชะลอตัวของตลาดการส่งออกต่างประเทศยิ่งทำให้ภาพแนวโน้มการฟื้นตัวที่เปราะบางของญี่ปุ่นไม่ชัดเจน
แผ่นดินไหว และสึนามิ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือสูญหายกว่า 20,000 ราย พื้นที่ประสบภัยกินบริเวณกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และยังก่อให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน หลายบริษัทต้องปิดโรงงาน ชะลอการผลิต และการส่งออก ส่วนเศรษฐกิจก็ก้าวเข้าสู่ภาวะตกต่ำ
ทั้งนี้ บริษัทต่างๆ แข่งกันฟื้นการผลิตรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมีความกังวลว่าความพยายามดังกล่าวอาจถูกขัดขวางโดยค่าเงินเยนที่แข็ง ทำให้ผลกำไรที่กลับคืนสู่ประเทศลดลง ขณะที่ปริมาณความต้องการก็ถดถอยลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก