เอเอฟพี - “วีรบุรุษแห่งฟูกูชิมะ” ผู้เสี่ยงชีวิตกู้วิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่นท่ามกลางรังสี ได้รับ “รางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส” อันทรงเกียรติของสเปน ในสาขาสันติภาพ คณะกรรมการประกาศผล วันนี้ (7)
วันที่ 11 มีนาคม ญี่ปุ่นประสบหายนะครั้งใหญ่ 3 ระลอกซ้ำซ้อน จากแผ่นดินไหวระดับ 9.0, คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่ม และวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในโลก ตั้งแต่อุบัติภัยเชอร์โนบิล เมื่อ 25 ปีก่อน ในวันนั้น กำแพงน้ำทะเลถาโถมเข้าถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ จนระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถูกทำลาย ส่งผลให้แท่งปฏิกรณ์หลอมละลายและปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่สภาพแวดล้อม
ประชาชนหลายหมื่นคนอพยพหนีตายจากรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ทว่าเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจำนวนหนึ่งยอมทำงานอยู่ท่ามกลางรังสีปริมาณสูง เพื่อหาทางยุติวิกฤตนิวเคลียร์
“พวกเขาเป็นตัวแทนของคุณความดีงามแห่งมวลมนุษย์ ด้วยการอุทิศชีวิตปกป้องไม่ให้มหันตภัยนิวเคลียร์อันเป็นผลพวงจากคลื่นสึนามิ ก่อผลร้ายแรงอีกนานับประการ โดยไม่แยแสว่าผลจากการเสียสละนี้อันตรายต่อชีวิต” คณะกรรมการตัดสินรางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียสระบุในถ้อยแถลง
แม้รู้ถึงอันตรายอยู่เต็มอก เจ้าหน้าที่ฟูกูชิมะยังสู้ทนต่อกัมมันตภาพรังสี โดยการหมุนเวียนกะทำงาน ซึ่งทำให้ได้พักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง อีกทั้งเสบียงอาหารและน้ำดื่มที่มีจำกัด
“ผลจากการทำงาน เจ้าหน้าที่หลายคนเริ่มมีอาการป่วยไข้เรื้อรัง เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาการหายใจเร็วกว่าปกติ” ถ้อยแถลงของคณะกรรมการระบุ
ทั้งนี้ คำว่า “วีรบุรุษแห่งฟูกูชิมะ” ในความหมายของคณะกรรมการตัดสินรางวัลประกอบไปด้วยบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร 50 รายจากบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ (เท็ปโก), กลุ่มนักผจญเพลิงที่คอยฉีดน้ำหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ และกองกำลังความมั่นคงญี่ปุ่น ผู้รับหน้าที่ขับเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงน้ำทะเลเทใส่เตาปฏิกรณ์ และผู้รับหน้าที่ปิดล้อมเขตอพยพ เมื่อเตาปฏิกรณ์ปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาจนต้องอพยพประชาชน
หลังเกิดอุบัติภัยภายในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ พนักงานกว่า 800 คนได้หนีออกจากจุดอันตราย ทว่ามีเจ้าหน้าที่อีก 50 คนที่พร้อมพลีกาย สานงานในโรงไฟฟ้าต่อโดยไม่เกรงกลัวอันตราย โดยพวกเขาได้รับการขนานนามว่า “ฟูกูชิมะ 50”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา จำนวนเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยคน ซึ่งรวมถึงช่างเทคนิคจากบริษัทโตชิบา และบริษัทฮิตาชิ
ผู้คว้ารางวัลในแต่ละสาขาจะได้รับเงินมูลค่า 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท) พร้อมด้วยประกาศนียบัตร, โล่ และเหรียญตราของมูลนิธิเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส ส่วนพิธีการมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในช่วงปลายปี โดยเจ้าชายเฟลิเปแห่งอัสตูเรียส มกุฎราชกุมารแห่งสเปน จะเสด็จเป็นองค์ประธาน