xs
xsm
sm
md
lg

300 ล้านของ "พี่มากฯ" ในยุคตั๋วหนังไทยแพงติดอันดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

300 ล้านฯ ของ พี่มากฯ ในยุคราคาตั๋วหนังแพงกระฉูด
ตั๋วหนังเมืองไทยแพงจริงรึเปล่า? เป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่าง "คนดู" และ "เจ้าของโรงหนัง" มาตลอด แต่จากข้อมูลเปรียบเทียบราคาตั๋วหนัง และค่าครองชีพได้ชี้ให้เห็นว่าตั๋วหนังไทย"แพงจริง" และถึงขั้นแพงติดอันดับต้น ๆ ของโลกกันเลยทีเดียว

เสียงบ่นถึงราคาตั๋วหนังในเมืองไทยเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน ฝ่ายคนดูเชื่อว่าคนดูหนังชาวไทยต้องถูกขูดรีดเงินอย่างบ้าเลือดจากการตั้งราคาค่าตั๋วหนังที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝ่ายโรงหนังก็อธิบายว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นราคาตั๋วหนังในเมืองไทยถือว่าถูกด้วยซ้ำ

จากตั๋วหนังราคา 20-25-30-35-40 เมื่อร่วม 20 ปีก่อนในยุคโรงหนัง "สแตนอโลน" ถึงตอนนี้คนไทยจะดูหนังแต่ละเรื่องต้องจ่ายเงินกันถึงคราวละ 160 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น และดูเหมือนว่าราคาตั๋วหนังจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี อย่างที่ผู้บริหารจากยักษ์ใหญ่แห่งวงการโรงภาพยนตร์ยอมรับว่า จะมีการปรับราคาตั๋วหนังขึ้นประมาณ 3-5% ทุกปี ตามต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงาน ค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมทั้งค่าเช่าพื้นที่ที่ปรับสูงขึ้นตามสาขาที่เช่าอยู่ในศูนย์การค้า แม้จะมีโรงหนังราคา "ต่ำร้อย" ให้ดูกันอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเสียจนไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นทางเลือกที่น่าพึงพอใจเลย

นอกจากนั้นในยุคปัจจุบันด้วยรูปแบบโรงภาพยนตร์ทั้ง ระบบภาพ 3-D หรือโรงที่ฉายด้วยระบบดิจิตอล ยังทำให้มีการคิดราคาค่าตั๋วเพิ่มขึ้นไปอีก อาจจะสูงถึง 240 บาท หรือมากกว่านั้น ซ้ำร้ายยังมีการเพิ่มราคาค่าตั๋วเป็นกรณีพิเศษ สำหรับหนังที่มีความยาวมากกว่าปกติ หรือหนังฟอร์มยักษ์ที่อ้างกันว่าใช้ทุนสร้างมหาศาล แต่กลับไม่มีการลดราคาสำหรับหนังที่ยาวไม่ถึง 2 ชั่วโมง หรือสั้นกว่านั้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามก็ยังมีการกล่าวอ้างกันเสมอ ว่าเมื่อเทียบกันแล้วตั๋วหนัง "บ้านเรา" ยังถูกกว่าประเทศเพื่อบ้านอยู่พอสมควร อย่างเช่น สิงคโปร์ ซึ่งที่นั่งละ 450 บาท หรือ เกาหลีใต้ 550 บาท ที่ถือว่าแพงกว่าเมืองไทยเกิน 1 เท่าตัว
เทียบราคาตั๋วหนังทั่วโลก
ตั๋วหนังเมืองไทย "แพง" ติดอันดับโลก

คำถามในประเด็นที่ว่าตั๋วหนังในเมืองไทยถูกหรือแพงนั้น มีคำตอบที่ชัดเจนจาก ScreenDigest ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับราคาตั๋วหนังทั่วโลก ด้วยการคำนวนราคาตั๋วกับค่าครองชีพของแต่ละประเทศ และเพื่อหาคำตอบที่ว่า สำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไปที่มีรายได้เฉลี่ยปานกลางในแต่ละประเทศ ต้องใช้เวลาทำงานกี่นาทีกันแน่ถึงจะได้ตั๋วหนังมา 1 ใบ

ซึ่งผลที่ออกมาก็ชี้ชัดว่า ตั๋วหนังในเมืองไทยไม่ใช่แค่แพง แต่แพงมาก!! ถือว่าแพงติดอันดับต้น ๆ ของโลกกันเลยทีเดียว

โดยประเทศที่เรียกว่าตั๋วหนังถูกที่สุด ก็คือ อินเดีย ที่ใช้เวลาทำงานแค่ 16.1 นาที ก็ได้ดูหนัง 1 รอบแล้ว ซึ่งแม้อินเดียจะมีรายได้เฉลี่ยที่ต่ำมาก (ประมาณ 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง) แต่ตั๋วหนังในประเทศก็ถูกมาก ๆ เช่นเดียวกัน (ประมาณ 0.19 เหรียญฯ) เพราะนี่คือความบันเทิงสำหรับประชาชนคนเดินดินในอินเดีย ที่ยังมีคนยากจนอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดมีคำพูดที่ว่าจะกินโค้กในอินเดียยังจะแพงกว่าดูหนังเสียอีก เช่นเดียวกับในเมืองจีนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อย จนทำให้ราคาตั๋วหนังถูกตามไปด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่าด้วยโรงประเภท "มัลติเพล็กซ์" ที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเมืองจีน ราคาตั๋วที่จีนก็น่าจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

ส่วนในสหรัฐฯ แม้ตั๋วหนังจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่รายได้เฉลี่ยในประเทศก็ถือว่าสูงมาก ชาวมะกันแค่ออกแรงทำงาน 23.9 นาทีก็จะได้ดูหนังกันทันที เป็นกรณีคล้าย ๆ กับใน สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, เดนมาร์ก, นอร์เวย์ ที่แม้ค่าตั๋วหนังในประเทศเหล่านี้จะสูงอยู่พอสมควร แต่รายได้เฉลี่ยของประชากรในประเทศก็ค่อนข้างสูงตามไปด้วย ตั๋วหนังในประเทศเหล่านี้จึงมีราคาที่ประชาชาสามารถซื้อกันได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

แล้วสำหรับเมืองไทยล่ะ? จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคนไทยต้องใช้เวลาทำงานถึง 108.7 นาที เพื่อให้ได้ตั๋วหนังมา 1 ใบ ถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ เอสโตเนีย และบัลเกเรีย ประเทศอดีตคอมมิวนิสต์เท่านั้น

เรียกว่าแพงกว่าเกือบทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง เกาหลีใต้, เยอรมัน แม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกก็ยังถือว่ามีราคาค่าตั๋วหนังที่ถูกกว่าเมืองไทย หรือประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา และมีค่าครองชีพค่อนข้างต่ำ คนไทยล้วนต้องใช้เวลาทำงานมากกว่าใคร จึงจะได้ดูหนังกันในโรง

หรือจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ที่เจ้าของโรงอ้างว่าตั๋วหนังยังคงแพงกว่าเมืองไทย หากดูจากข้อมูลก็บ่งชี้ได้ว่าประชาชนในประเทศเหล่านี้ จ่ายตั๋วหนังในราคาที่ถูกกว่าเมืองไทยทั้งหมด

เมื่อคิดรวมกันในทุกประเทศ เฉลี่ยแล้วคนในโลกต้องใช้เวลาทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือ 56.6 นาที ซึ่งหมายความว่าตั๋วหนังในเมืองไทยนั้นแพงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ถึงเกือบ 1 เท่านั้น และซึ่งหากจะลองคำนวนราคาตั๋วหนังที่ "เหมาะสม" ด้วยค่าเฉลี่ยดังกล่าวสำหรับเมืองไทยก็ควรจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ "40 บาท" เท่านั้น
ผลงานใหม่ล่าสุดของ หม่ำ ทำเงินได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท จากเดิมที่ 100 ล้าน หรือใกล้เคียง เป็นของง่ายสำหรับตลกดังผู้นี้
"หนังไทย" ในสถานการณ์ตั๋วหนังราคากระฉูด

และอาจะเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้นิยมชมภาพยนตร์ในโรง ที่ตามแนวโน้มแล้วราคาตั๋วหนังน่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มที่นักวิเคราะห์มองว่าสูงกว่าอัตราเพิ่มของสินค้าบริโภคโดยทั่วไป

มีคำอธิบายว่าปัจจุบันนี้ยอดจำหน่ายตั๋วหนังในแต่ละประเทศเริ่มลดลงเรื่อย ๆ (จะมียกเว้นก็แต่ในจีนที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังขยายตัวต่อเนื่อง) ด้วยสาเหตุที่ความบันเทิงภายในบ้านเริ่มมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ ชุดโฮมเธียร์เตอร์ และทีวีจอยักษ์ราคาลดลงเหลืออยู่ในระดับที่มนุษย์เงินเดือนเอื้อมถึง เช่นเดียวกับแผ่นดีวีดีที่ตอนนี้ราคาเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 200 บาท และแน่นอนว่าส่วนใหญ่แทบจะราคาเท่ากับ หรือถูกกว่าตั๋วหนังเพียงแค่ 1 ใบ จนทำให้ระยะหลังผู้ชมหนังในโรงภาพยนตร์มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ยังสนุกกับกิจกรรมนอกบ้าน แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากแทบจะหันหลังให้โรงหนังไปเลย โดยจากข้อมูลในสหรัฐฯ ประชาชนกลุ่มผู้ใหญ่ถึง 40% ได้เลิกดูหนังอย่างถาวรไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็มีคำอธิบายว่าส่วนหนึ่งไม่ค่อยจะพอใจกับราคาตั๋วหนังที่เพิ่มขึ้นมากนั่นเอง

ด้วยจำนวนตั๋วหนังที่ขายได้น้อยลงเรื่อย ๆ จึงต้องมีการเพิ่มราคาตั๋วเพื่อที่จะคงอัตราการขยายตัวของธุรกิจโรงภาพยนตร์ต่อไป ด้วยการเนรมิตโรงหนังให้หรูหรา ฉายด้วยระบบภาพพิเศษที่จะมีการคิดราคาเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ว่าบริการ และความหรูหราเหล่านั้นจะเป็นที่ต้องการของผู้ชมหรือไม่ก็ตาม

ผลกระทบจากปรากฏการณ์ "ตั๋วแพง" ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การตัดสินใจในการ "เลือกดูหนัง" ของผู้ชม ที่ตอนนี้ต้องมองหาหนังที่จะ "คุ้มค่า" กับราคาตั๋วมากที่สุด นอกจากจะการันตีความสนุกแล้ว ผลงานที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลเป็นหลักพันล้านบาทก็คือตัวเลือกที่ "เชื่อใจ" ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับเมืองไทยที่ ผกก. รายหนึ่งยอมรับว่าตอนนีโอกาสทางธุรกิจของ "หนังขนาดกลาง" แทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว หากไม่ใช่หนังฟอร์มใหญ่ที่ต้องทำเงินให้ได้มหาศาล ก็ต้องเป็นหนังฟอร์มเล็กที่ใช้ทุนสร้างให้น้อยที่สุด

ปรากฎการณ์ "พี่มากฯ" ซึ่งกำลังทำเงินมหาศาล อย่างที่ผู้สร้างหวังไปถึง 300 ล้านบาท จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นบ่อยนัก กับการที่คนทำหนังสามารถดึงคนดูจากหน้าจอโทรทัศน์ ได้มากมายชนิดเกินล้านคนเช่นนี้ เป็นความสำเร็จอันน่ายกย่องชมเชย แต่ความจริงของหนังไทยโดยรวมกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

.... ย้อนหลังไปมองถึงปี 2555 กลับมีหนังที่ทำเงินเกิน 40 ล้านบาทเหลือแค่ 5 เรื่อง เหลือครึ่งเดียวของปี 2554 และ 2553 ที่มีอยู่ 10 เรื่องซึ่งทำตัวเลขรายได้เกินหลัก 40 ล้านฯ แต่ในเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วกลับมีหนังประเภท "ต่ำกว่าล้าน" เข้าฉายอยู่หลายเรื่อง เรียกว่าแม้ตั๋วหนังจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่รายได้ของหนังไทยกลับต่ำลงทุกที (แน่นอนว่าปัจจัยด้านคุณภาพหนังก็มีส่วนมากในเรื่องนี้ด้วย)

300 ล้านบาทของ "พี่มากฯ" และ GTH จึงอาจเป็นแค่ความสำเร็จเฉพาะกลุ่ม หรือปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย .... หากแต่ความยากลำบากชนิดหืดขึ้นคอ กว่าจะทำหนังให้เก็บเงินเกินหลัก 20 ล้านบาทของหนังหลาย ๆ เรื่องต่างหาก ที่คือ "ความจริง" ของหนังไทยยุคตั๋วแพง



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น