หลังจากต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็งในต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่ปี 2002 เมื่อวานนี้ (4 เม.ย. 2013) วงการภาพยนตร์ก็ได้สูญเสียนักวิจารณ์ที่โด่งดังที่สุดในวงการ “โรเจอร์ อีเบิร์ต” แล้วด้วยวัย 70 ปี
เขาไม่ใช่เพียงแค่เป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์คนแรกที่ได้รับรางวัลฟูติลเซอร์เท่านั้น แต่ต้องกล่าวว่า “โรเจอร์ อีเบิร์ต” คือนักวิจารณ์คนเดียวซึ่งเป็นที่รู้จักของสาธารณะชนในวงกว้าง ถือเป็นนักเขียนในสายงานนี้ที่โด่งดังที่สุดเท่าที่เคยมีมาผู้หนึ่ง ด้วยการทำรายการที่ออกอากาศยาวนานอย่าง Sneak Previews และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า Thumps Up Thumps Down ให้กับหนังแต่ละเรื่อง จึงนับเป็นความสูญเสียของวงการภาพยนตร์ครั้งสำคัญเมื่อมีรายงานข่าวว่า “อีเบิร์ต” ได้เสียชีวิตแล้วในวัย 70 ปี
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่ปี 2002 และในระยะหลังก็ต้องใช้เครื่องช่วยพูดด้วย กับการทำรายการ Roger Ebert Presents at the Movies ทาง PBS ผลงานทางจอโทรทัศน์รายการสุดท้ายของ อีเบิร์ต
โดยในปี 2010 เขาได้มีโอกาสออกรายการของ โอปราห์ วินฟรีย์ เพื่อกล่าวถึงปัญหาสุขภาพของตัวเอง และยอมรับว่าต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการช่วยพูด เพื่อให้สามารถออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียงธรรมชาติของตัวเอง หลังโดนโรคมะเร็งรุมเร้าจนต้องสูญเสียความสามารถในการออกเสียงไป
แม้จะป่วยหนักอยู่หลายปี แต่ อีเบิร์ต ก็ไม่เคยทิ้งงานวิจารณ์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะการเขียนบทวิจารณ์ในเว็บไซต์ และทวีตข้อความต่างๆ อยู่ตลอด
แม้จะมีลีลาการเขียนด้วยสำนวนจิกกัดเสียดสี แต่บทวิจารณ์ของเขาก็เต็มไปด้วยความแหลมคม ในอีกด้าน อีเบิร์ต ยังได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจของคนทำหนัง โดยเฉพาะงานประเภทที่โดนคนส่วนใหญ่มองข้าม เขายังได้ชื่อว่าเป็นนักวิจารณ์ที่ชาญฉลาด และเจ้าสำบัดสำนวน นอกจากนั้นก็ไม่ลังเลที่จะตำหนิติติงอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเขียนถึงหนังที่เขาคิดว่าคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ก็แสดงความเห็นอย่างมีเหตุมีผล ไม่เคยแฝงความอาฆาตมาดร้ายใดๆ ออกมาเลย แม้บางครั้งจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดนวิจารณ์
นอกจากนั้นงานเขียนบทวิจารณ์ของ อีเบิร์ต ยังนำเสนออย่างหลากหลายมีชั้นเชิง บางครั้งมีการนำวิธีการเขียนแบบบทกวี, เพลง หรือกระทั่งเรื่องสั้นมาช่วยในการนำเสนอด้วย
อีเบิร์ต เริ่มเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับหนังสือพิมพ์ Chicago-Sun Times ในปี 1967 จากที่ก่อนหน้านั้น ได้งานเขียนบทความในหนังสือพิมพ์หัวนี้อยู่แล้ว โดยเขาเขียนถึงเส้นทางการเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของตัวเอง ผ่านบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Variety เมื่อปี 2007 ว่า “งานวิจารณ์ภาพยนตร์ในช่วงนั้นกำลังเป็นการเปลี่ยนยุคจากสมัยของ คราวเธอร์ (บอสลี คราวเธอร์ นักวิจารณ์ชื่อดังที่เน้นเนื้อหาค่อนข้างจะวิชาการ) ไปสู่ยุคของ เคล (พอลลีน เคล นักวิจารณ์หญิงที่มีผลงานตั้งแต่ปี 1951 - 1991 ด้วยงานเขียนที่ฉีกแนวออกจากแนวคิดทั่วๆ ไป และได้รับการยอมรับว่าเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลต่อชาวอเมริกันมากที่สุดในยุคหนึ่ง) การเขียนให้อ่านสนุก, จิกกัด และประหยัดถ้อยคำ ยังไม่ใช่เรื่องปกตินัก และผมยังมีโอกาสได้ใช้เวลาสัมภาษณ์ผู้คนต่าง ๆ เช่นพวก ลี มาร์วิน, จอห์น เวย์น, กรูโช มาร์ซ และ โรเบิร์ต อัลแมน ที่พูดอะไรออกมา โดยไม่แคร์นักหากเราจะอ้างถึงคำพูดของพวกเขา”
ชื่อเสียงของ อีเบิร์ต โด่งดังขึ้นมาอีกเมื่อได้ร่วมกับ จีน ซิสเกล ในการริเริ่มรายการ Sneak Previews ในปี 1975 รายการวิจารณ์ภาพยนตร์รายการแรก ที่ต่อมาได้เสนอชื่อชิงรางวัลเอมมีถึง 7 ครั้ง นอกจากนั้น อีเบิร์ต ยังได้รับพูลิตเซอร์ในปี 1974 จากงานเขียนใน Chicago Sun-Times ด้วย
หลังเกิดและเติบโตขึ้นมาที่เออบานา อิลลินอยส์ อีเบิร์ต เริ่มต้นชีวิตสื่อสารมวลชนมืออาชีพด้วยการเขียนเรื่องกีฬาให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หลังจากเคยเขียนบทความแนวไซไฟมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม โดยระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ก็เคยมีโอกาสเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย และเขียนบทวิจารณ์หนังอย่าง La Dolce Vita และหนังดังแห่งยุค Bonnie and Clyde ที่เขาบอกว่าเป็นหลักไมล์ทางประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูด ที่เล่าเรื่องจริง ด้วยความหลักแหลม
แต่นอกจากการเขียนแล้ว อีเบิร์ต ยังมีชีวิตอีกด้านในวงการภาพยนตร์ ด้วยการทำหนังคัลท์สำหรับกลุ่มคนดูเฉพาะแนว ในการร่วมงานกับ รัส เมเยอร์ เขียนบทหนัง Beyond the Valley of the Dolls และ Beneath the Valley of the Ultra-Vixens ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางเพศ และความรุนแรงอันโจ๋งครึ่ม
ด้านงานในวงการโทรทัศน์เขาเริ่มจัดรายการ Sneak Previews ทางสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น WTTW ที่ชิคาโก ก่อนจะได้แพร่ภาพทั่วประเทศในปี 1978 จนในปี 1982 รายการได้เปลี่ยนชื่อเป็น At the Movies With Gene Siskel and Roger Ebert และเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น Siskel & Ebert & the Movies เพื่อออกอากาศทาง Buena Vista Television
กระทั่ง ซิสเกล เสียชีวิตในปี 1999 รายการจึงต้องเปลี่ยนชื่ออีกเป็น Roger Ebert & the Movies ก่อนจะได้คอลัมนิสต์จาก Chicago Sun-times อีกคนคือ ริชาร์ด โรเปอร์ มาร่วมรายการพร้อมชื่อใหม่ At the Movies with Ebert & Roeper และออกอากาศจนถึงปี 2006 ก่อน อีเบิร์ต ต้องเข้ารับการผ่าตัดจนไม่สามารถออกเสียงได้เหมือนเดิม
รายการดังกล่าวยังเป็นต้นกำเนิดของสัญลักษณ์ “thumbs up, thumbs down” ซึ่งมีการจดเป็นเครื่องหมายการค้าโดยตัวของ อีเบิร์ต และกองมรดกของ จีน ซิสเกล ด้วย
ระยะหลังแม้ อีเบิร์ต จะเป็นนักเขียนอีกคนที่กล่าวการสิ้นสุดของยุคการเขียนวิจารณ์หนังในหนังสือพิมพ์ด้วยความอาลัยอาวรณ์ แต่เขาก็เปิดรับช่องทางการสื่อสารใหม่ทางอินเตอร์เน็ตอย่างเต็มตัว กับการเปิดเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ที่ทำให้เขาได้สื่อสารกับคนรักหนังโดยตรง ยิ่งเมื่อเขาสูญเสียความสามารถในการพูดไป อีเบิร์ต ยิ่งหันมาสื่อสารด้วยทาง Twitter ที่มีคนตามอยู่เกือบ 1 ล้านคนมากขึ้นเรื่อยๆ “คนดูหนังในยุคนี้รู้อะไรมากมายไปไกลกว่าหนัง มากกว่าเราในยุคก่อนๆ มากนัก” เขากล่าวกับ Variety
อีเบิร์ต เติบโตมาด้วยการดูหนังของ เฟอเดอริโก เฟลลินี และออร์สัน เวลล์ส เจ้าของผลงานสุดคลาสสิก Citizen Kane ซึ่งเขาให้คำจำกัดความว่าเป็นหนังที่สำคัญที่สุดที่เคยมีการสร้างมา แม้จะไม่ได้ “ดีเยี่ยม” ที่สุดก็ตาม
ความเห็นของ อีเบิร์ต ยังสร้างประเด็นถกเถียงขึ้นมาอย่างกว้างขวางเสมอ เช่นเมื่อเขากล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นด้านคุณค่าทางศิลปะ หรือการเล่าเรื่อง “วิดีโอเกม” สื่อใหม่ของวัยรุ่น ไม่มีวันจะเทียบชั้นหนังได้อย่างแน่นอน
“ผมพร้อมที่จะเชื่อว่าวิดีโอเกมสามารถสละสลวย, เฉียบแหลม, ซับซ้อน และมีภาพที่งดงามได้ แต่ก็เชื่อว่าด้วยธรรมชาติของสื่อชนิดนี้ มันมีอุปสรรคบางอย่างที่วิดีโอเกมคงเป็นได้เพียงงานฝีมือ มากกว่าจะไปไกลถึงขั้นเป็นงานศิลปะ” เขากล่าวเมื่อตอนที่เกม Doom ออกวางจำหน่าย
อีเบิร์ต ยังออกตัววิจารณ์ระบบจัดเรตติ้งอยู่บ่อยครั้ง ทั้งไม่เห็นด้วยกับการให้เรต R กับหนัง Passion of the Christ ด้วยประเด็นความรุนแรงในหนัง และคิดว่าวงการหนังกำลังใช้ NC-17 ไปในทางที่ผิด
นอกจากงานเขียนบทวิจารณ์เป็นประจำ อีเบิร์ต ยังมีหนังสืออีกมากกว่า 15 เล่ม ทั้งเรื่องราวของ มาร์ติน สกอร์เซซี จนไปถึงหนังสือที่ว่าด้วยกรุงลอนดอน และเรื่องอาหาร เขายังออกหนังสือรวมบทวิจารณ์อันเผ็ดร้อนของตัวเอง เกี่ยวกับหนังห่วย ๆ เช่น Awake in the Dark และ Your Movie Sucks ด้วย
ตั้งแต่ปี 1999 อีเบิร์ต ยังริเริ่มเทศกาลภาพยนตร์ Ebertfest ที่ฉายหนังซึ่งเขาเป็นผู้คัดสรรเองที่อิลลินอยส์บ้านเกิดด้วย
อีเบิร์ต แต่งงานกับ เชซ แฮมเมลสมิธ ในปี 1992 ซึ่งภรรยาที่เป็นอดีตทนายความ ยังเข้ามาช่วยเรื่องงานของเขา ทั้งเป็นผู้ดูแลธุรกิจ และนั่งตำแหน่งโปรดิวเซอร์ในรายการโทรทัศน์ของ อีเบิร์ต ซึ่งนอกจากภรรยาแล้ว ครอบครัวของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังยังประกอบไปด้วยลูกสาวบุญธรรม และหลานสาวอีก 2 คน
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |