Facebook : teelao1979@hotmail.com
ถ้าค่ายหนังอย่างจีทีเอชเคยจับกระแสสังคมร่วมสมัยด้วยหนังอย่าง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวคนเมืองกับชีวิตเหงาๆ ที่เฝ้าฝันถึงใครสักคนมาร่วมเรียงเคียงข้าง ถ้าเช่นนั้น หนังอย่าง “ยอดมนุษย์เงินเดือน” ของค่ายสหมงคลฟิล์ม ก็คงพูดได้ว่า นี่เป็นการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายได้ดีอย่างยิ่ง และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างกว้าง เนื่องจากมองไปทางไหน เราต่างก็เห็นมนุษย์ประเภทนี้เต็มไปหมด กระนั้นก็ตาม พูดกันอย่างถึงที่สุด แม้ชื่อของหนังจะจำเพาะเจาะจงลงไปที่กลุ่มคนทำงานประจำ แต่นี่กลับเป็นหนังที่คนซึ่งไม่ได้ทำงานออฟฟิศก็ดูได้ และควรได้ดูเป็นอย่างยิ่ง
สารภาพตามตรงครับว่า ตอนเห็นหน้าหนังหรือหนังตัวอย่าง ผมก็รู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่าคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการหยิบเอาวิถีชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศมาล้อมาอำขำๆ ฮาๆ แต่พอได้ดู กลับพบว่า นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะสิ่งที่ใหญ่กว่า คือโครงสร้างทางความคิดที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วอย่างดี และค่อนข้างคิดละเอียดทุกมุก ไม่เว้นแม้กระทั่งชื่อเสียงเรียงนามของตัวละครหลัก
“ปั้น” (เจษฎาภรณ์ ผลดี) คือผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ชื่อของเขาก็บอกเป็นนัยๆ อยู่แล้วถึงตัวตนและระบบความคิด เขาพยายาม “ปั้นชีวิต” ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน ปีหนึ่งๆ จะต้องทำอะไรบ้าง จดไว้ครบทุกรายการ เรียกว่าเป๊ะทุกกระเบียดนิ้วจนได้ฉายามิสเตอร์เป๊ะแมน และก่อนถึงสิ้นปีเพียงสามเดือน “ปั้น” ก็ต้องปลุกปั้นโปรเจคต์ที่ทางเบื้องบนสั่งลงมาว่าต้องทำให้สำเร็จก่อนสิ้นปี โดยมีปัจจัยเรื่อง “โบนัส” เข้ามาเป็นตัวกำหนด
“ปั้น” ได้เด็กใหม่เข้ามาช่วยงานหนึ่งคน คือ “หวาย” (ณัฐชลัยย์ สุขะมงคล) ผมคิดเล่นๆ ว่าบางที ชื่อของเธออาจจะหมายถึง “สวิงสวาย” เพราะความที่เธอไม่ค่อยชอบทำอะไรที่เป็นแบบแผน ชอบทำอะไรนอกกรอบ ใช้ชีวิตตามความคิดความฝัน เธออยากเป็นนักวาดการ์ตูน แต่ทางบ้านขอร้องให้มาทดลองทำงานออฟฟิศสามเดือน และมันเป็นสามเดือนที่ความคิดสองขั้วของคนสองแบบ คือระหว่างเธอกับหัวหน้าอย่างปั้น ต้องสู้รบปรบมือกันแทบจะตลอดเวลา
ความรู้สึกของการดูหนังเรื่องนี้ ในบางมุม จึงแทบไม่ต่างจากการดูมวย มุมหนึ่งไต่ถามหาความฝัน นิยมความสนุกสนานเบิกบานจนบางทีดูเหมือนไม่มีกรอบ ส่วนอีกมุมคือชีวิตที่เดินตามขนบแบบแผนความมั่นคง และสิ่งที่เยี่ยมยอดมากๆ ของหนังก็คือ การบาลานซ์ หรือให้ความสำคัญกับทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม และหาเหตุผลสนับสนุนแต่ละฝ่ายอย่างมีน้ำหนัก จนเราไม่รู้สึกว่ามีการเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ความสนุกของการดูหนังเรื่องนี้จึงอยู่ที่การไฟท์ของแต่ละฝ่ายความคิด เพื่อตอบโจทย์ในแง่คุณค่าชีวิตตามความเชื่อของแต่ละขั้ว อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งซึ่งผมรู้สึกว่าหนังตั้งคำถามได้ชวนฉุกคิดเอามากๆ ก็คือ ที่สุดแล้ว มนุษย์กินเงินเดือนนั้น เป็นคนมีความฝันอย่างชาวบ้านชาวเมืองเขาหรือไม่ เพราะก็อย่างที่หวายบรรยายไว้ตอนเปิดเรื่อง ว่าคนทำงานประจำนั้นต้องทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ วันแล้ววันเล่า จำต้องอยู่ ไม่ว่าจะอยากอยู่หรือไม่ก็ตาม แล้วนอกจากโบนัสท้ายปี ความฝันของคนพวกนี้อยู่ตรงไหน
ใช่หรือไม่ว่า ที่ผ่านๆ มา หลายคนก็คงคิดเหมือนกับหวาย ว่าชีวิตมนุษย์ออฟฟิศมันช่างแห้งแล้งน่าเบื่อหน่ายเสียนี่กระไร อยู่แต่ในคอกแคบๆ เข้าออกเป็นเวลา การเป็นคนทำงานกินเงินเดือน จึงดูเหมือนพวกหุ่นยนต์ไร้ชีวิต ไร้ความรู้สึกนึกฝัน เพราะวันๆ วนเวียนอยู่แต่กับบ้านและที่ทำงาน ถึงวันหยุดก็ไปแย่งกันเที่ยวแย่งกันใช้จ่าย ดูไร้สาระ คนจำนวนหนึ่งจึงใฝ่หาชีวิตที่อิสระ เป็นไทแก่ตัวเอง จนกลายเป็นค่านิยมที่เฟื่องฟูในหมู่คนร่วมสมัย มันไม่ผิดที่จะคิดแบบนั้น แต่สิ่งที่เรากำลังจะพูดกันก็คือ ค่านิยมแบบนั้นมันทำให้ดูเหมือนว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือน ช่างเป็นอะไรที่น่าเบื่อสุดๆ และกลับกลายเป็นว่า คำว่า “ความฝัน” ถูกจำกัดไว้เพียงสำหรับมนุษย์บางประเภทเท่านั้น เช่น นักเขียน นักแต่งเพลง คนเปิดร้านค้าเก๋ๆ แนวๆ แต่ถ้าคุณยังทำงานกินเงินเดือน คุณไม่มีทางถูกเรียกได้ว่าเป็นคนมีความฝัน
เหมือนกับคำพูดของปั้นที่กล่าวไว้ประมาณว่า ไอ้ที่เขาเรียกกันว่า ความฝัน หรือคนมีความฝัน นั้นมันคืออะไร หรือเป็นอย่างไร เป็นนักเขียน เป็นคนแต่งเพลง เป็นคนทำหนัง เป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่ อย่างนี้ใช่ไหมถึงจะพูดได้ว่ามีความฝัน แล้วไอ้คนที่เขาต้องการความมั่นคงในชีวิต ทำงานออฟฟิศ อยากมีเงินใช้แบบไม่ขัดสน เลี้ยงดูตนเองและคนที่รักได้ มีโอกาสที่จะใช้คำว่าคนมีความฝันบ้างได้ไหม?
คำตอบที่หนังให้ ก็คือ ได้...ในหนัง เราจะเห็นความฝันของมนุษย์เงินเดือนอบอวลไปหมด เช่น “นุช” เลขาสาวที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และเฝ้าฝันว่าสักวันตัวเองจะมีรถสักคัน นั่นก็คือรูปแบบหนึ่งของความฝันในแบบของมนุษย์เงินเดือน ผมว่าถ้าคนจะคิดตามหนังเรื่องนี้ มันมีแง่มุมให้ขบคิดได้หลากหลายมากครับ หนังจัดวาง “มุมมองความคิด” ไว้ตามจุดต่างๆ ได้ดี คุณจะวิเคราะห์เรื่องขององค์กรกับพนักงานก็ได้ หรือจะมองในแง่ของลูกน้องกับหัวหน้างานก็ดีเช่นกัน ตัวละครหลักและตัวละครรองทุกตัว นอกจากจะทำหน้าที่เป็นดั่งภาพจำลองของคนทำงานกินเงินเดือนหลากหลายรูปแบบ แต่ละคนยังมีจุดเด่นด้านบุคลิกตัวตนและเนื้อหาที่น่าจดจำในแบบของตัวเอง
ดังนั้น นอกจากประเด็นความคิดหลักๆ อันว่าด้วยการเป็นคนทำงานอิสระกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับปั้นและหวาย หนังก็มีซับพล็อต หรือพล็อตรองที่แตกย่อยออกไปตามตัวละครรองๆ และที่สำคัญ หนังก็ตามเก็บรายละเอียดได้ครบทุกคน ผมชอบบทของดีเจต้นหอม เพราะรู้สึกว่านี่แหละคือรูปแบบหนึ่งของสาวออฟฟิศร่วมสมัย ผมชอบบทของเต๋า เอเอฟ 8 เพราะเห็นว่า บางที คนเราก็หลบหนีความจริงของตัวเองเพียงเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง และผมก็ชอบบทของคุณซ้ง-ธรธร ที่แม้ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมายในออฟฟิศ แต่ก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของออฟฟิศทุกวิถีทาง ขณะเดียวกันก็คาดหวังถึงความก้าวหน้าในอาชีพ
แน่นอนครับ ในบรรดาตัวละครทั้งหลายเหล่านั้น ผมเชื่อของผมเองว่า น่าจะมีตัวใดตัวหนึ่งบ้างล่ะที่ “คลิก” กับชีวิตมนุษย์ออฟฟิศของคุณๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งแม่ของหวายที่มีบทเพียงผ่านๆ แต่ก็ผ่านมาเพื่อให้จำ กับถ้อยคำไม่กี่คำที่สะท้อนถึงภาพรวมของประเด็นความคิดได้เป็นอย่างดี ด้วยคำพูดที่ว่า ถ้าคิดจะอยู่นอกกรอบ ก็ควรจะได้รู้บ้างว่ากรอบนั้นเป็นฉันใด
คุณค่าของหนังไม่ได้อยู่ที่ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ครับ แม้จะต้องยอมรับว่าหลายคนที่ไปดูหนังเรื่องนี้เพราะเป็นแฟนคลับของคุณติ๊กก็ตามที หากแต่ “ยอดมนุษย์เงินเดือน” มีดีที่คุณค่าในเชิงเนื้อหาสาระ ยิ่งกว่านั้นคือมันเป็นหนังที่ดูสนุก คุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือน มนุษย์เงินดาวน์ มนุษย์เงินผ่อน หรือมนุษย์ทำงานอิสระ ก็ดูได้
ผมชอบที่หนังไม่ได้พิพากษาตัดสินว่าแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างการเป็นมนุษย์เงินเดือนกับคนทำงานอิสระ แต่พยายามให้เหตุผลที่เหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย และมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงทางความคิดเพื่อความสุขสมดุลในชีวิตของตัวละคร เป็นการเติบโตรูปแบบหนึ่ง คือคุณจะอยู่ในกรอบแบบปั้นก็ได้ แต่ไม่ใช่เคร่งเครียดจนกระทั่งหลงลืมความรื่นรมย์หรือเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ขณะเดียวกัน ถ้าคุณมีความสุขกับการบินออกไปจากกรงเหมือนกับหวายก็คงไม่มีใครว่า เพียงแค่อย่าลืม คนออฟฟิศอย่างน้อยๆ ก็มีกรอบเกณฑ์บริษัทคอยควบคุม แต่การเป็นอิสระ วินัยและความรับผิดชอบในตัวเองนั้นสำคัญมาก เหมือนกับที่ปั้นพูดกับหวายในบางตอนว่า นักเขียนใหญ่ๆ ล้วนแล้วแต่มีวินัยในตัวเองสูงทั้งนั้น
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า นี่คือหนังไทยที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง และถ้าจะพูดกันอย่างตรงใจที่สุด มันเป็นหนังที่ “ดูแล้วได้อะไรมากที่สุด” ของปีนี้ก็ว่าได้ คุณวิรัตน์ เฮง คนทำหนังมือใหม่ (ในแวดวงหนังใหญ่) ซึ่งกำกับหนังเรื่องนี้ ถือว่า “สอบผ่าน” อย่างเต็มตัว ส่วนนักแสดงหลักอย่างคุณติ๊ก-เจษฎาภรณ์ แม้บทบาทจะมาก แต่ยังขาดหมัดฮุกที่จะทำให้เราประทับใจอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับตัวรองๆ บางตัวกลับโดดเด่นเจิดจ้ามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จือ” (เต๋า AF8) ที่ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ผมว่าเขามีโอกาสเข้าชิงรางวัลต่างๆ ในสาขาของนักแสดงสมทบได้ เช่นเดียวกับบทของไนซ์-จิรภา ที่แสดงเป็นเลขาฯ เจ้านายใหญ่ มันมีจุดที่จี้โดนใจพนักงานกินเงินเดือนอย่างรู้สึกสัมผัสได้
พนักงานหลายบริษัท อาจไม่มีโบนัสท้ายปี แต่ก็อย่าได้เศร้าใจไปครับ ก็เหมือนกับที่ปั้นบอกนั่นล่ะว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าเป้าหมายในการได้โบนัสมันไม่สำเร็จ เรามนุษย์ออฟฟิศก็ควรตอบให้ได้ว่าความสุขในการทำงานของตัวเองอยู่ตรงไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่ดูเหมือนจะขาดทุนกับการดูหนังไทยมาโดยตลอดในขวบปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่า “ยอดมนุษย์เงินเดือน” คือโบนัสส่งท้ายปีกับการเป็นหนังดีๆ ของช่วงปีที่กำลังจะเปลี่ยนผ่าน และมัน...ก็ทดแทนโบนัสที่อาจจะมีหรือไม่มีในตอนสิ้นปีที่จะมาถึงนี้
มีหรือไม่มี? มี เอ๊ะ หรือว่าจะไม่มี 555