ตัวอย่างของภาพยนตร์ Innocence of Muslims ที่ถ่ายทำแบบมือสมัครเล่น, ดูรสนิยมต่ำ, ไม่มีดาราหน้าคุ้นเคย กลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางศาสนาครั้งล่าสุด เกิดการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศ, เกิดการสูญเสีย และล้มตาย ขึ้นจากภาพยนตร์ที่แทบไม่เคยมีใครได้ดู, ไม่ทราบแหล่งที่มาอันชัดเจน และยังเต็มไปด้วยคำถามต่าง ๆ มากมาย
Innocence of Muslims กลายเป็นหนังที่ใคร ๆ ก็พูดถึง แม้จะไม่ได้เข้าฉายอย่างเป็นทางการในโรงภาพยนตร์แห่งใดเลย แต่กลับได้รับความสนใจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความอื้อฉาว กับการแสดงท่าทีต่อต้านศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการมุ่งเป้าลบหลู่ “นบีมุฮัมมัด” ศาสดาของศาสนา
ตามข้อมูลในช่วงแรกมีรายงานว่า Innocence of Muslims ที่อ้างว่าใช้ทุนสร้างราว 5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีนาย “แซม บาไซล์” นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกัน เชื้อสายอิสราเอลวัย 50 ปีเศษเป็นตัวตั้งตัวตีระดมทุน ด้วยเงินบริจาคของชาวยิวจำนวนมากกว่า 100 คน
เนื้อหาของหนังฉบับเต็มนั้นไม่มีใครทราบ แต่จากตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ Youtube Innocence of Muslims เป็นหนังที่เล่าด้วยลีลาตลกร้าย วาดภาพนบีมุฮัมมัดให้ออกมาในรูปลักษณ์ของ “ตัวตลก” ในมุมด้านลบจนสุดที่จะรับได้
Innocence of Muslims ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเด็นอันละเอียดอ่อนเปราะบาง ชนิดแตะต้องไม่ได้อยู่แล้ว แต่หนังเรื่องนี้มีสิ่งที่แตกต่างจากภาพยนตร์แนวศาสนาที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะดูเหมือนว่าผู้สร้างจะไม่ได้มีจุดประสงค์ในแง่ศิลปะใด ๆ อยู่เลย นอกเหนือไปจากเพียงการระบายความเกลียดชังต่อศาสนาอื่นเท่านั้น
หนังมีงานสร้างที่เห็นได้ชัดว่าราคาถูก, การแสดงย่ำแย่ที่นักแสดงในเรื่องดูตาลอย ๆ และพูดบทกันเหมือนท่องมา ภาพรวมแล้วไม่สามารถวัดด้วยมาตรฐานคุณค่าทางภาพยนตร์ใด ๆ ได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีทุนสร้างถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างที่อ้าง
“คามราน พาชา” นักทำหนังชาวอเมริกันมุสลิม ถึงกับกล่าวอย่างมั่นใจว่า นี่คือหนังที่ไม่มีคุณค่าใด ๆ ซึ่งมีพวกดื้อด้านเก็บกดอยู่เบื้องหลัง เป็นงานซึ่งแฝงเจตนารมณ์แห่งความรุนแรง และเกลียดชังอย่างไม่มีการอำพราง กับการละเลงภาพของท่านนบีมุฮัมมัดอย่างหนักมือ
แม้แต่ “ซัลมัน รัชดี” นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษ เจ้าของงานเขียน The Satanic Verses สุดอื้อฉาว ที่โดนกล่าวหาว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลาม จนทำให้เขากลายเป็นศัตรูของมุสลิมทั่วโลก ก็ยังให้ความเห็นถึง Innocence of Muslims ว่าเป็นงานที่ “เลวทราม, น่ารังเกียจ, น่าขยะแขยง”
เหตุประท้วง - รุนแรง, บานปลาย, ควบคุมไม่ได้
ตัวอย่างของหนัง Innocence of Muslims ฉบับเต็มที่มีความยาวประมาณ 13 นาทีถูกอัปโหลดขึ้นบทเว็บ Youtube เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ด้วยชื่อคลิปว่า “ชีวิตจริงของ มุฮัมหมัด” จากผู้ที่ใช้นาม “แซม บาไซล์” แต่กว่าจะสร้างผลกระทบไปในวงกว้างก็ต้องรอไปจนถึงเดือน ก.ย. เมื่อคลิปดังกล่าวได้ถูกพากย์เสียงภาษาอาระบิก และมีชาวอียิปต์คนหนึ่งนำไปเผยแพร่ในชุมชนออนไลน์ของประเทศ จนต่อมาโทรทัศน์ของอียิปต์นำไปออกอากาศต่อ จากนั้นเพียงไม่ถึงเดือนทุกอย่างก็ลุกลามบานปลายไปไกลกว่าที่ใครจะจินตนาการได้
วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 เริ่มมีการประท้วงในหลายประเทศ โดยชาวมุสลิมจำนวนมากซึ่งมองว่าศาสนา และศาสดาของพวกเขาถูกดูหมิ่น การประท้วงเริ่มขึ้นต่อคณะผู้แทนทางทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และเบงกาซี ประเทศลิเบีย และลุกลามทั่วโลกมุสลิมอย่างรวดเร็ว
ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ชาวมุสลิม แสดงออกถึงความไม่พอใจ ด้วยการปีนกำแพงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และฉีกธงชาติสหรัฐฯ เพื่อแทนที่ด้วยธงอิสลามสีดำ เป็นเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมกว่า 200 คน
แต่ที่รุนแรงกว่าคือที่ เบงกาซี ประเทศลิเบีย ที่มีการยิงอาร์พีจี และโจมตีด้วยอาวุธปืนกลเบา ใส่สถานกงสุลสหรัฐฯ จนไปถึงการจุดไฟเผา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 14 คน รวมทั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำลิเบีย “คริสโตเฟอร์ สตีเฟนส์” จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่า
ต่อมามีรายงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งระบุว่า เหตุโจมตีดังกล่าว อาจเกิดขึ้นด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าที่ใคร ๆ คิด และดำเนินการราวกับเป็น “มืออาชีพ” มากกว่าจะเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯรายหนึ่ง ที่ไม่เปิดเผยตัวเชื่อว่า เหตุโจมตีครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการวางแผนล่วงหน้า ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจในภาพยนตร์เรื่อง Innocence of Muslims เพียงอย่างเดียว
หลายวันต่อมา การประท้วงได้ลุกลามไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศต่าง ๆ ทั้งใน กรุงซานา ประเทศเยเมน ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 4 คน และมีผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้รับบาดเจ็บ 35 คน ส่วน สถานกงสุลในเจนไน ประเทศอินเดียถูกโจมตี ส่งผลให้มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 25 คน และที่ ตูนิส ประเทศตูนิเซีย มีผู้ประท้วงที่ปีนกำแพงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และจุดไฟเผาต้นไม้ ซึ่งแหล่งข่าวรัฐบาลรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และอีก 46 คนได้รับบาดเจ็บระหว่างการประท้วง
ถึงตอนนี้กระแสประท้วงแสดงจุดยืนต่อต้านหนังในประเทศต่าง ๆ จากตะวันออกกลางและแอฟริกา ลามไปทั่วทุกทวีป ทั้งด้วยท่าทีซึ่งพอจะมีเหตุมีผลอยู่บ้าง จนไปถึงการแสดงความก้าวร้าวรุนแรง แตกต่างกันไปตามท้องที่ต่าง ๆ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า มุสลิมทั่วโลกไม่พอใจในหนังเรื่องนี้
เบื้องหลังผู้สร้าง “แซม บาไชล์” คือใครกันแน่ ?
แซม บาไชล์ ผู้ที่อ้างตัวว่าอยู่เบื้องหลังการสร้าง Innocence of Muslims ซึ่งเก็บตัวเงียบในที่ลึกลับหลังเกิดเหตุขึ้น เพราะเกรงว่าตนจะกลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มชาวมุสลิม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการยืนยันถึงจุดยืนของตนเอง เขายังเรียกศาสนาอิสลามว่าเป็น “มะเร็งร้าย” และอ้างว่าผลงานของตน คือหนังการเมืองไม่ใช่หนังศาสนา บาไชล์ ยังแสดงความเห็น ถึงเหตุร้ายในลิเบียที่ทำให้ทูตสหรัฐฯ เสียชีวิต ว่า เป็นปัญหาของการรักษาความปลอดภัยที่ควรมีการปรับปรุง
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวตนของ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอล ที่ชื่อว่า แซม บาไซล์ ว่ามีตนอยู่จริงหรือไม่ เพราะไม่สามารถค้นหาร่องรอยใด ๆ ของชายคนนี้ได้เลย มีเพียงเบาะแสของชายที่ชื่อว่า “นาคูลา เบสลีย์ นาคูลา” ชาวอเมริกันเชื้อสายอียิปต์ ทีมงานเบื้องหลังอีกคนของหนังเท่านั้น ต่อมาจึงมีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่า ทั้งคู่คือคนคนเดียวกัน
นาคูลา เบสลีย์ นาคูลา เป็นชาวอียิปต์ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ นิกายคอปติก ซึ่งเป็นกลุ่มคริสเตียนกลุ่มใหญ่ในอียิปต์ และมีถิ่นฐานปัจจุบันอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เขายังมีประวัติไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ทั้งเคยถูกจำคุกจากการผลิตยาบ้า และฉ้อโกง โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่าได้เขียนบทภาพยนตร์ดังกล่าวตั้งแต่อยู่ในคุก เมื่อได้อิสรภาพออกมา ก็เริ่มดำเนินการสร้าง Innocence of Muslims ด้วยเงินทุนจากครอบครัวของภรรยาในอียิปต์ประมาณ 50,000 - 60,000 เหรียญสหรัฐ ไม่ใช่ระดับ 5 ล้านเหรียญฯ อย่างที่เคยมีการกล่าวอ้าง
นอกจาก นาคูลา เบสลีย์ นาคูลา แล้วหนังเรื่องนี้ยังมี “เทอร์รี โจนส์” ผู้โด่งดังในทางร้ายกับการเผาคัมภีร์อัลกุรอาน ก็ออกตัวเป็นผู้สนับสนุน Innocence of Muslims เช่นเดียวกับชายที่ชื่อ “สตีฟ ไคลน์” อดีตทหารผ่านศึกเวียดนามคนนี้ มีชื่อในฐานะเป็นคริสเตียนหัวรุนแรงที่มีจุดยืนต่อต้านอิสลามอย่างรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้สหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะสงครามกับมุสลิมก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะที่ปรึกษาด้านบท
สตีฟ ไคลน์ ยังเป็นคนที่ให้ข่าวว่า “บาไซล์” ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นอิสราเอล หรือยิว แต่เป็นนามแฝงของคนกลุ่มหนึ่งที่นับถือนิกายคอปติก และศาสนาคริสต์อีแวนเจลิค จาก ซีเรีย, ตุรกี, ปากีสถาน และอียิปต์ ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไคลน์ ยังปฏิเสธที่จะโทษหนังว่าก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น “ผมรู้สึกผิดรึเปล่าน่ะเหรอที่หนังปลุกปั่นให้พวกเขาทำรุนแรงแบบนั้น? ผมไม่ได้ปลุกปั่นใคร คนพวกนั้นโดนปลุกปั่นมาก่อนแล้ว โดยมีโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว”
แม้เรื่องผู้สร้างยังจะไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ก็คือหนังเรื่อง Innocence of Muslims มีฉบับเต็มอยู่จริง ๆ ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวอย่าง 14 นาทีอย่างที่หลายคนสงสัยกัน “เดอะ เดลี บีสต์” พบว่าหนังเคยฉายอยู่ที่โรงหนังเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ฮอลลีวูดบูเลวาร์ด อยู่ช่วงสั้น ๆ พนักงานโรงหนังที่ไม่ขอเปิดเผยตัวบอกว่าแทบไม่มีใครสนใจจะตีตั๋วมาดูหนังเรื่องนี้ที่ตอนนั้นใช้อีกชื่อหนึ่งว่า Innocence of Bin Laden เลย
ที่มาไม่ชัดเจน - ทีมงาน, นักแสดง ปัดความรับผิดชอบ
Innocence of Muslims สร้างขึ้นมาโดยทีมงาน และนักแสดง ที่ประกอบไปด้วยทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เด่นดังอะไร บางคนเป็นนักแสดงหนังโป๊ สำหรับผู้กำกับของหนังที่ชื่อว่า “อลัน โรเบิร์ตส์” (อาจจะเป็นนามแฝง) ก็เคยทำหนังมาเมื่อร่วมเกือบ 20 ปีก่อนโน้นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหนังทุนต่ำ และยังเคยทำหนังโป๊มาก่อนเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ทีมงาน และนักแสดงกลับยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ล่วงรู้อะไรถึงจุดประสงค์อันก้าวร้าวของหนัง Innocence of Muslims เลย อันที่จริงพวกเขาไม่ได้ทราบถึงชื่อหนังชื่อนี้ด้วยซ้ำ เพราะระหว่างการถ่ายทำหนังถูกเรียกว่า Desert Warriors มาตลอด และไม่มีการอ้างอิงถึงเรื่องศาสนาใด ๆ แต่แล้วเมื่อถ่ายทำเสร็จ ผู้สร้างกลับใช้วิธีการพากย์เสียงทับเข้าไปบางส่วน เพื่อให้เรื่องราวเป็นไปอย่างที่พวกเขาต้องการ แม้จะเป็นเพียงบางส่วน แต่ก็มากพอที่จะสามารถเปลี่ยนให้หนังตลกห่วย ๆ เรื่องหนึ่งกลายเป็นงานที่แสดงความเลวทรามต่อศาสนาอิสลามได้
หลังเรื่องราวบานปลายใหญ่โตเป็นความขัดแย้ง และปัญหาระดับชาติ ตัวแทนของนักแสดง และทีมงาน 80 ชีวิต ได้ให้ข่าวยืนยันว่าพวกเขาไม่เคยทราบถึงเนื้อหาของหนัง ที่มีจุดประสงค์ลบหลู่ศาสดาของศาสนาอิสลาม ทุกคนทั้งโกรธ และตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อได้รับทราบว่าตนเองได้มีส่วนร่วมในหนังที่ก่อให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิตขึ้นมา
“ทีมงาน และนักแสดงทุกคนรู้สึกไม่พอใจกับการโดนเอาเปรียบจากผู้สร้าง พวกเราไม่มีส่วนแม้แต่น้อยกับหนัง ที่มีการบิดเบือนเกี่ยวกับจุดประสงค์ และความมุ่งหมายของมันไป ... เราช็อกเมื่อหนังถูกแก้บทพูด และหลอกลวงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้” หนึ่งในทีมงานออกแถลงการณ์หลังเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น
“ซินดี ลี การ์เซีย” ก็เป็นนักแสดงอีกคนที่มีส่วนร่วมในหนัง เธอบอกว่า ได้รับบทหนังที่มีชื่อว่า “Desert Warriors” โดยไม่ทราบเลยว่านี่จะกลายเป็น Innocence of Muslims ในเวลาต่อมา เพราะหนังที่เธอรับเล่นนั้น มีเรื่องราวฉากหลังอยู่ในอียิปต์เมื่อ 2,000 ปีก่อน และตัวละคร “มุฮัมมัด” ก็ถูกเรียกว่า “มิสเตอร์จอร์จ” ตลอดการถ่ายทำ
ดาราสาวที่ชื่อว่า “แอนนา กูร์จี” เป็นอีกคนที่รีบแสดงความชัดเจนว่าแม้จะมีส่วนร่วมใน Innocence Of Muslims แต่เธอไม่ได้มีส่วนร่วมต่อการดูแคลนศาสดาของศาสนาอิสลามแต่อย่างใด ดาราสาวยืนยันผ่านจดหมายที่เขียนส่งให้สื่อว่า ตลอดการถ่ายทำไม่มีใครพูดชื่อ มุฮัมหมัด ออกมาเลยด้วยซ้ำไป "สองชั่วโมงเต็ม หลังจากรู้ข่าว ฉันร้องไห้ไม่หยุดเลย รู้สึกเหมือนตัวเองแตกเป็นเสี่ยง ๆ ... เจ็บปวดมากที่เห็นใบหน้าของตัวเอง ถูกใช้ทำอะไรบางอย่างที่ชั่วร้ายมาก โดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย"
ล่าสุด “ซินดี ลี การ์เซีย” ไดยื่นฟ้องต่อศาลลอสแองเจลิสเพื่อเอาผิดกับ นาคูลา เบสลีย์ นาคูลา ฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว, ฉ้อโกง, ทำลายชื่อเสียง และจงใจวางแผนให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังยื่นฟ้องเอาผิดกับเว็บไซต์ยูทิวบ์และบริษัทกูเกิล ฐานเผยแพร่ตัวอย่างภาพยนตร์ ซึ่งภายหลังถูกนำไปใส่เสียงภาษาอาหรับ และปรับเนื้อหาให้เป็นการเสนอภาพศาสดามูฮัมหมัดเป็นอันธพาลเสือผู้หญิง โดยคำร้องระบุว่า “นายเบซิลแจ้งกับเธอว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนวผจญภัยที่เกี่ยวกับชาวอียิปต์โบราณ”
การยื่นฟ้องในครั้งนี้ เนื่องจาก “เธอถูกขู่เอาชีวิต และเป็นกังวลกับสวัสดิภาพของตัวเธอเอง รวมถึงผู้คนที่อยู่รอบตัวเธอ” นอกจากนี้ การ์เซียขอให้ศาลออกคำสั่งถอดตัวอย่างภาพยนตร์ออกจากเว็บไซต์ยูทิวบ์อย่างถาวร พร้อมร้องเรียนว่าชื่อเสียงและหน้าที่การงานของเธอต้องป่นปี้เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้
หรือจะมีเบื้องหลัง?
ถึงตอนนี้สถานทูตสหรัฐฯ ในทุกประเทศทั่วโลก ได้กลายเป็นเป้าหมายของกระแสความไม่พอใจ ขณะที่มุสลิมก็ถูกตอกย้ำถึงความรุนแรงเกรี้ยวกราด ไร้เหตุผล ในสายตาของชาวโลกอีกครั้ง
ซึ่งจะว่าไปแล้วเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีหนังสือของ “ซัลมัน รัชดี” ที่ทำให้เขาถูกขู่สังหาร และถึงขั้นประกาศ “ฟัตวา” โดย “อะญาตุลลอฮ์ โคไมนี” อดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ให้ชาวมุสลิมสังหารเขา โทษฐานดูหมิ่นศาสนาอิสลาม ซึ่งทำให้เขาต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนตัวเป็นเวลานับสิบปี หรือกรณีของการสังหารผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ “ธีโอ แวน โก๊ะ” ที่ทำหนังวิจารณ์ศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง และเหตุการณ์เมื่อปี 2005 ที่เกิดการประท้วงใหญ่กับการ์ตูนล้อเลียนของเดนมาร์ก ที่มีเนื้อหาดูแคลนศาสดานบีมุฮัมมัด เช่นเดียวกัน
ปกติปัญหาประเภทนี้มักจะเป็นการต่อสู้ระหว่างความเชื่อทางศาสนา และแนวคิดเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” อย่างไรก็ตาม หลายคนก็มองว่า Innocence of Muslims ที่เต็มไปด้วยการยั่วยุ และไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้น เป็นงานที่เลยเถิดเกินกว่าจะได้รับการคุ้มครองจากแนวคิดเรื่องเสรีในการพูดไปไกลแล้ว
ด้วยบรรยากาศแห่งความไม่ไว้ใจ ย่อมทำให้เกิด “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” เกี่ยวกับประเด็นหนัง Innocence of Muslims ออกมาได้อย่างง่ายดาย ระดับขั้นพื้นฐานที่สุดก็คือคำอธิบายที่ว่า หนังเรื่องนี้ก็คือ “เครื่องมือ” ล่าสุดของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่มักจะหาเรื่องก่อสงครามในปีเลือกตั้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประจำปี 2012 ที่ผู้นำคนปัจจุบันอย่าง “บารัค โอบามา” อาจจะต้องการดึงความสนใจของชาวสหรัฐฯ ไปจากนโยบายทางเศรษฐกิจอันล้มเหลว ด้วยสงครามนอกประเทศก็เป็นได้
ข้อกล่าวหาทำนองนี้ อาจสามารถถูกหักล้างได้ด้วยข้อมูล และเหตุผลต่าง ๆ แต่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจระหว่างกัน สมมติฐานเรื่องแผนการอันชั่วร้ายจึงน่าเชื่อถือขึ้นมาอีกหลายเท่า เพราะคงไม่มีประเทศใดอีกแล้ว ที่จะมีเหตุผลของการทำสงครามเท่ากับสหรัฐฯ ทั้งข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ของกองทัพ หรือการมองสงครามครั้งใหม่ ในฐานะความพยายามในการแย่งชิงบทบาทผู้นำโลกที่กำลังถูกท้าทาย และมีสิทธิ์จะเสียพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ของตำรวจโลกอย่างสหรัฐฯ ด้วยเช่นเดียวกัน
ซ้ำร้ายรายละเอียดต่าง ๆ ที่แวดล้อมทั้งตัวหนัง Innocence of Muslims และผลกระทบของมัน ก็ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม ทั้งจุดยืนของ Youtube ในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ จะสามารถลบคลิปได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่ยอมลบหนังตัวอย่างดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ แม้มันจะสร้างความเสียหาย และความขัดแย้งมากมาย มีเพียงแต่การบล็อกการเข้าชมสำหรับบางประเทศเท่านั้น
ยังมีเรื่องที่ว่า นาคูลา เบสลีย์ นาคูลา เคยทำงานเป็นสายรายงานข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในคดีฉ่อโกงที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ที่กลายเป็นสายสัมพันธ์บาง ๆ ระหว่างชายคนนี้กับรัฐบาลของสหรัฐฯ ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“มุสลิม” ถูกวางกับดัก
ขณะนี้ไม่ใช่เพียงมุสลิมเท่านั้น แต่องค์กรชาวคริสต์ทั่วโลกก็ร่วมประณาม หนังเรื่อง Innocence of Muslims แม้แต่ตัวแทนของศาสนาคริสต์นิกายคอปติกก็ร่วมต่อต้านหนัง ส่วน World Council of Churches ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติของโปรเตสแตนต์ ก็ให้ความเห็นว่า “การย่ำยีหัวใจที่เต็มไปด้วยความศรัทธาของมุสลิม ก็คือการย่ำยีหัวใจของทุกคนที่มีความศรัทธาต่อพระเจ้าด้วย”
แน่นอนว่าตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ Innocence of Muslims อย่างแน่นอน รัฐมนตรีต่างประเทศ “ฮิลลารี คลินตัน” พูดอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ แต่ก็ยังกังวลว่า ชาวอาหรับบางส่วนอาจเชื่อว่าหนังมีรัฐบาลเป็นผู้บงการสร้างอยู่เบื้องหลัง
ถึงตอนนี้ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วย Innocence of Muslims ยังไม่ได้มีน้ำหนักมากนัก ข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ ไม่ได้เชื่อมโยงกันชัดเจนพอที่จะวาดภาพใหญ่ขึ้นมาได้ แต่ก็คงจะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้หากชาวอาหรับ หรือมุสลิมบางส่วนจะเชื่อว่า หนังเรื่องนี้มีเบื้องหลังมากกว่าตัวละครโนเนมเพียงไม่กี่คน
ด้วยความรู้สึกอันแรงกล้าต่อศาสนา และความขัดแย้งที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นในวันนี้ แต่มีประวัติศาสตร์ที่ถูกย่ำยี มีชีวิตภายใต้ความกดดันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะของสงคราม และความไม่สงบในหลาย ๆ ประเทศที่ดำเนินมานานหลายปี ได้สะท้อนออกมาในรูปของการใช้ความรุนแรงในการแสดงจุดยืนทางการเมือง
นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ “เดอะ คูเวต ไทม์” คนหนึ่งเรียก Innocence of Muslims ว่าเป็น “กับดักมุสลิม” เป็นหลุมพรางที่สามารถเล่นงานผู้คนจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย กับกลุ่มคนที่มี “จุดเดือดต่ำ” อันเป็นผลมาจากการ “ถูกกระทำ” มาอย่างยาวนาน หลาย ๆ คนจึงอาจเห็นการกระทำของมุสลิมในหลายประเทศ เป็นเรื่องน่าตำหนิ และน่าเห็นใจไปพร้อม ๆ กัน
เมื่อถึงปลายปี Innocence of Muslims อาจได้รับตำแหน่ง “หนังแห่งปี” ประจำ 2012 ไปครองในท้ายที่สุด ด้วยการครองพื้นที่สื่อชนิดที่หนังฟอร์มใหญ่ทุนสร้างหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ก็ไม่สามารถเทียบเคียงได้ เป็นความโด่งดังที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อในของตัวหนังเลย หากแต่เป็นเรื่องของสถานการณ์อันเปราะบาง และความขัดแย้งที่รุนแรง ที่ไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น และคงไม่สามารถคลี่คลายลงได้ในเร็ววัน
เรื่อง : อารยัน ฤกษ์เกษม
..............................................
ที่มานิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 155 วันที่ 22-28 กันยายน 2555