ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กลายเป็นเรื่องที่สร้างความปริวิตกไปทั่วทั้งโลก เมื่อม็อบติดอาวุธชาวลิเบียซึ่งโกรธแค้นภาพยนตร์วิพากษ์ศาสนาอิสลามบุกโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเบงกาซี ทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันเสียชีวิต 4 ราย รวมถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำลิเบีย โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงฝูงชนชาวอียิปต์ก็ได้บุกเข้าสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงไคโรด้วยสาเหตุเดียวกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากเกรงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่จุดกระแสต่อต้านทั่วโลกมุสลิม
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ต้นเหตุของการประท้วงใน 2 เมืองใหญ่ของตะวันออกกลางคือภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นโดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกัน-ยิว ที่เรียกศาสนาอิสลามว่า “มะเร็ง” และแสดงภาพของศาสดามูฮัมหมัดกำลังหลับนอนกับผู้หญิง
วานิส อัล-ชาริฟ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยลิเบีย เปิดเผยว่า ผู้ประท้วงหลายสิบคนได้จู่โจมสถานกงสุลของสหรัฐฯในเมืองเบงกาซีเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีรายงานเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่อเมริกันเสียชีวิตหนึ่งคน และอีกคนได้รับบาดเจ็บที่แขน ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่นๆอพยพออกจากสถานกงสุลได้อย่างปลอดภัย
ทว่า เมื่อวันพุธที่ 12 กันยายน เจ้าหน้าที่ลิเบียกลับเผยว่า คริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ เอกอัครราชทูตอเมริกันถูกกลุ่มมือปืนโจมตีด้วยจรวด และเสียชีวิตพร้อมกับเจ้าหน้าที่อีก 3 คนขณะถูกนำขึ้นรถออกจากสถานกงสุล และต่อมาภายหลังมีการเสนอข้อมูลใหม่ว่า แท้ที่จริง สตีเวนส์ เสียชีวิตจากการสูดดมควันไฟ เนื่องจากติดอยู่ในอาคารสถานกงสุลที่ถูกกลุ่มติดอาวุธยิงจรวดอาร์พีจีใส่และจุดไฟเผา
มุสตาฟา อาบู ชากูร์ รองนายกรัฐมนตรีลิเบีย กล่าวประณามการสังหารทูตอเมริกันว่า เป็นการกระทำของพวกขี้ขลาด ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ออกคำแถลง “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อการโจมตีสำนักงานการทูตของสหรัฐฯ พร้อมสั่งการให้รัฐบาลจัดหาทรัพยากรทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนความปลอดภัยของบุคลากรอเมริกันในลิเบีย ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยให้แก่สำนักงานการทูตของสหรัฐฯทั่วโลก
อับเดล โมเนม อัล-ฮอร์ โฆษกคณะกรรมการความมั่นคงในสังกัดกระทรวงมหาดไทยลิเบีย เปิดเผยว่า กลุ่มติดอาวุธได้ยิงจรวดอาร์พีจีและขว้างระเบิดเข้าไปในสถานกงสุล ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์อีกสองคนเล่าว่า ผู้ประท้วงได้ฉีกธงชาติอเมริกัน ก่อนเข้าไปฉกชิงทรัพย์สินและจุดไฟเผาอาคาร และมีชายฉกรรจ์จากกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว “ซาลาฟิสต์” ได้ปิดถนนเข้าออกสถานกงสุลด้วย
ทั้งนี้ เมืองเบงกาซี นอกจากจะเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ยังเป็นจุดกำเนิดของการปฏิวัติโค่นล้มพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการลิเบียเมื่อปีที่แล้ว เมืองแห่งนี้ยังต้องเผชิญเหตุการณ์รุนแรงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการโจมตีเป้าหมายตะวันตก การวางระเบิดอาคารทางทหาร และการสังหารเจ้าหน้าที่ทหารและความมั่นคง
ที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ ผู้ประท้วงเกือบ 3,000 คนซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนขบวนการซาลาฟิสต์ ได้ไปชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ หลายสิบคนได้ปีนกำแพงเข้าไปปลดธงชาติอเมริกันออก และนำธงอิสลามขึ้นไปแขวนแทน
อย่างไรก็ดี ตำรวจอียิปต์สามารถสลายการชุมนุมได้อย่างสันติ ทำให้เหลือผู้ประท้วงหน้าสถานทูตอเมริกันเพียงไม่กี่ร้อยคน
การประท้วงทั้งในลิเบียและอียิปต์ปะทุขึ้นในวาระครบรอบ 11 ปีเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ขณะที่ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คนได้ร่วมไว้อาลัยที่กราวนด์ซีโรในนครนิวยอร์ก ส่วนประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็มีแถลงการณ์จากทำเนียบขาวยกย่องชาวอเมริกันที่ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และทำให้สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น โดยยังมีนัยถึงการสังหาร อุซามะห์ บิน ลาดิน และผู้นำคนสำคัญคนอื่นๆของอัลกออิดะห์ ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายก่อการร้ายอ่อนแอลงอย่างมาก
สำหรับภาพยนตร์ที่เป็นต้นเหตุการประท้วงนี้มีชื่อว่า “อินโนเซนซ์ ออฟ มุสลิม” ซึ่งกำกับและอำนวยการสร้างโดย แซม เบซิล นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 52 ปีชาวแคลิฟอร์เนีย ซึ่งระดมทุนกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากผู้บริจาคชาวยิว 100 คนเพื่อใช้จ้างนักแสดง 60 คนและทีมงานอีก 45 ชีวิตถ่ายทำภาพยนตร์ โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
นอกจากจะวิจารณ์ศาสนาอิสลามว่าเป็น “มะเร็งร้าย" เบซิล ยังแสดงภาพของศาสดามูฮัมหมัดหลับนอนกับผู้หญิงหลายต่อหลายคน กล่าวถึงการสังหารชีวิตเด็ก และบอกว่า “ลา คือสัตว์มุสลิมตัวแรก”
ยิ่งไปกว่านั้น ภาพยนตร์ฉาวเรื่องนี้ยังได้รับการหนุนหลังจาก เทอร์รี โจนส์ ศาสนาจารย์แห่งโบสถ์คริสต์ในรัฐฟลอริดาที่เคยขู่เผาพระคัมภีร์อัลกุรอาน จนนำไปสู่เหตุจลาจลในอัฟกานิสถานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการคัดค้านการสร้างศูนย์วัฒนธรรมอิสลามใกล้กับกราวนด์ซีโรในนครนิวยอร์กด้วย
ศาสนาจารย์ผู้นี้ยืนยันว่า ภาพยนตร์ “อินโนเซนต์ ออฟ มุสลิม” มิได้มีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามชาวมุสลิม และการเสียชีวิตของเอกอัครราชทูต สตีเวนส์ กับเจ้าหน้าที่อเมริกันอีก 3 คนในลิเบีย ก็มิได้มีสาเหตุจากภาพยนตร์เรื่องนี้
“เราได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตภาพยนตร์ให้ช่วยนำออกเผยแพร่... ภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้มีเจตนาดูหมิ่นชุมชนมุสลิม แต่ต้องการเผยความจริงเกี่ยวกับมูฮัมหมัด ที่อาจจะไม่เป็นที่ทราบกัน” โจนส์ กล่าว
“พระเจ้ามิได้ทรงดลใจให้มูฮัมหมัดเขียนคัมภีร์อัลกุรอานขึ้น ผลที่ตามมาจากศาสนานั้นย่อมบ่งบอกได้เป็นอย่างดี เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดมิใช่เป็นเพราะภาพยนตร์ และไม่ได้เกิดจากกิจกรรมที่เราทำ และจะทำต่อไป”
โจนส์ ชี้ว่า ความรุนแรงที่กรุงไคโรและเมืองเบงกาซี “แสดงให้เห็นตัวตนที่แท้ของอิสลามที่ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับมูฮัมหมัด, อัลกุรอาน หรือกฎหมายชารีอะห์ พวกเขากลัวจะถูกวิจารณ์ เพราะรู้ดีว่าผู้คนเฝ้าตรวจสอบคำสอนของอิสลามและเนื้อหาในอัลกุรอานอยู่ มูฮัมหมัดและอัลกุรอานจะต้องถูกเปิดโปงว่ามิใช่อะไร นอกจากคำโกหกและการหลอกลวงเท่านั้น”
ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยถูกฉายในโรงหนังฮอลลีวูดแห่งหนึ่งเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ก่อนจะเงียบหายไป และเริ่มมีการเผยแพร่เวอร์ชันภาษาอาหรับผ่านสถานีโทรทัศน์อียิปต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสประท้วงลุกลามไปทั่วโลกมุสลิม
กระนั้นก็ตาม นักแสดงและทีมงานสร้างภาพยนตร์กลับออกมายืนยันว่า พวกเขาไม่ได้รู้เห็นด้วย และมีการใส่ถ้อยคำจาบจ้วงศาสนาอิสลามทับเสียงพูดของพวกเขาในฟิล์ม
ซินดี ลี การ์เซีย นักแสดงซึ่งรับบทสตรีที่นำลูกสาวไปแต่งงานกับศาสดามูฮัมหมัด กล่าวว่า เธอไม่เคยทราบมาก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จงใจดูหมิ่นอิสลาม
“หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว... ไม่มีอะไรเกี่ยวกับศาสดามูฮัมหมัด หรือมุสลิม หรืออะไรทำนองนั้นเลย” เธอให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Gawker.com
ด้านโบสถ์คริสต์นิกายคอปติกก็ได้ออกมาประณามการสร้างภาพยนตร์ดูหมิ่นอิสลาม พร้อมแสดงความกังวลเมื่อมีกระแสข่าวว่า ชาวคริสต์คอปติกในอียิปต์สนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้ และนำคลิปออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“การนำภาพยนตร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ในช่วงนี้ คือแผนการชั่วร้ายที่มุ่งทำลายศาสนา และสร้างความแตกแยกระหว่างผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอียิปต์” แถลงการณ์จากโบสถ์คอปติกออร์โธดอกซ์ ระบุ
และด้วยเหตุดังกล่าวส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯส่งเรือพิฆาต 2 ลำและนาวิกโยธินจากหน่วย FAST (Fleet Anti-Terrorism Security Team) ประมาณ 50 นาย เข้าไปคุ้มกันสถานทูตอเมริกัน ณ กรุงตริโปลี ขณะที่ จอร์จ ลิตเติล โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเจาะจงเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเรือพิฆาตครั้งนี้ แต่ก็ชี้ว่า แผนป้องกันเหตุของกองทัพไม่เพียง “สมเหตุสมผลในบางสถานการณ์” แต่ยัง “เป็นการกระทำอย่างรอบคอบด้วย”
ทั้งนี้ กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯและเอกชนที่ร่วมทำสัญญา มีหน้าที่คุ้มกันสำนักงานการทูตสหรัฐฯในต่างประเทศ ซึ่งก็ยังไม่ปรากฎชัดว่า ผู้ประท้วงชาวลิเบียสามารถฝ่ามาตรการรักษาความปลอดภัยเข้าไปในสถานกงสุลเมืองเบงกาซีได้อย่างไร
ด้านหน่วย FAST ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามต่างๆอย่างฉับไว หลังจากที่สหรัฐฯต้องเผชิญเหตุโจมตีต่อเนื่องในทศวรรษ 1970 และ 1980
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอัฟกานิสถานได้สั่งแบนเว็บไซต์ยูทิวบ์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 12 กันยายน เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนเข้าชมภาพยนตร์วิพากษ์ศาสนาอิสลาม
"จากคำแนะนำของกระทรวงการสื่อสารและวัฒนธรรม กระทรวงสารสนเทศจึงมีคำสั่งถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ให้บล็อคการเข้าถึงยูทิวบ์" ไอมาล มาร์ยาน เจ้าหน้าที่กระทรวงสารสนเทศบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี โดยชี้ว่า คำสั่งบล็อคจะมีผลไปจนกว่ายูทิวบ์จะถอดภาพยนตร์เรื่องนี้ออก หรือปิดกั้นมิให้คนเข้าชมคลิปภาพยนตร์ดังกล่าวได้
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างน้อย 1 รายในกรุงคาบูล เผยว่า ไม่สามารถเข้าชมเว็บไซต์ยูทิวบ์ได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีคำแถลงเรื่องดังกล่าวราว 1 ชั่วโมง
ในเวลาต่อมา มาร์ยาน เปิดเผยว่า มีการบล็อคเว็บไซต์ยูทิวบ์เป็นเวลาเพียงแค่ 90 นาที และตอนนี้ผู้ใช้สามารถเข้าชมได้ตามปกติแล้ว
ทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานออกมาประณามภาพยนตร์ดังกล่าวว่า ไร้มนุษยธรรมและดูหมิ่นหยาบคาย พร้อมเรียกร้องให้งดการเผยแพร่ หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตกว่า 40 คนในเหตุจลาจลที่มีต้นตอจากกรณีทหารสหรัฐฯเผาสำเนาพระคัมภีร์อัลกุรอานในฐานทัพบาแกรม
ไม่น่าเชื่อว่า คลิปภาพยนตร์สั้นๆจะเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง และท้าทายมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ และก็คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า เหตุการณ์ร้ายล่าสุดใน “วันที่ 11 กันยายน” จะส่งสัญญาณเตือนให้ชาวอเมริกันกว่า 315 ล้านคนต้องอยู่กับความหวาดระแวงต่อไปอีกนาน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเบงกาซีก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้แต่เอกอัครราชทูตที่อยู่ภายใต้การอารักขาอย่างแน่นหนา ก็อาจเอาชีวิตไม่รอด