xs
xsm
sm
md
lg

“ออย ธนา” กับฉายา “พระเอกเทวดา” ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แจ้งเกิดในวงการบันเทิงจากบทบาทของการเป็นนักร้อง ก่อนจะผันตัวเองมาสู่งานแสดง ทว่าสิ่งที่ทำให้หลายคนจดจำผู้ชายที่ชื่อ "ออย ธนา สุทธิกมล” ได้เป็นอย่างดีกลับเป็นเรื่องของพฤติกรรม

พฤติกรรมที่ทำให้ผู้สื่อข่าวบางส่วนมองว่าเขาเป็นคนติสท์แตก เลยเถิดไปถึงการไร้มารยาท และนำมาซึ่งฉายา "พระเอกเทวดา" จากการที่เจ้าตัวพร้อมจะหันหลังให้กับนักข่าวทันทีที่ถูกเอ่ยถามถึงเรื่องส่วนตัว

ผิดด้วยหรือที่คนๆ หนึ่งไม่อยากจะพูดเรื่องความรักให้คนอื่นรับรู้? และจะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือกับการที่คนบันเทิงคนหนึ่งในฐานะบุคคล "สาธารณะ" จะพยายามรักษา "โลกส่วนตัว" ของตนเองเอาไว้?
...
คนส่วนใหญ่จะมองว่าดรากับนักข่าวก็เหมือนสุภาษิต "น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า"

"มันก็เป็นเหมือนสิ่งที่ไปคู่กัน ผมเคยเล่นละครของเป่าจินจงก็มีข่าวอยู่ตลอด ผมบอกกับค่ายเลยว่าผมไม่ให้สัมภาษณ์นะ เพราะผมไม่ชอบ ก็ลองดูสิว่าถ้าผมไม่มีข่าวแล้วจะมีคนดูผลงานของผมมั้ย คนก็ดูนะ ผมว่าข่าวมันก็เกี่ยวส่วนนึง ถ้ามีสื่อช่วยมันก็เป็นแรงผลักดันงานของเราไป แต่ก็ไม่ใช่ผมคนหนึ่งล่ะ สำหรับผมบางครั้งมันก็เกี่ยวมันก็ไม่เกี่ยว ตอนนั้นกลายเป็นว่าคนจำผมเป็นพระเอกเทวดา ผมวิ่งหนีนักข่าวแต่สำหรับผมมันไม่ใช่การวิ่งหนี มันเป็นการจบการสนทนากันแล้วยังตามมาคุยอีก เขาเรียกว่า การคุยกันไม่รู้เรื่อง ผมคิดว่ามันหมดการสนทนาแล้วก็คิดว่าน่าจะจบแล้วแต่เขายังไม่จบ”

“ซึ่งการที่ผมทำแบบนั้นเอาจริงๆ ไม่มีผลกับงานการแสดงของผมนะ แต่มันมีผลคือนักข่าวมาด่าผม เขาไม่พอใจ เขาทำอะไรไม่ได้เขาก็มาเขียนด่าผม ผมไม่ได้ลุกขึ้นมาตอบ เขาอยากจะเขียนอะไรก็เขียนกันไปจะให้ผมเป็นพระเอกเทวดา ถามว่าผมชอบมั้ยฉายานี้ถ้ามีคนมาพูดว่านักข่าวเทวดาบ้างล่ะคุณจะชอบกันมั้ยล่ะ โดยที่คุณไม่สามารถออกมาพูดอะไรได้เลยว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ลองคิดกลับกันดู ส่วนผมเองผมคิดเผื่อสถานการณ์วันนั้นไว้อยู่แล้ว ผมตั้งรับกับมันมาดีเลยไม่รู้สึกอะไร เราก็เข้าใจเหมือนเราไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานกับเขา”

“แต่ถามว่าแล้วงานตรงนั้น เราบกพร่องมั้ยเราให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงานเกี่ยวกับละครที่เราทำ มันก็น่าจะครบแล้ว แต่ถ้ามาคุยเรื่องส่วนตัวของเรา ถ้ามันไม่รู้สักเรื่องนึงมันจะตายมั้ยก็แค่นั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับงานเลย ก็เข้าใจว่า ไทยมุง หรือความที่อยากจะรู้เรื่องส่วนตัวของคนอื่นมันเยอะหนังสือที่ชอบอยากรู้เรื่องของคนอื่นมันถึงขายได้ไง เพราะมันสนุกไง การได้รู้เรื่องของคนอื่นจะได้เอาไปเม้าท์กับคนอื่นได้ แต่มันไม่สนุกหรอกถ้าพอมันเป็นเรื่องของตัวคุณเองบ้างล่ะ”

“ทุกวันนี้ความคิดแบบนี้ของผมก็ยังคงเหมือนเดิม มันก็เป็นแนวใครแนวมัน ผมคิดแบบนี้แต่ผมก็ทำงานตรงนี้มาได้ด้วยความคิดแบบนี้ ถ้าจะยอมรับในการทำงานของผมก็ต้องยอมรับในการดำรงชีวิตของผมด้วย ผมก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์เสียทีเดียวผมก็ให้สัมภาษณ์แต่ต้องเจอกันคนละครึ่งทางนะ เราก็มีข้อจำกัดของเรา คุณก็ทำงานของคุณได้ผมก็ทำงานของผมได้ ก็แค่นั้นเอง เราเองเรียนรู้ว่าบางทีพูดบางก็ได้แต่ไม่ใช่ว่าจะเยอะจนเกินไป หรือว่าเขาจะซอกแซกเราจนเกินไป ทุกอย่างมันต้องมีกรอบ มันดูตลกถ้าจะมาเล่าเรื่องส่วนตัวของเราให้คนอื่นๆ ที่ไม่รู้จักมารับรู้”

ไม่อยากพูดเรื่องความรัก?
“ผมไม่ชอบพูดถึงบุคคลที่ 3 เพราะว่าที่บ้านผมสอนมาแล้วก็คิดว่ามันดีเลยยึดไว้ คือเรื่องความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า เรื่องอะไรที่มันเกี่ยวกับที่บ้านไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่าไปพูดให้คนอื่นฟัง บางคนพูดดีคิดดีมันก็ดีไป แต่บางคนพูดแล้วสนุกปาก คิดแย่มันก็เป็นผลลบ ความนอกอย่านำเข้าคืออย่าเอาเรื่องร้ายๆ มาเข้าบ้าน ผมไม่ยุ่งกับใคร ผมไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ผมคิดว่าผมทำถูกต้องแล้ว ผมเคยลองพูดแล้วครับ แล้วผมคิดว่ามันไม่ค่อยเป็นผลดีสักเท่าไหร่ เพราะนักข่าวมีจรรยาบรรณเยอะ ข่าวที่เขียนนอกเรื่องนอกราวใส่ไข่มันก็มีเยอะ”

“ก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งคนดีและไม่ดีมันมีอยู่แล้วทุกสังคม ผมเลยเลือกที่จะปิด ไม่มีข่าวแล้วกันจะได้ไม่ต้องมาเขียนถึงผมได้ ผมเคยลองพูดแล้ว แต่เขาเอาไปเขียนเพิ่มเติมอีกมากมาย แล้วไปตัดต่อคำพูดผม ถามว่าพูดจริงมั้ยพูดจริง แต่ไม่ได้ลงเรื่องที่ถูกต้องไปด้วยเลยเหมือนได้ข่าวสารที่ไม่ครบ ถามว่าเขาลงทุกคำพูดที่เราเขียนมั้ยก็ลง แต่ลงไม่ครบเท่านั้นเองมันเลยส่งผลเป็นเรื่องลบสำหรับเรา”

“คนที่คบที่คุยกับผมต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็แสดงว่าไม่ได้รู้จักผม ยกตัวอย่างผมเคยมีแฟนแล้วไปเดินห้าง เขาไม่ได้มีชื่อเป็นที่รู้จักแต่ลงข่าว พ่อของเขายังโดนเพื่อนทักว่าลูกสาวไปเดินกับไอ้ดาราคนนี้ แค่พูดว่าดาราคนนี้นะถ้าบางคนมองว่าดีก็ดีไป บางคนมองไม่ดีแล้วมองในทางลบหน่อย มันเหมือนกับลูกสาวเขาไปมีอะไร ไปนอนค้างบ้านเขา มันรู้สึกว่ามันขยายไง แล้วหัวอกคนเป็นพ่อกับลูกสาวล่ะ เหมือนลูกสาวตัวเองไปทำอะไรไม่ดี"

"เฮ้ย...มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ มันกลายเป็นอุปสรรค มันกลายเป็นปัญหา เลยรู้สึกว่าไม่ดีกว่า ผมเองก็ใช้ชีวิตปกติ ใครจะถ่ายรูปก็ถ่ายกันไป แต่ผมไม่ขอพูด มันก็ห้ามไม่ได้ บางทีถ้าผมเห็นว่ากำลังถ่ายผมผมให้ลบเลย ถึงขั้นไปโรงพักบ้างก็มี แต่ถ้าไม่เห็นก็ช่างมัน แต่ถ้าเห็นก็ต้องเคลียร์ ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากให้คนที่ผมรักต้องมาเผชิญกับสงครามปากของแต่ละคน ผมไม่อยากให้ใครมาพูดล้อแฟนผม ผมหวงของผม"

"ผมไม่อยากให้ใครมาทักมาแซว แค่รู้จักชื่อก็แซว อาจจะไม่มีเจตนาร้าย แต่คนที่มันโดนแซวมันไม่มีความสุขหรอก มันกลายเป็นของเล่นไป ไม่ใช่แค่ 3 - 4 คน แต่มันทุกคนที่ไปพบเจอ คือใครไม่มาเจอไม่รู้หรอก บางคนชอบมันก็แล้วไป เราไม่อยากให้แฟนเรารู้สึกว่าไปไหนมาไหนกับเราแล้วเหมือนเป็นตัวประหลาด เขาไปไหนไม่ได้ มีแต่คนมอง มีแต่คนแซว กลายเป็นว่า เขาก็ต้องมาเสียความเป็นส่วนตัวไปอีก การที่เขามาคบเราทำให้เขาเสียอะไรไป”

“ผมคบใครแล้วมีปัญหาจากข่าวตลอดครับ มันไม่ใช่เป็นเรื่องดีเลยที่มีแฟนเป็นดาราในความคิดของคนที่ผมไปด้วย คนที่ผมคบด้วยเขาก็คล้ายๆ ผม คือรู้สึกว่าเขาเสียอะไรหลายๆ อย่าง บางคนก็รับไม่ได้ ก็อย่างที่บอกว่าผมพยายามทำให้มันเป็นธรรมชาติมากที่สุด คุณจะทำอะไรคุณก็ทำได้ แต่คุณก็ต้องเข้าใจนะว่ามันต้องมีบ้าง คุณมั่นใจได้เลยว่าผมจะไม่พูดถึงคุณจนถึงวันที่ผมมั่นใจจริงๆ”

แยกตัวออกมาเป็นนักแสดงอิสระ
“ผมว่าการเป็นนักแสดงอิสระเอง มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะ นักแสดงในสังกัดเองจะดีตรงที่ว่าถ้าทางค่ายมีผลงานก็จะเรียกเด็กในสังกัดมาก่อน เขาก็จะมีงานบ่อย มีงานแน่นอน แต่ข้อเสียคือ บางทีเราไม่สามารถกระโดดไปเล่นที่อื่นได้ง่ายๆ จะต้องเล่นในงานของค่ายตัวเองก่อน ประสบการณ์การทำงานก็อาจจะจำกัดนิดหน่อย เจอแต่ทีมงานเดิมๆ ทำให้ไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทีมงานใหม่ๆ"

"ถ้าเขาได้ไปทำงานกับที่อื่นบ้างก็จะทราบว่ารูปแบบการทำงานในแต่ละที่นี่จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้น บางครั้งการที่อยู่ในค่ายตัวของนักแสดงที่เซ็นบางครั้งเป็นคนที่ยังไม่มีกระแสมากนัก อย่างบางค่ายก็จะดันแต่คนที่มีกระแส ฉะนั้น คนที่เซ็นอยู่ในค่ายก็กลายเป็นโดนดอง ไม่มีโอกาสแจ้งเกิดในค่ายของตัวเองแล้วก็ไม่มีโอกาสไปทำงานกับที่อ่านเรียกว่าตายคารังจนกว่าจะหมดสัญญา อาจจะต้องไปขอสัญญาคืนกันเป็นแถวๆ”

“ส่วนคนที่ไม่มีสังกัดอย่างผมดีที่สามารถเลือกงานเองได้ จะดีสำหรับคนที่เข้าวงการมาสักพักนึงแล้ว การมีค่ายเหมาะสำหรับนักแสดงหน้าใหม่ที่ต้องการงานป้อนอยู่เสมอ ถ้าอยู่มาสักพักแล้วอยากจะลองไร้สังกัดดูก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะคนจะคุ้นหน้าคุ้นตาเราแล้ว การทำงานก็จะง่ายขึ้น เราสามารถเลือกงานได้เอง เราได้เลือกงานในสิ่งที่คิดว่ามันดีกับตัวเอง บางคนอาจจะเลือกงานเยอะ เงินเยอะแต่บทไม่เกี่ยง อย่างบางคนรับน้อย บทดี ก็ทำตามความต้องการของตัวเอง แล้วการเราคุยตรงไม่ต้องผ่านใคร”

มีอะไรเป็นหลักในการทำงาน
“ส่วนหลักการรับงานของผมอันดับแรก คือ คิวว่าง ทำงานให้เขาได้เต็มที่ ถ้ารับนี้นึงแล้วก็จะไม่รับงานที่ทับเวลางานที่รับไว้ก่อน จะรับวันละงานเพื่อจะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ แล้วก็มาเรื่องบทก็จะดูคร่าวๆ เอาจริงบทที่เราอยากเล่นจริงๆ ไม่มีหรอก มันก็เขียนกันแบบเดิมแล้วเอาเรื่องเก่าๆ มาทำกัน แต่เราจะดูที่ความสนุกมากกว่าว่าเรื่องที่เขียนมานั่นสนุกมั้ย ก็โอเคในประมาณนึงแต่ให้ได้อย่างใจคงไม่มี ที่อยากเล่นคืออยากเล่นบทใหม่ๆ สนุกๆ บทที่อ่านแล้วสนุกเลย ไม่ใช่อ่านแล้วก็เดาออกว่าพระเอกต้องโง่ๆหน่อย ชอบอะไรที่มันเดาไม่ออก ผมเองไม่เกี่ยงต้องเป็นพระเอกนะ ชอบอะไรที่ดูสนุกมากกว่า ดูแล้วมันน่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง แล้วก็เพื่อนร่วมงาน”

เหมือนค่อนข้างจะมั่นใจในตัวเองมากในการทำงาน?
“ผมเป็นคนที่คิดเผื่อตัวเองเสียใจไว้ตลอดอยู่แล้ว ผมเลยไม่ค่อยได้ใส่ใจกับผลตอบรับสักเท่าไหร่ ถ้าเรารับเล่นแล้วเราก็เล่นอย่างเต็มที่ตามกำลังที่เรามี เลยจะไม่นึกเสียใจถึงผลตอบรับ เพราะ ณ ตอนนั้นเราทำสุดความสามารถของเราแล้ว ผลออกมาแบบนั้นก็คิดว่าทุกอย่างคงมีอะไรที่ไม่ลงตัว ผมเองก็ไม่ได้คิดเสียใจกับมัน ละครเรื่องนึงมันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง จริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นที่เราคนเดียวว่าเราเล่นดีหรือไม่ดี"

"บางครั้งเราเล่นไม่ดีก็ดังนะ ทุกอย่างมันเป็นปัจจัยได้หมด ทีมงาน ผู้กำกับ โปรดักชั่น ค่ายทำละคร อย่างเรื่องไหนที่เล่นแล้วประสบความสำเร็จก็ถือว่าเป็นผลบวกไป แต่เราก็ไม่ได้เอาไปคิดยึดติดอะไรมาก ผมกลัวว่าถ้าคิดแล้วเราจะยึดอยู่แต่กับคำว่าต้องดัง ต้องดัง กลายเป็นคำว่าต้องไป ก็คิดว่ายังไงก็ได้ขอเพียงแค่เราทำเต็มที่ก็พอ คิดว่าถ้าเราทำเต็มที่แล้วคนดูน่าจะมีความสุขกับงานชิ้นที่เราตั้งใจทำกับทีมงานหลายๆ คน”

ได้แง่คิดจากละคร
“การทำงานในวงการมันสอนให้ผมรู้จักการวางตัว รู้จักการพูด การคิดในการดำเนินชีวิตต่างๆ และที่สำคัญคือเราได้เรียนรู้คน มันมีตัวละครจำลองจากในตัวละครที่เราเล่นทำให้เราได้เรียนรู้ผลเหตุของการกระทำและผลของตัวละคร มันก็สามารถเรียนรู้จากตรงนั้นได้โดยที่เราไม่ต้องไปทำจริง เป็นแง่มุมนึงที่เรามองเห็นได้ว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ กับเราบ้างมันจะเป็นยังไง ก็เรียนรู้เอาจากงาน"

"บางครั้งคำพูดของตัวละครตัวอื่นที่เราไม่ได้เล่นก็ใช้สอนเราได้เหมือนกัน เพราะบทละครมันก็เขียนมาจากชีวิตจริง อิงประสบการณ์เหตุการณ์จริง บางครั้งยังคิดว่ามันมีแบบนี้ในชีวิตจริงด้วยหรอ ผมเองถามผู้กำกับเลยนะ เราเองก็พยายามจะเข้าใจกับมันเพื่อที่จะได้เล่าเรื่องในละครได้อย่างถูกต้อง เราเป็นตัวสื่อสารจากตัวหนังสือมาเป็นภาพให้คนเห็น เราเองก็อยากจะเข้าใจด้วยว่า ณ ขณะที่เป็นคนนั้นจริงๆ เราจะคิดหรือรู้สึกยังไงบ้างไม่ใช่แค่ท่องบทจำๆ มาแล้วก็มาพูด”

ยอมรับตนเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง และไม่ใช่แบบอย่างที่ดีในบางเรื่อง
“หลายคนมองดาราศิลปินต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนสำหรับคนอื่นอาจจะมีกรอบ มีแบบแผนที่เป็นแบบนั้น แต่สำหรับผมคิดว่าคนทุกคนมันมีมุมที่ดีและไม่ดีเพราะเราเองก็มีชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป พระเอกนางเอกเองเขาเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนดี 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นคนที่ฉลาดก็จะรู้จักหยิบเลือกสิ่งที่ดูและเห็นแล้วเป็นประโยชน์ต่อตัวเขารับไว้ บงทีสิ่งที่ดีของไอดอลของเรามันก็ไม่ได้เหมาะสมกับชีวิตของเขา ก็ไม่แนะนำให้เอาเยี่ยงอย่าง อย่างในละครบางคนรวยมากซึ่งมันก็ไม่จริงไง ผมคิดว่าเราควรจะฉลาดเลือกหยิบสิ่งที่เป็นประโยชน์จากในละครมาสะท้อนให้เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า"

“คือเลือกในสิ่งที่ดีของเขา ผมเองก็ไม่ใช่คนที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์นะ ก็เลือกหยิบสิ่งที่ดีของผมไปก็พอแล้ว อีกอย่างการเลือกชมละครมันเหมือนเป็นการชมภาพสะท้อนสังคมมุมนึงที่เขาสามารถสะท้อนได้ออกมาเป็นภาพ เขาเห็นจากข่าวหนังสือพิมพ์แล้วว่านี่คือเรื่องจริง ซึ่งในละครมันก็เป็นอีกมุมนึง มันมีทั้งดีและไม่ดี ผมว่าไม่ว่าสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้นมันมีประโยชน์หมด เราเห็นอะไรที่ไม่ดีในทีวีมันก็เป็นประโยชน์กับตัวเรา เราจะได้เห็นว่ามันไม่ดี ถ้าเขาไปลองทำบ้างมันก็จะยิ่งตอกย้ำว่านี่ไงสิ่งที่ไม่ดี ผมทุกอย่างมันสอนหมดแหละครับ ขึ้นอยู่ที่คนจะเลือกหยิบไปใช้”

“ผมยอมรับครับว่า ตัวเองเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง เราหวงชีวิตของเรา แต่เราไม่เฟคนะ เราเป็นยังไงเราก็เป็นอย่างนั้น ผมเองมีความคิดว่าผมไม่ใช่คนของประชาชน ผมไม่ใช่แบบแผนแบบอย่างที่ดีที่จะต้องมาเลียนแบบผมทุกอย่าง เวลาผมทำงานผมก็ทำเต็มที่ ผมยินดี ผมตั้งใจทำ มีเจตนาทำให้งานออกมาแล้วคนดูมีความสุข ได้รับการผ่อนคลายจากการเหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่พอนอกเหนือจากการทำงานแล้วผมก็อยากจะผ่อนคลาย อยากใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ"

"อย่างที่บอกผมก็แค่คนปกติ ขับรถไปทำงาน ถึงเวลากินข้าว เข้าห้องน้ำ ไปซื้อของนี่แหละชีวิต แค่รู้สึกว่าเวลาที่เราทำอะไรให้ชีวิตเราเป็นปกติแล้วจะไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวาย ผมไม่ค่อยอยากจะรู้จักกับคนที่ไม่รู้จัก จบการทำงานกับเพื่อนร่วมงานผมคุย แต่ถ้าไม่รู้จักผมไม่รู้จะคุยอะไร มันไม่มีเรื่องราวที่จะคุยแล้วก็ไม่คิดว่าจะคุยอะไรด้วย ผมคิดว่าผมมีกรอบมีสังคมของผมแค่นี้ผมพอแล้ว”

ไม่ประมาทกับอนาคต
“ผมไม่เคยประมาทกับการใช้ชีวิต ผมวาดอนาคตคร่าวๆ ตลอดเวลานะ เราก็ทำเท่าที่ทำด้วยควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ น้ำหนักของมันก็คงจะตามกระแสมากกว่า ผมเองอาจจะไม่มีคนดูผมแล้วเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะตอนนี้ผมว่าผมก็อยู่มานานแล้ว ถ้ารู้สึกว่าผมมีงานตรงนี้น้อยลง ผมก็มีโอกาสไปทำอย่างอื่นเยอะขึ้น”

“อย่างถ้าเราพร้อมแล้วกับใครสักคนนี่คิดว่าจะเปิดเผยให้คนอื่นได้รู้มั้ยหรือจะเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัวเหมือนที่ผ่านๆ มา ก็คงต้องลองคุยกันก่อนว่าถ้าจะเปิดแล้วเขาจะชอบมั้ย พอเรารู้จักกันแล้วมันต้องแชร์กันว่าเขาชอบหรือเขาไม่เอา หรือว่าเขาเขิน ก็ต้องมาแชร์กันหลายๆ อย่าง ซึ่งเขาเองก็ต้องรู้จักผมด้วย ถ้าเขาโอเคประมาณนึง ก็อาจมีสิทธิ์”

“ผมค่อนข้างจะมองอะไรไว้อย่างเป็นระเบียบนะ เรามีกรอบของเรา คนที่จะมาอยู่กับเราเขาก็ต้องอยู่ในกรอบที่เราวางไว้ได้ ถ้าได้ประมาณนี้ที่ต้องการก็โอเคเราจะมีครอบครัวแต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรผมยินดีที่จะใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ตัวผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะให้เวลานานแค่ไหน ถึงเวลาผมอายุมากขึ้น ความคิดผมเปลี่ยน แล้ววันนึงผมไปเจอคนที่เขาพร้อมยอมรับข้อกำหนดตรงนั้น แต่เรากลับอายุเยอะเกินไปแล้วที่จะมีลูกมีครอบครัว เราอาจจะอยู่ด้วยกันแต่ไม่มีลูกมีครอบครัวหรืออะไรก็ว่ากันไป กาลเวลามันทำให้เราเปลี่ยนความคิดได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น