xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของงานเลี้ยงหงเหมิน/ต่อพงษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นพูดในคอนเสิร์ตการเมืองที่สวนลุมพินีถึงการชุมนุมในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น คุณสนธิได้พูดถึงความจำเป็นในการออกมาครั้งนี้ท่านยังได้พูดถึงงานเลี้ยงหงเหมินขึ้นมา จนบัดนี้ผ่านไปหลายเพลา หลายคนก็ยังสงสัยว่างานเลี้ยงนี้คืออะไร และจุดจบของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งกองกำลังร่วมจับมือกันทำสงครามโค่นจักรวรรดิฉิน (ระหว่างปี 209 - 206 ก่อนคริสต์กาล) หลังจากที่จิ๋นซีฮ่องเต้ซึ่งรวบรวมแคว้น 6 แคว้นให้กลายเป็นหนึ่ง ท่ามกลางกฏเหล็กที่ต้องสลายความแตกต่างของภาษา วัฒนธรรม และอีกมากมายเพื่อให้แผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว เพราะเมื่อจอมทัพและจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่จากโลกไป ไฟที่ระอุอยู่ภายใต้ความสงบก็อุบัติขึ้น บรรดาแคว้นต่างๆ ที่เกิดถูกกดอยู่ใต้แสนยานุภาพของจิ๋นซีต่างก็ลุกฮือขึ้นมา กลุ่มที่มีแววว่าจะเป็นผู้ชนะมากที่สุดเป็นกลุ่มขุนพลใต้ร่มธงของฉู่อ๋องสองคน คนหนึ่งนั้นมีนามว่า “เซี่ยงหวี่(Xiang Yu)” คนหนึ่งมีนามว่า “หลิวปัง (Liu Pang)”

ขุนศึกสองคนนี้มีความโดดเด่นอย่างยิ่ง จะนับไปก็ต้องบอกว่าเจ๋งกันคนละแบบ เซี่ยงหวี่นั้นได้ชื่อว่าเป็นจอมอสูรสงคราม เพราะอายุแค่สิบกว่าๆ ก็กระโดดเข้านำทัพให้แค่ท่านลุงของเขาคือ “เซี่ยงเหลียง” และสร้างประวัติการรบที่งดงามมาได้ตลอด จนเมื่อเซี่ยงเหลียงตายลงในการทำศึกระหว่างทัพฉู่กับทัพฉินที่นำโดย "จางฮั่น (Zhang Han)" บริเวณติงเตา ฉู่อ๋องส่ง ซ่งอี้ คนมานำทัพแทน แต่เมื่อคนนำทัพที่ว่าไม่ยอมออกรบเป็นกองสนับสนุนให้แก่เซี่ยงหวี่ตามแผนการรบ เขาก็เลยบุกเข้าตึกบัญชาการแล้วตัดหัวผู้แทนพระองค์เสีย ก่อนที่จะประกาศตัวเป็นแม่ทัพใหญ่เสียเอง เซี่ยงหวี่ขึ้นเป็นผู้บัญชาการศึกของกองทัพที่ใหญ่ที่สุดของแคว้นฉู่ขณะที่อายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

ขณะที่หลิวปังนั้นมากันคนละแนว เขาไม่ใช่นักการทหารที่เทียบได้กับเซี่ยงหวี่แม้แต่น้อย แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของหลิวปังก็คือการเป็นนักการเมือง นักการพูด และนักการปกครองที่หาใครเปรียบมิได้ การสามารถดึงตัวผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน การมียอดกุนซือผู้มองการไกลอย่างจางเหลียง เป็นพันธมิตรร่วมกับยอดทหารอย่างหันซิ่น และ ฝานไขว้(Fan Kuai) ทำให้นายอำเภอเขตเล็กๆ กลายเป็นคนใหญ่โตขึ้นมา

เมื่อการศึกกับรัฐฉินใกล้ถึงบทสรุปของมัน ฉู่อ๋อง นายเหนือหัวของทั้งคู่เรียกตัวเข้ามาทำสัญญากันว่า ทัพใครก็แล้วแต่สามารถบุกถึงเมืองเสียนหยาง(ปัจจุบันอยู่ใกล้ๆ เมืองซีอาน) อันเป็นเมืองหลวงของรัฐฉินได้ก่อน คนผู้นั้นจะได้เป็น “อ๋องแห่งกวนจง” อันเป็นที่ราบและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญในตอนเหนือ ทัพของเซี่ยงหวี่นั้นคุมทหาร 4 แสนนายบุกเข้าไปทางตะวันออก ขณะที่ทัพของหลิวปังมีทั้งสิ้น 1 แสนนายบุกเข้าไปทางตะวันตก

ปัญหามีอยู่ตรงนี้ครับว่า เมื่อมวลชนนั้นพร้อมจะรับเจ้านายใหม่ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ขอเลือกนายที่ดูดีที่สุดเป็นพอ ช่วงเวลานั้นแม้ขุนศึกนั้นมีอยู่หลายคน แต่คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวบนความเชื่อใจของมวลชนนั้นดูเหมือนจะมีแค่กองทัพของหลิวปังเท่านั้น เพราะไปที่ไหนก็สั่งห้ามไม่ให้ทหารปล้นชิง ต่างกับทัพของเซี่ยงหวี่ซึ่งใครต่อใครก็ครั่นคร้ามเพราะชื่อเสียงที่ว่า เมื่อชนะศึกที่ไหนก็ปล่อยให้คนอุ้มฆ่า ปล้น จี้ ข่มขืน เผาเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าทัพของเซี่ยงหวี่จะเดินทางมา ชาวบ้านมักจะต่อต้านกันอย่างหนักหน่วง เพราะ ยอมแพ้แต่โดยดีก็ซวย หรือถ้าสู้มากก็ซวยเท่ากัน ทัพเซี่ยงหวี่จึงใช้เวลานานกว่าจะเอาชนะสงครามและทำให้พวกเขาเดินหน้าช้ากว่าทัพของหลิวปังเสมอๆ

คนที่ดึงเวลาได้นานที่สุดก็คือนายพลจางฮั่นแห่งฉินที่ยกทัพมาป้องกันกองทัพใหญ่ของเซี่ยงหวี่ได้อย่างถึงพริกถึงขิงในการศึกที่จูลู่(the Battle of Julu) จางฮั่นที่เคยวางแผนโจมตียามเที่ยงคืนจนทำให้เซี่ยงเหลียงลุงของเซี่ยงหวี่เสียชีวิตมาแล้ว การศึกครั้งนี้ถือว่าตึงมือที่สุดของเซี่ยงหวี่ แต่วันหนึ่งจางฮั่นก็รู้สึกว่าการทำศึกกับกองทัพของเซี่ยงหวี่เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ในเมือรัฐฉินกำลังจะพินาศอยู่แล้ว สุดท้ายจางฮั่นจึงนำกองทัพสวามิภักดิ์กับเซี่ยงหวี่เสียเลย

เมื่อเซี่ยงหวี่นั้นนำทัพที่ใหญ่ที่สุดของเขาผ่านจางฮั่นไปได้ แต่กลับพบว่าทัพของหลิวปังเข้าครองกวนจงไปก่อนแล้ว ที่ทำการทุกอย่างโดนหลิวปังส่งทหารเข้าไปคุม แม้แต่ฮ่องเต้ของของรัฐฉินก็ยังยอมแพ้ต่อหลิวปัง จอมอสูรสงครามเตรียมทำศึกกับหลิวปังทันที แต่ฟ่านเจิง (Fan Zheng) เสนาธิการฝ่ายเซี่ยงหวี่นั้นเสนอแผนการให้เรื่องง่ายกว่านั้น นั่นคือ จัดงานเลี้ยงฉลองให้แก่หลิวปังเสียเลย โดยตำแหน่งทีหลิวปังจะได้ดำรงนั้นจะมีพิธีในนรกแทนที่จะรับจากฉู่อ๋อง งานเลี้ยงมรณะที่ว่าเรียกว่า “งานเลี้ยงหงเหมิน( Feast at Hong Gate)”

ตามตำนานนั้นปูพื้นมาแค่นั้น แต่จริงๆ รายละเอียดนั้นมีมากกว่า เพราะคนที่ส่งรายงานเรื่องการจะตั้งตัวเป็นเจ้าของหลิวปังน้นถูกส่งมาโดนเกาหวูชาง(Cao Wushang) สายของเซี่ยงหวี่ที่แทรกตัวในกองทัพของหลิวปัง แถมยังแจ้งรายละเอียดด้วยว่า หลิวปังนั้นสร้างภาพสุดๆ กับชาวเมืองในเรื่องเมตตา เกาหวูชางยังบอกด้วยว่าอาจจะมีการสัญญาลับๆ โดยฮ่องเต้แคว้นฉินที่จะแต่งตั้งให้หลิวปังเป็นผู้ว่าแคว้นแทนด้วย และตัวหลิวปังได้มีโอกาสพบกับบรรดาคหบดีของแคว้นด้วยตัวเองแล้ว ฟ่านเจิงกุนซือฝ่ายเซี่ยงหวี่นั้นวิเคราะห์ออกมาว่า การสร้างภาพของการเป็นคนดีที่ว่า กุศโลบายในการไปเจอกับคหบดีในเมือง แสดงว่าหลิวปังคิดจะตั้งตัวเป็นเจ้าจริงๆ

แต่ไส้ศึกที่วางไว้ของแต่ละฝ่ายไม่ได้มีเช่นนั้น เซี่ยงป๋อ ลุงอีกคนของเซี่ยงหวี่ดันเป็นเพื่อนกับหลิงปัง เซี่ยงป๋อแอบเอาข้อมูลนี้แจ้งแก่จางเหลียงกุนซือของหลิวปังเพื่อรับมือ จางเหลียงสั่งให้หลิวปังเชิญเซี่ยงป๋อมาพบอย่างเป็นทางการพร้อมมอบเงินทองของมีค่าที่ได้จากเมืองเสียนหยางให้ แถมยังสัญญาว่าจะยกลูกชายของหลิวปังให้แต่งเข้าแก่ลูกสาวเซี่ยงป๋อเสียด้วย เจออีแบบนี้เข้าไปก็กลายเป็นเซี่ยงป๋อเป็นคนไปรับประกันว่าหลิวปังไม่ได้คิดทรยศแต่อย่างไร แต่กระนั้นงานเลี้ยงหงเหมินก็ยังมีขึ้นตามกำหนด กำหนดการสังหารนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงการร่ายรำดาบหลังจากกินดื่มกันไปแล้วพักใหญ่

แต่ก่อนที่การแสดงจะเริ่มหลิวปังเมื่อพบหน้าเซี่ยงหวี่ก็ประกาศความยิ่งใหญ่ของอีกฝ่ายทันที ยกให้ความดีความชอบที่ได้เข้ากวนจงก่อนเป็นเพราะเซี่ยงหวี่รับศึกกับจางฮั่นจนฝ่ายฉินไม่มีทหารเหลือ การเดินทางของเขาได้มาจากโชคที่ทางเซี่ยงหวี่ประทานให้ แถมที่เข้ามาควบคุมเมืองให้ก็เพื่อให้เซี่ยงหวี่เข้ามาสู่เสียนหยางอย่างสะดวก การยกยอนี้ทำให้เซี่ยงหวี่ไม่ทำสัญญานให้เกิดระบำดาบขึ้นสังหารเสียที ฟ่านเจิงนั้นขยิบตาแล้วขยิบตาอีกให้เซี่ยงหวี่ลงมือ สุดท้ายเมื่อนายไม่ทำฟ่านเจิงก็เลยกระซิบให้เซี่ยงจวงซึ่งเป็นญาติของเซี่ยงหวี่แถมเป็นมือสังหารที่เตรียมไว้ออกมารำดาบทันที

ถึงตรงนี้ตำนานนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางตำราบอกว่า เซี่ยงป๋อ ท่านลุงเป็นคนเอาตัวเข้ากันกระบวนดาบสังหารนั้น ขณะที่อีกตำราซึ่งรายละเอียดเยอะกว่าบอกว่าฝานไขว้ (Fan Kuai) ซึ่งพรวดพราดเข้ามาในกระโจมจัดงานเป็นคนชักดาบออกมารับดาบสังหารของเซี่ยงจวง พร้อมตะโกนด่าเซี่ยงหวี่ว่า หลงเชื่อคำของคนโฉดที่ต้องการยุแหย่ให้ทั้งคู่แตกแยก

“จิ๋นซีอ๋องเหตุเพราะไร้เมตตาและเหตุผลจึงฆ่าคนนับไม่ถ้วน แต่เป็นเหตุให้ทัพของแคว้นต่างๆ ก่อการปฏิวัติขึ้นมา การตกลงเรื่องว่าใครเข้ามาที่กวนจงก่อนจะได้เป็นอ๋องกวนจงนั้น คนทั้งแผ่นดินล้วนทราบเรื่องนี้ แต่ท่านหลิวปังก็มิได้คิดจะทำเช่นนั้น เมื่อยกกองทัพเข้ามาได้ก็รักษาเมืองพร้อมถอยทัพใหญ่ไปอยู่ที่ป้าชางเพื่อเตรียมยกเมืองให้ท่าน การนี้คนทั่วไปก็รู้ดี แม้นความดีความชอบรางวัลต่างๆก็ยังไม่ได้รับ แต่เพียงแค่มีคนบอกว่าหลิวปังคิดเป็นอื่นท่านก็หลงเชื่อแล้ว ท่านใช่กำลังเดินรอยตามจิ๋นซีหรือไม่?” ฟังเช่นนี้เซี่ยงหวี่ถึงกับสั่งให้หยุดการแสดงระบำดาบพร้อมรินสุราคารวะฝานไขว้ทันที

หลิวปังได้ทีก็แสร้งทำเมาแล้วเดินออกจากกระโจมอ้างว่าจะไปปัสสาวะ ฝานไขว้เป็นคนประคองออกไปพร้อมกัน เมื่อออกมาไกลทั้งคู่ก็หนีกลับไปที่ค่ายของตัวเอง ก่อนจากไปหลิวปังมอบทั้งหยกประดับชิ้นงามและถ้วยหยกให้กับจางเหลียงนำมามอบให้ฟ่านเจิง เซี่ยงหวี่นั้นพอเห็นทั้งหยกสวยๆ แถมกินลูกยอเต็มอิ่ม พร้อมกับคำทัดทานจากลุงของตัวเองก็เลยปล่อยให้หลิวไปจากไปโดยดี ฟ่านเจิงถึงกับชักดาบฟันถ้วยหยกขาดเป็นสองท่อนพร้อมกล่าวไว้ว่า ชะรอยอนาคตแผ่นดินจะตกเป็นของหลิวปังเป็นแม่นมั่น การทำนายของฟ่านเจิงเป็นจริงเพราะหลังจากที่หลิวปังไปตั้งตนในเขตกันดารตะวันตก ขณะที่เซี่ยงหวี่ทำสงครามโหดเหี้ยมของตนต่อไป ทั้งลอบสังหารนายเก่าตั้งตัวเป็นฉู่อ๋อง(หรือฌ้อปาอ๋องที่คนไทยรู้จัก)แทน สุดท้ายเซี่ยงหวี่พ่ายแพ้แบบหมดรูปที่ไกเซี่ยในสงครามระหว่างฉู่-ฮั่นซึ่งกินเวลา 4 ปี จนต้องเชือดคอตัวเองที่ริมน้ำพร้อมทั้งสนมหลี่จีจนกลายเป็นตำนานที่น่าเศร้าเรื่องหนึ่ง ขณะที่หลิวปังสถาปณาราชวงศ์ฮั่นรวมจีนเป็นหนึ่งและปกครองประเทศต่อมาอีกสี่ร้อยปีเศษ

คำว่างานเลี้ยงหงเหมินจึงถูกใช้พูดถึงเวลาที่ใครบางคนถูกเรียกตัวให้ไปตาย หรือเรียกตัวให้ไปรับความผิด หรือการวางแผนเพื่อลอบสังหารโดยที่อีกฝ่ายไม่มีทางเลือก แต่ถ้าใครอยากดูฉบับที่พิศดารกว่านี้ก็ลองหาเรื่อง White Vengeance หนังจีนเมื่อปี 2011 ที่มีหลี่หมิงเป็นหลิวปังก็ได้นะครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น